Skip to main content
sharethis



วันที่ 5 พ.ย. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ได้จัดประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 เรื่อง "การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ" โดยเมื่อเวลาประมาณ 9.00น. กลุ่มย่อยที่ 1 มีการอภิปรายเรื่อง "พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้อำนาจนิติบัญญัติ"

 


รศ.ดร.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่าโครงสร้างพรรคการเมืองไทยหากยังไม่เปลี่ยนแปลงก็จะเกิดการรัฐประหารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยจะต้องคิด ทั้งนี้ พรรคการเมืองไทยเป็นที่รวมของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ แต่ไม่ได้มาจากประชาชนเลย นักการเมืองคือนักต่อสู้ที่จะเข้ามาสู่อำนาจ ข้าราชการคือผู้เชี่ยวชาญกฎระเบียบหรือกฎหมาย จึงเชี่ยวชาญในการหาช่องโหว่ของกฎหมาย นักการเมืองต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐก็จะร่วมมือกันเข้าสู่อำนาจ กับข้าราชการ ส่วนนักธุรกิจจะเข้าสู่อำนาจด้วยการจ่ายเงิน เช่น การเข้ามาเป็นรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์


 


รศ.ดร.ปรีชา ยังกล่าวด้วยว่าประเทศไทยพลาดโอกาสที่จะเป็นระบบการเมืองที่มี 2 พรรคตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ขณะนั้นมีทั้งแนวคิดประชาธิปไตยแบบกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ และแบบอนุรักษ์นิยมของกลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หากตอนนั้นมีความใจกว้างพอของคณะราษฎร์ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบ 2 พรรคการเมืองก็จะเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่เป็นแบบนั้นทำให้ระบบเจ้านายลูกน้องเข้ามาครอบงำ ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยจึงเริ่มต้นจากส่วนบนที่แข็งแรงโดยประชาชนเป็นเพียงดอกไม้ประดับ นโยบายต่างๆ เป็นการรวมศูนย์มาโดยตลอด


 


รศ.ดร.ปรีชาได้อธิบายเพิ่มเติมในแนวคิดระบบพรรคการเมือง 2 พรรคว่า ยังมีความเข้าใจผิดกันมากว่าหมายถึงการมีเพียง 2 พรรคการเมือง แต่ในความหมายคือพรรคเสียงข้างมากมาทำหน้าที่บริหาร โดยจะมีพรรคการเมืองอื่นๆ มากมายเต็มไปหมดมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งนี้ต้องมีผู้นำฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง เสียงส่วนน้อยก็ควรเข้ามาเป็นตัวแทนอยู่ในระบบ เช่นการมีพื้นที่หรือที่นั่งในสภาของกลุ่มต่อต้านรัฐแบบในอังกฤษ จนทำให้กลุ่มติดอาวุธอย่างกองกำลัง IRA หรือเนชั่นแนลลิสซึมในสก็อตแลนด์อ่อนกำลังลงมาก หลังเข้ามามีที่นั่งในสภา นี่คือความหมายของระบบ 2 พรรคการเมืองที่ฝ่ายตรวจสอบต้องน่ากลัวจึงจะมีความหมายต่อรัฐบาล


 


รศ.ปรีชา ยังกล่าวถึงตัวอย่างระบบพรรคการเมืองในประเทศอังกฤษว่า เน้นไปที่คุณภาพของสมาชิก ไม่ใช่ปริมาณเพื่อมาเพิ่มฐานเสียงแบบที่เป็นในประเทศไทย โดยเลือกจากคนที่มีอุดมการณ์จริงๆ เช่น พรรคเลเบอร์ในประเทศอังกฤษใช้เวลาเป็น 100 ปี กว่าจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลโดยค่อยๆสร้างปีกสังคมนิยม กับปีกอุตสาหกรรมขึ้นสร้างสหภาพแล้วค่อยๆส่งเงินสนับสนุนไปทางกลุ่มการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ต้องอดทน


 


นอกจากนี้ เมื่อมาพิจารณารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะเห็นว่ามีความต้องการให้ตั้งพรรคการเมืองได้โดยง่ายแต่ในความเป็นจริงเมื่อออกพระราชบัญญัติมากำกับแล้วกลับตั้งได้ยากมากแต่การยุบพรรคการเมืองได้ง่ายแทน ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถผูกขาดให้เป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวและสามารถเล่นงานคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้ง่ายดังปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การยุบรวมพรรคก็เป็นไปเพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบจนกลายเป็นรัฐบาลที่ตรวจสอบไม่ได้


 


ในส่วนของพัฒนาการทางการเมือง ประเทศไทยยังขาดแผนการพัฒนาชาติอย่างสมดุล ตั้งแต่ พ.ศ.2501 เป็นต้นมามีเพียงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแต่ไม่มีแผนพัฒนาการเมืองเลย ทั้งที่โดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ คือต้องกิน เป็นสัตว์สังคมคือต้องการความสะดวกสบายต่างๆ จึงมีแผนแห่งชาติมารองรับ แต่มุนุษย์ก็เป็นสัตว์การเมืองด้วยคือมีเรื่องอำนาจมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการไม่มีแผนพัฒนาทางการเมืองและมีเพียงแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมจึงยังทำให้คนเพียงหยิบมือเดียวได้ประโยชน์


 


ศ.โรเบิร์ต บีอัลบริทตัน แห่งมหาวิทยาลัยมิสซิซิปปี สหรัฐ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แม้จะมีข้อเสีย แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จ ดังนั้นจะอาบน้ำเด็กก็อย่าทิ้งน้ำล้างเด็กไปพร้อมกับเด็กด้วย จึงไม่ควรยกเลิกทั้งหมด อะไรที่ดีๆในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ยังควรเก็บไว้


 


อย่างไรก็ตาม ศ.โรเบิร์ต ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะอาจไม่ใช่การได้มาซึ่งตัวแทนของทุกภาคส่วนหรือเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่เสมอไป เพราะเมื่อพิจารณาคะแนนเสียงของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเปรียบเทียบกับคะแนนคนที่ไม่เลือกคนๆนั้นรวมๆกันแล้วอาจได้น้อยกว่า


 


ระบบการเมืองไทยที่เลือก ส.ส. 400 คนจากแต่ละเขตนั้นมีผลกระทบที่ทำให้มีพรรคการเมืองลดลงและพรรคการเมืองขนาดเล็กจะเสียเปรียบ ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ให้เหตุผลไว้ว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่เจอปัญหารัฐบาลผสมเหมือนในอดีต และแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ แต่ในความเป็นจริงคือคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เลือกบุคคลนี้แต่บุคคลนี้ได้รับเลือกเพราะเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองเป็นต้น


 


ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ควรทำให้มีการแข่งขันกันเสียก่อน อีกประการหนึ่งคือควรจัดให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้งแบบไม่ต้องสังกัดพรรค ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไปทั้งในยุโรปหรือสหรัฐ การไม่เป็นระบบพรรคการเมืองคือการที่เสียงไม่สามารถโอนถ่ายให้ใครได้


 


นอกจากนี้ ศ.โรเบิร์ตยังพูดเกี่ยวกับความเป็นรัฐธรรมนูญของสหรัฐว่า ในการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคือ การสาบานว่าจะซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่ต่อชาติ เพราะชาติมันเรื่องจิ๋ว ทหารก็ต้องสาบานเช่นนี้ ซึ่งส่วนตัวแม้จะไม่เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งของสหรัฐทั้งหมดแต่เรื่องเหล่านั้นสามารถปรับได้


 


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นรูปแบบของประชาธิปไตยและก็เยี่ยมแล้วโดยไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ไปยืมใครมา เป็นรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ แต่ก็อยู่ไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net