Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย ตติกานต์ อุดกันทา


 


 


 


นอกจากการรำลึกถึงเหล่าวีรชนและคนเดือนตุลาในเดือน 10 ของทุกปี ธรรมเนียมปฏิบัติอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่กับสังคมไทยมานานหลายปีก็คือ "ประเพณีถือศีลกินเจ" ซึ่งทำให้ธงสีเหลืองโบกสะบัดไปทั่วบ้านทั่วเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการงดเว้นบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหลายแหล่


 


จำไม่ได้เหมือนกันว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเพณีการกินเจ หรือการ "ถือศีลกินผัก" เป็นที่นิยมในบ้านเรานั้นมีเหตุผลอะไรเป็นหลัก แต่คนจำนวนมากมายเข้าร่วมในประเพณีนี้แต่โดยดี ด้วยการเลิกกินเนื้อสัตว์ชั่วคราว และหันมาบริโภคอาหารที่ไม่มีคาวเลือดคาวเนื้อติดมา เช่น ผักหญ้าและธัญพืชทั้งหลายแหล่


 


แค่ฟังดูก็คงรู้สึกอิ่มบุญกันถ้วนหน้า เพราะวัตถุประสงค์หลักของประเพณีหมายถึงความพยายามที่จะละเว้นการเบียดเบียน "สัตว์อื่นๆ" ที่อยู่บนโลกใบเดียวกับเรา และเพียงภาวะหนึ่งซึ่งเราสามารถ "ลด-ละ-เลิก" จากการกระทำบางอย่างที่ (ถูกทำให้เชื่อว่า) เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นได้ ก็ดูเหมือนว่าเราจะกลายเป็นคนดีในเวลาชั่วข้ามคืน


 


แต่ในความเป็นจริง มีคนจำนวนน้อยมากที่ตัดขาดกับการบริโภคเลือดเนื้อจากสัตว์อื่นๆ ได้อย่างเด็ดขาด เมื่อเทียบกับจำนวนมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีกิเลสและความอยากที่จะเสพเนื้อหนังรสนุ่มต่อไปเมื่อเทศกาลถือศีลกินผักจบลง


 


และบางทีเราอาจได้เห็น "โยโย่ เอฟเฟกต์" ที่เป็นการสวิงกลับมายังด้านตรงข้าม หลังจากอดกินเนื้อสัตว์มานานหลายวัน คนที่ปฏิบัติตามกฎเหล็กของการกินเจได้อย่างเคร่งครัด ทั้งไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินน้ำปลา หรือแม้กระทั่งผักที่มีกลิ่นแรงทั้งหลาย ก็พร้อมจะกลับมาบริโภคข้าวขาหมูหรือสเต็กเนื้อสันกันอย่างอิ่มหมีพีมันต่อไป-เมื่อเทศกาลนี้สิ้นสุด


 


ธงเหลือง (เจ) ที่ชูกันให้ว่อนในช่วงเดือนตุลาคมล้วนถูกรื้อถอนออกไปในเวลาหลังจากนั้นไม่กี่วัน และคนที่อยากจะกินอาหารเจต่อ ก็จะเริ่มหาอาหารประเภทปลอดเนื้อสัตว์มาบริโภคได้ยากเย็นยิ่ง อย่างดีที่สุดก็อาจจะต้องหันไปกินอาหารมังสวิรัติที่ยังขายอยู่ในเวลาปกติแทน (ซึ่งก็มีไม่เยอะอยู่ดีเมื่อเทียบกับปริมาณร้านที่ขายอาหารทั่วไป)


 


ข้อเท็จจริงที่เห็นๆ กันอยู่ บอกให้เรารู้โดยไม่ต้องถามผู้เชี่ยวชาญคนไหนๆ ว่า มนุษย์ต้องการอาหารที่เป็นเลือดเนื้อเช่นโปรตีนจากสัตว์ มากกว่าจะเป็นอาหารโปรตีนจากถั่ว


 


ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่อง "ถูกจริต" ของคนส่วนใหญ่ แต่เราก็เลือกจะ "ฝืน" ไม่กินอาหารเหล่านั้น เพื่อสร้างความรู้สึกดีให้กับตัวเองด้วยการบอกว่า "เราสามารถเอาชนะความอยากของตัวเองได้" (อย่างน้อยชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี) และผลพลอยได้จากการนี้ก็คือการยึดมั่นถือมั่นว่าเราลดการเบียดเบียนสัตว์อื่นได้เช่นกัน…


 


ภาวะแห่งการทำบุญหรือทำความดีด้วยพิธีการแบบนี้ บางทีอาจจะไม่ต่างจากการยืนตรงเคารพธงชาติทุกแปดโมงเช้าหรือหกโมงเย็น เพื่อแสดงออกถึงความ "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ได้อย่างง่ายดายตามเนื้อหาในเพลงชาติที่เราร้องกันมาตั้งแต่เล็กยันโต


 


ไม่รู้เหมือนกันว่าแนวคิดแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้เราคุ้นเคยกับความดีแบบสำเร็จรูป จนหลงลืมที่จะมองไปว่าเราต้องการความดีเพียงผิวเผินเท่านี้เองหรือ?


 


ถ้าคนบางคนสามารถเป็นคนดีมีศีลธรรมได้ในช่วงเวลาหนึ่ง-ก็จะถือว่าเขาผ่านเกณฑ์แห่งความดีงามและความถูกต้องในทุกๆ เวลาต่อจากนี้ไป อย่างนั้นหรือเปล่า?


 


คำตอบที่ใครๆ ก็คิดได้ คือ "ไม่ใช่"


 


แต่ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่ยังคงหลงวนเวียนอยู่ในกับดักที่ชื่อว่า "ความดี" ด้วยความเต็มใจ


 


เราก็เลยอยู่ในสังคมที่ไม่เคยตั้งคำถามหรือสงสัยใน "ความดี" ที่แสนจะฝืนจริตของเรา โดยไม่ทันได้นึกว่าการเป็นคนดีที่ต้องฝืนจริตที่แท้จริงของตนนั้น จะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องยาวนานไปได้สักแค่ไหนกัน


 


ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องการโจมตีคนไม่กินเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลว่าเป็นพวกฉาบฉวย แต่แค่อยากจะบอกว่าหากเรายึดมั่นในการทำความดีจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความเชื่อ กรอบประเพณี หรือแม้แต่ตัวบุคคล เพียงอย่างเดียวก็ได้


 


เพราะความดีที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด น่าจะหมายถึงความดีที่เราสามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบ และรู้เท่าทันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากใครหน้าไหนทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net