Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ต.ค. 2549 ในการจัดงานสมัชชาสังคมไทย (TSF: Thai Social Forum) วันแรก ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง "การศึกษาไม่ใช่สินค้า" เพื่อเปิดโอกาสให้นักกิจกรรมและประชาชนได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการศึกษาในสังคมไทย และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาและปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้


 


เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมในวงเสวนา กล่าวว่า การศึกษาของไทยมีปัญหาเรื่องการใช้แนวทางหรือมาตรฐานเดียวในการจัดการโดยรัฐจะมุ่งเน้นการสร้างหลักสูตรหรือเนื้อหาวิชาในการเรียนรู้ของระบบการศึกษาไทยที่เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ แต่ละเลยองค์ความรู้ในส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดการกลืนกินทางวัฒนธรรม และเกิดการตัดขาดจากวิถีชุมชน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการมองว่าโรงเรียนปอเนาะของชาวมุสลิมคือสถานที่บ่มเพาะแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่ง หรือการบังคับให้นักเรียนนักศึกษาจากแต่ละภูมิภาคต้องใช้หลักสูตรที่เป็นภาษากลาง ทำให้คำเมืองของชาวไทยภาคเหนือ หรือภาษาอีสาน ค่อยๆ ถูกลบเลือนหายไปพร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น


 


ในขณะที่รัฐพยายามจัดการให้การศึกษามีเพียงแนวทางเดียวหรือมาตรฐานเดียว ระบบการศึกษาชุมชนที่มักจะมีการปลูกฝังเรื่องจริยธรรมก็ถูกมองข้ามไป เช่นเดียวกับการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบส่งผลกระทบต่อนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ถ้ารัฐบาลเข้าใจว่าการศึกษาไม่ใช่สินค้า คงจะส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาเหมือนกันหมด เหมือนกับแสงสว่างจากประภาคารที่ส่องแสงให้กับผู้เดินทางในท้องทะเลทุกคน


 


ด้าน มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และนักวิชาการอิสระ ระบุว่าในสมัยที่ประเทศไทยถูกปกครองในระบบศักดินา การศึกษาคือเครื่องมือที่คัดเลือกเฉพาะคนบางกลุ่มให้ขึ้นสู่อำนาจ และกันคนต่างชนชั้นมิให้มีปากเสียง เมื่อรับเอาแนวคิดจากตะวันตกเข้ามา เราก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมๆ ว่าการศึกษาคือเรื่องส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นความรู้ที่ควรจะเป็นสมบัติของโลกหรือธรมชาติก็กลายเป็นความรู้เฉพาะที่คนมีเงินเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ ซึ่งการใช้การศึกษาเป็นกลไกสร้างความได้เปรียบเป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ใช่เพราะรับค่านิยมตะวันตกมา


 


นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกล่าวว่าเราต้องเชื่อก่อนว่าความรู้ซึ่งเราต้องการศึกษาเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและถือว่าเป็นสมบัติสาธารณะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การเข้าถึงความรู้จะต้องถูกปลดปล่อยออกจากพันธนาการของการเป็นสมบัติส่วนบุคคล สังคมหรือประชาชนต้องสร้างกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้ความรู้ถูกผูกขาด เพื่อการเข้าถึงความรู้ของคนทั้งมวลจะได้เกิดขึ้นจริง และแม้ว่าจะมีผู้รวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นสมบัติของคนทั้งมวลเอาไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าความรู้นั้นเป็นสมบัติของผู้รวบรวมหรือผู้ประมวลความรู้นั้น การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องที่ไปกันได้กับแนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา


 


อย่างไรก็ตาม อุทัย ดุลยเกษม ผู้เข้าร่วมเสวนาอีกรายหนึ่งเห็นว่าการแปลงการศึกษาให้เป็นสินค้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนานแล้ว การปรับเปลี่ยนหรือทบทวนระบบการศึกษาของไทยจึงควรจะเริ่มต้นที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ใช่เพียงระบุว่าการศึกษามีปัญหาแล้วแยกย้ายกันไป เพราะโดยทั่วไป ระบบการศึกษาตอกย้ำความไม่เป็นธรรมทางสังคมอยู่แล้ว การคาดหวังที่จะเปลี่ยนพรบ.การศึกษาหรือหวังว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือคนที่มาจากชนชั้นกลางจะกระตือรือล้นช่วยกันเคลื่อนไหวเพื่อทำให้การศึกษาไม่ใช่สินค้าคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ทุกอย่างจึงควรจะเริ่มต้นที่ตัวผู้เรียนเอง


 


ผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการแปลงการศึกษาให้เป็นสินค้าจะต้องใช้มาตรฐานในการประเมินค่าความรู้จากประสบการณ์ของแต่ละบุคคลมากกว่าจะให้คุณค่ากับประกาศนียบัตรหรือวุฒิการศึกษา


 


ขณะเดียวกัน รัชนี ธงไชย นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านการศึกษาทางเลือกเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐบาล จะเห็นได้ว่ารัฐบาลแต่ละสมัยมีแนวคิดอย่างไรก็จะใช้หลักสูตรในระบบการศึกษาเป็นกระบอกเสียงแทน


 


เมื่อครั้งที่รัฐเผด็จการต้องการให้ประชาชนเห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ ก็มีแนวทางการศึกษาคอยชี้นำ ข้าราชการผู้ปฏิบัติตามก็ต้องแหงนมองข้างบนว่าผู้บริหารต้องการอะไร เมื่อมีรัฐบาลที่เป็นทุนนิยมก็เกิดการส่งเสริมให้แปลงการศึกษาเป็นบริการหรือธุรกิจชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องของการปลูกฝังวิธีคิดหรือการใช้ความคิด


 


การศึกษาทางเลือกจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการกับองค์ความรู้สาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบโฮมสกูล หรือการศึกษาในระบบชุมชน ต้องจัดสวัสดิการให้กับชุมชนของตัวเองได้ ซึ่งนี่จะเป็นทางออกทางหนึ่ง เพราะประชาชนจะหวังพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ รัฐมักบอกอยู่อย่างเดียวว่าชีวิตที่ดีคือการงานดีและเงินดี คนที่จะมีการศึกษาดีจึงเป็นคนมีฐานะ เมื่อคนจนอยากได้รับการศึกษาก็เกิดเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน


 


ถ้าต้องการให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมกัน จะต้องปลูกฝังเรื่องความรู้คืนสู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ต้องทำให้ศาสนากับบ้านและศูนย์การเรียนเป็นเนื่อเดียวกันเพื่อการดูแลการหศึกษาให้แก่ลูกหลาน, ต้องลดบทบาทและอำนาจรัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐมักพยายามลดคุณค่าของประชาชนด้วยการใช้การศึกษาในระบบเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการดื้อแพ่งและสร้างระบบการศึกษาของตัวเอง


 


นอกจากนี้ ควรจะมีการศึกษาในชุมชน และชุมชนต้องสร้างกลไกการต่อรองกับรัฐบาล เพื่อให้รัฐสนับสนุนแก่ผู้จัดให้มีการศึกษาในชุมชน ซึ่งต้องหาข้อกำหนดหรือข้อตกลงอย่างชัดเจนเพื่อต่อรองกัน นั่นคือการทำให้สิทธิและเสรีภาพในการจัดการการศึกษาระหว่างชุมชนและรัฐบาลเกิดความเท่าเทียม


 


อย่างไรก็ตาม มณเฑียร บุญตัน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าสิ่งที่จะทำให้การศึกษาไม่เป็นเพียงสินค้าของระบบธุรกิจ จะต้องมีการปลูกฝังให้ประชาชนมีความใฝ่รู้ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลอยู่มากมาย ทั้งในอินเตอร์เน็ตและสื่อกระแสหลักต่างๆ แต่คนในสังคมไม่ค่อยรู้จักวิธีเก็บเกี่ยวความรู้มาใช้ด้วยตัวเอง แต่จะรอให้มีผู้มาบอกว่าควรเลือกสิ่งใดมาใช้ ทำให้ไม่ค่อยเกิดความสัมฤทธิ์ผลในการเรียนรู้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการใฝ่รู้ได้ เราก็ไม่อาจทำลายความเป็นสินค้าของการศึกษาเช่นกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net