Skip to main content
sharethis


 


 


ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี ยึดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีและโครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชทั่วอีสาน ชูอุดรฯ นำร่องเกษตรอินทรีย์ต้านปุ๋ยเคมีที่ใช้โปแตชเป็นวัตถุดิบ


 


กรุงเทพฯ / เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.วันนี้ (27/10/49 ) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุเหมืองแร่โปแตชอีสานสวนทางเศรษฐกิจพอเพียง เสนอให้สนับสนุนแนวทางการปฏิวัติชุมชนปลอดปุ๋ยเคมีเพื่อต้านโครงการเหมืองแร่โปแตช เพราะโปแตชคือวัตถุดิบผลิตปุ๋ยเคมี


 


นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า วันนี้ตนและตัวแทนกลุ่มอีก 10 คน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2549 สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยที่ผ่านมากลุ่มได้เข้าร่วมสมัชชาสุขภาพภาคอีสานตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา และประเด็นเรื่องการพัฒนาเหมืองแร่ในภาคอีสานก็เป็นเรื่องที่คนอีสานวิตกว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนอีสานอย่างรุนแรง


 


นางมณี กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา คนทั่วไปมักจะได้ยินแต่ประเด็นความขัดแย้งในโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งปัจจุบันบริษัทสินแร่เมืองไทย จำกัด บริษัทลูกของบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ที่ได้ยื่นขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินแหล่งอุดรใต้ 22,437 ไร่ ในพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือกว่า 52,000 ไร่ ในเขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่ แต่จริง ๆ แล้วขณะนี้ได้มีการยื่นขอสำรวจ และขอประทานบัตร ในจังหวัด ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม และสกลนคร รวมเกือบ 7 แสนไร่ภายใต้แนวยุทธศาสตร์การพัฒนาแร่เกลือหินและโปแตชในอีสาน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีไม่เห็นด้วยที่จะเร่งสร้างเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานเพื่อนำแร่ดังกล่าวมาผลิตปุ๋ยเคมีใช้ภายในประเทศและส่งออก รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในภาคอีสานเพื่อเร่งความเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะจะก่อผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนบนแผ่นดินอีสาน


 


ด้านแกนนำอีกคนหนึ่ง คือ นางจันทรา สัตยาวัน ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า วันนี้ตนรู้สึกมีความสุขที่ได้มาเข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพ และได้ยินเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข" ตนเชื่อว่าสิ่งที่กลุ่มได้เรียกร้องมาโดยตลอดนั้นจะเป็นไปได้ และเป็นทางที่ถูกต้อง วันนี้จึงได้มายื่นหนังสือต่อ รมต.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอเสนอให้ยึดมั่นแนวทางการพัฒนาชุมชนอีสานด้วยแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตัวอย่างเช่น ปีนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้รณรงค์งดการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่ ทำนารวมระดุมทุนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนของเราให้ได้ร่วมกับพี่น้องเราในพื้นที่กำลังมีความพยายามพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตชอยู่เราเชื่อมั่นว่า "ไม่มีเหมืองแร่โปแตชเราก็มีชีวิตที่สงบสุขและพอเพียงได้" ในทางกลับกันแม้ทำเหมืองใหญ่โตก็เพื่อความร่ำรวยของนายทุนแต่จะทิ้งความทุกข์ไว้กับชาวบ้าน นั่นย่อมไม่ใช่แนวทางที่พอเพียง


 


แกนนำทั้งสองเปิดเผยด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.49) ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รมว.อุตสาหกรรม และ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชต่อ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม และเข้ายื่นหนังสือเรื่องผลักดันให้นำผลการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือ Health Impact Assesment (HIA) ที่จัดทำขึ้นโดยประชาสังคมอุดรธานี และนักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ต่อ รมต. สาธารณสุข ในโอกาสที่รัฐมนตรีสองกระทรวงจะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2549


 


ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่อยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.... ในฐานะเครื่องมือเพื่อป้องกันผลกระทบจากโครงการพัฒนาในลักษณะต่างๆ ต่อสุขภาพของประชาชน โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำลังรอให้รัฐบาลเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติเพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายแม่บทด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net