Skip to main content
sharethis


23 ก.ย. 2549 ความคืบหน้าการร่างธรรมนูญการปกครอง ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เชิญนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 4 แห่งประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างธรรมนูญ ในกรอบเวลา 2 สัปดาห์ ตามที่ประกาศไว้นั้น

       


แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นายมีชัยบอกว่า ต้องการขอความเห็นจากนักวิชาการถึงการร่างธรรมนูญที่ตนได้ทำไว้เกือบเสร็จแล้ว เป็นการนำกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ  ที่ประเทศไทยเคยใช้มาปรับปรุง หยิบส่วนที่ดีของแต่ละฉบับมารวบรวมเอาไว้ในฉบับเดียว 


 


สำหรับฉบับที่ใช้เป็นหลักคือ ธรรมนูญการปกครองปี 2534 ซึ่งเป็นผลงานการร่างของนายมีชัยเช่นกัน โดยประกาศใช้หลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย  ชุณหะวัณ มีประมาณ 60 มาตรา แต่นายมีชัยบอกว่ายาวเกินไปอาจจะต้องตัดออกอีก โดยวางกรอบไว้ว่า ธรรมนูญปกครองชั่วคราวนั้นต้องทำให้เสร็จภายใน 5 วัน โดยวันจันทร์ต้องประกาศใช้ได้  


         


สำหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายมีชัยได้วางกรอบเวลาในการร่างว่าต้องเสร็จสิ้นภายใน 8 เดือน เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนบุคคลจาก 4 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1.ข้าราชการ 2.เอกชน 3.ภาคประชาสังคม และ 4.ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา จำนวนไม่เกิน 200 คน


 


จากนั้นจะมีการเลือกสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีลักษณะคล้ายสมัชชาประชาชนแห่งชาติ ประกอบไปด้วยประชาชนจากหลากหลายภาคส่วนประมาณ 300-500 คน จากทุกภูมิภาคทำหน้าที่ให้คำแนะนำ และมอบหมายงานให้กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด กรรมการชุดนี้จะได้รับการแต่งตั้งจาก คปค.จำนวน 30 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างกฎหมายทั้งหมด ไปดำเนินการวางแนวคิดของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ


         


แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เมื่อกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น จึงจะส่งไปให้สภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีอะไรต้องปรับแก้หรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลา 3-4 เดือน หากไม่มีการแก้ไขก็ให้รับรองเพื่อนำร่างขึ้นไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเป็นครั้งสุดท้าย ถ้ารับก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที แต่ถ้าไม่รับก็ให้นำกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2492 ไม่ผ่านสภานิติบัญญัติ ก็มีการนำรัฐธรรมนูญปี 2475 มาปรับปรุงแก้ไขแล้วใช้ใหม่


 


ด้านนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการหารือส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนว่าควรได้รับการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเห็นว่ามาตรา 17 ที่ให้ยิงเป้าได้โดยไม่มีการสอบสวนนั้นไม่ควรจะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญอีกต่อไป


 


รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจาก คปค.ซึ่งในการร่างกฏหมายนั้นมีหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็จะพยายามทำให้รวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อความเหมาะสมตนขอให้ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจาก คปค.ก่อนจึงจะเปิดเผยในรายละเอียด หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวได้         


 


นางลาวัณย์ หอนพรัตน์ ประธานกรรมการประจำสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ควรจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยเร็วไม่ควรปล่อยนานถึง 1 ปี จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง


 


โดยเห็นว่าควรยึดเอารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นแนวทางโดยองค์ประกอบของผู้ที่จะเข้าร่วมยกร่างกฎหมายต้องมีความหลากหลายและเป็นที่ยอมรับ ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น สภาทนายความ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าจะเป็นองค์กรหรือบุคคลใดบ้าง


         


ด้านพลโทพลางกูร กล้าหาญ โฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกฎหมายพยามดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถนำมาบังคับใช้บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความสงบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพซึ่งจะแล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา 14 วันอย่างแน่นอนเพราะส่วนใหญ่ยึดข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540



 


................................


เรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์ ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net