Skip to main content
sharethis

 


 


 


 


 


 


 


เวลา 17.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 24 โดยมีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)เป็นผู้อัญเชิญ และอ่านประกาศพระบรมราชโองการ โดย พล.อ.สุรยุทธ์ และภริยา ได้เตรียมรอรับพระบรมราชโองการที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล


 


หลังประกาศพระบรมราชโองการฯ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ไม่เคยมีความคิดที่จะรับตำแหน่ง แต่ด้วยความจำเป็นจึงต้องรับเพื่อเข้ามาบริหารบ้านเมืองให้ก้าวพ้นวิกฤติ โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโดยใช้ความสามัคคีปรองดองเป็นหลัก



นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า จะใช้เวลา 1 สัปดาห์พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะรัฐมนตรีรัฐบาลชั่วคราว จากนั้นจะชี้แจงนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจจะน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีตัวชี้วัดคือความสุขของประชาชนมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ


 


ส่วนกรณีที่มีกระแสว่า มรว.ปรีดียาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจนั้น ต้องขอพิจารณาก่อน



ขณะที่การปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลนั้น ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. นั้น พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือมากที่สุดโดยใช้หลักกฎหมายและความยุติธรรมกับทุกฝ่าย


 


ในส่วนประวัติของ พล.อ.สุรยุทธ์ นั้น เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2486 เข้าเรียนที่ ร.ร.เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ร.ร.เซนต์คาเบรียล ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนจะเข้า ร.ร.เตรียมทหาร และ ร.ร.นายร้อย จปร.รุ่น 12 เริ่มรับราชการทหารในยศ "ร้อยตรี" ตั้งแต่ปี 2508 ในตำแหน่ง ผบ.หมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 ต่อมาย้ายไปเป็น ผบ.หมวดอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31, นายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึกกองร้อยรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 2, ครู ร.ร.สงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ, อาจารย์สอนวิชายุทธวิธี ร.ร.เสธ.ทบ., ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23, หัวหน้ากองกรมยุทธการทหารบก รอง เสธ.พล.ร.1 รอ. และผู้บังคับการกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 1



ติดยศพลตรีตำแหน่ง ประจำสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ในปี 2529 ก่อนจะไปเป็น ผบ.พลรบพิเศษที่ 1 ในปี 2532 ต่อจากนั้นปี 2533 เป็นรอง ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ปี 2535 เป็น ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ปี 2537 เป็น แม่ทัพภาคที่ 2 ปี 2541 เป็น ผู้บัญชาการทหารบก และถูกย้ายไปเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี 2545


 


พล.อ.สุรยุทธ์ สมรสกับ พ.อ.คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ มีบุตรชาย 3 คน คือ ร.ต.นนท์ จุลานนท์ นายสันต์ จุลานนท์ และ นายจุลล์ จุลานนท์


 


 


..............................................


อ่านประกอบ


'คมชัดลึก' รายงาน : ลูกทหาร สู่ลูกคอมมิวนิสต์ สู่นายกรัฐมนตรีคนที่ 24


 



ย้อนรอยชีวิต พล.อ.สุรยุทธ์ ยิ่งกว่านิยาย ล้วนเกี่ยวข้อง "การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จาก "ลูกทหาร" สู่ "ลูกคอมมิวนิสต์" ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 24


 



ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อทุกแขนงต่างรายงานตรงกันว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี หลังจากที่ประชุมแกนนำทั้ง 6 คนของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีมติ "เป็นเอกฉันท์"


 



สอดคล้องกับสเปคนายกฯ ของ พล.อ.สนธิ ที่ระบุว่า ต้องซื่อสัตย์-สามารถสร้างความสมานฉันท์ และ "สังคมยอมรับได้" ทุกประการ !!!


 



แม้จะ "ไม่เหนือความคาดหมาย" แต่สำหรับตัว พล.อ.สุรยุทธ์ คงไม่คาดหวังว่าจะมีวันนี้ได้ เพราะครั้งที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็ยึดมั่นในจุดยืน "ทหารอาชีพ" มาตลอด


 



พอเกษียณอายุราชการก็มีกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ รับภาระ "นายกฯ พระราชทาน" เป็นระยะ ตามจังหวะที่เกิด "สถานการณ์ไม่ปกติ" แต่เจ้าตัวก็บอกปัดมาตลอด และเคยออกตัวอย่างหนักแน่นว่า "การเมืองไม่เหมาะกับผม"


 



จะว่าไป เส้นทางอำนาจทางการเมืองอันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง-ชุลมุนวุ่นวายก็ดูจะไม่เหมาะกับ พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งเป็นคนสมถะและรักสันโดษจริงๆ เพราะหลังเกษียณก็ "ปลีกวิเวก" ด้วยการไปบวชถึง 1 พรรษา ท่ามกลางความไม่แน่ใจว่า จะถึงขั้น "ไม่สึก" ไปเลยหรือไม่


 



แต่สุดท้าย พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ต้องหวนกลับสู่ "ทางโลก" อีกครั้ง เพราะต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่งในฐานะ "องคมนตรี"


 



ดังนั้น ต้องกล่าวคำว่า "น่าหนักใจแทน" ไม่น้อยกับภารกิจ "ปฏิรูปประเทศ" ครั้งนี้ เพราะหนทางข้างหน้าย่อมมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มิหนำซ้ำจะมีแต่ "หนามกุหลาบ" อยู่เต็มไปหมด !!!


 



ปูมชีวิตของ พล.อ.สุรยุทธ์ นับตั้งแต่ถือกำเนิดจนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง "ผู้นำประเทศ" ก็นับว่า ชีวิตของชายชาติทหารผู้นี้ "ยิ่งกว่านิยาย" เสียอีก !?!?


 



กล่าวถึงรกรากของตระกูล "จุลานนท์" นั้นอยู่ที่ จ.เพชรบุรี โดยบิดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ คือ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ซึ่งเป็นบุตรของ พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) กับ คุณหญิงเก๋ง จุลานนท์


 



สายเลือดของ พล.อ.สุรยุทธ์ นั้นถือว่าเกี่ยวข้องกับการ "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" มาตั้งแต่ต้น โดย พ.ท.พโยม เป็น "บุตรเขย" ของ พระยาศรีสิทธิสงคราม อดีตกบฏบวรเดช (ปี 2476) โดย พ.ท.พโยม ได้แต่งงานกับบุตรสาวของพระยาศรีสิทธิสงคราม คือ น.ส.อัมโภช ท่าราบ


 



ฉะนั้น พระยาศรีสิทธิสงคราม หรืออดีตสมาชิกกลุ่มกบฏบวรเดช จึงมีศักดิ์ เป็น "คุณตา" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ !!!


 



สำหรับเส้นทางชีวิตของ พ.ท.พโยม นั้น ถือว่าเป็นนายทหาร "หัวก้าวหน้า" คนหนึ่ง โดยมีบทบาทสำคัญระดับ "นายทหารเสนาธิการ" และมีความใกล้ชิดกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม


 



ภายหลัง พ.ท.พโยม จึงได้ร่วมกับ จอมพล ป. ทำการ "รัฐประหาร" เพื่อล้มล้างรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 !!!


 



ทว่า ด้วยแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง ภายหลังจึงเกิดขัดแย้งกับ "สองผู้ยิ่งใหญ่" ในยุคนั้น คือ จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หรือ "อัศวินเผ่า" จึงได้เข้าร่วมคณะ "กบฏเสนาธิการ" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 แต่ไม่สำเร็จจนต้องลี้ภัยไปยังประเทศจีนและเริ่มซึมซับแนวคิด "ลัทธิคอมมิวนิสต์"


 



ช่วงนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ เพิ่งมีอายุแค่ 5-6 ขวบ แต่ก็ต้อง "พลัดพรากจากพ่อ" ซึ่งลี้ภัยไปอยู่แดนไกล



ภายหลัง พ.ท.พโยมได้กลับเมืองไทยในช่วงเวลาสั้นๆ ในปี 2500 หลังจากการเมืองเปลี่ยนขั้ว และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งจนได้เป็น ส.ส.เพชรบุรี


 



แต่ไม่นานนักรัฐบาลของจอมพล ป. ก็ถูกยึดอำนาจโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2501 พ.ท.พโยม และคณะ จึงต้องหลบลง "ใต้ดิน" อีกครั้ง


 



คราวนี้ พ.ท.พโยม ต้องหลบอยู่นานหลายปี และต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้รบในนาม "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" (พคท.) มีนามเรียกขาน คือ "สหายคำตัน"


 



ส่วนเส้นทางชีวิตของลูกนั้น หลังจากเรียนจบนายร้อย จปร.รุ่น 12 แล้ว ก็เริ่มเข้ารับราชการในยศ "ร้อยตรี" ตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ พคท.


 



โดยนับตั้งแต่ปี 2510-2511 เป็นต้นมา พ.ท.พโยม ก็มีบทบาทสูงใน พคท. จนกระทั่งปี 2518 จึงได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ คือ "เสนาธิการ" ของ กองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) และใช้ชีวิตอยู่ในเขตรอยต่อชายแดนไทย-ลาว ในพื้นที่ จ.น่าน


 



สถานะของทั้งคู่ที่ถือว่าเป็น "ศัตรู" กันโดยตรง จึงทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ลำบากใจอย่างมาก เพราะทางหนึ่งก็กลัวว่าจะต้อง "เผชิญหน้า" กับพ่อของตัวเองในสนามรบ และอาจ "พลั้งมือ" ยิงถูกพ่อของตัวเองตายโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกทางหนึ่งก็ถูกจับจ้องด้วยสายตาหวาดระแวงจากคนในกองทัพ


 



นั่นคือช่วงชีวิตที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ขมขื่นกับคำว่า "ลูกคอมมิวนิสต์" เป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงที่สุดก็ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ จนได้รับ "ความไว้วางใจ" จากผู้บังคับบัญชาในภายหลัง


 



โดยเฉพาะช่วงชีวิตสำคัญ คือ การได้เข้ามาทำงานใกล้ชิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ช่วงปี 2521-2531 จึงถือว่าเป็นหนึ่งใน "ลูกป๋า" อีกรายหนึ่ง และมีส่วนสำคัญกับการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ตามคำสั่งที่ 66/23 และได้รับมอบหมายให้เข้ามาแก้ไขปัญหา "ทุจริตข้าว" ในรัฐบาล พล.อ.เปรม อีกด้วย


 



ด้วยวิถีชีวิตที่เป็น "เส้นขนาน" กับพ่อ จึงทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เจอกับพ่อน้อยครั้งมาก โดยในห้วงปี 2521 สุขภาพของสหายคำตัน ก็เริ่มทรุดหนัก จึงถูกส่งไปรักษาที่เมืองจีน และมาทรุดหนักอีกครั้งในปี 2523 ปีนี้เองที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ "เจอพ่อ" หลังจากไม่ได้เจอกันมาเกือบ 20 ปี


 



การพบกันครั้งนั้นเป็นเพราะได้รับการประสานจากคณะของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งจะเดินทางไปจีนพอดี และ "ชั้นเชิงทางการทูต" ของ พล.อ.ชาติชาย ก็ทำให้พ่อลูกได้พบหน้ากันอีกครั้ง


 



ทว่า สุขภาพของ พ.ท.พโยม หรือสหายคำตัน ก็ย่ำแย่มากแล้ว นั่นจึงเป็นการ "พบกันครั้งสุดท้าย" ของพ่อลูกคู่นี้


 



"คุณพ่อบอกว่า...เราคงจะได้พบกันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว..."


 



พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึง "คำพูดสุดท้ายของพ่อ" ไว้ได้อย่างกินใจไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ "เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จากลูกคอมมิวนิสต์ สู่ ผบ.ทบ." โดย วาสนา นาน่วม


 



...น่าเสียดายที่ พ.ท.พโยม ไม่ได้เห็นการก้าวหน้าในชีวิตราชการของบุตรชายที่ก้าวไกลไปถึงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปี 2545 และตัว พล.อ.สุรยุทธ์ ก็คงเสียดาย และไม่คิดไม่ฝันเช่นเดียวกันว่า ตัวเองจะได้เป็น ผบ.ทบ. เพราะตำแหน่งก่อนหน้านั้นเป็นเพียง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำ ทบ.



แต่แล้วชะตาชีวิตของ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อถูก "เด้ง" ไปเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในปี 2545 และเกษียณอายุราชการที่นั่นในปี 2546


 



ว่ากันว่า "หลังฉาก" การย้ายสายฟ้าแลบครั้งนั้น เกิดจากความ หวาดระแวง ของ "อดีตผู้นำ" หลังมีการเคลื่อนกองกำลัง "สุรสีห์" ไปฝึกตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งมี "เพื่อนซี้" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ คือ พล.ท.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ (ยศ-ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นแม่ทัพภาคที่ 3



ปลายสายด้านหนึ่งกรอกเสียงละล่ำละลักมากลางดึกด้วยประโยคสุดคลาสสิก "พี่จะปฏิวัติผมเหรอ..." แม้อีกฝ่ายจะปฏิเสธอย่างไร...สุดท้ายผู้มีอำนาจก็ต้องเลือก "ตัดไฟแต่ต้นลม" !!


 



แม้กองกำลังสุรสีห์จะเป็นเพียง "เงาแห่งความหวาดระแวง" แต่แผน "ปฐพี 149" ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งถือเป็น "น้องรัก" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ ทั้งยังเป็น "ศิษย์เก่ารบพิเศษ" เฉกเช่นกันก็กลับมาหลอกหลอน และ "น็อค" อดีตผู้นำชนิด "ช็อกข้ามทวีป" ในอีก 4 ปีต่อมา !!!


 



แม้ พล.อ.สุรยุทธ์ จะมีจุดยืน "ไม่ฝักใฝ่การเมือง" อย่างไร แต่สุดท้าย "การเมือง" ก็กลับมาเคาะประตูหน้าบ้านเรียกให้กลับมารับใช้บ้านเมืองเสียเอง...แม้จะเต็มใจรับหรือไม่ก็ตาม


 



แต่ "หน้าที่...ก็ต้องเป็นหน้าที่" อันเป็นคำประกาศิตของทหารทุกคน


 



...ไม่เว้นแม้แต่ "ทหารเก่า"


 



เพราะทหารเก่า...ไม่มีวันตาย (THE OLD SOLDIER NEVER DIE) !!!



 


………………………….


ที่มา : http://www.komchadluek.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net