Skip to main content
sharethis

5 พ.ย. 49 ราอูฟ อับดุล ระห์มาน หัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลอิรัก ชาวเคิร์ด อ่านคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก จากความผิดข้อหาสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 คน เมื่อปี 2525 โดยหลังสิ้นสุดการอ่านคำพิพากษา ซัดดัมที่มีอาการสั่นสะท้านอย่างเห็นได้ชัด ได้ลุกขึ้นตะโกนกลางศาล "อัลเลาะห์จงเจริญ ประเทศอิรักจงเจริญ"


 



นอกจานนี้ ศาลอิรักยังตัดสินประหารชีวิต อะวาด ฮาเหม็ด อัล-บานเดอร์ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาซึ่งเป็นน้องชายต่างบิดาของซัดดัม และบาร์ซาน อิบราฮิม อัล-ทิคริตี อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอิรัก ในฐานะจำเลยร่วมในคดีนี้ ขณะที่ ทาฮา ยัสซิน รามาดาน อดีตรองประธานาธิบดีอิรัก ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต


 


ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคบาธอีก 3 คน ถูกตัดสินให้จำคุก 15 ปีข้อหาฆาตกรรมโดยเจตนา



หลังการอ่านคำพิพากษาจำเลยทั้งหมดเสร็จสิ้นลง ศาลสูงอิรักในกรุงแบกแดดก็ประกาศเลิกศาลทันที ท่ามกลางกองทัพผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวกันอย่างหนาแน่น


 



ตามกฎหมายของอิรัก จำเลยที่ถูกลงโทษประหารชีวิตจะได้รับการอุทธรณ์โดยอัตโนมัติ และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการประหาร ขณะที่ก่อนหน้านี้ซัดดัมประกาศมาตลอดว่า หากถูกลงโทษประหารเขาต้องการถูกยิงเป้าเหมือนกับทหาร มากกว่าการถูกแขวนคอ


 



ก่อนหน้าวันพิพากษา รัฐบาลอิรักประกาศเคอร์ฟิวพร้อมประสานกำลังทหารกับสหรัฐ กระจายกำลังควบคุม 3 เมืองหลักสำคัญ ทั้งกรุงแบกแดด เมืองดิยาลาซึ่งมักมีเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้ง และเมืองซาลาเฮดดิน บ้านเกิดของซัดดัม เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่าจะเกิดเหตุนองเลือดครั้งใหญ่หลังคำตัดสินพิพากษา


 



ด้านทนายความของซัดดัมกล่าวกับรอยเตอร์ก่อนการพิพากษาว่า ได้พูดคุยกับซัดดัมเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยเขาเผยว่า ซัดดัมยังคงมีความแข็งแกร่ง และพูดคุยเกี่ยวกับความเสียหายของทหารอเมริกันและกลุ่มก่อการร้าย "ผมจะตายด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี และไร้ความหวาดกลัว ด้วยความภาคภูมิใจต่อประเทศชาติอาหรับของผม ขณะที่ผู้รุกรานอย่างสหรัฐจะต้องพ่ายแพ้และอับอายขายขี้หน้า" ทนายความอ้างคำพูดของซัดดัม


 



สำหรับการไต่สวนคดีนี้ เกิดความวุ่นวายมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทนายของซัดดัมถูกฆาตกรรมถึง 3 คน พยานถูกข่มขู่ และการประกาศลาออกของหัวหน้าผู้พิพากษา โดยอ้างว่ารัฐบาลอิรักแทรกแซงการไต่สวน นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นการไต่สวนคดีสงครามที่ยากเย็นที่สุด นับตั้งแต่การไต่สวนนูเรมเบิร์กหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลงเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว


 



ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าวันตัดสินชะตาของซัดดัมนั้น ถูกกำหนดขึ้นก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ เพื่อหวังผลทางการเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ตามนโยบายปราบการก่อการร้ายและการทำสงครามอิรัก แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว


 


 



………………………………….


ที่มา : http://www.thaipost.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net