Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 17 ต.ค. 2549 นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คัดค้านการยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาท) แต่สนับสนุนแนวคิดในการนำเงินเข้ากองทุนโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยวิธีร่วมจ่ายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


 


ทั้งนี้ นพ.ปิยะ ระบุว่าเงินงบประมาณหลักยังคงมาจากรัฐบาลอย่างแน่นอน และทาง สปสช.ขอไว้ 2,089 บาทต่อหัว เงินจำนวนดังกล่าวจะช่วยให้การรักษาบริการมีคุณภาพมากขึ้น พร้อมระบุว่ารัฐไม่น่าจะลำบากในการหางบประมาณส่วนนี้ เนื่องจากติดตามสถานการณ์ทางการเงินการคลังของรัฐบาลมาตลอด


 


ส่วนระบบการจ่ายร่วม มีตัวอย่างในต่างประเทศ คือ ประเทศเยอรมนี ผู้ที่มีรายได้ทุกคนต้องร่วมกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลและบริการเสริมอื่นๆ ถึงร้อยละ 14 ของรายได้ทั้งปี ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก หรือแม้แต่ในสิงคโปร์ก็มีการสะสมตั้งกองทุนดูแลสุขภาพเช่นกัน


 


นพ.ปิยะ เห็นว่าวิธีการจ่ายร่วมนี้ต้องใช้กับผู้มีรายได้โดยเฉพาะ แต่ไม่ใช่ผู้ยากจน เพราะในประเทศไทยยังมีคนจนอีกเป็นจำนวนมาก แต่ทุกวันนี้ ทั้งคนจนและคนรวยต่างเสียค่ารักษาพยาบาลเพียง 30 บาท หากมีการยกเลิกการเก็บค่ารักษา 30 บาทจริง แม้คนจนจะได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสุขภาพที่ยั่งยืน จึงควรจัดให้ประชาชนที่มีรายได้จ่ายร่วมกับรัฐ และเปรียบได้กับ "การจัดเก็บภาษี" ซึ่งคนรวยย่อมเสียภาษีมากกว่าคนมีรายได้น้อย ในขณะที่คนจนไม่ต้องเสียภาษีเลย


 


อย่างไรก็ตาม นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ และ นพ.สัมพันธ์  คมฤทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแพทย์ภาครัฐ ได้ยื่นหนังสือเสนอแนวทางแก้ไขหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาท) ต่อ รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่เห็นปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากการหารือร่วมกันระหว่างแพทย์ ทันตแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ส่วนใหญ่วิตกกังวลในแนวคิดของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นที่จะยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่หัวใจสำคัญของปัญหา


 


ปัญหาของโครงการ 30 บาท อยู่ที่ปริมาณผู้เข้ารับการรักษาบริการและความคาดหวังของประชาชนที่มีมากจนไม่สมดุลกับงบประมาณสนับสนุน การขาดแคลนทรัพยากรด้านบุคลากรทุกระดับ จึงไม่อาจสนองต่อความต้องการของประชาชนได้


 


ด้วยเหตุนี้ จึงควรต้องมีการกระจายเงิน กระจายอำนาจให้กับสถานบริการให้มากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้อง และเห็นด้วยกับการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพอย่างสมานฉันท์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net