Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม - บทสนทนาที่ลังกาวี "มหาธีร์ โมฮัมหมัด" ผู้ประสานเจรจา ดับปัญหาไฟใต้


จากเว็บไซต์สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


จันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2549


 


เส้นทางสันติภาพชายแดนภาคใต้ กำลังมีผู้ถากถาง บุกเบิกเป็นทางเดินแห่งอนาคต ด้วยการพูดคุยกับแกนนำ อดีตแกนนำ และผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยหลายกลุ่ม หลายขบวนการ เพื่อทราบถึงความต้องการในการร่วมกันสร้างเส้นทางแห่งสันติ ซึ่งการพบปะพูดคุยนี้ ผ่านมาแล้วหลายครั้งในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน และผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการประสานให้มีการพบปะพูดคุยกันก็คือ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย


กว่า 1 ปีที่ดาโต๊ะมหาธีร์ เป็นผู้ประสานการพบปะ พูดคุยกับทุกฝ่าย เขาสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยเกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่แกนนำขบวนการในอดีต และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต้องการเพียงแค่การรักษาอัตลักษณ์ ทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตที่ผูกโยงศาสนาเข้าไว้เท่านั้น พวกเขาต้องการความชัดเจนเหล่านี้จากรัฐบาลไทย


พลันที่เราย่างทางเหยียบแผ่นดินเกาะลังกาวีของมาเลเซีย ในช่วงใกล้ค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา รถของสถานกงสุลไทยประจำเกาะลังกาวี นำพาคณะของเราอันประกอบด้วย ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald จาก ประเทศออสเตรเลีย พร้อมผู้ช่วยชาวไทยและผู้สื่อข่าวจากสถาบันข่าวอิศรา มายังสถานกงสุลไทยประจำเกาะลังกาวี ซึ่งอยู่ภายใน Kampung Tok Senik Resort ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาของเกาะลังกาวี ที่นั่นเราพบกับ ดาโต๊ะ ชาร์ริล เอสเคย์ บิน อับดุลละห์ กงสุลไทยกิตติศักดิ์ ประจำเกาะลังกาวี ออกมาต้อนรับที่อาคารทำการกงสุล


ดาโต๊ะ ชาร์ริล ให้ข้อมูลสังเขปแก่เราถึงรายละเอียดของประเด็นการเจรจา อันจะมีเนื้อบรรจุในรายงาน แผนสันติภาพและการพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ภาคใต้ของไทย (Join Peace and Development for South of Thailand) โดยกลุ่มศึกษาปัญหาภาคใต้ PERNADA GLOBAL PEACE ORGANIZATION (PGPO) ซึ่งมี ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นประธาน ก่อนจะนำพาเราลัดเลาะเนินเขาฝ่าสายฝนไปยังบ้านพักรับรองของ ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด ที่อยู่ห่างจากสำนักกงสุลไปไม่ไกลนัก


ดร.มหาธีร์ มายืนรอรับต้อนรับเราหน้าปากทางเข้าเรือนรับรองไม้หลังใหญ่ยาวรูปแบบง่ายๆ ตามแบบสถาปัตยกรรมมลายูท้องถิ่น  อดีตนายกรัฐมาเลเซียในวันนี้ยังคงเปี่ยมไปด้วยบารมี สังเกตได้จากผู้มารอร่วม "ละศีลอด" และรับประทานอาหารค่ำร่วมกันมีทั้ง ข้าราชการ, นักธุรกิจชาวมาเลเซีย รวมถึงข้าราชการไทยบางคนที่ได้รับเชิญอย่างไม่เป็นทางการมาด้วย


ในวัย 70 ปีเศษ ดร.มหาธีร์ ยังคงกระฉับกระเฉง ทว่าสงบสำรวมและน่าเกรงขาม เขาปลีกเวลาก่อนละศีลอดที่มุมหนึ่งของเรือนรับรองเพื่อให้พูดคุย รวมถึง ดาโต๊ะ ชาร์ริล เอสเคย์ บิน อับดุลละห์ กงสุลไทยกิตติศักดิ์ ร่วมฟังการพูดคุยซักถามอดีตผู้นำมาเลเซีย



ดร.มหาธีร์ ได้ตอบทุกประเด็นอย่างมั่นใจ  ราบเรียบและก้องกังวาน ท่ามกลางสายฝนในช่วงเดือนรอมฎอนที่กระหน่ำลงมา จนเราต้องตั้งใจฟังคำตอบอย่างจดจ่อชนิดคำต่อคำเมื่อบทสนทนาเริ่มขึ้น


๐ ที่มาที่ไปของแผนการนี้ เริ่มขึ้นได้อย่างไร


กระบวนการนี้ได้เริ่มมานานแล้ว ผมเป็นห่วงประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ผมคิดว่าผมสามารถทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง จึงมีการจัดพูดคุยกันทั้งในกัวลาลัมเปอร์และที่อื่นๆ


อย่างหนึ่งที่ผมพูดได้เลยก็คือพวกเขาไม่ได้เรียกร้องเอกราช ไม่ได้เรียกร้องการปกครองตนเอง พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่ก็รู้สึกว่า การอยู่ในประเทศไทยนั้นมันไม่มีความชัดเจนสำหรับพวกเขา บางครั้งกองทัพก็ใช้ความรุนแรงกับพวกเขา และบางทีเมื่อเกิดเหตุใดๆ ขึ้น มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกี่ยวกับมุสลิมมาเลย์เสมอไป มีบางกลุ่มที่ดูเหมือนคอยฉกฉวยโอกาสจากปัญหาความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของอาวุธ


๐ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องเอกราชตามที่พูดจริงหรือ


ตอนที่ผมคุยกับพวกเขา พวกเขาบอกว่า ไม่ได้เรียกร้องเอกราช แน่นอนว่า มันมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่ม แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องเอกราชนะ


ผมยังพูดเลยว่า ความรุนแรงไม่ได้ช่วยอะไรหรอก ไม่มีทางที่รัฐบาลไทยจะยกดินแดนให้พวกเขาแน่ เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องยอมรับความจริงข้อนี้ ทางที่ดีที่สุดคือการเจรจาขอให้เจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติกับพวกเขาดีขึ้น และขณะนี้พลโทไวพจน์ ศรีนวล (ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือศรภ. กองบัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ) ที่เข้ามาดูแล ท่านก็เป็นคนดีมาก เป็นผู้ที่เน้นการพูดคุยถึงสันติและท่านยืนยันว่า พวกเขาจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีกับการอยู่ในประเทศไทย


ผมหวังว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่แผนสร้างสันติภาพ แต่ก็โชคร้ายนะ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลไทย เราก็เลยไม่รู้ว่าจะไปเจรจากับใคร แต่ถึงอย่างไร ผมก็เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์  ตระหนักถึงสิ่งนี้ดี พวกเขาจึงไม่ได้ปฏิเสธและดูเหมือนตอบรับด้วย แต่ผมก็คิดว่าทั้ง 2 คนต้องการรอดูอะไรบางอย่างก่อน


ถึงอย่างไรเสีย ผมก็ยังคงติดต่อกับพวกเขานะ และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าอกเข้าใจมากขึ้น ทางเราก็จะได้สรุปการหารือ แต่ก่อนอื่น ผมไม่สามารถรับรองว่าความรุนแรงจะหมดไป เพราะบางครั้งเหตุรุนแรงก็ไม่ได้เกิดจากพวกเขา แต่เป็นพวกอาชญากรทั้งหลายที่ต้องการฉกฉวยผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


๐ แล้วผลที่ได้จะเป็นอะไรหากแผนสันติภาพนี้ประสบความสำเร็จและทั้ง 2 ฝ่ายร่วมลงนาม


ผมคิดว่า แน่นอนหละ ความรุนแรงมันจะจำกัดลง คือมันมีความมั่นคงมากขึ้น ผมคิดว่า รัฐบาลไทยน่าจะเตรียมพื้นที่รองรับข้อเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมมาเลย์ แต่ถือว่าเป็นพลเมืองไทย เพราะว่ากลุ่มนี้พวกเขาต้องการใช้ภาษาของเขาเอง


อันที่จริงทางตอนเหนือของมาเลเซีย ก็มีคนเชื้อสายไทยนะ แต่เราไม่เคยบังคับให้พวกเขาเป็นคนมาเลย์ เราให้พวกเขาดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ศาสนา และทุกอย่าง ผมจึงเชื่อว่า หากรัฐบาลไทยทำอย่างนี้บ้าง มันก็จะเกิดความสงบขึ้นได้  และอีกอย่าง จะต้องมีการพัฒนาเพราะพวกเขามีฐานะยากจนข้นแค้นมาก โรงเรียนก็มีสภาพทรุดโทรม พวกเขาไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นจะต้องมีความช่วยเหลือหยิบยื่นเข้าไป อนุญาตให้พวกเขาได้เรียนภาษามาเลย์ซึ่งเป็นภาษาที่พวกเขาคุ้นเคย แต่ก็ให้พูดภาษาไทยด้วย


๐ สิ่งที่คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ชายแดนภาคใต้ของไทยต้องการ คืออะไร


พวกเขากังวลเกี่ยวกับเรื่องศาสนา การแสดงออกทางศาสนา การมีมัสยิด ความปลอดภัยในขณะที่พวกเขากำลังประกอบพิธีทางศาสนา หรือการเผยแผ่ความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ พวกเขาอยากให้ใช้ภาษามาเลย์สื่อสาร แต่ก็แน่นอน ต้องเรียนภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาทางการ


ผมว่าต้องให้เหมือนฝั่งมาเลย์นะ ที่นี่เรามีโรงเรียนที่สอนภาษาจีน แต่ก็ต้องเรียนภาษามาเลย์ด้วย สำหรับของไทย ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะทำได้ แต่ผมคิดว่ารัฐบาลในกรุงเทพฯ น่าจะตระหนักถึงสิ่งนี้แล้ว


ก่อนหน้านี้ ผมได้เริ่มติดต่อพูดคุยกับรัฐบาลไทยและพวกเขาก็รู้ปัญหา ผมคิดว่ารัฐบาลไทยจะเข้าใจประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทีแรกผมก็คิดว่าพวกเขาต้องการเรียกร้องเกี่ยวกับการตั้งรกราก เรื่องของการปกครองตนเอง หรือการแยกตัวเป็นอิสระ แต่พอได้คุยด้วย ผมก็แปลกใจไม่น้อยเพราะข้อเรียกร้องนั้นไม่ได้มากมาย แต่ความรู้สึกของพวกเขาสิ มันยิ่งใหญ่ พวกเขารู้สึกด้วยว่า น่าจะมีกองกำลังที่เป็นมุสลิมมาช่วยดูแลพวกเขาในพื้นที่ให้มากกว่านี้


เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองต่างก็รับรู้และเข้าใจถึงปัญหา ผมว่ามันควรจะมีหน่วยงานพิเศษ  ให้ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงปัญหาที่พวกเขามี สิ่งนี้สำคัญมากนะครับ ในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มันเคยมีหน่วยงานแบบนี้ (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต.) และมันก็ถูกยุบ แต่มันควรฟื้นขึ้นมาใหม่


๐ ในขณะนี้ บีอาร์เอ็น ก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก แล้วมันจะมีการเคลื่อนไหวอื่นๆ อีกไหม


มันก็มีกลุ่มหัวรุนแรงที่อยากได้ไปทุกๆ อย่าง แต่ก็นั่นแหละ มันต้องดูคนส่วนใหญ่ด้วยนะ คนก่อเหตุที่ทางไทยจับได้ ก็ไม่ใช่ตัวใหญ่หรือจับมาได้ก็เพียงแค่แพะ ผมเคยคุยกับคุณอานันท์ ปันยารชุน ท่านบอกว่า การไม่เรียกร้องเอกราชเป็นสิ่งที่ดี ยกเว้นว่ามันจะมีข้อเรียกร้องอื่นๆ เกิดขึ้นแทน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ต้องจัดการให้ได้ อย่างไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องยอมบ้างนะและการเจรจาก็จะได้เริ่ม


๐ อะไรที่ควรยอม


ก็ควรเคารพกฎหมายที่จัดทำโดยรัฐบาล


๐ ควรมีเจ้าหน้าที่มุสลิมหรือไม่


ใช่ เราต้องการให้มีหน่วยงานพิเศษ(ศอ.บต) มันควรมีหน่วยงานแบบนี้ คือควรมีที่ให้ชาวบ้านได้ร้องเรียน


ผมคิดว่าการต่อสู้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับใครเลย ประชาชนก็ถูกฆ่าตาย คือบางครั้งประชาชนถูกฆ่าโดยคนกันเอง ทหาร หรือตำรวจ ก็เพราะพวกเขาอยากให้เกิดความสงบสุขขึ้น และมีงานมีการทำ


ผมดีใจนะที่จะได้พูดว่า หากผมสามารถช่วยสร้างสันติสุขให้เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และผมก็เต็มใจอย่างมากด้วยที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น


ในเดือนธันวาคมปีก่อน มีการจัดประชุมใหญ่ขึ้นมา ซึ่งที่ประชุมได้พูดถึงสงครามที่ก่อโดยอาชญากรและมีประชาชนเป็นเหยื่อ เรื่องนี้มันไม่ถูกต้อง และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาด้วย อันที่จริง มันต้องมานั่งคุยกัน ปรึกษาหารือกัน ตั้งอนุญาโตตุลาการสำหรับปัญหานี้ ไม่ใช่สงครามที่ฆ่าฟันประชาชน


เรื่องที่บอกว่าอิสลามโยงกับเหตุรุนแรงนั้น ผมว่าไม่ใช่หรอก ไม่ใช่แต่มุสลิม ใครก็ตามหากถูกแย่งดินแดน ก็คงจะลุกขึ้นสู้ หรือใครที่ถูกกดขี่ ก็ต้องลุกขึ้นสู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ หากถูกกดขี่มันก็ต้องลุกขึ้นสู้ หากเขาไม่มีทางสู้แรงกดดัน มันก็จะนำมาซึ่งวิธีการแบบก่อการร้าย และจำไว้เลยนะว่า ด้วยแรงกดดันนี้จึงทำให้พวกเขาเป็นพวกก่อการร้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net