ครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ตากใบ กับความยุติธรรมที่ยังต้องรอ

บทความชื่อเดิม: "ตากใบ 2 ปี" หลากความทรงจำ กับยุติธรรมที่เฝ้ารอ

 

เบญจมาศ บุญฤทธิ์

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

สายลมแห่งเดือนรอมฎอนพัดแผ่วเบา เงาแดดยามเย็นทอดรำไร แม่น้ำตากใบไหลเอื่อย เลื้อยเลาะไปตามฝั่ง สตรีวัยกลางคนนางหนึ่งยืนสงบนิ่งอยู่ริมตลิ่ง สายตานางมองไปยังท้องน้ำเบื้องหน้า

 

"เมื่อสองปีก่อน น้ำตรงนี้เคยเป็นสีแดง ก๊ะนะไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เป็นเลือด หรือว่าเป็นสีสะท้อนจากแดด ถึงวันนี้ก๊ะนะก็ยังไม่รู้ เลยหมั่นมาดู เผื่อจะได้รู้ในสักวัน"

 

ก๊ะแยนะ สะละแม หรือ "ก๊ะนะ" ของชาวบ้านตากใบ ถอนหายใจก่อนละสายตาจากแม่น้ำสายชรา นางเพิ่งจะพูดคำว่า "เมื่อสองปีก่อน" แต่ร่องรอยในแววตาบ่งบอกความรู้สึกของนางว่า เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน...

 

ก๊ะแยนะ สะละแม

 

เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน...

 

ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว ในวันที่ 25 ตุลาคม บริเวณ สภ.อ.ตากใบ ซึ่งแม่น้ำชราสายนี้ไหลผ่าน มีโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่สะเทือนใจผู้ได้รับรู้เรื่องราวเท่านั้น หากมันยังสั่นคลอนจิตวิญญาณของสังคมไทย ด้วยการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ในวันปอซอ ส่งผลให้ชาวบ้านตากใบผู้สูญเสียญาติพี่น้องที่รักไปในที่เกิดเหตุ 7 คน และอีก 78 คน ที่หมดลมหายใจในระหว่างถูกเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

 

 "ก๊ะนะยังจำได้เสมอไม่เคยลืม เพราะวันนั้น ก๊ะนะก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ที่จริงก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรหรอก เขาบอกว่ามีการชุมนุมกันที่อำเภอตากใบ กะนะก็ไป เพราะชอบอยู่แล้ว งานเด็กๆ แข่งขันฟุตบอลก๊ะนะก็ไป เพราะก๊ะนะชอบ วันนั้นพอพวกเจ้าหน้าที่ยิงปืน กะนะก็หมอบหลบอยู่ใต้เท้าของพวกผู้ชาย" ก๊ะนะย้อนเหตุการณ์วันนั้นให้เราฟัง

 

 "เสียงปืนนั้นดังมาก ยังดังก้องอยู่ในหูของก๊ะนะวันนี้เลย สักพักทหารสั่งให้ผู้หญิงยืนขึ้น ก๊ะนะก็ยืนขึ้น และตะโกนบอกว่า ผู้หญิงมาทางนี้ ทหารจะต้องไม่ยิงผู้หญิง หยุดได้สักพัก ก็ได้ยินเสียงปืนยิงเข้าหาพวกผู้ชายอีกรอบ พวกเรา บางคนก็ตะโกนบอกว่าพอแล้ว เด็กๆ ที่อยู่ข้างเราร้องไห้พร้อมกับตะโกนบอกให้ทหารพอแล้ว!"

 

ความทรงจำของกะนะอยู่ที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ในขณะที่ความทรงจำของชาวบ้านผู้ชายกว่า 1,300 คนที่ถูกจับกุมอยู่ในรถบรรทุกของทหาร ขณะลำเลียงพวกเขาไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร

 

"ในขณะที่ถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธนั้น ผมอยู่ชั้นล่างสุด แต่โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ไม่มีบาดแผล แหวน เสื้อผ้าก็ยังอยู่ครบ ทั้งที่ข้างๆ ตัวผม มีหลายคนที่ไม่มีลมหายใจไปแล้ว ลองคิดดูขนาดเราขึ้นรถโดยสารธรรมดาก็รู้สึกล่าช้าแล้ว นับประสาอะไรกับคนที่นอนคว่ำไปนานๆ อากาศจะหายใจก็ไม่มี แถมข้างบนยังมีอีกหลายชั้นทับเราอยู่ เขาทำเหมือนกำลังขนย้ายวัตถุที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่คน" นายมามะอะตัง เซ็งโต๊ะ วัย 25 ปี ชาวบ้านตากใบหนึ่งในผู้รอดชีวิตจาก "รถบรรทุกมรณะ" เล่าให้เราฟัง

 

 "เขาจับผมทั้งที่ผมไม่ได้ทำร้ายใคร ผมไปที่หน้า สภ.อ.ตากใบ พร้อมกับคนอื่นๆ เพราะเป็นเดือนรอมฎอน ขนาดคนไกลๆ ยังมา นับประสาอะไรกับคนในพื้นที่ ที่ใกล้เหตุการณ์อย่างผม ผมไปเพื่อดูเหตุการณ์ เรียกว่าเป็นไทยมุงก็ได้" เขากล่าว

 

คำบอกเล่าของเขาสอดคล้องกับผลการสรุปของทางราชการที่ว่า กลุ่มคนที่ไปชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบแบ่งได้ 3 ประเภท คือ ไทยมุง (มุสลิมมุง) ซึ่งตั้งใจจะไปดูเหตุการณ์, ชาวบ้านที่จะไปซื้อของที่ตลาด แล้วพลัดเข้าไปในที่เกิดเหตุ และกลุ่มชาวบ้านที่ไปเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. 6 คน

 

ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจงใจสร้างความสับสนวุ่นวาย เพื่อให้สถานการณ์ดำเนินไปสู่ความรุนแรงนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านยอมรับว่ามีจริง แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญกว่าคือชีวิตที่จากโลกนี้ไป 85 ราย และชีวิตที่ปลิดปลิวไปเหล่านั้น เป็นชีวิตของกลุ่มคนที่ทุกฝ่ายระบุตรงกันว่า "พวกเขาเป็นแค่ไทยมุง"

 

เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น 2 ปีที่ผ่านมา ชีวิตที่เหลืออยู่ข้างหลังของชาวตากใบจึงต้องดำเนินไปพร้อมกับการเดินทางของ "ความยุติธรรม"

 

การเดินทางของ "ความยุติธรรม"

ศพจำนวน 85 ราย คนพิการ ผู้สูญหาย และชีวิตของญาติพี่น้องที่เหลืออยู่ข้างหลัง คือความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่า นำมาซึ่งคำถามและการค้นหาคำตอบ และแม้จะมีผลการสอบเบื้องต้นจากกรรมการชุดต่างๆ ออกมา ต้องยอมรับว่าผู้ที่จะตอบคำถามทุกฝ่ายในสังคมไทยได้ดีที่สุดก็คือ "กระบวนการยุติธรรม"

 

 "คดีตากใบ" มี 3 ประเภท คือ คดีไต่สวนการตาย คดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ และคดีอาญาที่รัฐฟ้องชาวบ้าน 59 คน

 

ครบ 2 ปี แล้ว วันนี้ กระบวนการยุติธรรมเดินทางไปถึงไหน?

 

ในส่วนของคดีไต่สวนการตาย เป็นการยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนว่าผู้ตายคือใคร เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร ใครทำให้ตาย หากเป็นการตายของบุคคลซึ่งอยู่ในความควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ทำไปโดยชอบหรือไม่ โดยขณะนี้คดีได้ถูกโอนย้ายจากศาลจังหวัดปัตตานีไปยังศาลจังหวัดสงขลา ส่วนความคืบหน้านั้น จะมีการสืบพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ในเดือนเมษายนปีหน้าที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ต่อจากนั้นก็จะมีการไต่สวนฝ่ายอัยการผู้ร้องและฝ่ายผู้ตายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 เป็นต้นไป

 

ด้านคดีแพ่งฟ้องร้องค่าเสียหาย ศาลจังหวัดปัตตานีกำลังพิจารณาคดีค่าเสียหายให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับจาก สภ.อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ส่วนที่ศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังสลายการชุมนุม ขณะนี้คดีในสองศาลยังไม่จบสิ้น ประเด็นหลักในการไต่สวนคือ ความเกี่ยวพันของชาวบ้านตากใบซึ่งเป็นโจทก์กับผู้เสียชีวิต รายละเอียดการเสียชีวิต เช่น วัน เวลา สาเหตุ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของโจทก์ ว่าเป็นผู้ยากจนหรือไม่ ในระหว่างไต่สวนมีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์และจำเลยหลายนัด ขณะนี้การไกล่เกลี่ยยังไม่ยุติ

 

ส่วนคดีอาญาที่รัฐฟ้องชาวบ้าน 59 คน นั้น ปัจจุบันเหลือจำเลย 56 คน เนื่องจากจะเลยคนหนึ่งถูกลอบยิงเสียชีวิตไปเมื่อปีที่ผ่านมา จำเลยอีกหนึ่งรายให้การรับสารภาพ มีการพิจารณาคดีแยกต่างหาก คำพิพากษามีความผิดตามฟ้องให้จำเลยมีโทษจำคุก 8 ปี แต่ให้รอลงอาญา 4 ปี ส่วนอีกรายหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ข้อหาที่ชาวบ้าน 57 คนต้องต่อสู้ในชั้นศาลในขณะนี้มีอยู่ว่า "ฐานความผิด ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกเสีย แต่ผู้มั่วสุมไม่เลิก ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์"

 

ส่วนความคืบหน้าของคดีนั้น นับแต่มีการสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2549 จนถึงวันนี้ที่ครบรอบ 2 ปีของเหตุการณ์ตากใบ จำนวนพยานโจทก์ 1937 ปาก และพยานจำเลย 98 ปาก มีการสืบพยานโจทก์ไปทั้งสิ้นเพียง 3 ปากเท่านั้น

 

ความล่าช้าของการดำเนินการพิจาณาคดีทั้งสาม ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านตากใบเปลี่ยนไป มิพักต้องเอ่ยว่า สำหรับคดีที่ชาวบ้านมากมายตกเป็นผู้ต้องหา พวกเขาเหล่านั้นมีความผิดตามที่รัฐฟ้องจริงหรือไม่?

 

ทำไมญาติพี่น้องของพวกเขาต้องตาย? แล้วใครจะรับผิดชอบ?  ทำไมพวกเขาต้องถูกรัฐฟ้องในข้อหาร้ายแรงขนาดนั้น? คำถามเหล่านี้ยังคงรอคอยคำตอบที่กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางของกระบวนการยุติธรรม

 

หากคำพูดที่ว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม" เป็นจริง สิ่งที่ชาวบ้านต้องการในเวลานี้คงไม่หนีไปจากคำพูดที่ว่า "เมื่อไหร่มันจะจบเสียที?"

 

เมื่อไหร่มันจะจบเสียที?

"พวกเราก็ต้องขึ้นศาลเป็นประจำ มันมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเรา แต่ก็ต้องทำใจ ยอมรับสภาพความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้คดีจบเร็วๆ แต่ที่เราต้องต่อสู้ในกระบวนยุติธรรม ก็เพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร" นายหามิ สาเมาะ พ่อผู้สูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เผยความในใจกับเรา

 

"ถามว่าคุ้มไหมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ก็ไม่คุ้มเลย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าวหาว่าเราเป็นผู้ร้าย เราก็ไม่ยอม เพราะเรามีความบริสุทธิ์ใจจริง เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อความชนะ แต่เราต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ที่เขากล่าวหาว่าเราเป็นผู้ร้ายบ้าง โจรบ้าง" เขากล่าวด้วยน้ำเสียงเหนื่อยหน่าย

 

เช่นเดียวกับนายแวดี มะโซ๊ะ อายุ 16 ปี ซึ่งสูญเสียตาข้างซ้ายไปจากถูกยิงในเหตุการณ์ที่หน้า สภ.อ.ตากใบ เขาเล่าว่า ทุกวันนี้เหนื่อยมากกับชีวิตที่ไม่เป็นปกติ เมื่อก่อนนี้เขาข้ามไปทำงานที่มาเลเซีย เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว แต่ทุกวันนี้ทุกวันนี้กลับไปทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากความพิการ และต้องรอไปขึ้นศาล

 

"ตอนนี้แผลเริ่มหายดีแล้ว แต่ก็ยังเจ็บบ้าง ผมยังจำเสมอ บางครั้งพอส่องกระจกเห็นบาดแผลก็ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้เพราะอะไร ทั้งที่อยากจะลืม แต่ก็ลืมไม่ได้" เขาพูดพลางก้มหน้าลงซ่อนบาดแผลจากสายตาเรา

 

ในขณะที่นายมามะอะตัง เซ็งโต๊ะ วัย 25 หนึ่งในจำเลยที่ถูกรัฐฟ้อง บอกเราว่า สิ่งที่อยากเขาได้มากที่สุดในชีวิตตอนนี้คือ อยากให้เจ้าหน้าที่ถอนฟ้องพวกเขา เพราะผลการสอบของฝ่ายต่างๆ ก็สรุปแล้วว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ และเขาไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรอีกแล้ว

 

 "ผมไม่อยากไปยุ่งอีกแล้ว ผมเชื่อในอำนาจลึกลับของทางราชการ ว่าสามารถทำให้สิ่งที่ผิดเป็นถูกกฎหมายได้ ตอนนี้ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต เพราะมีคนถูกยิงมาแล้ว 1 ใน 58 คนที่ถูกฟ้องในคดีตากใบพวกเราก็รู้ว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินคดี ก็ถือว่าเรายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ว่ายังมีอำนาจหนึ่งที่น่ากลัว ผมแค่รู้สึกเท่านั้น" เขาพูดด้วยน้ำเสียงหวั่นๆ ที่ซ่อนไว้ไม่มิด

 

ทว่า มีอีกคนหนึ่งซึ่งต้องผจญกับความความหวาดหวั่นแบบเดียวกับนายมามะอะตัง ต่างกันตรงที่ความหวาดหวั่นนี้ได้กลายเป็นความจริง

 

คนคนนั้นคือนางซากียะห์ สะมาแอ สูญเสียนายสะตอปา เซ็ง ผู้เป็นสามีไป จากเหตุการณ์ลอบยิงที่หน้าบ้านตัวเองเมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา

 

"คดีของสามีก๊ะนั้น ทางการสรุปว่าเป็นคดีส่วนตัว ก๊ะอยากถามเจ้าหน้าที่ว่าใครเป็นคนสรุป เพราะไม่มีใครมาสัมภาษณ์เราเลย ก๊ะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม" นางบอกเล่าความรู้สึกกับเราด้วยนัยตาแดงช้ำ

 

"บางครั้งมีคนมาเยี่ยมหลายๆ คน ก๊ะก็รู้สึกกลัว เพราะอาจมีเพื่อนบ้านที่ไม่หวังดีจะแจ้งเจ้าหน้าที่ก็ได้ เพราะเขาอาจรู้สึกกลัว บางครั้งก๊ะเห็นเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกันกับสามี น้ำตาก็ไหลออกมาเอง เพราะคิดถึงสามี"

 

"ภาพทุกอย่างยังติดตาอยู่จนถึงทุกวันนี้ วันนี้ก๊ะไม่อยากเรียกร้อง ไม่อยากให้มีการรื้อฟื้นอีก ปัจจุบันนี้รู้สึกวุ่นวาย ถ้าสามีก๊ะยังอยู่เขาก็จะให้คำปรึกษาและทำให้ก๊ะไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียว" นางก้มหน้าซ่อนน้ำตาและพูดประโยคสุดท้ายออกมาว่า

 

"ตอนนี้ก๊ะอยากให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือให้มากที่สุด ส่วนเหตุการณ์ตากใบ ไม่อยากพูดถึงอีกแล้ว และไม่อยากเล่าให้ลูกๆ ฟัง"

 

ในฐานะแม่ของลูกเล็กๆ 4 คน นางซากียะห์คิดว่าตัวเองจะแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียวได้ และหวังให้ลูกๆ เติบโตขึ้นอย่างปราศจากความทรงจำอันเจ็บปวด แต่ความจริงก็คือ เมื่อลูกๆ ของนางโตพอที่จะตั้งคำถามถึงเรื่องราวที่เป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์นี้ได้ นางจะตอบคำถามลูกๆ อย่างไร

 

และสำหรับทุกคนในสังคมไทย เราจะเล่าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร?

 

เราจะเล่าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร?

"ถ้าอยากจะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ลูกหลานฟัง ผมก็คงจะเล่าเป็น 3 อย่าง อย่างที่หนึ่งก็คือ เล่าเรื่องข้อเท็จจริงเท่าที่เราทราบ สองก็คือ เล่าว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้มีความหมายกับคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน อย่างที่สามก็คือว่า เล่าว่าอารมณ์ในสังคมไทยที่ผมคิดว่าควรจะมีคืออะไร ซึ่งในกรณีนี้ก็คือความโกรธ แต่ไม่ได้โกรธคนทำนะ โกรธว่าทำไมสังคมไทยจึงมาถึงจุดนี้ได้ที่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีการรับผิดชอบอะไร" อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าว

 

"ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะทำสองอย่าง คือชดเชยในทางความทรงจำและความรู้สึกให้กับคนที่สูญเสีย และในทางกลับกัน การเผชิญหน้ากับความทรงจำและความรู้สึกนั้นอาจจะช่วยให้สังคมไทยแข็งแรงขึ้น เพราะไม่เลือกที่จะไปหลบซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ สังคมไทยเก่งในเรื่องเหล่านี้ แต่มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับสิ่งแหล่านี้ และเผชิญกับมันจากมุมของเหยื่อ มันอาจจะทำคู่กันไปกับคุณค่าที่มีอยู่ในสังคมไทย ก็คือความเมตตา กรุณา"

 

ในขณะที่ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน เชื่อว่าหากมีการเปิดเผยความจริงออกมา และรัฐยอมรับว่า "ผิด" ความรู้สึกของผู้สูญเสีย และความคลางแคลงใจของคนไทยทั่วไปต่อการกระทำของรัฐจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

 

"ถ้าภาครัฐออกมาพูด ประชาชนรับได้แน่นอน แล้วก็จะทำให้มันเกิดความเป็นธรรม ทั้งฝ่ายที่ถูกกระทำและฝ่ายที่กระทำ ผมว่าสังคมไทยรับได้ สังคมมุสลิมรับได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยพูดถึงคนที่กระทำเลย เราพูดถึงผู้ที่ถูกกระทำมากกว่าคนที่กระทำต่อเขา ผมว่ามันเป็นเรื่องที่แย่มาก ตอนนี้คนที่ถูกกระทำต้องมานั่งจดจำ พอถึงรอมฎอนปีหนึ่ง ก็มานั่งจดจำความสูญเสีย แต่ฝ่ายที่กระทำเขา เราไม่พูดถึงเลย"

 

เขากล่าวต่อว่า "สังคมต้องถอดบทเรียนออกมาให้เร็วที่สุด แล้วก็ยอมรับความจริงว่า ถ้าเราผิด เราก็บอกว่า โอเค เราผิด เราขอโทษนะ" ผมว่าจบ แต่ถ้าเราไม่ขอโทษ เราไม่ยอมรับความจริง เราปล่อยให้สถานการณ์อยู่อย่างนี้ ความขัดแย้งจะยังขยายความรู้สึก คนก็จะรู้สึกเคียดแค้นเข้าไปอีก ภาครัฐต้องยอมรับความจริงว่าที่รัฐกระทำมันไม่ถูกต้องตรงไหน ต้องอธิบายให้คนเข้าใจ ไม่ใช่เงียบ แล้วให้สถานการณ์มันไปโดยธรรมชาติ มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไปตอกย้ำความรู้สึกให้คนขัดแย้งเข้าไปอีก"

 

นอกจากรัฐแล้ว คนไทยทุกคนในสังคมก็ต้องส่วนในการเยียวยาโศกนาฏกรรมนี้ด้วย โดยนารี เจริญผลพิริยะ เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวของคนไทยทั่วประเทศจะส่งผลให้รัฐต้องทบทวนบทเรียนนี้ และนี่ไม่ใช่ความสูญเสียอันเกิดจากความขัดแย้งของรัฐกับประชาชนครั้งแรก เหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว รวมทั้งกรณี 6 ตุลา

 

"คุณคาดการณ์ได้เลยว่าในอีก 10 หรือ 20 ปี ถ้าวันนี้ประชาชนโดยทั่วไปยังไม่พยายามเข้ามามีความเห็นหรือพยายามเข้ามาแก้ไขวิธีการปฏิบัติของรัฐ วันหนึ่งอาจเป็นคุณที่ต้องนอนหมอบลงบนพื้นเหมือนนักศึกษาใน 6 ตุลา หรือชาวบ้านตากใบในวันนั้น" นารีกล่าว

 

"เราควรพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และมีรูปธรรมเห็นชัดว่าต่อไปนี้รัฐจะปฏิบัติอย่างไรกับประชาชนถ้าเกิดเหตุเกิดความขัดแย้งแบบนี้ เพราะหลายคนคิดว่าหลัง 6 ตุลาจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น แต่เราจะคิดเอาไม่ได้ มันต้องเรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างชัดเจน มีแบบแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมออกมา ถึงจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าในอนาคตเรื่องอย่างนี้ มันจะไม่เกิดขึ้นอีก"

 

มันจะไม่เกิดขึ้นอีก?

สายน้ำตากใบยังคงไหลล่อง แสงแดดสีทองกำลังลับขอบฟ้า ลมพัดมาไหวไหว หอบเอากลิ่นไอดินปลายฤดูฝนมาจากริมตลิ่งโชยมา

 

"จริงๆ แล้วกะนะก็ไม่อยากเห็นมันอีกหรอก แม่น้ำสีเลือดน่ะ ที่มาดู ก็เพื่อให้แน่ใจว่ามันไม่ได้เป็นสีนั้นอีก และมันจะไม่เป็นสีนั้นอีก"

 

ก๊ะนะยังคงยืนนิ่ง แต่สายตานางไม่ได้จับจ้องไปที่ท้องน้ำอีกต่อไป หากแต่เป็นขอบฟ้าที่เริ่มมีแสงจันทร์ทาบทา

 

เพียงครู่เดียวเท่านั้น พระจันทร์ก็ลอยมาแขวนให้เราแหงนมอง

 

ในขณะที่เรากำลังชื่นชมกับภาพเบื้องหน้า กะนะก็หันมา และชี้ชวนให้เราดูสายน้ำตากใบ

 

"ดูสิ เงาจันทร์อยู่ในน้ำ แม่น้ำตากใบวันนี้สวยไหม?"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท