Skip to main content
sharethis

ขณะนี้สังคมไทยกำลังมาถึงจุดเชื่อมต่อและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง หากเราลองหยุดทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงตลอดเกือบปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการขับเคี่ยวของระบอบทักษิณ ที่พยายามปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบริวาร กับกระบวนการการต่อสู้ของภาคประชาชนที่เติบโตและพยายามนำเสนอทางออกและการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายให้กับสังคม ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง และกลุ่มที่พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี และกระบวนการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเลือกตั้ง และการปฏิรูปทางการเมืองอย่างอดทน


 


แต่ภายหลังการรัฐประหาร สังคมไทยกลับตกอยู่ในสภาวะการถูกผลักให้ยอมรับและถูกครอบอยู่ภายใต้กระบวนการสร้างความจริงชุดเดียว (truth-making process) ที่ว่า "การรัฐประหารเป็นเพียงทางออกเดียวที่เหมาะสมในการจัดการกับระบอบทักษิณ"


 


สังคมไทยกำลังถูกทำให้เชื่อว่า สันติวิธีและกระบวนการแบบประชาธิปไตยอาจอุดมคติและอ่อนแอเกินกว่าที่จะจัดการกับระบอบทักษิณได้ ในภาวะวิสัยเช่นนี้การรัฐประหารอาจเป็นวิถีทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางทีสังคมไทยอาจต้องยอมรับวีถีแบบไทยๆ หรือพลังการเมืองที่มีอยู่จริงในบริบทของการเมืองไทย


 


นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกลุ่มที่เป็นห่วงและเชื่อว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายทักษิณเข้าปราบปรามการชุมนุมของพันธมิตรในวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา และนั้นอาจเป็นจังหวะทำให้คุณทักษิณเข้ายึดอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ก็พยายามสร้างความเข้าใจกับสังคมว่าการรัฐประหารเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเสียเลือดเสียเนื้อและการเข้ารวบอำนาจของทักษิณที่อาจจะเกิดขึ้นได้


 


ทางสายความมั่นคงก็พยายามเน้นย้ำกับสังคมไทยว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีความชอบธรรม เป็นการรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ (Bloodless Coup D"état) เป็นการรัฐประหารที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นมิตรกับประชาชน (People-friendly Coup D"état) ยิ่งไปกว่านั้นกระแสที่ภาคธุรกิจพยายามสะท้อนร่วมกันว่าการรัฐประหารครั้งนี้มิส่งผลกระทบมากนักต่อการดำเนินกิจการทางธุรกิจ (Economic-friendly Coup D"état)


 


ซึ่งกระบวนการในการสร้างความชอบธรรมให้กับความจริงเพียงชุดเดียว ประกอบกับการยอมรับความชอบธรรมของ คปค. ในการใช้อำนาจแต่งตั้งผู้นำประเทศและคณะทำงานชุดต่างๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายของสังคมอย่างเปิดกว้างนั้น ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นปัญหาที่สำคัญในการพัฒนาวุฒิภาวะทางการเมืองให้กับสังคมไทย และกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยรวม


 


เพราะแท้จริงสังคมไทยต้องยอมรับว่า วิธีการแก้ไขปัญหาระบอบทักษิณโดยการรัฐประหารครั้งนี้มี ต้นทุน ข้อจำกัด และปัญหาในตัวเอง หลายประการ โดยงานชิ้นนี้ขอเสนอปัญหาที่สำคัญ 4 ประการ คือ


 


ประการแรก ต้นทุนทางประชาธิปไตยภาคประชาชน การรัฐประหารครั้งนี้บั่นทอนพลังและกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองแบบสันติวิธีและวิถีประชาธิปไตย (ที่มิใช่เพียงการเลือกตั้ง) เนื่องจากภาพความสำเร็จของการจัดการกับนายกทักษิณโดยการรัฐประหาร บดบังภาพของพลังประชาชนที่ต่อสู้มาก่อนหน้านี้ ซึ่งนั่นส่งผลต่อความเชื่อถือที่สังคมมีต่อกระบวนการต่อสู้แบบประชาธิปไตย


 


นอกจากนั้น การประกาศห้ามชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ยังเป็นการผลักให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างยิ่งไร้พื้นที่ยืนในสังคม และที่สำคัญเป็นการสร้างสภาวะที่ทำให้คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นต่อการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระยะยาวอีกด้วย


 


ประการที่สอง การรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันการกลับมาของระบอบทักษิณได้ โดยการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ คปค. นั้นแท้จริงกำลังกดทับพลังที่แท้จริงที่ยังพร้อมที่จะสนับสนุนการกลับมาของทักษิณ โดยประชาชนเหล่านี้คือคนถูกปล่อยปละละเลยโดยรัฐบาลที่ผ่านมาและมายึดติดกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาของระบอบทักษิณนั้นไม่ใช่ปัญหาเพียงแค่ตัวของทักษิณ แต่เป็นปัญหาของระบบการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้นจึงไม่ใช่เพียงการเข้าจัดการกับทักษิณเพียงคนเดียว แต่อยู่ที่การสร้างความเข้าใจกับสังคมในวงกว้างและการผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวต่างหาก


ประการที่ สาม การรัฐประหารไม่สามารถรับรองสิทธิความเป็นประชาชนและสิทธิทางการเมืองที่เราศูนย์เสียไปภายใต้ระบอบทักษิณ ในขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่าการเข้ามาของคปค. อย่างน้อยก็มีผู้มีอำนาจมาคุ้มครองเราจากรัฐบาลทักษิณ แต่ปัญหาคือมาตรการต่างๆที่ประกาศใช้ในการห้ามชุมนุมและห้ามแสดงออกทางการเมืองเปล่านี้ กำลังละเมิดสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกและมีส่วนร่วมในกระบวนทางการเมืองของเรา และยิ่งกว่านั้นภายใต้เงื่อนไขแบบนี้เราจะมารถคุมครองตัวเราเองได้อย่างไรในการแสดงสิทธิอันชอบธรรมทางการเมืองของเรา


 


ประการสุดท้าย การรัฐประหารผูกขาดอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ผิดพลาดของกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมาย ป.ป.ง. หรือ กระบวนการเลือกสรรนายกรัฐมนตรี ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม


 


อย่างไรก็ดี หากต้องมองโลกผ่านภาวะวิสัย ว่าในเมื่อการรัฐประหารจะเกิดขึ้นแล้ว และเราคงจะต้องอยู่ร่วมกับผลที่ตามมาของมัน และโดยส่วนตัวมิได้มุ่งเป้าโจมตีคณะบุคคลใน คปค. แต่ในฐานะนักวิชาการคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องเตือนสติและสะท้อนให้สังคมเห็นถึง ปัญหา และข้อจำกัดในตัวเองของ วิธีการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแบบรัฐประหาร และการตอกย้ำกับสังคมให้เห็นถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองโดยสันติวิธี และที่สำคัญการผลักดันให้เกิดช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะในสภาวะทางการเมืองแบบใด ซึ่งนั่นหมายรวมถึงสภาวะสุญญากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหารแบบนี้ด้วย เพื่อมิให้กระบวนการบริหารประเทศ และการปฏิรูปทางการเมือง อยู่ภายใต้อำนาจของคณะบุคคลเพียงไม่กี่คน


 


25 กันยายน 2549


 


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net