Skip to main content
sharethis


 



 


 


ประชาไท - 22 ต.ค. 2549 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2549 เวลา 10.30น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในงานเวทีสมัชชาสังคมไทยจัดการอภิปราย เรื่อง รัฐสวัสดิการดีกว่าประชานิยม


 


รัฐสวัสดิการไม่ใช่ของฟรี ต้องช่วยกันเรียกร้องสิทธิ


จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต สว.กทม. กล่าวว่า ประชานิยมเป็นระบบอุปถัมภ์ ที่ผู้มีอำนาจมอบให้เพื่อเอาใจประชาชน แต่รัฐสวัสดิการคือสิทธิของประชาชน และไม่เคยได้มาด้วยการอยู่เฉยๆ แล้วให้ผู้มีอำนาจเอามาให้ รัฐสวัสดิการต้องได้มาด้วยการผลักดันของประชาชน อย่างแรกที่ได้มาคือ กองทุนประกันสังคม ด้วยความคิดที่ว่าเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ซึ่งผู้ใช้แรงงานมีส่วนในการผลักดันอย่างมาก


 


ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเด็นนี้ รัฐบาลทักษิณรับไปทำ แต่ทำเหมือนกับทำกับคนจน ระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ จะดีได้ เมื่อทั้งคนรวย คนจนเหมือนกันหมด ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจปานกลาง เรามีคนรวยระดับโลกหลายราย แต่กลับด้อยด้านความอยู่ดีกินดีของประชาชน


 


รัฐสวัสดิการ คือ สิทธิของประชาชน สิทธิในการมีสุขภาพดี ได้รับการป้องกันและรักษา สอง สิทธิด้านการศึกษา เราต้องเรียกร้องการเรียนฟรี ซึ่งรวมถึงหนังสือเรียน ชุดนักเรียน อาหาร อุปกรณ์การศึกษาและค่าเดินทางด้วย คนยากจนเองก็ควรถูกจ้างให้ไปเรียน เนื่องจากคนจนจะสูญเสียรายได้หากต้องไปเรียน คนเฒ่าคนแก่ต้องมีบำนาญทุกคน คือถ้าไม่ได้จากราชการ ก็ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ


 


สวัสดิการผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ต้องสร้างสวัสดิการให้ เพราะรัฐมีไว้เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน ช่วยเฉลี่ยทุกข์สุขของประชาชน ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาสุขภาพ การศึกษา มีงานทำ มีที่ทำกิน สูงอายุแล้วก็ได้รับบำนาญเลี้ยงชีพ


 


อย่างไรก็ตาม รัฐสวัสดิการไม่ใช่ของฟรี เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายซึ่งประชาชนต้องเป็นคนจ่าย คนมีเงินมากต้องจ่ายมาก คนมีน้อยจ่ายน้อย แต่ว่าต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเก็บภาษีก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดก ภาษีทีดิน ใครมีรายได้มากก็จ่ายมาก นี่คือหลักของรัฐสวัสดิการซึ่งทั้งหมดนี้จะได้มาต่อเมื่อประชาชนเรียกร้องสิทธิด้วยตัวเอง


 


 


เรียกร้อง "ค่าแรง-ความปลอดภัยในการทำงาน" ให้แรงงานอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี


ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า รัฐสวัสดิการที่ดีต้องเกิดจากความต้องการของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน สวัสดิการสำหรับแรงงานทุกวันนี้มีไม่เพียงพอ คนงานเมื่อถูกเลิกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบแทนนายจ้างด้วย ขัดกับรัฐสวัสดิการที่ดี อัตราแรงงานขั้นต่ำยังไม่มีมาตรฐาน ไม่เพียงแต่เลี้ยงครอบครัวไม่ได้ แม้แต่ตัวคนงานยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งในหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้ขึ้นค่าแรงแค่สามสลึง หรือ 1 บาท แต่ค่าเงินก็เฟ้อไปกว่านั้น


 


ที่ผ่านมาเราถูกปลูกฝังให้รู้สึกว่า ถ้าคนอื่นอยู่ได้เราก็อยู่ได้ การร่วมมือกันในภาคแรงงานจึงมีน้อย การผลักดันคือการจะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


 


กรณีความปลอดภัยในการทำงาน ชีวิตของคนโรงงาน 18-35 ปี เป็นช่วงเวลาที่ใช้ไปกับการสร้างกำไรให้บริษัทไม่รู้กี่ร้อยล้าน แต่เมื่อออกจากงานกลับต้องซื้อโลงรอให้ตัวเอง ขาดโอกาสในการชีวิตร่วมกับชุมชน ไม่รู้ชะตากรรมในชีวิตที่เหลืออยู่


 


รัฐสวัสดิการต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้าน ไม่ใช่มีแค่กองทุนทดแทน แต่ไม่เคยมาส่งเสริมสวัสดิการแก่คนงานที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเลย ปัญหาคนงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานก็เพียงแค่ส่งไปรักษารับเงินทุนประกันสังคม แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องสวัสดิการ หรือดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การส่งเงินสมทบของลูกจ้างในกองทุนเป็นเงินไม่ใช่น้อย แต่เมื่อใช้สิทธิก็ไม่ครอบคลุม และมักถูกเลือกปฏิบัติ รัฐสวัสดิการที่ดีควรจะเป็นเช่นนี้หรือไม่


 


ถึงเวลาที่ภาคแรงงานต้องตระหนักในความเสี่ยงในชีวิต และร่วมผลักดันให้รัฐจัดทำรัฐสวัสดิการให้คนจนของประเทศเพื่อดำรงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


 


ปราชญ์ชุมชนเสนอสวัสดิการชาวบ้าน สัจจะออมทรัพย์วันละบาท


ครูชบ ยอดแก้ว จากสหกรณ์สัจจะออมทรัพย์ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในเรื่องของการทำสวัสดิการในชุมชน เขาพูดเรื่องสวัสดิการของประชาชนมา 23 ปี โดยเริ่มทำสวัสดิการชุมชนเมื่อปี 2526 จัดการบริหารโดยชุมชนเอง ด้วยการวางเงินสัจจะไว้ แล้วจัดสวัสดิการให้ถ้าหากเจ็บป่วยตามระยะเวลาการออมเงินสัจจะ ใครเข้าโครงการนี้จะได้รับบำนาญทุกคน มีเงินยืมให้กับการศึกษาที่ไม่คิดดอกเบี้ย
ชีวิตคนรวยตายไม่หายใจ ชีวิตคนจนตายก็ไม่หายใจ เท่ากัน ชีวิตเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
หลักการของกองทุนสัจจะนี้ไม่รับเงินบริจาคจากบุคคล เนื่องจากไม่รู้ว่าในอนาคตจะมาขอให้ช่วยเรื่องการเลือกตั้งหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเงินของรัฐเรารับ แต่เรามีข้อเสนอคือรัฐบาลต้องสมทบกองทุนบาทต่อบาทด้วย รัฐบาลต้องจ่ายภาษีคืนให้ประชาชน อบต.ต้องจ่ายภาษีคืนให้ประชาชนด้วยบาทต่อบาท ควรใช้หลักการวันละบาท ด้วยยึดถือในสัจจะ ซึ่งสิ่งที่พูดมาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสังคมดี คนดี มีความสุข ครูชบกล่าวในที่สุด


 


ผู้นำแรงงานเรียกร้องการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ


วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า รัฐสวัสดิการที่ดี คือ รัฐที่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะคนจนที่รัฐต้องดูแลเรื่องสุขภาพ การศึกษา สิ่งสำคัญ คือ การศึกษาต้องฟรีทุกอย่าง สุขภาพคนตั้งแต่เกิดจนตายควรได้รับการดูแล ไม่ใช่เอาไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการออกนโยบาย สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การเข้าถึงยาและคุณภาพของยาที่จะได้รับจากโครงการสามสิบบาท เงินที่จ่ายประกันสังคมนั้นเป็นเงินของเรา เป็นภาษีของเรา แล้วสิ่งที่เราได้รับต้องดี ยามีคุณภาพ และต้องได้เข้าถึงการรักษาอย่างจริงจังและจริงใจ


 


สวัสดิการต้องให้สิทธิกับคนแก่ แต่ไม่ใช่ให้เป็นเงินสงเคราะห์ แต่ต้องส่งเสริมให้เขามีศักดิ์ศรีของความเป็นคน ที่ต้องได้รับการดูแล ไม่ใช่คนอนาถา นอกจากนี้ รัฐควรจัดสวัสดิการให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในโรงงานด้วย เพื่อให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ลูกจ้างไม่ต้องลางาน ส่วนนายจ้างก็ไม่เสียงานด้วย


 


สำหรับเกษตรกรรมนั้น แม้รัฐจะจัดสรรที่ดินให้คนจนแล้ว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการประกันราคาผลผลิตการเกษตรด้วย โดยต้องรับฟังข้อเสนอแนะของภาคประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม


 


ด้านสุขภาพ รัฐต้องขยายการคุ้มครองประกันสังคมไปสู่แรงงานภาคเกษตร แรงงานนอกระบบ แรงงานบริการ รวมไปถึงลูกจ้างของรัฐที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวชั่วกัปชั่วกัลป์ โดยดูแลให้ความคุ้มครองคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน


 


ที่ผ่านมา การแก้ไขกฏหมายหรือสวัสดิการที่แรงงานได้รับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนหยิบยื่นให้ แต่ได้มาโดยการเคลื่อนไหวเรียกร้องของแรงงานเอง สำหรับการปฏิรูปการเมือง ภาคประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการบอกถึงสิ่งที่เขาต้องการ รัฐธรรมนูญใหม่จะก้าวหน้าหรือถอยหลัง ขึ้นอยู่กับภาคประชาชน เราต้องเชื่อมร้อยพลังให้เกิดความเข้มแข็ง และเรียกร้องให้ได้สิ่งที่เราต้องการ


 



 


นักศึกษาปริญญาเอก จุฬาฯ เสนอรัฐสวัสดิการเกิดไม่ได้ถ้าไม่เรียกร้อง


นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ลูกไม่มีเสื้อผ้าใส่ ไม่มีหนังสือ ไว้ไปเรียน จะให้เรียนลูกอย่างมีความสุขเป็นไปได้ยาก พ่อแม่เครียดทะเลาะกัน เพราะเงินเดือนไม่พอ เด็กนักเรียนใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการเดินทางไปโรงเรียน อย่างผมที่ต้องตื่นตี 5 เพราะอยากเรียนโรงเรียนดีๆ โรงเรียนครูที่มีเงินเดือนไม่พอ สวัสดิการต่ำจึงต้องไปสอนพิเศษ เราจึงมีโอกาสหาคุณภาพการศึกษาที่ดีได้ยาก เกษตรกรไม่ได้รับประกันสินค้า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญและเชื่อมโยงกัน รัฐทุกรัฐต้องให้สวัสดิการแก่ประชาชนของเรา


 


การมีสวัสดิการตั้งแต่หัวจรดเท้า เกิดจนตาย อย่างที่ทุกคนพูดนั้น สิ่งรัฐบาลไทยรักไทยทำคือแยกสวัสดิการเป็นส่วนๆ เช่นให้ 30 บาท ส่วนเกษตรกรมีกองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้ให้เกษตรกร แต่เป็นการให้แบบประชาสงเคราะห์ คุณควรจะได้เท่านี้พอ แต่ถามว่าคนรวยจะใช้ 30 บาทหรือไม่ คงไม่ใช้ ก็คงจะไปโรงพยาบาลที่รวดเร็ว ถามว่ารัฐจะรับผิดชอบให้เราได้รับบริการสาธารณสุขเช่นนี้ได้ไหม


 


แม้รัฐบาลปัจจุบันจะบอกว่าเรายังมี 30 บาท และยังคงส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่เขาไม่ได้บอกว่าจะยกเลิกเอฟทีเอ จะยกเลิกเขตการค้าเสรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันกระทบกับชีวิตของคนจน


 


ข้ออ้างของรัฐที่บอกไว้ คือ เรายากจน ต้องอยู่อย่างพอกินพออยู่ พอเพียง แต่ถ้าสภาพชีวิตไม่เอื้อเราจะอยู่อย่างพอเพียงได้หรือไม่ ค่าแรงขั้นต่ำ 180 บาท ถ้าพ่อแม่เราไม่สบายจะสามารถพอเพียงได้อย่างไร สวัสดิการคือสิ่งที่รัฐบาลพึงบริการให้เรา และมันเกิดจากการร่วมต่อสู้โดยภาคประชาชน แม้แต่ 30 รักษาทุกโรคก็เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเรื่องสุขภาพมาก่อน ดังนั้นเราไม่สามารถได้รัฐสวัสดิการมาได้ถ้าเราไม่เรียกร้อง นายเก่งกิจกล่าว


 


หลังจากนั้นมีผู้สนใจแสดงความคิดเห็นต่อจากวิทยากรบนเวทีจำนวนมาก เช่น มีผู้ร่วมเสวนารายหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่เราต้องการทำเพื่อพวกเราจริงในการเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องสวัสดิการ อย่างของครูชบ ยอดแก้ว เพราะไม่ใช่การขอจากรัฐอย่างเดียว แต่เป็นการออมสัจจะวันละบาท และยังมีผู้เสนอว่ารัฐสวัสดิการคือเรื่องที่ประชาชนผลักดันให้เข้าไปอยู่ในนโยบายของรัฐแล้วรัฐบาลต้องทำ ให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ สวัสดิการเป็นสิทธิของเรา และยังมีผู้เสนอว่ารัฐสวัสดิการเราคงจะต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วทำอย่างไรที่เราไม่แบมือขออย่างเดียว เราต้องรับอย่างมีศักดิ์ศรี ภาคประชาชนต้องมีศักดิ์ศรีด้วยโดยการสร้างการออมวันละบาท ส่วนรัฐจะสนับสนุนอย่างไรต้องเอารูปธรรมออกมา อย่างไรก็ตามแม้จะจนแต่จะรับอะไรจากใครต้องรับแบบมีศักดิ์ศรี



 


แนะเอาสวัสดิการรัฐบวกการจัดการของชุมชนเพื่อสวัสดิการถ้วนหน้า


ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ โครงการการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สวัสดิการกับประชานิยมต่างกันที่สวัสดิการเป็นสิ่งที่ถูกระบุอยู่ในแนวนโยบายของรัฐ เป็นสิทธิของประชาชนที่รัฐต้องจัดหาให้ ขณะที่ประชานิยมเป็นสวัสดิการโดยรัฐ แล้วแต่รัฐจะอยากให้ เป็นความกรุณาจากรัฐที่จะจัดให้ ไม่ใช่หน้าที่ ใครทำก็กลายเป็นเครดิตของคนนั้น


 


ข้อเสนอสำหรับการผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการ เสนอให้นำวิธีของรัฐและชุมชนมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพราะประกันสังคมจะดูแลชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จ่ายตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ คลอดบุตร เรียนหนังสือจนถึงปริญญาตรี เมื่อทำงานเจ็บป่วยก็ได้รับการชดเชย ตกงานก็มีการประกันการว่างงาน ทั้งหมดนี้ได้เงินในวงเงินสูงกว่าสวัสดิการชุมชนของครูชบที่กล่าวมา ขณะที่กองทุนเงินประกันสังคมนั้น ครอบคลุมผู้ประกันตน 8 ล้านกว่าคน ภายในไม่เกินปีหน้าจะมีงบเป็นแสนล้าน ซึ่งจากการบริหารงานสหกรณ์ของรัฐก็เห็นแล้วว่าล้มเหลวจนครูชบเองก็ออกมาจัดระบบสวัสดิการด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงต้องมาคิดว่าจะให้ภาคประชาชนเข้ามาจัดการกองทุนประกันสังคมได้อย่างไร ส่วนระบบสวัสดิการของครูชบก็ต้องหาคนมาสร้างให้ได้ตามแบบของครูชบ ในขณะเดียวกัน เมื่อรัฐอุดหนุนเงินให้กองทุนประกันสังคม ก็ควรให้รัฐจ่ายให้สวัสดิการของชุมชนด้วย เพื่อหนุนให้ระบบออมทรัพย์อยู่ได้ เมื่อนั้นประชาชนก็จะได้มีสวัสดิการที่ดีถ้วนหน้า      


 



ผู้ร่วมเวทีเสนอความเห็นคึกคัก เรียกร้องให้รัฐต้องทำสวัสดิการ


หลังจากนั้นมีผู้สนใจแสดงความคิดเห็นต่อจากวิทยากรบนเวทีจำนวนมาก เช่น มีผู้ร่วมเสวนารายหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่เราต้องการทำเพื่อพวกเราจริงในการเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องสวัสดิการ อย่างของครูชบ ยอดแก้ว เพราะไม่ใช่การขอจากรัฐอย่างเดียว แต่เป็นการออมสัจจะวันละบาท และยังมีผู้เสนอว่ารัฐสวัสดิการคือเรื่องที่ประชาชนผลักดันให้เข้าไปอยู่ในนโยบายของรัฐแล้วรัฐบาลต้องทำ ให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ สวัสดิการเป็นสิทธิของเรา และยังมีผู้เสนอว่ารัฐสวัสดิการเราคงจะต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วทำอย่างไรที่เราไม่แบมือขออย่างเดียว เราต้องรับอย่างมีศักดิ์ศรี ภาคประชาชนต้องมีศักดิ์ศรีด้วยโดยการสร้างการออมวันละบาท ส่วนรัฐจะสนับสนุนอย่างไรต้องเอารูปธรรมออกมา อย่างไรก็ตามแม้จะจนแต่จะรับอะไรจากใครต้องรับแบบมีศักดิ์ศรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net