25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี 2549 (ตอน 2) ข่าวที่ 11-20

"Censored 2007"

The Top 25 Censored Media Stories of 2005-2006

 

0 0 0

 





Project Censored เป็นโครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม รายงานเพียงผิวเผิน หรือไม่ยอมนำเสนอ

 

กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษาและสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ

 

ข่าวที่ไม่เป็นข่าวทั้ง 25 ข่าวจะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Censored : The News That Didn"t Make the News ที่ออกเป็นประจำทุกปี และกลายเป็นประเด็นใหญ่ประจำปีในวงการสื่อมวลชนอิสระของสหรัฐอเมริกา

 

 

จากโครงการ Project Censored 2007

มหาวิทยาลัย Sonoma State สหรัฐอเมริกา

www.projectcensored.org

แปลและเรียบเรียงโดย

ภัควดี วีระภาสพงษ์


 

0 0 0

 


11

อันตรายของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการยืนยัน

 

การศึกษาวิจัยหลายชิ้นในระยะหลังยืนยันตรงกันว่า อาหารดัดแปลงพันธุกรรมมีอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

 

·         การวิจัยของสภาวิทยาศาสตร์รัสเซียที่เผยแพร่ออกมาในเดือนธันวาคม 2005 พบว่า แม่หนูที่กินถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม ลูกอ่อนของมันจะตายหลังจากเกิดได้เพียง 3 สัปดาห์ มากกว่าลูกหนูที่เกิดกับแม่ที่กินถั่วเหลืองธรรมชาติถึง 6 เท่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมยังมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่ามาตรฐานอย่างรุนแรงมากกว่าถึง 6 เท่าเช่นกัน

 

·         ในเดือนพฤศจิกายน 2005 สถาบันวิจัยเอกชนในออสเตรเลียหยุดพักการพัฒนาถั่วดัดแปลงพันธุกรรมไว้ชั่วคราว หลังจากพบว่ามันมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของหนูทดลอง

 

 

·         ในฤดูร้อน ค.ศ. 2005 คณะวิจัยชาวอิตาเลียน นำโดยนักชีววิทยาด้านเซลล์สิ่งมีชีวิตแห่งมหาวิทยาลัยอูร์บิโน ตีพิมพ์รายงานยืนยันว่า ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกิดความผิดปรกติของเซลล์ตับ รวมทั้งความผิดปรกติของเซลล์อื่นๆ ในหนูทดลอง

 

·         เดือนพฤษภาคม 2005 การตรวจสอบผลการวิจัยของมอนซานโตที่ทดลองกับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Independent ของอังกฤษ

 

ผลการทดลองของมอนซานโตชิ้นนี้เป็นความลับและเป็นที่ถกเถียงกันมาก ดร. อาร์ปัด ปุสไต (ดู "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. 2543" อันดับ 7) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อิสระจริงๆ ไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชและอาหารสัตว์ ได้รับการขอร้องจากรัฐบาลเยอรมันให้ตรวจดูเอกสารการวิจัยของมอนซานโต ที่เลี้ยงหนูทดลองด้วยข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมเป็นระยะเวลา 90 วัน (ก่อนสรุปรวบรัดว่าไม่มีอันตรายและนำสินค้าออกวางตลาด)

 

การศึกษานี้พบว่ามีความแตกต่าง "อย่างมีนัยสำคัญในเชิงสถิติ" ระหว่างน้ำหนักของไตและตัวแปรบางอย่างในเลือดของหนูที่กินข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมกับหนูที่ไม่ได้กิน นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย หากข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร

 

ชาวอเมริกันบริโภคถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตอย่างกว้างขวาง แม้ว่าองค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติจะมีข้อสรุปว่า "ในหลายกรณี อาหารดัดแปลงพันธุกรรมถูกวางขายในตลาดทั้งๆ ที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน"

 

ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ หรือยุโรปยังไม่ยอมวิจัยเรื่องอาหารดัดแปลงพันธุกรรมอย่างจริงจัง การศึกษาด้านพิษวิทยาของอาหารจีเอ็มโอส่วนใหญ่จึงเป็นการวิจัยของบรรษัทที่ผลิตและส่งเสริมการบริโภคจีเอ็มโอ ความน่าไว้วางใจของงานวิจัยประเภทนี้ยังน่าเคลือบแคลง การวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อิสระจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

 

กระนั้นก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2006 องค์การการค้าโลกหรือ WTO ก็ยังมีมติว่า กลุ่มประเทศยุโรปละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม

 

12

เพนตากอนวางแผนกลับมาผลิตทุ่นระเบิดอีกครั้ง

 

เกือบทุกประเทศในโลกยอมรับว่าควรยกเลิกการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (antipersonnel mines) รัฐบาลอเมริกันในสมัยประธานาธิบดีคลินตันก็เคยแสดงความเห็นพ้องในเรื่องนี้ สหรัฐฯ ผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1997 แม้จะไม่ยอมลงนามร่วมกับอีก 145 ประเทศในสนธิสัญญายกเลิกการใช้ทุ่นระเบิด หรือที่เรียกกันว่า อนุสัญญาออตตาวา แต่ก็เคยแสดงเจตจำนงว่าอาจจะร่วมลงนามในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบุชกลับลำในเรื่องนี้อย่างหน้าตาเฉยในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 โดยล้มเลิกแผนการที่จะร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้ทั้งหมด แถมยังประกาศว่า "สหรัฐอเมริกาจะไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา เพราะเงื่อนไขของอนุสัญญานี้ทำให้เราต้องเสียสมรรถภาพด้านการทหารที่จำเป็นไป" และยังบอกอีกว่า "สหรัฐอเมริกาจะพัฒนาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและทุ่นระเบิดดักรถถังต่อไป"

 

Human Rights Watch รายงานว่า ทุ่นระเบิดแบบใหม่ของสหรัฐฯ จะทำงานได้หลายแบบ มีทั้งแบบใหม่ที่ทหารสามารถตัดสินใจสั่งการให้จุดระเบิดได้ ("man-in-the-loop") หรือแบบเดิมที่ทุ่นจะจุดระเบิดเมื่อมีบุคคลเข้าใกล้หรือสัมผัสโดน (victim-activation)

 

หากสหรัฐฯ กลับมาใช้ทุ่นระเบิดอีกครั้ง อาจมีผลพวงตามมาสองทางคือ ทางแรก 145 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาออตตาวาจะยังยึดมั่นในสนธิสัญญาต่อไป และไม่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในกรณีที่มีการใช้ทุ่นระเบิด หรืออีกทางหนึ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ประเทศต่างๆ ในโลกอาจละทิ้งสนธิสัญญาและหันกลับมาใช้ทุ่นระเบิดกันอีก

 

13

หลังฐานใหม่ที่ยืนยันถึงอันตรายของยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ"

 

การศึกษาวิจัยล่าสุดจากสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติกแสดงให้เห็นว่า ยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ" ซึ่งเป็นยาฆ่าวัชพืชที่ใช้กันมากที่สุดในโลก มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์

 

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำทีมโดยศาสตราจารย์ไจลส์-เอริค เซราลีนี (Gilles-Eric Seralini) จากมหาวิทยาลัยกัง (Caen) ในฝรั่งเศส พบว่า เซลล์ในรกมนุษย์มีปฏิกิริยาต่อยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ" ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันด้วยซ้ำ

 

การศึกษาประชากรที่เป็นเกษตรกรในเมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ชี้ให้เห็นว่า การสัมผัสกับสารไกลโฟเซท (glyphosate) ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญในราวด์อัพ ทำให้ความเสี่ยงต่อการแท้งลูกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ศาสตราจารย์เซราลีนีกับคณะจึงตัดสินใจวิจัยถึงผลกระทบของยาฆ่าวัชพืชที่มีต่อเซลล์ของรกในครรภ์มนุษย์เพิ่มเติม การวิจัยของพวกเขายืนยันความเป็นพิษของไกลโฟเซท หลังการสัมผัสสารนี้ในความเข้มข้นต่ำเป็นเวลา 18 ชั่วโมง เซลล์รกของมนุษย์จำนวนมากจะเริ่มตาย นี่อาจอธิบายได้ว่าทำไมเกษตรกรสตรีที่ใช้สารพวกนี้จึงมักคลอดลูกก่อนกำหนดหรือแท้งลูก

 

คณะของศาสตราจารย์เซราลีนีศึกษาต่อถึงผลกระทบทางพิษวิทยาของสูตรยาราวด์อัพ ซึ่งนอกจากมีไกลโฟเซทเป็นสารประกอบสำคัญ ยังมีสารเคมีอื่นๆ ผสมลงไปด้วย ผลการศึกษาพบว่า สารเสริมเหล่านี้ทำให้ความเป็นพิษของยาราวด์อัพมีมากกว่าสารไกลโฟเซทเดี่ยวๆ เสียอีก

 

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 จากมหาวิทยาลัยพิทสเบิร์กระบุว่า ราวด์อัพเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายของยาฆ่าหญ้านี้ด้วย นักชีววิทยาพบว่า ราวด์อัพมีอันตรายถึงตายต่อสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ในงานวิจัยที่ถือว่าเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบของยาฆ่าหญ้า/แมลงที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ได้ข้อสรุปว่า ราวด์อัพทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำลดลงไปถึง 70% และทำให้จำนวนลูกอ๊อดลดลงไปถึง 86% จนทำให้กบบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ว่า ราวด์อัพกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง และทำให้เกิดอันตรายในตับของหนูทดลอง

 

มอนซานโต ผู้ผลิตยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ มักโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ผลการวิจัยชี้ไปในทางตรงกันข้าม นอกจากนี้ มอนซานโตยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพืชเศรษฐกิจดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานต่อยาฆ่าหญ้า และทำให้มีการใช้ยาฆ่าหญ้ามากขึ้น แทนที่จะลดลงอย่างที่บรรษัทเคยอ้างเอาไว้

 

14

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

ทำสัญญากับบริษัท KBR เพื่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐฯ

 

บริษัท KBR ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันประกาศเมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 ว่า มันได้รับสัญญามูลค่า 385 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเพื่อก่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐอเมริกา โดยแต่ละศูนย์สามารถกักขังผู้คนได้ราว 5,000 คน

 

ในคำแถลงต่อผู้สื่อข่าว บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันอ้างว่า ค่ายกักกันนี้มีไว้ใช้ในกรณีที่มีผู้อพยพลักลอบเข้ามาในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก หรือ "ไว้รองรับพัฒนาการที่รวดเร็วของโครงการใหม่ๆ" ซึ่งเป้าหมายประการหลังนี้ มีนักข่าวอิสระหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ศูนย์กักกันอาจมีไว้เพื่อกักกันพลเมืองชาวอเมริกัน ในกรณีที่รัฐบาลบุชประกาศกฎอัยการศึก หากมีการก่อวินาศกรรมคล้ายเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นอีกในสหรัฐฯ

 

หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา รัฐบาลบุชก็ใช้กฎอัยการศึกอ่อนๆ อยู่แล้วในการหน่วงเหนี่ยวคุมขังชาวตะวันออกกลาง ชาวมุสลิม และผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ปัจจุบัน การหน่วงเหนี่ยวคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายครอบคลุมถึงชาวอเมริกันทั่วไปด้วย โดยเฉพาะชาวอเมริกันผิวดำ

 

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ตอบโต้ว่า นักข่าวกลุ่มนี้อาจหวาดระแวงมากเกินไป แต่เราไม่ควรลืมคำพูดของโธมัส เจฟเฟอร์สันที่เคยกล่าวไว้ว่า "แม้แต่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปและในกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ผู้อยู่ในอำนาจสามารถแปลงร่างกลายเป็นทรราชได้เสมอ"

 

15

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ

ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมี

 

โครงการวิจัยของสำนักคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency—EPA) กำลังพึ่งพิงเงินทุนจากบรรษัทธุรกิจมากขึ้น ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมเคมีอเมริกันเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในการทำงานวิจัยของ EPA

 

นักวิทยาศาสตร์ของ EPA เริ่มบ่นให้ได้ยินว่า บรรษัทธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลต่อโครงการวิจัยผ่านการสนับสนุนทางการเงิน บรรษัทเข้ามากำหนดวาระของประเด็นว่าควรทำวิจัยเรื่องอะไรบ้างและจะนำเสนอผลการวิจัยอย่างไร ทำให้ EPA ล้าหลังในประเด็นต่างๆ ที่บรรษัทไม่ต้องการให้ทำการวิจัย เช่น เรื่องการขนย้ายขยะพิษข้ามทวีปและนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น การดำเนินงานของ EPA จึงเกิดการทับซ้อนของผลประโยชน์ เพราะหน่วยงานรับเงินจากบรรษัทที่ตนเองมีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแล

 

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกำกับดูแลสาธารณสุขในระยะยาวจึงหลุดไปจากความสำคัญลำดับต้นๆ ของ EPA เพราะอุตสาหกรรมเคมีไม่สนใจให้ทุนสนับสนุนงานประเภทนี้ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพยายามผลักดันให้มีการนำมนุษย์มาทดลองความทนทานที่มีต่อยาฆ่าแมลงและสารพิษอื่นๆ ยิ่งรัฐบาลบุชกำลังเสนอให้ตัดงบประมาณของ EPA ลงอีก ก็จะทำให้ EPA ต้องพึ่งพิงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมีมากขึ้น

 

16

เอกวาดอร์และเม็กซิโกท้าทายสหรัฐฯ

ในประเด็นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

 

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่คัดค้านการลงสัตยาบันแก่ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court—ICC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่จะนำตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติมาดำเนินคดี

 

ปัจจุบันมีนานาประเทศทั่วโลกให้สัตยาบันรับรองศาลนี้ ประเทศล่าสุดคือเม็กซิโกที่ให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 100 พอดี สหรัฐอเมริกาพยายามตอบโต้ด้วยการชักจูงประเทศต่างๆ ให้ลงนามในข้อตกลงความคุ้มกันทวิภาคี (Bilateral Immunity Agreements—BIA) ซึ่งจะคุ้มครองสหรัฐฯ ให้มีสิทธิไม่ต้องถูกฟ้องร้องในศาลดังกล่าว โดยแลกกับการได้รับเงินสนับสนุนด้านการทหารและเศรษฐกิจ

 

ในปี ค.ศ. 2005 ประธานาธิบดีอัลเฟรโด ปาลาเซียว แห่งเอกวาดอร์ ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง BIA แม้ว่าวอชิงตันข่มขู่ว่าจะยกเลิกเงินช่วยเหลือทางทหารถึง 70 ล้านดอลลาร์ก็ตาม ส่วนเม็กซิโกที่เพิ่งให้สัตยาบันรับรองศาล ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง BIA ต่อให้ต้องสูญเสียเงินช่วยเหลือทางทหารถึง 3.6 ล้านเหรียญ เงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจอีก 11 ล้านเหรียญ และเงินช่วยเหลือในสงครามต่อต้านยาเสพย์ติดอีก 11.5 ล้านเหรียญก็ตาม

 

สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อในข้อตกลง BIA ต่อไป ทั้งกับประเทศที่ให้สัตยาบันและไม่ได้ให้สัตยาบันต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่แม้จะกดดันขนาดไหน สมาชิกของ ICC ถึง 53 ประเทศก็ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง

 

ประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะถูกตัดความช่วยเหลือเพราะการแข็งขืนต่อสหรัฐฯ ก็คือ โบลิเวีย ซึ่งจะสูญเสียเงินช่วยเหลือทางการทหารไปถึง 96% และเคนยา ที่ยินยอมสูญเงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจราว 8 ล้านดอลลาร์

 

อนึ่ง ในการสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์พบว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนชาวอเมริกัน (69%) เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ควรได้รับข้อยกเว้นพิเศษในสนธิสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 60% สนับสนุนให้สหรัฐฯ ร่วมลงสัตยาบันในศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

 

17

การยึดครองอิรักเป็นการส่งเสริมโอเปก

 

ในทัศนะของนักข่าวอย่าง เกรก พาลาสต์ (Greg Palast) การรุกรานอิรักไม่ใช่การมุ่งทำลายโอเปก อย่างที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่อ้าง แต่เป็นการเข้าไปมีอิทธิพลในโอเปกต่างหาก

 

ตราบที่ความไม่สงบในอิรักยังยืดเยื้อไปเรื่อยๆ การแปรรูปอิรักให้เป็นเขตการค้าเสรีเต็มตัวคงเป็นไปไม่ได้ และอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการยึดครองอิรักด้วย

 

ในเดือนธันวาคม 2003 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่างเค้าโครงในชื่อ "ทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันอิรักอย่างยั่งยืนในระยะยาว" แผนการนี้ชี้นำให้อิรักรักษาระบบโควตาการผลิตน้ำมันต่อไปเพิ่มส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในโอเปก นอกจากนี้ยังเสนอทางเลือกในการจัดการอุตสาหกรรมน้ำมันในอิรักด้วยโมเดลหลายรูปแบบ อาทิ โมเดลแบบซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมทั้งหมด ไปจนถึงโมเดลแบบอาเซอร์ไบจัน ซึ่งเปิดเสรีให้กลุ่มบรรษัทน้ำมันระหว่างประเทศเข้าไปดำเนินการ โดยโมเดลแบบอาเซอร์ไบจันดูจะได้รับความชื่นชอบมากกว่า

 

เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทน้ำมันผูกพันแน่นแฟ้นกับโอเปก การผลิตน้ำมันเกินกว่าโควตาที่โอเปกกำหนดหรือบ่อนทำลายโอเปกลง จึงไม่น่าจะสอดรับกับผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทน้ำมัน มันจะทำให้เศรษฐกิจของอิรักพังทลายเร็วเกินไปและทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในตลาดโลกพลอยง่อนแง่นไปด้วย

 

นับตั้งแต่การรุกรานอิรักเมื่อ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา บรรษัทน้ำมันมีกำไรพุ่งพรวดอย่างเห็นได้ชัด บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทำกำไรชนิดทำลายหรือเกือบทำลายสถิติเป็นทิวแถว ในค.ศ. 2005 กำไรของห้าบรรษัทเพิ่มขึ้นถึง 113 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะเอ็กซอนโมบิลบรรษัทเดียวสามารถทำกำไรในหนึ่งปีได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

18

นักฟิสิกส์ตั้งข้อสงสัยต่อการถล่มของตึกเวิลด์เทรดในวินาศกรรม 9/11

 

หลังจากศึกษาวิจัยเหตุวินาศกรรม 9/11 มามากพอแล้ว สตีเวน อี โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ได้ข้อสรุปว่า คำอธิบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการถล่มลงมาของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่สอดคล้องกับกฎของฟิสิกส์ ศาสตราจารย์โจนส์เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศที่เป็นอิสระเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์

 

ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งข้อสงสัยต่อการที่ตึกเวิลด์เทรดสามตึกถล่มลงมาในแนวตั้งอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย ราวกับมีการวางระเบิดที่แกนกลางตึก อีกทั้งยังมีโลหะหลอมเหลวจำนวนมากในพื้นที่ใต้ดินของตึกด้วย นอกจากนี้ ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน กลับถล่มลงมาราวกับถูกวางระเบิดตามหลักการทำลายอาคารของมืออาชีพ ในตึกหลังนี้มีสำนักงานราชการลับ กระทรวงกลาโหม สำนักงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยงาน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแต่งบัญชีของบรรษัทเอนรอนถูกทำลายพร้อมกันไปด้วย

 

ศาสตราจารย์โจนส์อ้างว่า สถาบันด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institutes of Standards and Technology) บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างภาพจำลองในคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้คือ:

 


  • ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ตึกซึ่งมีโครงสร้างเป็นเหล็กถล่มลงมาเพราะไฟไหม้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังเหตุการณ์ 9/11 แต่การวางระเบิดสามารถตัดโครงสร้างเหล็กให้ทลายลงมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


  • ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน ถล่มลงมาใน 6.6 วินาที ใช้เวลานานกว่าวัตถุชิ้นหนึ่งตกจากหลังคากระทบพื้นเพียงแค่ .6 วินาที "ทำไมจึงไม่มีการทรงมวลของโมเมนตัม ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของฟิสิกส์" ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งคำถาม "ผมหมายถึง ขณะที่พื้นชั้นบนหล่นลงมากระทบกับพื้นชั้นล่าง—และส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กซึ่งยังดีอยู่—การถล่มต้องชะลอช้าลงบ้างจากมวลที่รองรับแรงกระแทกอยู่ด้านล่าง"

 

 


  • จากข้างต้น "ถ้าเช่นนั้น ทำไมชั้นบนของตึกจึงถล่มลงมารวดเร็วขนาดนั้นและยังรักษาโมเมนตัมในการพังทลายได้อย่างไร?" เขาบอกว่า ความขัดแย้งนี้ "คลี่คลายได้โดยง่ายหากตั้งสมมติฐานถึงการใช้ระเบิดทำลายตึก เพราะระเบิดจะทำลายโครงสร้างชั้นล่างอย่างรวดเร็ว รวมถึงโครงเหล็กที่รับน้ำหนักด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการพังทลายแบบถล่มลงมารวดเดียวและรวดเร็ว"

 


  • ถ้าการถล่มของตึกไม่ได้เกิดจากแรงระเบิด ก็ต้องมีคอนกรีตแตกหักกองอยู่เป็นจำนวนมาก แต่วัสดุก่อสร้างตึกส่วนใหญ่กลายเป็นผงเหมือนแป้ง เราจะเข้าใจสภาพที่ประหลาดนี้ได้อย่างไรหากไม่อธิบายด้วยระเบิด?

 


  • โครงสร้างเหล็กบางส่วนหลอมละลายหายไป แต่มันต้องอาศัยอุณหภูมิเกือบ 5,000 องศาฟาเรนไฮต์ในการหลอมเหล็กจนระเหย วัตถุต่างๆ ในสำนักงานหรือน้ำมันดีเซลไม่มีทางทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้น ไฟที่เกิดจากน้ำมันเครื่องบินลุกไหม้อย่างมากก็แค่ไม่กี่นาที ส่วนวัสดุติดไฟในสำนักงานน่าจะไหม้หมดภายในเวลาแค่ 20 นาที

 


  • โลหะหลอมเหลวที่พบในซากตึกอาจเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของระเบิดที่ใช้กันทั่วไป เช่น ระเบิดเธอร์ไมต์ (thermite) ตึกที่ถล่มโดยไม่ได้ใช้ระเบิดไม่มีทางทำให้โลหะจำนวนมากขนาดนั้นหลอมเหลว

 


  • มีพยานจำนวนมากทั้งภายในตึกและบริเวณใกล้ตึกให้ปากคำว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังติดๆ กันอย่างรวดเร็ว และเสียงระเบิดที่ว่านี้ดังมาจากจุดที่ต่ำกว่าตรงที่เครื่องบินพุ่งชนมาก

 

ในเดือนมกราคม 2006 ศาสตราจารย์โจนส์และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มนักวิชาการผู้แสวงหาความจริงของเหตุการณ์ 9/11" เรียกร้องให้นานาชาติสอบสวนเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ รวมทั้งกล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐฯ ว่ามีการปกปิดข้อมูลจำนวนมาก "เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงปกปิดข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 11 กันยายน" คือคำกล่าวในแถลงการณ์ของกลุ่ม "เราเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นการจัดฉากโดยฝีมือของรัฐบาล เพื่อหลอกลวงประชาชนชาวอเมริกันให้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทั้งภายในและต่างประเทศ"

 

นักวิชาการกลุ่มนี้ประกอบด้วยศาสตราจารย์โจนส์และศาสตราจารย์จิม เฟทเซอร์ ศาสตราจารย์สอนวิชาปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา พร้อมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอีก 50 คน อาทิ โรเบิร์ต เอ็ม โบว์แมน อดีตผู้อำนวยการโครงการป้องกันทางอวกาศที่เรียกว่า "สตาร์วอร์ส" ของสหรัฐฯ และมอร์แกน เรย์โนลด์ส อดีตหัวหน้าเศรษฐกรประจำกระทรวงแรงงานในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช สมัยแรก

 

19

การทำลายป่าดงดิบเลวร้ายกว่าที่คาด

 

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีถ่ายภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ป่าดงดิบอเมซอนถูกทำลายมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดมาจากการลักลอบตัดไม้แบบเลือกตัดเป็นบางต้น

 

การใช้ดาวเทียมตรวจสอบการตัดไม้ทำลายป่าที่ผ่านมามักทำได้เฉพาะการทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง โดยไม่สามารถตรวจจับการลักลอบตัดไม้เฉพาะต้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถตรวจจับการตัดไม้ได้ละเอียดมาก เมื่อนำเทคโนโลยีนี้มาวิเคราะห์ป่าอเมซอนจากช่วงปี ค.ศ. 1999-2002 ช่วงเวลาแค่ 4 ปีพบว่า ปัญหาการทำลายป่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและสูงกว่าที่เคยประเมินไว้มาก โดยเฉพาะการตัดไม้เฉพาะต้น ทำให้ป่าถูกทำลายไปถึง 4,600-8,000 ตารางไมล์ต่อปี

 

การตัดไม้เฉพาะต้น (selective logging) เป็นการตัดไม้เศรษฐกิจไปแค่ไม่กี่ต้น โดยไม่แตะต้องต้นไม้ที่เหลือ มักเชื่อกันว่าการตัดไม้วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยรักษาป่าได้ดีกว่าการทำลายป่าจนเตียนโล่ง จึงยังไม่มีกฎหมายออกมากำกับดูแลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่การตัดไม้วิธีนี้ทำลายป่าได้ไม่แพ้กัน

 

ไม้มะฮอกกานีขนาดใหญ่สามารถขายได้หลายร้อยดอลลาร์ เป็นแรงจูงใจที่สูงมากสำหรับประเทศอย่างบราซิลที่ประชากรหนึ่งในห้าดำรงชีวิตอยู่ในความยากจน แต่การตัดไม้เศรษฐกิจเพียงบางต้นสามารถสร้างความเสียหายแก่บริเวณโดยรอบ ทั้งการที่ไม้ล้มทับต้นไม้อื่นๆ หรือเมื่อตัดไม้ขนาดใหญ่ไปแล้ว ทำให้แสงแดดส่องลงไปถึงป่าชั้นล่างและเผาพื้นป่าจนแห้ง ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย

 

นอกจากนี้ การชักลากไม้จากป่ายังทำให้มีการถางป่าเป็นถนน จากการศึกษาพบว่า ถนนเหล่านี้มักจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกระตุ้นให้มีการทำลายป่ามากขึ้น ดังนั้น การตัดไม้จึงเป็นด่านหน้าของการรุกที่ป่าเพื่อนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่น การทำลายป่าดงดิบส่งผลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในเมื่อการตัดไม้เฉพาะต้นเป็นการทำลายป่ามากกว่าที่คาดไว้ การทำนายภาวะโลกร้อนจึงต้องประเมินใหม่ด้วย

 

20

น้ำขวด: ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก

 

ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินรวมกันถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับน้ำขวด ด้วยความเชื่อ—ที่ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อผิดๆ ว่า—น้ำขวดดีกว่าน้ำก๊อก การบริโภคน้ำขวดทั่วโลกพุ่งขึ้นถึง 41 พันล้านแกลลอนในปี ค.ศ. 2004 มากกว่าปี ค.ศ. 1999 ถึง 57%

 

"แม้แต่ในพื้นที่ที่น้ำประปาดื่มได้อย่างปลอดภัย ความต้องการน้ำขวดก็ยังเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มันก่อให้เกิดขยะอย่างไม่จำเป็นและสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล" เป็นรายงานของเอมิลี อาร์โนลด์ นักวิจัยแห่งสถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute)

 

"แน่นอน น้ำดื่มสะอาดราคาเหมาะสมเป็นหัวใจสำคัญต่อสุขภาพของชุมชนโลก" อาร์โนลด์ยืนยัน "แต่น้ำขวดไม่ใช่คำตอบในโลกพัฒนาแล้ว อีกทั้งมันไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชากรอีก 1.1 พันล้านคนที่ขาดแคลนแหล่งน้ำด้วย การพัฒนาและขยายระบบน้ำประปาที่สะอาดและปลอดภัยต่างหาก น่าจะเป็นคำตอบของการมีแหล่งน้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว" สมาชิกขององค์การสหประชาชาติเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องหาทางลดจำนวนประชากรที่ขาดแคลนแหล่งน้ำดื่มลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2015 เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ชุมชนโลกต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดทำน้ำประปาจาก 15 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในขณะนี้ขึ้นไปอีก 2 เท่า แม้ว่าตัวเลขจะดูมากมาย แต่ถือว่าจิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับน้ำขวด

 

น้ำประปาส่งมาถึงเราได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่น้ำขวดต้องขนส่งเป็นระยะทางไกล หลายครั้งต้องข้ามพรมแดน ใช้ทั้งเรือ รถไฟ เครื่องบินและรถบรรทุก เท่ากับสิ้นเปลืองน้ำมันไปเป็นจำนวนมาก

 

ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2004 เพียงปีเดียว บริษัทน้ำในเฮลซิงกิส่งน้ำขวดสัญชาติฟินแลนด์ถึง 1.4 ล้านขวดลงเรือรอนแรมไปซาอุดีอาระเบียที่ไกลออกไปถึง 2,700 ไมล์ และแม้ว่าน้ำขวด 94% ที่ขายในสหรัฐอเมริกาจะผลิตขึ้นภายในประเทศก็ตาม แต่ชาวอเมริกันก็ยังนำเข้าน้ำขวดจากฟิจิที่ไกลออกไปตั้ง 9,000 กิโลเมตร เพื่อตอบสนองสิ่งที่อาร์โนลด์เรียกว่า "น้ำขวดเพื่อความเท่และความเทศ"

 

การบรรจุน้ำลงขวดต้องสิ้นเปลืองน้ำมันอีกเช่นกัน ขวดน้ำส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกที่ได้จากน้ำมันดิบ "เฉพาะการผลิตขวดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ก็ต้องใช้น้ำมันไปถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อปี เท่ากับน้ำมันที่เติมให้รถราว 100,000 คันวิ่งได้ทั้งปี" อาร์โนลด์ตั้งข้อสังเกต

 

พอดื่มน้ำหมดขวด ขวดน้ำก็กลายเป็นขยะ ขวดน้ำพลาสติก 86% ในสหรัฐฯ ลงเอยในถังขยะ การเผาขวดก่อให้เกิดสารพิษ เช่น ก๊าซคลอรีน และขี้เถ้าที่มีโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ หากกำจัดด้วยการฝังดิน ขวดน้ำต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 1,000 ปี

 

ทั่วทั้งโลก พลาสติกราว 2.7 ล้านตันหมดไปกับการผลิตขวดน้ำทุกปี ในขณะเดียวกัน ชุมชนที่เป็นแหล่งน้ำต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำเสียเอง ในอินเดีย มีมากกว่า 50 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากบรรษัทโคคา-โคลาเข้ามาดูดน้ำไปขายเป็นน้ำขวดยี่ห้อ Dasani ปัญหาคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสและในเขตเกรทเลกของอเมริกาเหนือ

 

ชาวอเมริกันบริโภคน้ำขวดต่อหัวมากที่สุดในโลก แต่ปริมาณการบริโภคกำลังพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ในเม็กซิโก อินเดียและจีน แน่นอน ผู้ที่ได้กำไรจากน้ำขวดมากที่สุดย่อมเป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำขวดนั่นเอง

 

คำถามสำคัญที่เราควรถามก็คือ ถ้าหากระบบน้ำประปาสาธารณะสามารถผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพได้ในราคาประหยัดกว่าแล้ว อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ไม่เกิดการลงทุนในเรื่องนี้ทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจน และประชาชนอย่างเราจะเอาชนะอุปสรรค์เหล่านี้ได้อย่างไร?

 

 

                                                                     (โปรดติดตามอ่านข่าวที่ 21-25 ตอนต่อไป)

 


25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว (ตอนที่ 1) ข่าวที่ 1-10

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท