Skip to main content
sharethis




วันนี้ อดีตผู้นำนักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีบทบาทสูงยิ่งในการขับเคลื่อนขบวนการนักศึกษา ออกมาต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งคนไทยคุ้นชินกับชื่อย่อ รสช. ในห้วงระหว่างปี 2534 ต่อเนื่องปี 2535 ชนิดเข้มข้นดุเดือดยิ่ง นาม 'นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ' นอกจากจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลาแล้ว ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ในขบวนการประชาชนภาคใต้



 


นอกจากจะขับเคลื่อนผ่าน 'รองประธานชมรมแพทย์ชนบท' แล้ว อดีตผู้นำนักศึกษาที่หาญออกมาต่อกรกับคณะรัฐประหารผู้นี้ ยังแสดงบทบาทผ่านประชาคมต่างๆ โดยเฉพาะประชาคมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ความคิดความเห็นของนายแพทย์หนุ่ม ที่มีต่อคณะรัฐประหารชุดปัจจุบัน ที่นำโดย "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะแกนนำภาคประชาชนภาคใต้ และอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยออกมาชนกับคณะรัฐประหาร เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา


 


+มองรัฐประหารครั้งนี้อย่างไร


ถึงอย่างไรผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะโดยหลักการการรัฐประหาร ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าทางออกของประเทศยังมีทางเลือกอื่น อัศวินม้าขาวเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป


 


ประชาธิปไตยหมายถึงการมีส่วนร่วม พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ พลังประชาชน ถึงระบอบทักษิณจะคงอยู่ ก็ไม่ทำให้ประเทศไทยเสียหายในทางการเมือง ส่วนในทางเศรษฐกิจการโกงชาติอาจจะสูญเสีย แต่ในแง่สิทธิเสรีภาพประชาชนชัดเจนว่า ในยุครัฐประหารแบบนี้ ประชาชนคุยอะไรมากไม่ได้ วิจารณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยากลำบาก ให้ความเห็นต่างๆ ก็ไม่มั่นใจ ขณะที่ยุคทักษิณ ด่ากันได้ แฉกันได้เป็นฉากๆ


 


ขณะนี้เพิ่งไม่กี่วันอาจจะยังไม่มีอะไร แต่อีกครึ่งปีละ เราจะมีสิทธิ์วิจารณ์ผู้กุมอำนาจรัฐได้หรือไม่ ถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมคิดว่าคงจะไม่เหมือนสิทธิเสรีภาพที่ได้จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540


 


+ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเสนอให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง


ในมุมของคณะรัฐประหาร ผมไม่รู้เขาคิดอย่างไร เขาต้องการจะสร้างประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าในสถานการณ์นี้ ภาคประชาชนต้องพยายามดิ้นรนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด


 


แน่นอน ไม่ง่าย เพราะในยุคเผด็จการ ถึงแม้คณะรัฐประหารจะเปิดกว้าง แต่การแสดงความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจ คงจะไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร ผิดกับการปฏิรูปการเมือง ในปี 2539 ต่อเนื่องปี 2540 ความรู้สึกการมีส่วนร่วมของผู้คนเปิดกว้างมากกว่า


 


+ในส่วนของภาคประชาชนจะทำอย่างไร


ผมว่ารัฐประหารครั้งนี้ ท้าทายภาคประชาชนมากที่สุดว่า จะขับเคลื่อนพลังไล่ทักษิณไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร วันนี้ เป็นเรื่องของทุกคนที่ไล่ทักษิณ ต้องมาคิดร่วมกันว่า จะขยับพลังประชาชนไปสู่การมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังความผิดปกติทางการเมือง ในช่วงรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร


 


+คิดว่าภาคประชาชนจะเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร


จากประสบการณ์ของผม ที่ได้จากยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือรสช. คือ เมื่อได้อำนาจไปพักหนึ่งผู้ยึดอำนาจจะหลงอำนาจ ทั้งจากลิ่วล้อ จากคนใกล้ชิด จากผลประโยชน์ หรือจากเครือข่ายที่เกิดขึ้น จะทำให้คณะรัฐประหารเพี้ยนได้ สิ่งเหล่านี้ คือ บทบาทของภาคประชาชนที่จะต้องเฝ้าระวัง จะเป็นใครล่ะครับในเมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถแสดงบทบาทได้ องค์กรอื่นๆ ก็ไม่ใช่ ราชการก็ยิ่งไม่ใช่ ก็ยังเหลือกลุ่มพลังอยู่กลุ่มเดียว ที่แสดงบทบาทได้มากที่สุด


 


+เป็นอีกคนที่ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน พอใจกับผู้มีอำนาจชุดนี้ ซึ่งมีที่มาคล้ายๆ กันหรือไม่


ส่วนตัวผมคิดว่า นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่ร้องขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทาน ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กับการรัฐประหารมันคนละเรื่องกัน เพราะการรัฐประหาร ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน แนวนโยบายแห่งรัฐ และกระบวนการตรวจสอบควบคุมผู้มีอำนาจ หายไปกับประกาศของคณะรัฐประหารที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540


 


ในทางตรงกันข้าม การใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เพื่อให้ได้รัฐบาลคนกลางมาดำเนินการการปฏิรูปทางการเมือง ไม่ได้ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนสูญหายไป เหมือนกับการทำรัฐประหาร เพราะไม่มีการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540


 


ตอนนั้น ที่เรียกร้องร้องรัฐบาลพระราชทาน เพื่อให้มีรัฐบาลชั่วคราวมาปฏิรูปการเมือง ร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ ปิดช่องไม่ให้กลุ่มทุนการเมืองเข้ามาเทกโอเวอร์ประเทศไทย อันนั้น ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน


 


+ชมรมแพทย์ชนบทมีท่าทีต่อการรัฐประหารครั้งนี้อย่างไร


ยังไม่มีการพูดคุยกันเป็นทางการ แต่มีแถลงการณ์ของชมรมแพทย์ชนบทฉบับหนึ่ง ออกมาสนับสนุนการทำรัฐประหาร ขณะที่ส่วนตัวผม ซึ่งเป็นรองประธานชมรมแพทย์ชนบท ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ผมเข้าใจได้ว่าการทำเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาลทักษิณ มีปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก ในเรื่องการกระจายทรัพยากร ทั้งการจัดการและงบประมาณลงสู่ภาคชนบท เพราะรัฐบาลที่เน้นทุนนิยมเสรีอย่างทักษิณ ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ภาคชนบท


 


ผมจึงไม่แปลกใจที่แพทย์ชนบทส่วนใหญ่ รู้สึกว่าการทำรัฐประหารเที่ยวนี้ เป็นโอกาสที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องในชนบท ทำอย่างไรให้การจัดการเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นหลักการที่ดี สามารถทำได้ดีขึ้น ลึกๆ แล้วหมอชนบทอาจจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่เป็นเทคนิคการเคลื่อนไหวต่อรอง เพื่อใช้โอกาสนี้กระจายทรัพยากรให้เป็นธรรม เพราะโจทย์ใหญ่ คือ เราจะใช้การรัฐประหารครั้งนี้ ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยให้มากที่สุดได้อย่างไร


 


+หมอเป็นอีกคนหนึ่ง ที่มีบทบาทในการต่อต้าน รสช. คิดว่าสถานการณ์นี้จะทำอะไรได้บ้าง


วันนี้ ยังตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าในอนาคตอันใกล้ต้องมีการพูดคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรให้ภาวะที่เป็นเผด็จการ จบลงให้เร็วที่สุด ที่คณะรัฐประหารขอเวลา 1 ปี มันยาวเกินไป ผมคิดว่ามันมีทางลัดที่จะได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็ว คือ ให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาเป็นตัวตั้ง ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


ถ้าทำแบบนี้จะมีประเด็นที่ต้องมานั่งร่างนั่งแก้อยู่ไม่มากนัก น่าจะร่นเวลาลงได้มาก แทนที่ประเทศจะอยู่ในภาวะเผด็จการ 1 ปี ก็สามารถลดเวลาลงได้ เผลอๆ 3 เดือน 4 เดือน 5 เดือน ก็อาจจะเลือกตั้งใหม่ได้ ไม่ต้องรอนานเป็นปี


 


+ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ จะออกมาเรียกร้องให้คืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนหรือไม่


แน่นอน ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ออกมาไล่ทักษิณ เพราะเราไม่ได้ไล่ทักษิณเพื่อให้ทหารทำรัฐประหาร เราไล่ทักษิณเพราะต้องการให้เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ไล่ไปไล่มา ทหารก็เข้ามาชุบมือเปิบ


 


สิ่งที่ผมคิดว่าภาคประชาชนต้องทำ ซึ่งรวมทั้งตัวผมเองด้วย ก็คือ เอาประชาธิปไตยกลับคืนมาให้เร็วที่สุด และต้องเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม มีรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นกว่าเดิม มันเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย ในภาวะที่ประเทศเป็นเผด็จการอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่ผมก็พร้อมที่จะสู้


 


เราก็เหมือนนักวิชาการคนหนึ่ง การให้ความเห็น การพูดคุยกับผู้คน เป็นวิถีทางสันติวิธีที่ดีที่สุด ในการสู้กับเผด็จการ  เราไม่ได้เอาไม้ไปตีกับปืน แต่จะสู้ผ่านสื่อต่างๆ ตามช่องทางที่มีอยู่


 


+ประเมินการสู้กับเผด็จการสุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2535 กับการต่อสู้กับคณะรัฐประหารชุดปัจจุบัน มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน


วันนี้ คงบอกยาก คือ เผด็จการสุจินดาเขาชัดเจน นั่นคือ สืบทอดอำนาจ การต่อสู้กับพล.อ.สุจินดา จึงทำความเข้าใจกับประชาชนง่ายมาก ง่ายกว่าไล่ทักษิณอีก เพราะมันชัดเจนว่าเขาต้องการสืบทอดอำนาจ มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เขาร่างขึ้นมาก็เห็นชัดเจนว่า เจตนาจะสืบทอดอำนาจ


 


ขณะที่เรายังไม่เห็นว่า จุดยืนของคณะรัฐประหารชุดนี้เป็นอย่างไร อีก 5 เดือน 10 เดือนข้างหน้า เขาจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ เขาจะปฏิบัติตามคำที่เขาแถลงไว้ว่า จะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วหรือเปล่า


 


ถ้าต้องการสืบทอดอำนาจ ผมคิดว่าแรงสะท้อนจากดอกไม้ การถ่ายรูปกับรถถัง ความดีใจของประชาชน มันจะกลับไปหาคณะรัฐประหารในรูปของการต่อต้านอย่างรุนแรง


 


ผมคิดว่า การปลุกคนกลุ่มที่ลุกขึ้นมาไล่ทักษิณให้ตื่นไม่ยาก คนชั้นกลางกลุ่มนี้ มีมือถือ ดูอินเตอร์เน็ต พอจะอ่านออกว่าอะไรถูกสิ่งไหนผิด ถึงแม้วันนี้เขาอาจจะชื่นชมคณะรัฐประหาร เนื่องจากทำให้ภาวะเก็บกดของเขาผ่อนคลาย แต่ถ้าเขาทำตัวเป็นทักษิณ 2 เสียเอง การเชื้อเชิญขบวนการประชาชนให้รวมตัวกัน ไม่น่าจะยากจนเกินไป


 


+ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะมีการสืบทอดอำนาจหรือไม่ จะเป็นเผด็จการเข้มงวดหรือเปล่า หรือเป็นเผด็จการผ่อนคลาย ภาคประชาชนควรจะทำอย่างไร


ผมคิดว่าในระยะสั้น สิ่งที่ควรทำ คือ ชี้ประเด็นให้คนในสังคมเห็นว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก อัศวินม้าขาวไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยของไทยดีขึ้น รู้สึกยินดีได้ นั่นเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ยินดีแล้วจะช่วยกันขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้ไปข้างหน้าได้อย่างไร จะช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบผู้มีอำนาจได้อย่างไร อย่าลืมว่าอำนาจเป็นสิ่งหอมหวน ถ้าไม่มีการตรวจสอบ โอกาสที่จะเหลิงอำนาจมีมาก


 


+ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนจะมีบทบาทอะไร


ใจผมยังคิดว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังไม่ควรจบบทบาทตัวเอง ในฐานะที่กระตุ้นภาคประชาชนมาได้ไกลขนาดนี้แล้ว ยุติบทบาทซัก 3 วัน 5 วัน รอดูสถานการณ์เป็นสิ่งเข้าใจได้  แต่เมื่อตั้งหลักได้ ผมคิดว่าต้องรวมตัวกันต่อ ก้าวข้ามการไล่ทักษิณไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีกว่าเดิมให้ได้ ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ฟ้าประทาน หรือใครประทานมาให้


 


+ลองจินตนาการได้หรือไม่ว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร


ผมคิดว่า ภาคประชาชนที่เป็นแกนหลักๆ อาจจะคุยกัน หรือให้นักวิชาการที่เป็นอิสระจากการเมืองมาคุยกัน กำหนดประเด็นสำคัญๆ มาซัก 10 ประเด็น 20 ประเด็น แล้วออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ประเด็นเหล่านั้น บรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


สำหรับผมกระบวนการตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้ากระบวนการเหล่านี้ทำได้เข้มแข็ง มันจะนำมาสู่การตรวจสอบดูแลไปถึงมาตราอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข้อเรียกร้องเบื้องต้นว่า มันเพี้ยนหรือเปล่า


 


ผมคิดว่าแค่ทำประชามติรับไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันไม่มีความหมาย เพราะขณะนี้กลไกภาครัฐ สามารถคุมสื่อกุมสภาพไว้ได้ทั้งหมด ผลออกมายังไงก็รับ ไม่มีทางไม่รับ จะค้านเป็นประเด็นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนสำคัญจึงอยู่ในช่วงก่อนจะลงประชามติ


 


การมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ถือเป็นหัวใจอันหนึ่ง ถ้าคณะรัฐประหารเห็นความสำคัญ เขาต้องเปิดโอกาสให้


 


+คิดว่าสัดส่วนภาคประชาชน ที่จะเข้าไปมีร่วมร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเท่าไหร่


ด้วยประสบการณ์เดิม ผู้มีอำนาจมักไม่เห็นหัวประชาชน ดูถูกความคิดความเห็นของประชาชนซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่แปลก จึงมีแนวโน้มว่าเขาอาจจะเอานักวิชาการเก่งๆ แค่ 5 คน 10 คน มาเป็นตัวหลักในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมายาคติทางอำนาจมันมีอยู่ ขณะเดียวกันนักวิชาการที่เข้าสู่กลไกอำนาจ เวลาเขียนรัฐธรรมนูญ เขาย่อมคิดถึงคนที่แต่งตั้งฉันมาด้วย


 


ขณะเดียวกัน ถึงจะมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมร่าง 5 คน 10 คน หรือครึ่งสภาก็เถอะ ถ้าไม่มีการจัดกระบวนการปลุกให้คนระดับรากหญ้าตื่นขึ้นมาแสดงความต้องการ ก็ไม่มีความหมาย เพราะความสำคัญอยู่ที่การตื่นตัวของผู้คนในระดับรากหญ้า ส่วนร่างจะออกมาดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับกลุ่มอำนาจอื่นๆ ในสังคม เพราะการร่างรัฐธรรมนูญ คือ การจัดโครงสร้างทางอำนาจ จุดตัดสินจึงไม่ได้อยู่ที่การต่อรองระหว่างกลุ่มอำนาจ ถ้าอำนาจการต่อรองของภาคประชาชนมีสูง ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนได้รับอานิสงค์


 


สำหรับผมบทเรียนจากยุคสุจินดา คราประยูร สอนว่า ภายใต้การครอบงำของอำนาจเผด็จการ ภาคประชาชนไม่ทางเลือกอื่นใด นอกจากการต่อสู้บนท้องถนน การต่อสู้ในห้องประชุมเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ที่จะหยิบประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่เขาเห็นชอบขึ้นมา นำไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


+ถ้าอย่างนั้นมีแนวโน้มว่า ถึงที่สุดแล้วภาคประชาชนอาจจะต้องลงสู่ท้องถนน เพื่อผลักดันประเด็นที่ต้องการเข้าไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ


วันนี้ ผมยังนึกไม่ออก แต่ผมเชื่อว่าในสาระสำคัญ ถ้าผู้มีอำนาจไม่เอาด้วย เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะการเมืองบนท้องถนน คือ การเมืองของภาคประชาชน


 


+ถ้าสถานการณ์บีบให้ลงสู่ท้องถนน คิดว่าการต่อสู้จะยากง่ายกว่ายุคสุจินดาอย่างไร


ปรากฏการณ์ทักษิณน่าจะเป็นตัวบอกนะ 19 ล้านเสียงเอย 16 ล้านเสียงเอย กุมไอทีวี ซื้อสื่อทุกชนิด แต่ภายในเวลาชั่ว 6 เดือน คนก็ออกมาเต็มถนน วันนี้ การสื่อสารมันไปไกลมาก ความรู้ของผู้คนก็มากขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรหลายอย่าง การต่อสู้จึงไม่น่าจะยากกว่าสมัยสุจินดา


 


จะยากกว่าก็กรณีผู้มีอำนาจมีความสามารถในการเล่นเกม เช่น ให้ประชาชนครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งไม่ให้ หรือให้บางประเด็นเพื่อสลายพลังการเรียกร้องของภาคประชาชน ซึ่งคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะโดยบุคลิกภาพของคณะรัฐประหารชุดนี้ ดูแล้วไม่พยายามจะใช้อำนาจโดยไม่จำเป็น หรือใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง ดูเหมือนให้ความสำคัญกับความรู้สึกของประชาชนพอสมควร


 


+ถ้าจะบอกกับประชาชนเรื่องการก่อรัฐประหารครั้งนี้ จะบอกอย่างไร


ปัจจุบันสังคมมันเปิด ถึงจะรัฐประหาร เขาทำได้แค่พยายามจำกัดเสรีภาพเรา แต่เสรีภาพเราก็ไม่ได้หายไปไหน ต้องช่วยกันพูด ช่วยกันแสดงความคิดเห็น แล้วมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพเรา ก็จะไร้ความหมาย สิ่งที่เราพูด เราแสดงความคิดเห็น ก็ไม่จำเป็นจะต้องออกมาก้าวร้าว วันนี้สังคมไทยต้องการเสียงออกมาช่วยกระตุกคนในสังคม วันนี้ ในเว็บไซด์ถ้าดูให้ดีก็เห็นพอสมควร


 


+คิดอย่างไรกับประกาศคณะรัฐประหาร ที่ให้นิสิตนักศึกษาส่งความเห็นและข้อเสนอแนะทางการเมือง


ประกาศฉบับนี้คงไม่มีความหมายอะไร เป็นเพียงประกาศหาพวกในช่วงสถานการวิกฤตแค่นั้นเอง ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างธรรมนูญอย่างกว้างขวาง โดยทำกระบวนการให้รวบรัด ไม่เยิ่นเย้อ คืนอำนาจโดยเร็ว ร่างอะไรกันนานถึง 1 ปี คิดเรื่องรัฐประหารแค่ 2 วัน เวลาคืนอำนาจให้ประชาชนก็อย่าให้มันนานจนเกินไป


 


+การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ถ้าคิดในเชิงกำไรขาดทุน ผลเป็นอย่างไร


ผมคิดว่ายังกำไร เหตุผล คือ มันก่อเกิดพลังประชาชนเป็นแสนออกมาไล่ทักษิณ เพราะมันมีโอกาสน้อยมากที่ประชาชนจะรวมตัวกันได้มากขนาดนี้ผมว่าเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่และจะส่งผลมหาศาลต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป และจะมีผลต่อการทำรัฐประหารครั้งนี้ด้วย


 


ผมจึงคิดว่าไม่ขาดทุน เพียงแต่ว่ากำไรมันน้อยไปหน่อย แต่ถ้าปล่อยให้ทำรัฐประหารกันดื้อๆ โดยประชาชนไม่เดินออกมาบนถนนเลย อันนี้ยิ่งขาดทุนหนัก เพราะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง


 


หลังจากนี้ เป็นสถานการณ์ท้าทายภาคประชาชน เพราะมันมีคำถามอยู่ว่า แกนนำพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 5 คน จะนำขบวนได้จริงหรือเปล่า ภาคนักศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญในการไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาถึงยุคไล่ทักษิณ กลับไม่มีหัวขบวนออกมาขับเคลื่อนชัดเจน


 


ปี 2535 ภายใน 3 วันแรกที่ รสช.ทำรัฐประหาร และมีคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำโดยสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ออกมาชุมนุม 15 คน จนถูกจับเข้าคุก เป็นจุดเริ่มของการลดทอนอำนาจ รสช.โดยเริ่มจากขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก วันนี้มันไม่มีขบวนการนักศึกษา ทั้งๆ ที่สถานการณ์นี้ ควรเหมือนสมัยปี 2535 คือ มีนักศึกษาออกมาคานอำนาจเผด็จการ


 


+เป็นไปได้หรือไม่ว่า ขบวนการประชาชนไม่ได้เตรียมรับมือ พอมีรัฐประหารจึงตั้งหลักไม่ทัน


ผมไม่แน่ใจ แต่ในขบวนการไล่ทักษิณ ผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยกว่า 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ ยินดีทำทุกวิถีทางเพื่อไล่ทักษิณออกไปให้ได้ ยอมรับได้แม้กระทั่งการรัฐประหาร ถึงตอนนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ภาคประชาชนจะจัดขบวนอย่างไรในการต่อรองเท่านั้น


 


กลุ่มแพทย์ชนบท ต้องทำข้อเสนอในประเด็นการดูแลสุขภาพคนชนบท กลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ก็ทำข้อเสนอ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการค้า กลุ่มไล่โลตัส ทุกคนต้องทำข้อเสนอ ต้องทำให้อำนาจเผด็จการหันมาใส่ใจแก้ปัญหาของประชาชนมากขึ้น ต้องทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ได้ประโยชน์สูงสุด


 


+คิดว่าคำสั่งห้ามชุมกันเกิน 5 คน จะสร้างปัญหาอะไรหรือไม่


น่าจะเป็นคำสั่งที่ถูกยกเลิกก่อน ถ้าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายรัฐประหารเขาก็นำประกาศนี้มาบังคับใช้ การใช้อำนาจอย่างเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องปกติของผู้มีอำนาจ เพราะการเลือกปฏิบัติ คือ กลไกสำคัญของอำนาจ


 


คำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เป็นคำสั่งที่สมควรจะดื้อแพ่งมากที่สุด กลไกการดื้อแพ่งโดยภาคประชาชน เป็นกลไกที่สำคัญของการได้มาซึ่งประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร เชื่อเถอะจับได้ไม่กี่คนหรอก สุดท้ายต้องปล่อย สุดท้ายประกาศเลิก ถ้ายังมีอยู่อำนาจมันจะไร้ความหมาย สมัย รสช. คำสั่งนี้เป็นคำสั่งต้นๆ ที่ถูกเลิก เพราะมีการดื้อแพ่ง คนมาชุมนุมกัน สุดท้ายก็ไม่กล้าจับ คำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีความหมายเชิงจิตวิทยาในช่วงต้น แล้วความหมายมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ


 


ถ้าคณะรัฐประหาร บังคับใช้ตามคำสั่งนี้จริงๆ อยู่ไม่ได้แน่นอน ลองนักวิชาการซัก 10 คน ชุมนุมกัน จะกล้าจับหรือเปล่า ผมคิดว่าคำสั่งนี้เป็นเครื่องมือในการป้องปรามฝ่ายตรงข้าม ที่คิดจะเคลื่อนไหวมากกว่า


 


+คิดว่าแนวทางแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะรัฐประหารชุดนี้ จะเป็นอย่างไร


น่าสนใจครับ ผมคิดว่าอย่างแรก คือ คณะรัฐประหารชุดนี้ ควรจะสร้างกลไกการมีส่วนร่วมขึ้นมาใหม่ เพราะในสมัยทักษิณใช้กลวิธีแบบรัฐตำรวจในการแก้ปัญหา คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แล้วก็ใช้การเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปอบรมบ้าง สอบสวนบ้าง ทำให้คนที่เกี่ยวข้องเสียความรู้สึก คับแค้นใจ


 


ผมกลัวว่าทหารอาจจะใช้กลไกแบบรัฐทหาร ซึ่งอาจจะน่ากลัวกว่า คือ ใช้กำลังและกองทัพเข้าไปสยบความเคลื่อนไหว ซึ่งในความเป็นจริงมันสยบไม่ได้ มันอาจจะหยุดนิ่งอยู่ซักช่วงหนึ่งเพื่อรอการระเบิด


 


+พล..สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร เคยบอกว่าจะใช้การเมืองนำการทหารและจะเพิ่มกำลังทหารพรานอีก 30 กองร้อย คิดว่าจะได้ผลหรือไม่


การแก้ปัญหาโดยใช้กำลัง เป็นการแก้แบบกดทับปัญหาไว้ใต้พรม มันแก้ไม่ได้ การใช้การเมืองนำการทหาร ยังไม่พอด้วยซ้ำ ผมว่าการแก้ปัญหาวันนี้ ต้องใช้หลายยุทธวิธีมาก รวมทั้งเจรจากับผู้ก่อการ ไม่ใช่เจรจาในระดับแกนนำเท่านั้น ต้องเจรจาในระดับชุมชนด้วย พูดคุยกันอย่างเปิดอก เปิดเผย ค่อยๆ สร้างบรรยากาศการพูดคุยขึ้นมาให้ได้ อาจใช้เวลา 3 ปี 5 ปี เราต้องเริ่มสร้างบรรยากาศเหล่านี้ขึ้นมาให้ได้ แล้วค่อยเปิดโอกาสให้ชุมชนดูแลตัวเอง


 


ที่ผ่านมา ชุมชนมุสลิมทั้งตำบลไม่มีชาวไทยพุทธเลย ทำไมต้องส่งทหารไทยพุทธไปเฝ้าด้วย แบบนี้มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก การพูดคุยกับเขา ร่วมกันสร้างกลไกการดูแลชุมชนด้วยกัน เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพียงแต่ต้องใช้เวลาและใช้ความจริงใจ ค่อยๆ คลายปมไปทีละปม เพราะปัจจุบันปมมันมัดกันแน่นเป็นร้อยปม ไม่รู้เหมือนกันว่าทหารเชื่อหลักคิดแบบนี้หรือไม่


 


+จะเจรจากับใคร


ทหารคงรู้ถ้ายังไม่รู้ การข่าวทหารก็แย่มาก การแก้ปัญหาความขัดแย้งมันต้องแก้ด้วยการเจรจา รบไปก็มีแต่แพ้กับแพ้ แพ้กันทั้งสองฝ่าย คือ สูญเสียผู้คน สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียสิ่งดีๆ ที่มีต่อกัน เจรจากันไม่เสียหาย แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเจรจากันแล้ว จุดยืนบางอย่างของรัฐไทย อาจจะเปลี่ยนไป ต้องยอมบางอย่าง เพราะการเจรจาไม่ใช่เอาแต่ได้ มันต้องยอมบางอย่างที่เรายอมได้ ผมไม่รู้ว่าทหารจะยอมรับทัศนะแบบนี้หรือไม่


 


เอาง่ายๆ ระบบศาล ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยอย่างหนึ่ง รัฐไทยยอมได้หรือไม่ ที่จะให้มีศาลอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายผสมผสานระหว่างหลักกฎหมายอิสลามกับหลักกฎหมายสากล เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าต่างๆ ความซับซ้อนในสังคม ไม่ใช่ว่าจะใช้หลักกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งได้ สิ่งเหล่านี้มันเจรจาได้ มันนำความสงบสุขมาสู่สังคมได้ มันไม่ใช่เรื่องเสียดินแดน


 


+แสดงว่าอาจจะต้องเอาข้อเสนอในอดีตมาดูใหม่ เช่น ข้อเสนอของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา


ผมว่าไม่ต้องกลับไปถึงขนาดนั้นก็ได้ ถ้ากระบวนการนั่งคุยอย่างเปิดใจเกิดขึ้นต่อเนื่องซักปี มันจะมีข้อเสนอที่เป็นของแท้จากชุมชนขึ้นมาเอง พี่น้องมุสลิมไม่ได้สุดโต่งเกินไปหรอก เขารู้ว่าแค่ไหนเหมาะ แค่ไหนเกินไป ข้อเสนอที่เกินไปมันจะถูกกลั่นกรองออก การยอมรับกติกาใหม่หลังการเจรจา เป็นสิ่งสำคัญ หมายความว่า ต้องยอมรับบริบทที่แตกต่างกันให้ได้


 


ผมว่ากรณีของการแพทย์ การสาธารณสุขนี่ชัดเจนว่า การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมไม่มีอะไรเสียหายเลย เช่น เดิมห้องคลอดเน้นเรื่องความสะอาด ปลอดเชื้อ ญาติห้ามเขา แม้แต่รอคลอดให้เข้าไปเฝ้าหญิงคลอดได้ 1 - 2 คน ซึ่งขัดแย้งกับวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ที่เดิมการคลอดที่บ้านมีความอบอุ่นอย่างยิ่ง แต่การเข้าห้องคลอดที่โดดเดี่ยวเดียวดาย กับหมอผู้ชายอีกต่างหาก เขารับไม่ได้ เลยไม่มาคลอดที่โรงพยาบาล ผลก็คือ มีคนมาคลอดที่โรงพยาบาลไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์


 


ภายหลังโรงพยาบาลปรับตัว อนุญาตให้ญาติเฝ้าคลอดได้เต็มที่ อนุญาตให้โต๊ะบิดั่น คือ หมอตำแย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไปให้กำลังใจในห้องคลอดได้ ซึ่งไม่มีอะไรเสียหาย กลับส่งผลดี ทำให้หญิงมีครรภ์มีกำลังใจในการเบ่ง ทำให้คลอดง่ายขึ้น


 


ผมคิดว่ามันมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องอำนาจเท่านั้น การพูดคุยกัน เจรจากัน จะทำให้เกิดการปรับตัวกันในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะมิติการให้บริการจากภาคราชการ ที่ประชาชนเขาต้องสัมพันธ์ด้วย หรือการเอื้อต่อการละหมาดก็มีความสำคัญ ถ้าส่วนราชการจัดเวลาให้เหมาะสม ยกตัวอย่างวันศุกร์ ที่โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา สิ่งที่เขาต้องทำในวันศุกร์ หมอทุกคนต้องตรวจให้เสร็จก่อน 11 โมงเช้า เพื่อให้คนไข้มีเวลากลับบ้านไปเตรียมตัวละหมาดวันศุกร์ ผมว่าเหล่านี้เป็นสิ่งดี


 


การรักษาแผ่นดินไทย ไม่ใช่การเจรจาเรื่องอำนาจ หรือเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่มัน คือ การคุยกันเพื่อปรับกระบวนการทำงานภาครัฐ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพุทธและมุสลิม สิ่งเหล่านี้อาจจะสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับเขาได้มากกว่าเรื่องอำนาจทางการเมือง


 


ที่ผ่านมามันไม่ได้พูดกัน มันพูดกันไม่ได้ในภาวะที่เป็นรัฐตำรวจ เผลอๆ รัฐทหารก็พูดไม่ได้ อาจจะหนักกว่ารัฐตำรวจอีก การพูดคุยกันสำคัญมาก อย่างคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อาจจะสร้างความสมานฉันท์ได้ระดับหนึ่ง ถ้าเป็นกลไกที่ทำโดยรัฐโดยตรง ไม่ใช่ในรูปของคณะกรรมการฯ ที่รัฐไม่ค่อยจะยอมรับ


 


ผมอยากให้ดึงพี่น้องมุสลิมระดับครูบาอาจารย์ คนท้องถิ่นระดับนำที่พร้อมจะทำเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้เขาเข้ามา กระบวนการพูดคุยมันจัดไม่ยากหรอก แล้วการแก้ปัญหามันจะง่ายขึ้นมาก ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ผมว่าแก้ไม่ได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net