Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ต.ค.2549 องค์กรวิชาชีพสื่อ 6 องค์กร ประกอบด้วย 1. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 3. สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย 4. สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 5. สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย 6. สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมหารือใน 2 ประเด็น คือ การคัดเลือกประธานสภานิติบัญญัติโดยการใช้สิทธิของตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ และการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในสัดส่วนของสื่อมวลชน


 


นายสุวัฒน์ ทองธนากุล รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติ จะต้องเป็นมีความสามารถในการออกกฎหมายเป็นอย่างดี และสามารถจะดูแลระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยได้ ต้องเป็นคนกลาง กล้าชี้ถูกชี้ผิด ไม่รับใช้อำนาจใคร และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ที่ประชุมจึงเสนอบุคคลที่เป็นตัวเลือกนอกเหนือจากที่มีกระแสข่าวในขณะนี้ โดยเห็นว่า บุคคลที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากวงการสื่อมวลชน คือ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย และ ผศ.ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอให้ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อใช้สิทธิโหวตในสภาบนฐานการตัดสินใจที่อิสระ ที่ประชุมขององค์กรวิชาชีพสื่อมีบทบาทเพียงแค่การระดมความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อเสนอแนะ แต่ไม่ใช่มติที่ต้องทำตาม


 


ในที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นการโหวตเสียงอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น การจำแนกว่ามีการโหวตเพื่อแสดงจุดยืน และโหวตเพื่อหวังผล แต่การเลือกประธานในครั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องโหวตเพื่อหวังผล และเลือกบุคคลที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด แต่ไม่เห็นด้วยกับการไม่ลงคะแนนเสียง เพราะจะต้องใช้สิทธิอย่างเต็มที่ ถ้าไม่มีใครจริงๆ จะต้องโหวตแสดงจุดยืน เพื่อยืนยันว่า องค์กรวิชาชีพไม่เห็นว่ามีใครเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังมีการหารือด้วยว่าหากลงมติแบบไม่ลงคะแนนเสียงในกรณีใดกรณีหนึ่ง อาจจะได้เพียงความสะใจ แต่ไม่ส่งผลต่อจุดยืนขององค์กรวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลด้วยว่าจะทำให้


 


นายสมชาย แสวงการ หนึ่งในสมาชิกนิติบัญญัติ กล่าวว่า วันนี้เราควรประกาศไปเลยว่าจะสนับสนุนใคร เพราะตอนนี้มีผู้ที่สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 คน ติดต่อให้ตนสนับสนุนคนที่เป็นแคนดิเดตประธานสภา แต่ไม่ใช่นายมีชัย


 


สำหรับประเด็นการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในสัดส่วนของสื่อมวลชน ที่ประชุมมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่าจะส่งตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และจะส่งตัวแทนไปประชุมรับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และสรรหาบุคคลมาเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมัชชาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ได้ทำหนังสือเชิญมา ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีความกังวลว่า หากไม่มีการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวของเพื่อนร่วมวิชาชีพ อาจเกิดปัญหาตามมาเหมือนกรณีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ดังนั้น อย่าให้ซ้ำรอยสภานิติบัญญัติ


 


ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมในครั้งนี้ไม่ได้หยิบยกประเด็นปัญหาของผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ได้ร้องเรียนถึงความไม่เหมาะสมของตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด


 


อย่างไรก็ตาม นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าว ภายหลังการประชุม 6 องค์กรสื่อถึงกรณีตัวแทนองค์กรสื่อ 3 คน เข้าไปทำงานในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ ว่า เป็นเรื่องที่จบไปแล้ว เพราะหลังจากการหารือระหว่างตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 3 คน นักข่าวอาวุโส และตัวแทนนักข่าวที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าทำงานในสภา การประชุมครั้งนี้มีเพียงการรับปากในข้อเสนอว่า จะทิ้งระยะห่างของแต่ละองค์กร ซึ่งตัวแทนแต่ละองค์กรจะต้องไปหารือกันภายในองค์กรอีกครั้ง


 


ทั้งนี้ ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้หารือกันในเบื้องต้นแล้ว คงเหลือแต่ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ยังไม่ได้ประชุม หลังจากการหารือของ 3 องค์กรวิชาชีพสื่อแล้วจะนำเข้าสู่การหารือร่วมกับองค์กรสื่ออีก 3 องค์กร ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นช่วงเวลาใด


 


"จะส่งไปหรือไม่ส่งไปทำงานในสภา เราได้ข้อสรุปไปแล้ว ตกลงว่าต้องไป และวันนี้เราก็หารือในเรื่องประธานสภานิติบัญญัติ ประเด็นต่อไป คือ ต้องพิจารณาว่าตัวแทนที่อยู่ในสภาจะวางระยะห่างอย่างไร ในวันนี้เราไม่ได้นำข้อกังวลเหล่านี้เข้าสู่ประชุม เพราะเห็นว่าเรื่องมันผ่านไปแล้ว"


 


ส่วนประเด็นที่ทางนักข่าวภาคสนามเรียกร้องให้ตัวแทนทั้ง 3 คน เลือกดำรงตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่ง และถือเป็นมติของการหารือครั้งนั้น นายชวรงค์ ตอบคำถามว่า เป็นเพียงการเสนอข่าวออกมาของสื่อบางฉบับเท่านั้น และข่าวที่ออกมาก็มีความคลาดเคลื่อน เพราะไม่ใช่เป็นมติของที่ประชุม การหารือไม่ได้คุยรายละเอียดขนาดนั้น เป็นเพียงการคุยกันว่าตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 3 คน จะใช้หลักสื่อมวลชนไปทำงานในสภาได้อย่างไร และการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนก็มีเพียงบางฉบับเท่านั้น ทั้งๆ ที่การหารือกันในมีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมหลายฉบับ


 


ทั้งนี้ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าว โดยบอกเพียงว่า เรื่องนี้ได้ผ่านระยะเวลาที่จะมาคุยกันถึงเรื่องนี้แล้ว ไม่ขอพูดอะไรอีก


 


เรียบเรียงจาก - เวบไซต์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net