Skip to main content
sharethis



 


 


เรื่องราวของการ "ข่มขืน" อย่างเป็นระบบของทหารพม่าต่อสตรีในรัฐฉานอย่างเป็นระบบ ถูกเปิดเผยในหนังสือ License to rape : the Burmese military regime's use of sexual violence in the ongoing war in Shan State, Burma ซึ่งได้รับการแปลมาเป็นภาษาไทยในชื่อ ใบอนุญาตข่มขืน : บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน


 


หนังสือดังกล่าวจัดทำโดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) และเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (Shan Women"s Action Network) เผยแพร่ในฉบับภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 และแปลเป็นภาษาไทยโดยการสนับสนุนของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 โดยมีผู้แปลคือสุภัตรา ภูมิประภาสและเพ็ญนภา หงษ์ทอง สองหญิงไทยที่ได้ลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับรายงานฉบับนี้ด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลจากปากคำจริงของบรรดาผู้อพยพจากรัฐฉานที่ลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า


 


หนังสือดังกล่าวรายงานถึงชะตากรรมของสตรีและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉานทั้งสิ้น 173 เหตุการณ์ มีสตรีตกเป็นเหยื่อ 625 คน จำแนกเป็นเด็กผู้หญิง 92 คน และสตรี 527 คน ซึ่งถูกทารุณกรรมทางเพศโดยทหารพม่าทั้งระดับประทวนและชั้นสัญญาบัตรที่ถูกส่งเข้ามาประจำการในรัฐฉานระหว่างปี พ.ศ.2539-พ.ศ.2544


 


โดยสมาชิกและกองกำลังทหารพม่าได้ร่วมกันใช้ "การข่มขืน" ปราบปรามการต่อต้านของชาวไทยใหญ่ โดยผู้กระทำคือทหารพม่า 52 กองพัน โดย 83% ของคดีข่มขืน กระทำโดยนายทหารระดับสูงและผู้บังคับบัญชา บ่อยครั้งที่เหยื่อถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การรัดคอ การทุบตีและการทำให้พิการ เหยื่อ 25% ของการถูกข่มขืนถูกทารุณจนเสียชีวิต 61% เป็นกรณีที่ผู้หญิงถูกรุมข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่านานถึง 4 เดือน


 


โดยสุภัตรา เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อปี พ.ศ.2545 ว่า หนักใจกับการแปลหนังสือเล่มนี้ เป็นเหมือนรายงานที่สมบูรณ์แบบ เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ เพราะคนที่ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำมีตัวตน มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เด็ก ผู้หญิงเหล่านี้น่าสงสาร ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลล่าสุดที่ได้รับเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาล ซึ่งนำผลการรักษาของผู้หญิง 6 คนที่ถูกกระทำว่าเขาโดนเผาอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก โดยเพ็ญนภา เสริมว่า ตนยังจำภาพที่เดินเข้าไปพูดคุยกับชาวไทยใหญ่เหล่านี้ได้ แต่ละคนมีใบหน้าเศร้า หวาดกลัว สาเหตุที่ต้องลงไปในพื้นที่เพราะขณะที่แปลหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือ และคนเหล่านี้เขามีชีวิตอยู่กันยังไง


 


"มีเรื่องราวของผู้หญิงท้อง 7 เดือน แล้วโดนข่มขืน เรารู้สึกว่ามันแย่มาก แล้วเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร พอไปเจอเขาน่าสงสารมาก ตอนนี้ลูกที่อยู่ในท้องตอนที่เขาถูกข่มขืนอายุ 7 เดือนแล้ว เขากลัวที่จะต้องกลับไปในรัฐฉานอีก ส่วนหนึ่งที่อยากแปลหนังสือเล่มนี้คือต้องการให้รัฐบาลไทยอ่านและสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้เปิดค่ายผู้ลี้ภัยให้กับชาวไทยใหญ่ อยากให้สังคมไทยเป็นที่พึ่งให้กับผู้หญิงและเด็กเหล่านี้" เพ็ญนภา กล่าวในที่สุด


 


ในรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการข่มขืนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการของทหารพม่าเสมือนเป็นอาวุธสงครามในการปราบปรามการต่อต้านของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการข่มขืนนั้นกลายเป็นปฏิบัติปกติที่กระทำตั้งแต่ระดับนายทหารระดับถึงผู้บังคับบัญชา มีการกระทำอย่างเป็นระบบและโดยเจตนา อีกทั้งจำนวนของผู้หญิงไทใหญ่ที่ถูกข่มขืนนั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนของแผนปฏิบัติการทางทหารของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council-SPDC) ที่นำมาใช้ปราบปรามกองกำลังกู้ชาติของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานด้วย


 


อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะทำให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดชาวไทใหญ่จึงพากันหลบหนีจากการประหัตประหารของรัฐบาลทหารพม่า เข้ามาใช้ชีวิตเป็นพี่น้องแรงงานอพยพในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net