Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ต.ค.2549   เวลา 09.00 น. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ได้ร่วมกันทำกิจกรรมยืนไว้อาลัย 9 ปีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นเวลา 90 นาที (โดยให้ความหมายว่าจาก 9 ปี กลายเป็น 0) ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ-การปฏิรูปสื่อยุคหลังทักษิณ และการรัฐประหาร 2549" ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ เพื่อทวงคืน สิทธิเสรีภาพและยืนยันเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ มาตรา 39, 40 และ 41 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการ คปส.กล่าวว่า ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยมีปัญหาเรื่องการแทรกแซง ควบคุมสื่อ แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหลายๆ มาตรา มาในวันนี้ก็รัฐบาลชุดนี้ก็มีการติดตามตรวจสอบสื่อในหลักการเดียวกัน


 


"ในหลักประชาธิปไตยแล้วประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพโดยพื้นฐาน มีเสียงในการลงคะแนนแล้วก็ต้องมีเสียงในการพูดแสดงความคิดเห็นแสดงออกได้ตลอดเวลา แต่รัฐบาลชุดนี้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการยกเลิกหลักประกันสิทธิเสรีภาพด้วย และยังมีการควบคุมสื่ออย่างเปิดเผยโดยเฉพาะสื่อที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐทำให้พูดส่งเสริมรัฐบาลและ คปค.อย่างชัดเจน เป็นการทำสื่อให้เป็นของรัฐและทุนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ การปฏิรูปสื่อและการปฏิรูปการเมืองจึงกำลังเป็นที่พูดจากันอยู่ในสังคมว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น" รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าว


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เสนอว่า เราจะต้องเตือนประชาชนทุกคนให้รู้ว่าตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงรัฐประหาร เตือนนักข่าวด้วยว่าตอนนี้ยังไม่ได้ผ่านพ้นยุคที่สื่อฟื้นกลับคืนมามีเสรีภาพ  คปส.จึงขอเสนอว่า สื่อของรัฐให้เปลี่ยนมาเป็นสื่อสาธารณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของให้หมด 


 


จากนั้น สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคปส. ได้อ่านแถลงการณ์เรื่อง "จุดยืนเรื่องการปฏิรูปสื่อ และสิทธิเสรีภาพทางการเมือง" โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้



  1. ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎการอัยการศึกโดยทันที

  2. ทวงคืนสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 และ เจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ รวมถึงเสรีภาพการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชนตามมาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 41

  3. คัดค้านแนวคิดการยุบรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช) ตามข้อเสนอของกทช.

  4. คัดค้านการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ รัฐบาลชั่วคราวจะแต่งตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ด้วยตนเอง หากควรปล่อยให้การสรรหาเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของปะชาชน

  5. คัดค้านการควบคุมวิทยุชุมชนแบบเลือกปฏิบัติหรือการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ

  6. คัดค้านการควบคุม ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของสื่ออินเตอร์เนต

  7. คัดค้านการใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อมวลชนหรือประชาชนที่แสดงความคิดเห็นตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจรัฐ

  8. สนับสนุนการปกป้องเสรีภาพทางความคิด สิทธิของสื่อและอสรภาพในการแสดงออกของประชาชนและขอร้องให้สื่อมวลชนเปิดพื้นที่ให้กับความคิดที่แตกต่าง หลากหลายและเป็นอิสระจากการควบคุมสั่งการจากอำนาจการเมือง

  9. เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ เช่น กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แสดงจุดยืนสนับสนุนการปฏิรูปด้วยการผลักดันสื่อของรัฐให้เปลี่ยนเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะ (Public Service Broadcasting)

  10. ยืนยันว่าคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสาธารณะ ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนกลุ่มอย่างเสมอภาค

 


"แม้ว่าวันนี้จะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 40 แต่เราก็ยืนยันว่าสิ่งนี้จะต้องมีอยู่ต่อไป และที่มีข่าวลือว่าอาจจะไม่มีมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก เนื่องจากไม่ว่ารัฐบาลไหนมาบริหารประเทศก็ไม่ได้ชอบมาตรานี้ มันคือการไปปฏิรูปหม้อข้าวของรัฐซึ่งยังไม่สำเร็จ ไม่ใช่แค่ระบอบทักษิณเท่านั้นที่ทำไม่สำเร็จ แต่ทุกรัฐบาลก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นในสถานการณ์อย่างนี้ คปส.ก็ยืนยันถึงจุดยืน 10 เรื่อง จนกว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ปกติ เราก็คงจะผลักดันการปฏิรูปสื่อต่อไปตามแนวที่เราเตรียมไว้" คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าว


 


 


สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปสื่อว่า "หากเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีมาตรา 40 ก็ควรเขียนให้ชัดไปเลยว่าต้องมีการปฏิรูปสื่อของรัฐ เช่น ช่อง 5 หรือช่อง 11 เพื่อให้เป็นของประชาชนโดยทันที ทหารกองทัพไม่ถือปืนอีกต่อไป ถ้ามีแบบนี้ออกมาเราก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ก็ไม่คาดคิดว่าหลักการแบบนี้จะเกิดขึ้นได้"


 


สุวรรณา อุยานันท์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกลำบากใจที่ต้องทำข่าวทีวีโทรทัศน์ที่เป็นของประชาชนแต่สถานีเป็นที่จอดรถของทหาร เป็นที่พักของทหารที่คอยดูแลสถานการณ์ และไม่เข้าใจว่าทำไมทหารต้องยังอยู่คุม ช่อง 11 อยู่


 


ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อนั้น สุวรรณากล่าวว่า "ลองเอาประชาชนสัก 35 คนยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมมันดีอยู่แล้ว และเพิ่มเติมอะไรนิดเดียวจะได้ไม่ต้องซับซ้อนว่าต้องเสนอเข้ามาใหม่แล้วก็มานั่งพิจารณากันใหม่ใช้เวลายาวนานอีก อันเดิมจริงๆ มันดีอยู่แล้วแค่เพิ่มเติมอะไรลงไปในส่วนที่คิดว่ามันอาจจะเป็นช่องว่างนิดเดียว เพราะถ้าถามว่าโดยบรรทัดฐานตรงนั้นมันค่อนข้างครอบคลุม แล้วการวินิจฉัยหลายๆ ครั้งของการใช้สิทธิเสรีภาพของศาลก็ยังปกป้องอยู่ สร้างความพร้อม และเอาอันเดิมกลับมาให้ได้ก่อน"


 


ต่อพงศ์ เสลานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านคนตาบอด รองเลขาธิการ คปส. กล่าวว่า ในภาวการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศกฎอัยการศึก การจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือการควบคุมเนื้อหาข้อมูลที่จะถูกเผยแพร่ต่อประชาชนมันกลับไปเหมือนสมัยก่อน


 


"ผมเกรงว่าสิ่งเหล่านี้มันจะคงอยู่และความหลากหลายทางความคิดหรือความหลากหลายในภาวะที่เป็นจริงในสังคมไทยมันอาจจะถูกกระบวนการบางอย่างหล่อหลอมให้เป็นแบบเดิม เป็นแบบหนึ่งเดียว เป็นแบบจำกัดความแตกต่างหลากหลาย และคิดว่าจะเป็นพิษภัยในการพัฒนาสังคมในระยะยาวอย่างแน่นอน" ต่อพงศ์กล่าว


 


เขากล่าวต่อไปว่า  "อย่างที่ทราบกันว่าสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นแหล่งที่มาของรายได้สำคัญหลายๆ ส่วนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ และในตอนนี้เข้าใจว่าทีวีจะมีคนที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแหล่งรายได้ใหม่ ก็คือกลุ่มวิทยุชุมชน เพราะฉะนั้นหากไม่มีมาตราในทำนองมาตรา 40 ก็อาจจะตั้งข้อสังเกตได้เลยว่าทางผู้ที่เข้ามายึดอำนาจรัฐประหารหรือรัฐบาลชุดนี้ที่คนไทยคาดหวัง จะมีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับการเก็บกินผลประโยชน์จากวิทยุชุมชนนี้หรือไม่"


 


ต่อพงศ์ยังตั้งคำถามด้วยว่า ประชาธิปไตยเป็นทางออกของสังคมไทยหรือไม่  หากมองผิวเผินที่ประชาชนให้ดอกไม้ทหารก็เป็นภาพที่ดี แต่ถ้ามองให้ลึกประชาชนไม่รู้เลยว่าเขาได้ถูกกระชากความเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว ความผิวเผินนี้เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่ทำให้ทักษิณได้คะแนนเยอะด้วยเช่นกัน เช่น กองทุนปฏิรูปต่างๆ ที่ช่วยเหลือชาวบ้าน แม้จะทำให้ประชาธิปไตยกินได้ แต่ถ้ามีรัฐบาลที่ฉ้อฉลก็ลำบากเพราะต้องเป็นหนี้เป็นสิน ฉะนั้น ถ้าอยากให้การเมืองเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงต้องปรับความคิดใหม่ หากให้การร่างกฎหมายยังอยู่ในมือพวกนักวิชาการ คนพวกนี้มีเหตุผลร้อยแปดที่อ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวม สุดท้ายก็ไม่ต่างกับรัฐบาลที่ผูกขาดอยู่กับรัฐบาลเอง


 


ในเรื่องสื่อมวลชนนั้น ต่อพงษ์ระบุว่า หากอยู่เฉยๆ ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งคนที่ให้ข่าว และสื่อเองควรสร้างความกดดันอะไรบางอย่างที่แสดงถึงการขัดขืน ประชาชนนอกจากจะออกมาประชุมที่สงบเป็นเวลายาวนาน เราต้องเสนอความจริงที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ใช่พวกเทคนิค หรือนักกฎหมาย ที่เขียนกฎหมายมาไม่รู้กี่ฉบับแต่ประเทศชาติก็ไม่พัฒนา เราต้องติดตามและสงสัยให้มากๆ กับบุคคลในรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net