Skip to main content
sharethis


โดย รสนา โตสิตระกูล

เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น


 


 


ข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าคุณหญิงจารุวรรณ ประสานงาสวัสดิ์ โชติพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ(คตส.)ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศ คปค ฉบับที่ 23 โดยมีความขัดแย้งที่เป็นข่าวคือ การที่ประธาน คตส.เข้าไปล้วงลูกผลสอบต่างๆ ที่คุณหญิงจารุวรรณดำเนินการอยู่ ในขณะที่การตีความอำนาจ คตส.ในการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองในรัฐบาลทักษิณกลับมีขอบเขตที่แคบจนถูกเรียกขานว่าเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า การขุดรากถอนโคนการคอรัปชั่นและการตรวจสอบข้อหาการทุจริตของนักการเมืองในรัฐบาลทักษิณตลอดจนการยึดทรัพย์นักการเมืองที่เกี่ยวพันกับการทุจริตจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูซ้ำรอยสมัย รสช.หรือไม่


 


การรัฐประหารยึดอำนาจในอดีตสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้สำเร็จ ก็โดยการใช้อำนาจพิเศษของนายกฯที่มีบัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา 17 และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองโดยพลังของนิสิต นักศึกษา ประชาชนสมัย 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้ใช้มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการยึดทรัพย์บุคคล 6 คน ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เช่นเดียวกัน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ มีเกียรติประวัติในฐานะเป็นประธานศาลฎีกา ที่เป็นผู้ตัดสินให้จำคุกรัฐมนตรีคดีกินป่าอันโด่งดังที่เกิดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นคดีแรกที่นักการเมือง ถูกตัดสินจำคุกจากการทุจริต ประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่


 


สำหรับการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะ รสช. ได้ทำในสิ่งที่คณะผู้ยึดอำนาจชุดก่อนๆไม่เคยทำ คือแทนที่จะใช้อำนาจพิเศษแบบ ม.17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 เหมือนคณะรัฐประหารชุดก่อนๆ กลับใช้วิธีตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติขึ้นมา โดยมีพลเอก สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานกรรมการ คณะ รสช. มีประกาศคำสั่งให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ(คตส.) ให้สามารถวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องการยึดทรัพย์ได้โดยเด็ดขาด มีการสอบสวนนักการเมือง และผู้เกี่ยวข้อง 24 คน และในที่สุด จากผลการสอบสวน มีการประกาศจะยึดทรัพย์นักการเมือง 10 คน สื่อมวลชนในสมัยนั้นได้ติดตามเสนอข่าวการยึดทรัพย์อย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่ประชาชนและสื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจเลย คือปัญหาแง่มุมกฎหมายในการยึดทรัพย์


 


นักการเมืองทั้ง 10 คน ที่ถูกประกาศยึดทรัพย์ได้ฟ้องต่อศาลยุติธรรมว่าประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน(คตส.) มาตรวจสอบและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการประกาศยึดทรัพย์ เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศของ รสช. ที่ตั้ง คตส. มีลำดับชั้นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด (เช่นให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมีการยึดทรัพย์ ดังในอดีตที่ใช้มาตรา 17) ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ระบอบประชาธิปไตย พูดง่ายๆคือ คตส.ทำหน้าที่เป็นศาลโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาลในพระปรมาภิไธย จึงทำให้การยึดทรัพย์ ในสมัย รสช. กลายเป็นมวยล้มต้มคนดู


 


การออกแบบโครงสร้างกฎหมายและหน้าที่ของบุคคลในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต และการยึดทรัพย์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จุดอ่อนในกระบวนการออกแบบกฎหมาย อาจเกิดขึ้นได้เพระขาดประสบการณ์และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจจะเกิดจากความเชี่ยวชาญอย่างจงใจก็ได้ นักการเมืองทั้ง 10 คน ที่ถูกประกาศยึดทรัพย์ในสมัย รสช. ได้ฟ้องต่อศาลในประเด็นเทคนิคของข้อกฎหมาย ไม่ใช่ในประเด็นเพื่อพิสูจน์ว่าทรัพย์ของตนไม่ใช่มาจากความร่ำรวยผิดปกติ โดยปกติแล้วนักการเมืองไม่สามารถเข้าใจเทคนิคข้อกฎหมายเหล่านี้ หากไม่มีเทคโนแครตทางกฎหมายชี้ช่องให้ ไม่แตกต่างจากนักกฎหมายด้านภาษีที่มีความเชี่ยวชาญในการชี้ช่องให้นักการเมืองเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมายหรือดูเผินๆเหมือนถูกต้องตามกฎหมาย


 


การที่ คปค มีคำสั่งฉบับที่ 23 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ทีมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน แต่มีสภาพเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง นอกจากทำให้ทำให้กระบวนการตรวจสอบมีความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ ปปช. และ สตง. แล้วยังเป็นการถ่วงเวลาให้เกิดความล่าช้าเป็นกระบวนการที่จะทำให้การตรวจสอบคดีทุจริตและการยึดทรัพย์นักการเมืองในรัฐบาลทักษิณ เป็นหมันหรือไม่ เป็นความจงใจวางยาในกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยกาลเวลาหาก คปค.ไม่รีบกระทำการเปลี่ยนแปลง


 


การออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายและหน้าที่ของบุคคลในโครงสร้างนั้นเป็นฝีมีของนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตมือกฎหมายของคณะ รสช. สื่อมวลชนและประชาชนไม่เคยถามนายมีชัยว่า เหตุใดการออกแบบกฎหมายเพื่อยึดทรัพย์นักการเมืองในสมัย รสช.จึงล้มเหลว จะเป็นเพราะว่านายมีชัยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือขาดประสบการณ์กระนั้นหรือ หากเป็นเพราะเหตุนี้ นายมีชัยควรจะรู้ตัวว่าขาดความสามารถที่จะมาเป็นมือกฎหมายให้กับ คปค เพื่อจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นในยุคทักษิณ ซึ่งมีความซับซ้อนมากกกว่าสมัย รสช. ชนิดที่รัฐธรรมนูญปี 2540และกลไกที่ถูกออกแบบไว้ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ โดยเฉพาะการคอรัปชั่นเชิงนโยบายและผลประโยชน์ซับซ้อนในระบอบทักษิณการจัดการกับทุจริตที่ซับซ้อนขนาดนี้ ต้องการกฎหมายที่มีความก้าวหน้า ไม่ได้หมายถึงต้องหันกลับไปใช้กฎหมายพิเศษอย่างมาตรา 17 เหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องมีกฎหมายที่มีก้าวหน้าพอที่จะจัดการกับการทุจริตที่มีความซับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ


 


เมื่อปี 2541 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพียง 1 ปีเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาคอรัปชั่น ได้ใช้กลไก 50,000 ชื่อ เพื่อถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงในกรณีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณะสุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303,304 ในระหว่างที่ยังไม่มีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ปรากฏว่ากรณีทุจริตยาเป็นกรณีที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวางทำให้การรวบรวมรายชื่อได้จากทั่วประเทศถึง 52,554 รายชื่อจาก 76 จังหวัด


 


การใช้กลไก 50,000 ชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงของประชาชนเป็นหมันไป เพราะการตีความและตั้งเงื่อนไขของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น นายมีชัยบอกให้ผู้ร้องถอนชื่อปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกจากคำร้อง โดยอ้างว่า ยังไม่สามารถตีความว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหมายถึงตำแหน่งใด ทั้งที่ในร่าง พ.ร.บ. ปปช. ระบุไว้ว่า หมายถึงข้าราชการตั้งแต่ ซี 10 ขึ้นไป แต่กลับแจ้งให้เครือข่าย 30 องค์กรฯต้องรับรองลายมือชื่อของคนทั้ง 52,554 รายชื่อ ว่าเป็นลายเซ็นต์ของบุคคลคนนั้นจริงไม่เช่นนั้นจะไม่ดำเนินการต่อให้ โดยอ้างว่าในร่าง พ.ร.บ. ปปช.ระบุให้ทำเช่นนั้น ส่วนการตีความผู้ดำรงตำแหน่งต้องรอ พ.ร.บ.ปปช. ประกาศใช้ก่อน นี่เป็นการตีความกฎหมายแบบสองมาตรฐานหรือไม่


 


เมื่อเครือข่าย 30 องค์กรฯ มีหนังสือขอให้ประธานวุฒิสภาตีความกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้สิทธิของประชาชน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการระดับสูงและนักการเมือง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้รับหนังสือตอบมาว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายสูงสุด การจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่อาจใช้ความเข้าใจเอาเองหรือความอยากให้เป็นมาใช้ได้"


 


อย่างไรก็ตามคดีทุจริตยาก็เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จ เมื่อที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุขเป็นเวลา 15 ปี และตัดสินให้ยึดทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 233.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการกล่าวหาของเครือข่าย 30 องค์กรฯต่ออดีตรัฐมนตรีในข้อหาความร่ำรวยผิดปกติโดยอาศัยกลไกกฎหมายในพ.ร.บ. ปปช.


 


สำหรับกรณีของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถทำให้เกิดกระบวนการในการตรวจสอบได้สำเร็จ เพราะกลไก 50,000 ชื่อถูกปิดกั้นและเมื่อนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้นได้มีคำสั่งสอบวินัยร้ายแรงต่อปลัดท่านนั้น การสอบสวนไปถึงขั้นแจ้งมูล ความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว แต่นายสวัสดิ์ โชติพานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการร้องทุกข์ของ กพ.รับเรื่องร้องทุกข์จากปลัดกระทรวงผู้นั้น ว่าการออกคำสั่งสอบวินัยร้ายแรงของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ได้สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นไม่ชอบด้วยระเบียบ แม้ว่าเลขาธิการ กพ.ในสมัยนั้นจะมีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผลการสอบสวนได้ชี้มูลความผิดแล้วและยังมีผลสอบชุดอื่นที่สามารถถือเป็นการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ก็ตาม แต่ในที่สุดคำสั่งสอบสวนร้ายแรงก็ถูกยกเลิกไปโดยอาศัยเทคนิคเล็กๆนั้นเป็นข้ออ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นรอยด่างพร้อยในกระบวนการสอบสวนที่มีอยู่มากมายมหาศาล


 


เส้นทางการตรวจสอบทุจริตนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมีอุปสรรคระหว่างทางเป็นอันมาก การคัดเลือกบุคคลที่น่าเชื่อถือว่าจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจอย่างเที่ยงธรรมไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองประสบผลสำเร็จ การสะกัดกั้นบุคคลอย่างนายนาม ยิ้มแย้มและนายแก้วสรร อติโพธิ์ ไม่ให้เข้าไปอยู่ร่วมในคณะกรรมการ ปปช.ทั้งที่ได้รับการทาบทามแล้ว แต่ถูกทีมนักกฎหมายของ คปค.สะกัด โดยอ้างระเบียบเล็กๆน้อยเรื่องอายุและคุณสมบัติที่ไม่เคยเป็นอธิบดีหรือศาสตราจารย์ แต่สำหรับนายสวัสดิ์อายุ 74 ปี กลับไม่มีปัญหาคุณสมบัติสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่สังคมมองได้ว่าเป็นการวางยาของทีมกฎหมาย เป็นไปได้อย่างไรที่ คปค.ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ แต่กลับมาติดกับระเบียบเล็กน้อยที่ทีมกฎหมายยกมาอ้างในการสะกัดกั้นคนมีความสามรถมาช่วยงาน ถ้าไม่สามารถเอาคนดี คนซื่อสัตย์ คนที่มีความเป็นอิสระเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการ ปปช. ถ้ามีเชื้อร้ายของระบอบทักษิณปะปนอยู่ในคณะกรรมการ ปปช.และคนที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นในระบอบทักษิณ คณะกรรมการ ปปช.จะกลายเป็นตรายางรับรองความบริสุทธิ์ของผู้ไม่บริสุทธิ์ทั้งหลายซึ่งจะร้ายแรงยิ่งกว่าความผิดพลาดของ คตส.ในสมัย รสช.


 


สิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถามกับ คปค.คือการยึดอำนาจในครั้งนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่อยู่ในอำนาจระดับบน โดยยังฮั้วกับขั้วอำนาจเดิมอยู่ใช่หรือไม่ เป็นเพียงการผลักให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกไปพ้นจาการคุมอำนาจเท่านั้น แต่ไม่ถึงกับเอาเป็นเอาตายในการตรวจสอบข้อหาการทุจริตและการยึดทรัพย์ใช่หรือไม่ คปค.อย่าให้การยึดอำนาจในครั้งนี้ถูกครหาได้ว่า เป็นเพียงเพราะความขัดแย้งเกี่ยวกับโผทหาร และต้องการเปลี่ยนแปลงแค่ผู้คุมอำนาจส่วนบนโดยยังคงขั้วอำนาจเดิม


 


หาก คปค.ยังใช้มือกฎหมายของ รสช.ต่อไป หาก คปค.ไม่สามารถยุบ คตส.ที่แต่งตั้งตามคำสั่งฉบับที่ 23 ระวัง คตส.จะฆ่าตัดตอนผลสอบคุณหญิงจารุวรรณจนเอาผิดใครไม่ได้ และถ้า คปค.ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ ปปช.ให้มีคนดี คนมีความสามารถ คนที่เป็นอิสระเข้าไปทำงาน เชื่อได้เลยว่า คปค.จะมีชะตากรรมเป็น รสช.2


 


อย่าให้กลายเป็นว่า คปค.ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณได้สำเร็จ แต่ในที่สุดก็ถูกยึดอำนาจโดยบรรดาเนติบริกรในยุค รสช.และยุคทักษิณ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net