Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ต.ค.2549   งานสมัชชาสังคมไทย (TSF : Thai Social Forum) วันที่สอง มีเวทีนำเสนอ "ทางเลือกการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน" โดยนำเสนอรูปธรรมในพื้นที่ทั้งเกษตรอินทรีย์ พลังงานทางเลือกระดับชุมชน ความร่วมมือระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกรอินทรีย์ รวมทั้งกรณีที่ลูกจ้างซึ่งโดนนายจ้างลอยแพรวมตัวกันต่อสู้และเปิดโรงงานของตนเอง


 


มานพ แก้วมะกา จากกลุ่มสมานฉันท์ อดีตพนักงานที่ถูกลอยแพ กล่าวว่า เดิมกลุ่มสมานฉันท์คือพนักงานบริษัท เบดแอนด์บาธ ซึ่งผลิตสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง แต่สุดท้ายนายจ้างปิดโรงงานหนี โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานในปลายปี 2545 ทำให้พนักงานรวมตัวกันต่อสู้ถึงขึ้นเข้ายึดกระทรวงแรงงานอยู่ 3 เดือนเต็ม มีการนำจักรไปเย็บสินค้าที่นั่น เพื่อขายสินค้าเอามายังชีพ ในที่สุดเมื่อรัฐมนตรีพยายามไกล่เกลี่ยให้มีการชดเชยจำนวนหนึ่งแรงงานก็ตัดสินใจหยุดการต่อสู้ เพราะหมดเรี่ยวแรง


 


"ตอนอยู่ที่โรงงานนั่น เราถูกบังคับให้กินยาบ้า ถูกบังคับให้ทำโอทีมากกว่า 12 ชม.ต่อวัน ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย แล้วยังจะลอยแพพวกเราอีก หนีไปโดยไม่รับผิดชอบอีก ในการรณรงค์เราจึงเขียนป้ายคำขวัญว่า


ไนกี้ เราทำให้กับท่าน แล้วท่านทำอะไรให้เราบ้าง" มานพกล่าว


 


เขาระบุว่า หลังจากนั้นในปี 2546 กลุ่มแรงงานได้กู้เงินมาล้านกว่าบาท เพื่อซื้อเครื่องจักร ทำโรงงานของตนเองเพื่อศักดิ์ศรีของคนงาน โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า "dignity returns" ไม่เอารัดเอาเปรียบ ร่วมกันตัดสินใจทุกอย่าง แบ่งหน้าที่กันทำงาน ไม่มีคำว่านายจ้างลูกจ้าง ไม่ใช้อำนาจสั่งการแต่มีกฎกติกา 100 กว่าข้อ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลาง ทุกคนทุกแผนกมีรายได้เท่าเทียมกันไม่ว่าเป็นมันสมองหรือแรงงาน ทุกคนพอใจและภูมิใจ ที่สำคัญ กลุ่มสามารถกำหนดวันหยุดของตนเองได้ วางแผนเองได้ทั้งหมด


 


นอกจากนี้ในการจ้างงานยังปฏิบัติตามหลักสากลทุกอย่าง และให้รายได้ถึง 7,000 ต่อเดือน เป็นโรงงานน้อยโรงที่ให้ค่าแรงขึ้นต่ำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีมาตรฐานสุขภาพความปลอดภัย เปิดโอกาสให้เรียนรู้ ภาษาอังกฤษ ดีไซเนอร์ การตลาด คอมพิวเตอร์ ได้ร่วมขบวนการทางการเมืองขององค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน  


 


"เราต้องการเป็นตัวอย่างให้กับคนงานในโรงงานต่างๆ ให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะไม่โดนกดขี่  แม้จะไม่สามารถตั้งโรงงานเองแบบนี้ได้ แต่ก็น่าจะสามารถตั้งสหภาพแรงงานร่วมกำหนดค่าแรง สวัสดิการได้"มานพกล่าว


 


กัญญา่ อ่อนศรี ตัวแทนชุมชนทัพไทย เครือข่ายเกษตรทางเลือกจ.สุรินทร์ ที่ทำเรื่องนี้มานานกว่า 9 ปี นำเสนอว่า ชาวนาส่วนใหญ่ในเครือข่ายเริ่มสนใจเืรื่องนี้ก็ต่อเมื่อเป็นหนี้สินรุงรัง เพราะราคาข้าวกิโลกละ 8-9 บาท ขณะที่สารเคมีที่ใช้กระสอบละ 400-500 บาท เมื่อทนไม่ไหวจึงได้ร่วมกันทางออกว่าควรจะกลับไปสู่ชีวิตดั้งเดิม โดยเริ่มทำนาอินทรีย์กันมาตั้งแต่ปี 2542 รวมทั้งมีการปลูกพืชผักหลังนาที่สร้างรายได้ในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ไม่ต้องอพยพมาขายแรงงานในกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้สามารถเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่าชีิวิตดีขึ้นและวิกฤตหนี้สินก็ค่อยๆ คลี่คลาย


 


ขณะนี้เครือข่ายเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ก้าวหน้าถึงขั้นจัดตั้งสหกรณ์กองทุนข้าวเพื่อจัดการบริหารรายได้และวางแผนการส่งออกที่เน้นผู้บริโภคภายในประเทศ มีการสร้างตลาดนัดสีเขียวในจังหวัดให้เกษตรกรและผู้บริโภคเจอกันโดยตรง ซึ่งก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างการยอมรับได้


 


กัญญาระบุว่า นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการศึกษาเรื่องการค้าเสรี และร่วมกันปฏิเสธมัน เพราะจะทำให้เกษตรกรรายย่อยหมดหนทางอยู่รอดเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้


 


"เรามีการค้าเสรีแบบของเราคือ การค้าที่เราสามารถกำหนดราคาเองได้ตามความเป็นจริง และเป็นการค้าที่เป็นธรรมกับทั้งเกษตรและผู้บริโภค" กัญญากล่าว


 


 


นฤมล จิรวราพันธ์ กลุ่มผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกร (CSA/Consumer Support Agriculture) ให้ข้อมูลว่าพวกเขาให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยตั้งเป็นโครงการผักใจประสานใจ เพราะผู้บริโภคเองก็ต้องการอาหารที่ปลอดภัย ไว้ใจได้ และไม่เอาเปรียบเกษตรกร


 


"เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องการกำลังใจมาก ตอนแรกๆ ที่ทำออกมาผิวไม่สวย ลูกเล็ก ผู้บริโภคก็จะไม่ต้องการแล้วถูกตีกลับ ทำให้เสียหายมาก"


 


เธอระบุอีกว่า โครงการนี้ผู้บริโภค เกษตรกรจะรู้จักกันว่าปลูกให้ใครกิน หรือใครปลูกให้เรากิน รวมทั้งมีการนัดประชุมกัน แลกเปลี่ยนกันด้วยปีละครั้ง ในส่วนของการจัดการจะใช้วิธีโอนเงินให้ผู้ผลิตก่อนล่วงหน้าครึ่งปี เพื่อให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียน ตัดปัญหาการกู้เงินมาลงทุน และเป็นการแบกรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ในกรณีที่ฝนหนัก น้ำแล้ง พืชผลไม่ได้ผลผลิตมากนัก


 


ในการจัดส่ง นฤมลระบุว่า ชาวบ้านจะตัดผักและแพคเป็นชุดเล็ก ชุดใหญ่ ตามไซด์ครอบครัว แล้วขับรถเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อแจกจ่ายผักตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ และผู้บริโภคก็ต้องเดินทางมารับผักที่จุดนัดหมายอาทิตย์ละครั้ง


 


"ผู้บริโภคต้องการของดีๆ กินอยู่แล้ว แต่หาแหล่งที่ไว้ใจได้ได้ยาก อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องปรับเปลี่ยนเมนูตามผักที่มีตามฤดูกาล นี่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนถอนตัวไป" นฤมลกล่าว


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net