เสวนา : มีไหมหนอ… "สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎอัยการศึก"

"สิทธิเสรีภาพใต้กฎอัยการศึก" มีหรือไม่หรือเป็นแบบใด รศ.จรัญ โฆษณานันท์,ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี และศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ ร่วมถอดรื้อโครงสร้างกฎพิเศษที่ใช้กับบ้านเมืองในช่วงเวลานี้

 

ภายใต้บรรยากาศกฎอัยการศึกทั่ว ประเทศหลังวันที่ 19 กันยายน เราอยู่ในสถานการณ์แบบใด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา "สิทธิ เสรีภาพใต้กฎอัยการศึก" ณ ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
 
ทบทวนกันอีกครั้ง เรากำลังเผชิญกับอะไรกันแน่ ???
 
000
รศ.จรัญ โฆษณานันท์
นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
ความยิ่งใหญ่ มหาศาลของกฎอัยการศึกคืออำนาจที่คุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ กฎอัยการศึกที่ประกาศเมื่อวันที่ 19 กันยายน ไม่ใช่กฎอัยการศึกที่ประกาศตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2457 ( รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ http://www.kodmhai.com/m4/m4-1/H118/H-118.html) ที่ต้องเป็นพระบรมราชโองการ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาทางกฎหมายที่ต้องตีความ
 
ในสังคมไทยมี ประกาศกฎอัยการศึกอีกลักษณะหนึ่งคือประกาศโดยคณะรัฐประหารหรือลักษณะที่เกิด ขึ้นในปัจจุบัน จึงมีประเด็นที่อาจจะต้องมาถกเถียงกันต่อว่าละเมิดพระราชอำนาจหรือไม่ หรือกฎอัยการศึกนี้เป็นกฎหมายหรือไม่ เนติบริกรจะบอกว่าเป็น ถือว่าคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์เป็นคำตอบทฤษฎีหนึ่งว่ามีความเป็นกฎหมายที่ ชอบธรรมในตัวของมัน อีกประการหนึ่งอาจโยงไปถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2549 ดัง นั้นการประกาศกฎอัยการศึกวันที่ 19 กันยายนจึงมีฐาน ทางทฤษฎีกฎหมายและรัฐธรรมนูญปัจจุบันรับรองในมาตรา 36 ที่ว่าบรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อน หรือหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  
 
แต่ส่วนตัวไม่ เห็นด้วย เพราะการไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยไม่ควรยอมรับว่าเป็นกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นอำนาจบวกกับศีลธรรม มีความเป็นเหตุผลที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ตรวจสอบ แล้วจึงออกมาเป็นกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายที่ไม่อยู่ในกรอบนี้จึงไม่ชอบธรรม
 
อาจารย์เขียน ธีระวิทย์ (นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2528 สาขารัฐศาสตร์และรัฐศาสนศาสตร์)ได้ออกมาพูดเรื่องสิทธิในการ ทำรัฐประหาร โดยอ้างเหตุว่ารัฐประหารที่ผ่านมามีความชอบธรรมในตัวมันเอง แต่ในทางสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยเป็นสิทธิหนึ่ง การที่นักวิชาการกลับพยายามบอกว่าชอบธรรม ผลพวงที่ตามมาจึงชอบธรรมไปด้วย โดยบอกว่าเป็นสิทธิธรรมชาติในการโค่นล้มเพราะรัฐบาลที่ผ่านมาละเมิดสัญญา ประชาคม
 
สิทธิธรรมชาติ หรือสิทธิมนุษยชนในการปฏิวัติมันมีอยู่มานานแล้วทั้งตะวันตกและตะวันออก เช่น ในมหาภารตะขออินเดีย ปรัชญาซุนจื่อของจีน หรือที่จักรพรรดิ์ถังไท่จงของจีนพูดชัดๆว่าพระราชาคือเรือประชาชนคือน้ำ น้ำพยุงเรือได้ก็ล่มเรือได้เป็นการยอมรับของจักรพรรดิว่าหากจักรพรรดิทำผิด และถูกโค่นล้มได้
 
แต่ประเด็นสำคัญ ในเรื่องสิทธิธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณมันมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนในปฏิญญาสากลจะพูดถึงสิทธิในการโค่นทรราชโดยขีดเส้นใต้ไว้ว่าเป็นวิถีทาง สุดท้าย ในทางทฤษฎีก็มีที่บอกว่าสิทธิในการกบฏเป็นสิทธิมนุษยชน แต่จะเป็นไพ่ใบสุดท้ายและมีขั้นตอน คือต้องเป็นเผด็จการมากๆ มีผลกระทบร้ายแรงจนถึงไม่อาจจะทนทานได้ต่อไป ทว่า ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในวันที่ 19 กันยายน ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้าย
 
โดยสรุปคิดว่ากฎ อัยการศึกที่ผ่านมามีความไม่ชอบธรรมคือไม่เป็นตามไปพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2457และ ไม่มีฐานศีลธรรมทางเหตุผลรองรับ ทางทฤษฎีเป็นกฎอัยการศึกที่เป็นโมฆะ
 
ถ้าจะอ้างความชอบ ธรรมของกฎอัยการศึกด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา36 คิดว่า มีปัญหามากเพราะมาตรานี้มันใช้รวมถึงประกาศคำสั่งที่เกิดทั้งก่อนและหลังใช้ อำนาจรัฐธรรมนูญแล้ว พูดถึงอดีตและอนาคต เป็นกฎหมายที่พยายามบอกว่าห้ามไม่ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจทั้งหลาย ถ้าเอาหลักนิติธรรมมาจับก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ตรวจไม่ได้
 
เบื้องหลังการทำ รัฐประหารมีคำอธิบายหลายตัว คาร์บอม ตำแหน่งทหาร คิงเมคเกอร์ อมาตยาธิไตย เห็นด้วยที่อาจารย์เบน แอนเดอสัน เสนอในหนังสือฟ้าเดียวกันที่ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เป็นสมัย ใหม่ แต่ลักษณะการเปลี่ยนผ่านมันไม่บริสุทธิ์จึงเกิดช่องว่างในการวิจารณ์
 
อีกประเด็นที่น่า สนใจ คือเมื่อกฎอัยการศึกเกิดขึ้น อำนาจตุลาการหายไปไหน ในหลายสังคมมีการบล็อกอำนาจปฏิวัติโดยศาลหรืออำนาจตุลาการ บทบาทของศาลในประเทศตะวันตกบางแห่งจะมีการตัดสินให้เหตุผลรัฐประการไม่ชอบ ธรรม หรือตัดสินว่ากฎอัยการศึกไม่ชอบธรรมและมีความผิดได้ เพียงแต่ในสังคมไทยจะกล้าพอที่จะตัดสินหรือไม่ ตอนนี้สิทธิเรายังมีอยู่เพราะคำสั่งที่ออกมาล้วนไม่ชอบ อีกทั้งสิทธิที่แท้จริงในตัวมนุษย์ยังมีอยู่ ฟูโก กล่าวว่า เสรีภาพไม่สามารถถูกค้ำประกันได้โดยกฎหมาย หลักประกันของเสรีภาพคือเสรีภาพ
 
000
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล
 
สิทธิเสรีภาพภาย ใต้กฎอัยการศึก ถ้าใช้พื้นฐานที่ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเรือนมาจับจะเห็นว่าขัดกติกา อีกทั้งขัดกับรัฐธรรมธรรมนูญฉบับชั่วคราวใน มาตรา 3 ที่ว่าภาย ใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครอง ประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้  จึงมีความขัดแย้งว่าระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎอัยการศึกอัน ไหนเป็นกฎหมายสูงสุดกันแน่
 
กฎอัยการศึกมาจาก ฐานแนวคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ประเด็นปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะหาความมั่นคงของสังคมและมนุษย์ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อสิทธิของมนุษย์ได้รับการคุ้มครอง แต่ในกฎอัยการศึกสิทธิบางประการจะถูกจำกัดไป ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่อาจแบ่งแยกได้กับสิทธิทางการเมือง พลเรือน เศรษฐกิจ ถ้าเกิดอะไรกับสิทธิข้อไหนจะทำให้เกิดไม่มั่นคงในชีวิต
 
เวลาพูดถึงความ มั่นคงแห่งชาติ ประเทศในเอเชียจะใกล้เคียงกันบนพื้นฐานที่บอกว่าถูกคุกคามโดยศัตรูภายในกับ ถูกคุกคามโดยศัตรูภายนอก
 
ศัตรูภายในประเทศ ไทย เมื่อ 50 กว่าปีก่อนคงพูดได้ว่าคือคอมมิวนิสต์ แต่ตอนนี้เราตอบคำถามไม่ได้เพราะไม่มีแล้ว ส่วนศัตรูภายนอกคือใครก็ไม่มีอีก แล้วมาพูดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างไร ในเอเชียจึงมักพูดไปทางเดียวกันโดยให้ศัตรูคือศัตรูทางการเมืองที่มีแนวคิด ตรงข้าม เช่น ฝ่ายค้าน บางประเทศมีปัญหาเชื้อชาติแต่โดยทั่วไปในประเทศไทยไม่มี ดังนั้น ผู้นำแบบเผด็จการณ์ก็อาจระบุได้ว่าพวกนักวิชาการที่มาพูดในวันนี้อาจเป็น ศัตรูของความมั่นคงแห่งชาติก็ได้ คือคนไม่เห็นด้วยเป็นอันตรายกับความมั่นคงของชาติที่หมายถึงชาติของคนกลุ่ม ใดกลุ่มหนึ่ง
 
อีกประการหนึ่ง ที่น่ากลัวคือเวลาพูดถึงความมั่นคงแห่งชาติมักจะขึ้นกับผู้มีอำนาจว่าให้คำ นิยามอย่างไร หรือเวลาพูดถึงความมั่นคงแห่งชาติ อำนาจทหารจะมีอำนาจมากที่สุดในประเทศนี้จะสร้างความหวาดกลัว หวาดระแวง จึงกำลังผลักดันให้คนในสังคมรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติภายใต้ เงื่อนไขความมั่นคงแห่งชาติ
 
มีอาจารย์ท่าน หนึ่งเคยตั้งคำถามว่าไทยมีประกาศคณะปฏิวัติหลายร้อยฉบับมาก ปัจจุบันหลายฉบับก็ยังใช้อยู่ทั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ ต่อไปแม้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศคณะปฏิวัติทั้งหลายก็ยังใช้อยู่
 
ความขัดแย้งอีก อย่างคือสิ่งที่ประกาศว่าต้องการให้สังคมไทยมีประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพ แต่มีการกระทำที่ตรงข้ามทั้งสิ้น พื้นฐานประชาธิปไตยอยู่ที่การให้อำนาจไม่ใช่การยึดอำนาจ ประเด็นสุดท้าย ความน่าจะเป็นคืออะไร คือยกเลิกกฎอัยการศึกโดยทันที หรือถ้ายังยกเลิกตอนนี้ไม่ได้ต้องประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าไทยจะยกเลิกกฎอัยการ ศึกเมื่อไหร่ สามต้องกระจายอำนาจ
 
สิทธิเสรีภาพมัน ถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา3 แต่มันถูกทำให้ตายด้วยมาตรา 36 ที่ให้ประกาศคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)มีผลทั้งสิ้นและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ตาม
 
000
นายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์
East - WestCenter , University of Hawaii
 
อาจารย์เขียน ธีระวิทย์ อ้างนักปรัชญาการเมืองแนวสัญญาประชาคม แต่นักคิดกลุ่มนี้เขาพูดว่าประชาชนเท่านั้นมีสิทธิในการปฏิวัติไม่ใช่ทหาร ความเป็นพลเรือนหมายถึงไม่มีอาวุธ ทฤษฎีการเมืองเรื่องทหารปฏิวัติได้ไม่มี
 
ส่วนในเรื่องหลัก นิติรัฐ นักนิติศาสตร์ไทยพูดไว้อย่างแคบๆโดยบอกเพียงว่าหมายถึงรัฐที่ปกครองโดย กฎหมาย ถ้าอธิบายแบบนี้ทุกสังคมก็จึงเป็นนิติรัฐ การมีกฎหมายเป็นแค่ส่วนเดียวของหลักการนิติรัฐถ้าใช้เหตุผลแค่นี้ในสมัยจอม พลสฤษดิ์ ก็ถือว่าเป็นนิติรัฐ
 
องค์ประกอบนิติ รัฐที่สำคัญคือ ไม่ได้เชื่อว่ารัฐปกครองโดยกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ถ้านิยามแบบนี้ปัญหากฎอัยการศึกจะเลิกเป็นปัญหา เพราะอัยการให้อำนาจทหารออกคำสั่งได้ ประเด็นนี้สำคัญกว่าการมองว่านิติรัฐคือการปกครองโดยมีกฎหมาย
 
หลักนิติรัฐจึง บอกว่า องค์อธิปัตย์ต้องอยู่ใต้กฎหมายได้ มิฉะนั้นเผด็จการก็ใช้อำนาจตามพอใจ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและไม่มีสิทธิฉีกรัฐธรรมนูญ หรือการที่ในกฎอัยการศึก คนมีอำนาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจเท่ากับละเมิดหลัก การพื้นฐานของสังคมนิติรัฐเพราะละเมิดกฎหมายเสียเอง
 
หลักนิติรัฐอีก ข้อที่สำคัญคือไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่หรือองค์อธิปัตย์เปลี่ยนกฎหมายตาม อำเภอใจได้ ดังนั้นต่อให้นักกฎหมายบอกว่า การมีอำนาจรัฐสามารถออกกฎหมายได้ ถ้าเป็นสังคมนิติรัฐจะบอกว่าไม่สามารถทำได้ถ้าละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิ มนุษยชน ตรงนี้ต้องเป็นตัวกำกับเสมอ แต่นักกฎหมายไทยยังไม่พูดเรื่องนี้เพียงพอ
 
นอกจากนี้การ ปกครองต้องปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความสัมพันธ์ มีผลประโยชน์ การใช้กฎหมายจึงอาจบิดเบือนได้ สังคมนิติรัฐจะไม่ให้คนหรือกลุ่มคนออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ แม้แต่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินก็ต้องถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบ ธรรม
 
กฎอัยการศึกเป็น เรื่องที่น่าสนใจมากๆทั้งทางการเมือง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เวลาอธิบายว่าทำให้ทหารมีอำนาจมากและใช้ได้ตามอำเภอใจ ในแง่กฎหมายไม่ใช่ เพราะการใช้กฎอัยการศึกมีรายละเอียด ถ้าใช้อย่างเคร่งครัดจะไม่ให้ทหารใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ คือให้ใช้เมื่อจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยเวลามีภัยสงครามหรือมีจลาจลที่ ใหญ่โตจนทหารต้องปรามปราม แต่วันที่ 19 กันยายน มีสงครามหรือจลาจลขนาดนั้นอยู่ที่ไหนในประเทศไทยหรือไม่
 
อีกข้อที่น่าสนใจ คือกฎอัยการศึกทำให้ทหารมองคนในชาติเป็นศัตรูได้มาก เพราะการใช้กฎอัยการศึกคือต่อสู้กับราชศัตรู ดังนั้นทหารต้องเข้าใจว่าคนในชาติไม่ใช่ศัตรูแม้จะไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ทางการเมือง ก็ตาม มันสะท้อนออกมาในการที่ทหารบอกว่ามีคลื่นใต้น้ำ ทหารต้องใจกว้างและยอมรับว่าประชาธิปไตยอยู่ในสังคมไทยมานานแล้วอย่างน้อยก็ ตั้งแต่หลัง 14 ตุลา อย่ามองว่าการวิจารณ์นักการเมืองหรือทหารเป็นศัตรูก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
 
นอกจากนี้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกยังสามารถประกาศได้โดย ผู้บังคับบัญชาทหารคุมกำลัง1 กองพัน หากมองแล้วผู้มีอำนาจตรงนี้เทียบเท่าหรือน้อยกว่าอธิบดีเสียอีก ต้องอภิปรายกันต่อว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือเรื่องขอบเขตอำนาจฝ่ายทหารให้มีเหนือฝ่ายพลเรือนได้ ถ้าตีความกันอย่างเคร่งรัดจริงๆพลทหารอาจมีอำนาจเหนือผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องระบุไม่ให้คลุมเครือ
 
หรือถ้ามีคดีอาญา เกิดขึ้นกับทหารภายใต้กฎอัยการศึกสามารถพิจารณาในศาลทหารได้ การมีททนายกับอุทธรณ์ฎีกาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจะถูกล้มไปด้วย ซึ่งกระทบกับกระบวนการยุติธรรมของพลเรือน หากมองในทางการเมืองเท่ากับให้ผู้มีอำนาจมองปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องทาง การทหาร ดังนั้นการพบปะของกลุ่มต่างๆถูกมองเป็นการเคลื่อนไหวล้มล้างอำนาจทั้งสิ้น ในที่สุดกฎอัยการศึกทำให้ประเทศถูกมองด้วยสายตาทางการทหาร จนอำนาจการทหารเป็นวาระหลักของชาติไป
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท