Skip to main content
sharethis

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณะบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงการตั้งศูนย์อำนวยการในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.พ.จชต.) ว่า สามารถมองภาพได้ 2 ด้าน คือ ด้านแรกย้อนรูปแบบการจัดการปัญหาภายใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะพิเศษ โดยกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารประสานการทำงานด้วยกัน


 


ด้านต่อมาคือ เพิ่มเติมลักษณะพิเศษของโครงสร้างขึ้นมา เนื่องจากสถานการณ์แตกต่างจากอดีตที่มีทั้งความขัดแย้ง การก่อความรุนแรงมุ่งร้ายต่อชีวิตสูง แต่ปรับปรุงการบริหารจะสามารถสะท้อนปัญหาในสภาวะที่เป็นจริงได้แค่ไหนนั้น ต้องพิจารณาว่าองค์กรใหม่จะตัดสินใจในการจัดการอย่างไร


 


เชื่อว่า ศอ.พ.จชต. จะลดช่องว่างของชาวบ้านและทหาร เนื่องจากภาพของ กอ.สสส.จชต.ที่ผ่านมา มีแนวคิดและการทำงานแบบทหาร แต่ ศอ.พ.จชต.ที่กำลังจะเกิดขึ้นใช้พลเรือนเป็นหลักในการขับเคลื่อน ประสานนโยบายและเข้าถึงชาวบ้านได้มากขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม ทหารก็ยังคงบทบาทสำคัญในการดูแลความมั่นคงเชื่อว่าจะไม่ถอนกำลังออก แต่ ศอ.พ.จชต.จะทำให้ทหารเปลี่ยนบทบาทเป็นพลเรือนมากขึ้น เช่น จัดกิจกรรมในชุมชน หรือมิฉะนั้นต้องสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันต้องเสริมด้วยกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ให้ชัดเจนและเร่งด่วน เพื่อให้ชาวบ้านไว้วางใจรัฐมากขึ้น แต่หากเป็นไปได้ทหารจึงควรเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน เตรียมให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับช่วงต่อได้ในทันที คาดว่าภายใน 1 ปี รัฐบาลชั่วคราวสามารถเตรียมโครงสร้าง นโยบายได้เสร็จ


 


นายชิต บรรลือศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นและมีความหวังมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากการก่อรัฐประหาร แต่คณะรัฐมนตรีล้วนได้รับการยอมรับ ส่วนผู้ที่ดูแลปัญหาภาคใต้ก็รู้ปัญหา


 


"การดำเนินงานภายใต้ ศอ.พ.จชต.ที่ครอบคลุมจังหวัดสตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา นั้นแสดงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหา แต่ใน 2 จังหวัดดังกล่าว มีระดับปัญหามีความแตกต่างกัน จึงควรแยกจุดประสงค์ให้ชัดเจนว่าเพื่อแก้ไข ป้องปราม หรือสร้างภูมิคุ้มกัน" นายชิต กล่าว


 


รวมสตูลหวั่นกระทบท่องเที่ยว


นายสามารถ เจริญฤทธิ์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า หน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น เป้าหมายหลัก คือ จะยุติความรุนแรงได้อย่างไร การให้จังหวัดสตูล อยู่ภายใต้ ศอ.พ.จชต.ด้วยนั้น อยากให้อยู่ในเชิงการพัฒนามากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ เพราะยังไม่ถึงเวลา ยังไม่มีการแทรกแซงของกลุ่มก่อความไม่สงบ เกรงจะกระทบการท่องเที่ยว ข้อสงสัยนี้รัฐต้องสร้างความเข้าใจต่อประชาชนก่อน


 


นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน และกรรมการหอการค้าปัตตานี ว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลทำ เพราะน่าจะรู้สภาพปัญหาที่แท้จริง การตั้งองค์กรมาดูแลปัญหาที่ชัดเจนจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ขอให้มีความจริงใจ และทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น


ปัญญาชนใต้ชี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม


      


นายมันโซว์ สาและ คณะกรรมการประสานองค์กรประชาชนเพื่อจังหวัดชายแดนใต้ (คปปต.) เปิดเผยว่า จากการที่เคยพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ พบว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้องค์กรของรัฐเป็นองค์กรนำในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเปลี่ยนแปลงแต่ชื่อเท่านั้นส่วนแนวทางการทำงานยังเหมือนเดิม


 


"ประชาชนอยากเห็นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ทุกศาสนา โดยรัฐคอยสนับสนุนแนะให้คำปรึกษาเท่านั้น ซึ่งจะสอดคล้องกับทฤษฎีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทั่วโลก ที่ต้องแก้โดยคนในพื้นที่" นายมันโซว์ กล่าว


 


นายกฯไทยของมาเลย์ส่งตัวแกนนำป่วนใต้


สื่อต่างประเทศ รายงาน ระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะขอให้มาเลเซียส่งตัวบรรดาแกนนำการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เชื่อว่าซ่อนตัวอยู่ตามแนวพรมแดนไทย - มาเลเซีย ให้กับไทย โดยนายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดจะเยือนกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเป็นเวลา 1 วัน ในวันพุธที่ 18 ต.ค.นี้ เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี


 


ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีพรมแดนติดกับมาเลเซีย จะเป็นหัวข้อสำคัญของการหารือระหว่างสองผู้นำ และ พล.อ.สุรยุทธ์จะใช้การเยือนครั้งนี้ หารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยด้วย หลังเกิดการปฏิรูปฯเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549


 


นอกจากนี้ มีรายงานอ้างหน่วยข่าวกรองด้วยว่า นายกรัฐมนตรีของไทย จะขอให้มาเลเซียติดตามร่องรอยและจับตัวแกนนำคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ของไทยส่งให้กับทางการไทย ซึ่งแหล่งข่าวกรองระบุว่า มาเลเซียน่าจะทราบว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ใด ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายไทยเชื่อว่า ถ้าได้คุยกับสมาชิกระดับแกนนำเหล่านี้ จะช่วยลดปัญหาทางภาคใต้ของไทยลงได้ รวมถึงยังขอให้มาเลเซียส่งกลับชาวไทยมุสลิม 130 คน ที่หนีข้ามชายแดนไปมาเลเซียเมื่อกว่า 1 ปี โดยอ้างว่าหลบหนีความรุนแรงและกลัวการก่อกวนจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งเหตุการณ์คนไทยมุสลิม 130 คนนี้ ได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการทูตระหว่างไทยกับมาเลเซียที่ยืนยันว่า ไม่ควรบีบบังคับให้คนเหล่านี้กลับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรับประกันความปลอดภัยให้พวกเขาด้วย


 


"หมอแว"เสนออีกออก"พ.ร.บ.ซากาต"


นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ สมาชิกสภานิติบัญญัติ เตรียมเสนอให้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติซากาต ให้กับชาวไทยมุสลิม เพื่อเป็นการลดค่าใช่จ่ายที่ชาวมุสลิมต้องจ่ายซ้ำซ้อน ทั้งจ่ายเงินซากาตและภาษี โดยซากาตเป็น 1 ใน 5 ข้อบัญญัติหลักของศาสนาอิสลาม โดยมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่ศาสนากำหนด ซึ่งมีลักษณะเดียวกับการจ่ายภาษี


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ตั้งศาลแพ่งที่ใช้กฎหมายของอิสลามตัดสิน และออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยก่อนหน้านี้ นายแพทย์แวมาฮาดี ได้เรียกร้องให้กำหนดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเขตปกครองพิเศษในเชิงวัฒนธรรม โดยให้เป็นพื้นที่ปลอดอบายมุขมาแล้ว


 


ป่วนไม่เลิกยิงตำรวจและบึ้มซ้ำสกัดติดตาม


ส่วนเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2549 ที่ถนนเปรมจิตต์ - สุรพันธ์ ตลาดเมืองใหม่ เขตเทศบาลนครยะลา คนร้ายยิง ด.ต.ศรายุทธ ทะยาน อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 219 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสียชีวิต ส่วนอีก 3 ราย ได้รับบาดเจ็บ คือ จ.ส.ต.วิชาญ เมาเตจา อายุ 36 ปี สังกัด กก.ตชด.ที่ 33 ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ด.ญ.นารีมาน วีระสิทธิ์ อายุ 14 ปี อาการสาหัส และนางสาวสุรีพร วีระสิทธิ์ บาดเจ็บเล็กน้อย


 


หลังเกิดเหตุ ชุดจู่โจมเคลื่อนที่เร็วของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ขับรถยนต์ออกไล่ล่าคนร้ายทันที แต่เมื่อมาถึงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี เขตรอยต่อ ตำบลท่าสาป กับเขตเทศบาลนครยะลา คนร้ายได้กดชนวนระเบิดแสวงเครื่องด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บอีก 5 นาย นอกจากนี้คนร้ายยังได้โรยตะปูเรือใบสกัดการไล่ล่าด้วย


 


ยิงสมาชิก อบต. - ครูสอนศาสนา


ก่อนหน้านี้เวลา 20.20 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2549 ที่หมู่ที่ 2 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา คนร้ายประกบยิงนายมะสาอารี กาเจ อายุ 40 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ อาการสาหัส


 


เวลาประมาณ 21.00 น. วันเดียวกันหน้าบ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 1 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เกิดเหตุคนร้ายยิงนายอับดุลเลาะ กาซอ อายุ 43 ปีครูสอนโรงเรียนมะอาฮัดอิสลามิยะ ตำบลบาลอ อำเภอรามัน อาการสาหัส ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการก่อความไม่สงบ


 


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากเว็บไซด์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net