Skip to main content
sharethis

การพูดคุยกับแกนนำก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พูดถึงรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะสานต่อย่างไร เพื่อนำไปสู่ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบและนำความสันติ สงบกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังเดิม


 


เชื่อว่า การสานต่อดำเนินการได้ไม่ยากนัก ด้วยเหตุที่ฝ่ายรัฐได้สร้างต้นทุนจากการพูดคุยกับแกนนำในพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งคงจำกันได้ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2549 มีการจัดโครงการสันติ จังหวัดชายแดนภาคใต้ การชุมนุมของประชาชนผู้ต้องการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาโดยสันติ ที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา ครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน


 


ในจำนวนนี้มี 30 - 40 คน ที่พล.ท.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ในฐานะเจ้าของโครงการ ยืนยันว่าเคยเป็นแกนนำที่สนับสนุนขบวนการใช้ความรุนแรง ซึ่งเข้ามาเป็นแกนนำจัดโครงการนี้ด้วย ด้วยเหตุที่ต้องการ แก้ปัญหาอย่างสันติ ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังผ่านการพูดคุยมาแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549


 


พล.ท.สมหมาย วงษ์มาก นายทหารที่ปลดเกษียรแล้ว แต่ถูกเชิญให้มาช่วยงาน โดยเป็นผู้รับโครงการในพื้นที่และเป็นผู้ประสานงานหลักกับแกนนำในพื้นที่ ยืนยันด้วยว่า เรื่องการพูดคุยกันที่ผ่านมา ก็ชัดเจนตามข่าวว่า นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นคนกลางในการพูดคุยด้วย ส่วนการพูดคุยกันในพื้นที่ก็มีอยู่ตลอด


 


"เรื่องการพูดคุยกับแกนนำ เป็นที่รับทราบของ พล.อ.สุรยุทธ์ มาตลอด เพราะเราได้นำเรียนท่านด้วย ตั้งแต่ท่านทำโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ ถ้าท่านมีคำแนะนำอะไรมาเราก็รับ


 


เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่า เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการต่อแน่นอน แต่ตอนนี้ต้องรอดูก่อนว่า รัฐบาลใหม่จะเดินต่อไปอย่างไร เพราะมีหลายคนที่เป็นรัฐมนตรีคนใหม่ ถูกตั้งเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่า ท่านอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีมหาดไทย หรือแม้แต่ท่านบัญญัติ จันเสนะ รัฐมนตรีช่วยฯ ก็มีประสบการณ์ทางภาคใต้มาก"


 


พล.ท.สมหมายบอกด้วยว่า คาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารและการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ตามที่นายอารีย์กล่าวไว้ อาจจะคล้ายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เดิม หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่


 


แต่ในส่วนของกองทัพเอง พล.อ.สนธิ ก็ยังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการในพื้นที่ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. อยู่ ก็เชื่อว่าการทำงานจะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น


 


พล.สมหมาย บอกด้วยว่า หลังจากจัดโครงการสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ก็ยังไม่มีการต่อยอดอะไร เนื่องจากเกิดการปฏิรูปการเมืองขึ้นและขณะนี้กำลังรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่ ตนจึงปรึกษากับแกนนำในพื้นที่ว่า อาจจะต้องไปอีกซักระยะ จนถึงเดือนพฤศจิกายนจึงจะดำเนินการต่อไปได้


 


"ช่วงนี้เราก็ทำได้เพียงรักษาความสัมพันธ์กับเขาเท่านั้น ที่ผ่านมา เราไม่ได้เจรจาเลย มีแต่เป็นการพูดคุยกันอย่างเปิดใจ ใครมีปัญหาอะไรก็บอกมา เราก็จะประสานงานให้มีการแก้ปัญหาให้"


 


ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอที่ให้ใช้ 3 ขั้นตอนในการเจรจา คือ 1.เปิดโอกาสให้แกนนำก่อความไม่สงบได้มาพูดคุย 2.ควานหากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ และ 3.พิสูจน์ทราบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบที่มาพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายรัฐนั้นเป็นตัวจริง และจะต้องรับข้อเสนอของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นเวลา 14 วัน นั้น พล.ท.สมหมายบอกว่า นั่นเป็นข้อเสนอของแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ พล.ท.สมหมาย ก็ไม่ได้ยืนยันว่านั่นคือการเตรียมการเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งโต๊ะเจรจาจริงๆ


 


แต่หากถึงขั้นตั้งโต๊ะเจรจา ฝ่ายไทยก็คงไม่ต้องเหนื่อยในการหาคนกลาง ในเมื่อนายมหาธีร์เองก็ได้รับบทบาทนี้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ในการพูดคุยกันที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ขณะที่นายมหาธีร์ ก็ยืนยันว่า เต็มใจอย่างมากด้วยที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย


 


พร้อมกันนั้น เขายังได้เสนอด้วยว่า ควรตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในพื้นที่ เพื่อเป็นสถานีร้องเรียนปัญหาของชาวมุสลิม ขณะเดียวกันชาวมุสลิมก็ต้องเคารพกฎหมายของรัฐบาลไทยด้วย


 


แล้วการเจรจาจะยุติความรุนแรงได้หรือไม่ ภายใต้รัฐบาลชุดปฏิวัติต้องติดตามอย่างกระชั้นชิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net