Skip to main content
sharethis

โดย ชำนาญ  จันทร์เรือง


                                                      


เจ้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจ


                                                ยอมเป็นทาสคณาธิปไตย


                                                เพียงหัวโขนไม่กี่ใบ


                                                ก็ทำให้เจ้าลืมตน


                    


ภายหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 ก.ย. 49 อุบัติขึ้น นอกจากจะทำให้รัฐบาลทักษิณหมดอำนาจและทำให้สาวกไทยรักไทยหัวใจสลายแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว ในบรรดาแวดวงวิชาการและสื่อสารมวลชนเองก็เช่นเดียวกัน มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็มีทั้งออกมาต่อต้านอย่างออกหน้าออกตาและมีทั้งซุบซิบนินทากันเงียบๆอย่างระมัดระวังด้วยเกรงภัยจะมาถึงตัว


                   


แต่ที่น่าสนใจก็คือนักวิชาการหรือสื่อสารมวลชนบางรายที่เคยไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาโดยตลอด แต่กลับไปเห็นดีเห็นงามและสยบยอมต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าศึกษาว่าเกิดจากสาเหตุหรือความเชื่อใด


 


อย่างไรก็ตาม เราสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้จากความเชื่อต่างๆ ของเขาเหล่านั้นจากทฤษฎีที่ว่าด้วยการก่อกำเนิดรัฐ ซึ่งพอที่จะนำมาเสนอพอสังเขปได้ ดังนี้


 


ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (divine theory)


เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดของรัฐที่มีความเก่าแก่ที่สุด โดยเชื่อว่าพระเจ้าได้ดลบันดาลหรือสร้างรัฐขึ้นมาเอง แนวคิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรโบราณแถบตะวันออกกลาง ที่ผู้ปกครองได้รับการยอมรับว่าเป็นเชื้อสายสืบทอดมาจากพระเจ้า ชาวฮิบรูโบราณเชื่อว่าพระเจ้าได้สร้างกฎของการปกครอง แนวคิดนี้เป็นที่นิยมที่สุดในช่วงยุคกลาง ซึ่งทฤษฎีนี้มีความเชื่อ 3 ข้อหลักคือประการแรก รัฐเป็นการดลบันดาลมาจากเจตนารมณ์ของพระเจ้า ประการที่สอง มนุษย์ไม่ได้เป็นปัจจัยของการสร้างรัฐ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ และประการสุดท้าย ผู้ปกครองรัฐมีหน้าที่เสมือนตัวแทนของพระเจ้า ประชาชนต้องเชื่อฟังและเคารพโดยดุษฎี การละเมิดอำนาจรัฐเป็นบาปและมีโทษ


 


ทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract theory)


ทฤษฎีนี้ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) ทฤษฎีนี้ มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อว่ารัฐมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ โดยวิธีการที่เรียกว่า สัญญาประชาคม (social contract) ที่บุคคลแต่ละคนได้ลงความเห็นไว้ด้วยกัน วัตถุประสงค์ของรัฐจึงเป็นไปเพื่อประชาชน ได้แก่การที่จะรักษาและส่งเสริมสิทธิตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน มนุษย์ทุกคนไม่ได้มอบสิทธิธรรมชาติให้แก่ผู้ใด สิทธินั้นยังคงอยู่กับมนุษย์ มนุษย์จึงมีสิทธิทุกประการ ในสังคมหรือรัฐที่ตนได้ก่อตั้งขึ้นมา รูปแบบของรัฐบาลจะเป็นเช่นใดก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมสัญญาประชาคมยอมรับที่จะปฏิบัติตามเสียงข้างมาก แนวความคิดนี้เฟื่องฟูมากภายหลังสงครามศาสนา และในช่วงการปฏิวัติโดยประชาชนในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน


 


ทฤษฎีธรรมชาติ (natural theory)


ทฤษฎีนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง โดยอริสโตเติล นักปราชญ์สมัยกรีก อธิบายว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์การเมือง (political animal) มนุษย์จะสามารถสร้างความสำเร็จได้ก็โดยการมีชีวิตอยู่ในรัฐเท่านั้น มนุษย์ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในรัฐก็จะไม่ใช่มนุษย์ แต่จะเป็น พระเจ้า (god) หรือไม่เช่นนั้นก็เป็น สัตว์ (beast) ไปเลย  ดังนั้น กิจกรรมทางการเมืองของมนุษย์จึงเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมนุษย์กับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้


 


ทฤษฎีวิวัฒนาการ (evolution theory)


ทฤษฎีนี้พยายามใช้ประวัติศาสตร์การพัฒนาของมนุษย์เข้ามาประกอบ โดยทฤษฎีนี้แบ่งขั้นของการวิวัฒนาการออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเล็กสุดไปจนถึงระดับใหญ่ที่สุด โดยเริ่มจากการเป็น เครือญาติหรือครอบครัว(family) วิวัฒนาการไปเป็น ชนเผ่า(tribe) นครรัฐ(city state) จักรวรรดิ(empire) ระบบศักดินา(Feudalism) และเป็น รัฐชาติ(nation state)ในปัจจุบันตามลำดับ โดยเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะกลายเป็น รัฐโลก(world state) ซึ่งหมายถึงการสลายรัฐ ประชาชนทั้งหมดทั่วโลกอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน


 


ทฤษฎีแสนยานุภาพหรือทฤษฎีพลกำลัง (force theory)


ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการปกครอง มีจุดเริ่มต้นมากจากการเข้ายึดครอง และการบังคับ ด้วยเหตุนี้รากฐานของรัฐ คือ ความอยุติธรรม และความชั่วร้าย ดังนั้น ผู้ที่เข้มแข็งกว่าจึงสามารถ  ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า และได้สร้างกฎเกณฑ์ เพื่อจำกัดสิทธิของบุคคลอื่น แนวความคิดนี้เชื่อกันว่าอาณาจักรโรมันในสมัยกลางได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยแสนยานุภาพเช่นว่านี้ โดยเห็นว่าอำนาจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ ทำให้เกิดความถูกต้องและความชอบธรรม อำนาจสร้างความยุติธรรม รัฐคือองค์การที่มีอำนาจเหนือองค์การใดๆของมวลมนุษย์  นอกจากนั้น รัฐยังอยู่ในฐานะที่สูงกว่าศีลธรรมจรรยาทั้งปวง


 


คนที่เชื่อในทฤษฎีนี้ไม่เชื่อในการแก้ปัญหาการเมืองการปกครองโดยวิถีทางประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่เชื่องช้า ไม่ทันใจ สู้การใช้กำลังเข้าโค่นล้มไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่เห็นการแก้ปัญหาการเมืองไทยด้วยวิธีการรัฐประหาร เราจึงไม่แปลกใจที่มีผู้นำดอกไม้ไปให้ผู้ก่อการรัฐประหาร ฯลฯ เพราะเขาเหล่านั้นเชื่อในทฤษฎีแสนยานุภาพหรือทฤษฎีพลกำลังนั่นเอง


 


แต่ที่น่าแปลกใจก็คือเหล่าบรรดานักวิชาการและสื่อสารมวลชนที่เคยเชื่อในทฤษฎีสัญญาประชาคมที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือเคยเชื่อในทฤษฎีเทวสิทธิ์ที่เรียกร้องนายกฯมาตรา 7 อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่กลับไปสวามิภักดิ์หรือสยบยอมต่ออำนาจเพียงเพราะหัวโขนไม่กี่ใบที่ถูกหยิบยื่นให้ โดยให้เหตุผลข้ออ้างต่างๆนานา อาทิ จะได้มีโอกาสเสนอความเห็นแทนกลุ่มของตนบ้าง หรือไปทำหน้าที่เพื่อชาติบ้าง ฯลฯ นอกเหนือจากเหตุผลแท้จริงที่ตนเองสลัดทิ้งอุดมการณ์เดิมไปยกย่องนับถือว่า อำนาจคือความถูกต้อง (might is right) ตามทฤษฎีแสนยานุภาพหรือทฤษฎีพลกำลังที่กล่าวไว้ข้างต้น


 


โดยลืมไปว่าคนที่หลงใหลต่อการเสพอำนาจนั้นมีจุดจบที่น่าสยดสยองเพียงใด เพราะคำกล่าวที่ว่า "อำนาจทำให้ฉ้อฉล ยิ่งอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าใด ยิ่งฉ้อฉลเบ็ดเสร็จเท่านั้น" (power tends to corrupt ,and absolute power corrupts absolutely) ยังคงเป็นความจริงอยู่เสมอ


 


 


...................


หมายเหตุ—บทความนี้ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันพุธที่ 25 ต.ค.49

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net