Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 18 ต.ค.2549    เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักข่าวหลายสำนักที่ร่วมกันลงชื่อให้ตัวแทนสมาคมวิชาชีพทั้ง 3 แห่งทบทวนบทบาทการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้


 


  


แถลงการณ์


สนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้สื่อข่าวสายการเมือง


และเรียกร้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกด้าน


 


ตามที่ได้มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันประกอบด้วย ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า อาจกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กระทบต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ ตลอดจนความน่าเชื่อถือ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อนั้น


 


เราเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ขอประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องดังกล่าวและมีข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชน ดังนี้


 


1.เครือข่ายเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ต่อมาได้มีการตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการจำนวนมาก และยังคงโครงสร้างอำนาจต่างๆ ที่ให้อำนาจเต็มต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คปค.ในอดีต นี่คือแนวโน้มที่จะสืบทอดอำนาจของคณะทหาร ดังนั้น ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นเพียงตรายางสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจเผด็จการมากกว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย


 


2.ในแง่จรรยาบรรณวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไม่อาจให้การสนับสนุนหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้แก่บุคคลหรือกลุ่มการเมืองใดได้ ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่สื่อต้องมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หากเป็นผู้เข้าไปใช้อำนาจเสียเองก็ย่อมไม่อาจทำหน้าที่ดังกล่าวได้ จึงเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนและทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อเองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการยอมรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ เท่ากับเป็นการยอมรับการแทรกแซงสื่อด้วยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองเข้าซื้อคนประกอบวิชาชีพสื่อนั่นเอง


 


3.ตำแหน่งผู้แทนองค์กรวิชาชีพมิใช่ตำแหน่งหน้าที่ส่วนตัว แต่อ้างอิงความเป็นตัวแทนของคนทำสื่อ การเข้าไปรับใช้เผด็จการจึงเป็นการกระทำผิดต่อวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ


 


4.ในปัจจุบันนี้แม้สังคมไทยจะอยู่ใต้อำนาจเผด็จการแต่สื่อมวลชนก็มีเสรีภาพพอสมควร เพียงแต่สื่อไม่ยอมทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนอย่างเปิดเผย การเซนเซอร์ตัวเอง และที่สำคัญที่สุด คือ สื่อเป็นตัวการที่สร้างวาระข่าวสารที่ทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีความชอบธรรม เป็นไปโดยสันติ และคนส่วนใหญ่ล้วนให้การสนับสนุนและแทบไม่มีการต่อต้านใดๆ ดังนั้น การออกมาเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนสายการเมืองจึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของคนทำสื่อที่กำลังต้องการทวงคืนบทบาทที่พึงประสงค์ของสื่อ


 


เราเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้


 


1.ขอให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยทันที


 


2.ขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชนทั้งหลายว่า จงแสดงความกล้าหาญด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และต่อต้านความไม่ชอบธรรมของอำนาจทุกรูปแบบ ขอให้กลับมาเป็นสื่อมวลชนที่เคารพในวิชาชีพของตนเอง และเคารพต่อผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยในอดีต หาไม่แล้วสิทธิเสรีภาพสื่อและจรรยาบรรณวิชาชีพที่เขียนไว้อย่างสวยหรูก็ไม่มีความหมายใด


 


 


 


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


17 ตุลาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net