Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2549 รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานเรื่อง "การกระจายอำนาจกับการเสริมบทบาทประชาสังคม" ในการประชุมวิชาการเรื่อง การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้า


 


รศ.ดร.นครินทร์กล่าวว่า มีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับคำว่า "ประชาสังคม" ซึ่งยังเป็นคำกำกวม ความหมายดั้งเดิมนั้นประชาสังคมเป็นการรวมกลุ่มของสมาคมที่เชื่อมั่นในการปกครองตนเอง ในบางประเทศ ประชาสังคมอาจอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือในองค์กรวิชาชีพ เช่น หมอ สถาปนิก ทั้งหมดเป็นเรื่องการดูแลกันเอง


 


ในหลายๆ ประเทศ บทบาทของท้องถิ่น มาจากความคิดริเริ่มของท้องถิ่นเอง ไม่ใช่รัฐเพียงฝ่ายเดียว ยังมีคนร่วมรับผิดชอบคือท้องถิ่นด้วย แต่ในเมืองไทย แม้จะมีแนวโน้มของการผลักดันท้องถิ่นมานาน แต่ไม่เคยมีการริเริ่มจากท้องถิ่นเอง มีแต่รอให้รัฐเข้าไปจัดการ


 


คณบดีรัฐศาสตร์กล่าวต่อ ว่าประเทศไทยเขียนกฎหมายท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2536 แต่ไม่เคยปฏิบัติ รูปแบบการทำงานยังเป็นความร่วมมือแบบพี่ช่วยน้อง ทั้งนี้ แนวคิดเบื้องต้นของการให้ท้องถิ่นร่วมมือ คือ แม้ท้องถิ่นจะจัดขึ้นโดยรัฐ แต่ท้องถิ่นไม่ใช่รัฐ แต่มีฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดชุมชนที่สุด และเรื่องใหญ่ที่สุดคือ การจัดบริการสาธารณะ การเก็บภาษี ซึ่งเป็นความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องให้เกิดสำนึกในความเป็นเจ้าของด้วย


 


แต่ประเทศไทยเราเสียเวลานาวนานเกินไปในการเตรียมการและเริ่มนับหนึ่ง คือใช้เวลาตั้งแต่ปี 2476 จนถึง 2540


 


รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวถึงรูปแบบความร่วมมือขององค์กรส่วนท้องถิ่นว่า มีได้ 2 รูปแบบ คือ


รูปแบบแรก คือ ความร่วมมือแบบสมัครใจ (Alternative Model) คือ เป็นเครือข่ายทางการ อาทิ สมาคม โดยเป็นการจัดทำข้อตกลงในการบริการสาธารณะร่วมกัน


 


รูปแบบที่สองคือ การบังคับร่วมมือ (Compulsory Model) โดยใช้กลไก อาทิ กลไกกฎหมาย กลไกการคลัง


 


รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวถึงการศึกษาบทบาทของท้องถิ่นในการจัดการปัญหา ในพื้นที่ 3 แห่ง คือ การจัดการขยะ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ, การดับเพลิงและบรรเทาสาธารณะภัย อ.เมือง จ.กาญจนบุรี, การจัดโครงสร้างพื้นฐาน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และยังได้ขอทดลองทำจริง แต่พบว่า ที่อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ยอมให้แค่ทำการศึกษา แต่ไม่ยอมให้ทดลองทำจริง เพราะองค์การพัฒนาส่วนท้องถิ่นของจ.สมุทรปราการไม่ประสงค์จะทำงานร่วมกัน เนื่องจากองค์กรบริหารส่วนจังหวัดก็คิดจะทำโครงการขนาดใหญ่ เทศบาลบางแห่งก็คิดว่ามีระบบการจัดการที่ดีแล้วคือ ขายรถขยะไป แล้วจ้างบริษัทปีละ 30 ล้านบาทมาจัดการแทน ขณะที่ส่วนองค์กรบริหารส่วนตำบลบางแห่งก็บอกว่า พื้นที่ทิ้งขยะที่อยู่ในพื้นที่ของตนนั้น นอกจากไม่ต้องเก็บขยะเองแล้ว ยังได้เงินด้วย


 


"ถ้าเรามองถึงความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเป็นรัฐแต่ไม่ใช่รัฐ และอยู่ติดประชาชน ความยากลำบากคือ องค์กรเหล่านี้จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร"


 


รศ.ดร.นครินทร์กล่าวว่า ความยากลำบากมีตั้งแต่ระดับล่างจนบน เช่น การจัดการขยะที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง ก็ต้องไปเรียกโรงงานเซรามิคเพราะเป็นผู้ก่อขยะ ซึ่งเขาก็ไม่อยากร่วมมือ เพราะต้องเสียเงินเพิ่ม ปัญหากระจายไปอยู่ได้ในทุกๆขั้นตอน อาจอยู่ที่ผู้บริหารกับสภาท้องถิ่น, พนักงานซึ่งคิดว่าทำงานเยอะอยู่แล้ว หรือแม้แต่จากคนในกระทรวง ทบวง กรม เอง ทุกคนมองไม่เห็นเลยว่า ร่วมมือไปแล้วอะไรจะดี มีแต่ยุ่งยาก


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.นครินทร์ย้ำว่า การปกครองตนเองของท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรทางการเมือง แต่เป็นเรื่องการดูแลคุณภาพความเป็นอยู่ของตัวเองด้วย


 


จากนั้น ในห้องประชุมได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น


 


นายประมวล รุจนเสรี ซึ่งเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะของผู้มีประสบการณ์จากเรื่องท้องถิ่น ท้องที่ และนโยบายรัฐบาล ว่า กระบวนการกระจายอำนาจเป็นกระบวนการปฏิวัติปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เสียดายที่ฝ่ายปฏิรูปและรัฐบาลเก่าๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่ระบบอมาตยาธิปไตยทำตัวเป็นเจ้าของประเทศแทน


 


"อย่ามัวแก้รัฐธรรมนูญแค่เรื่องการปฏิรูปการเมือง แต่ต้องแก้การเมืองระดับท้องถิ่นด้วย" นายประมวลกล่าว


 


ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งซึ่งทำงานในหอการค้าจังหวัด กล่าวว่า ในพื้นที่ต่างๆ หน่วยงานท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. ผู้ว่าซีอีโอ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งหมดมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน เขาจึงอยากเสนอให้ยุบรวมอบต.กับอบจ.เข้าด้วยกันแล้วเรียกเป็นองค์การบริหารส่วนอำเภอ ซึ่งจะทำให้จากเดิมที่มีองค์กรท้องถิ่นราว 8,000 แห่ง ก็จะลดเหลือ 900 แห่ง ที่เป็นองค์กรท้องถิ่นระดับกลางๆ


 


เขายังกล่าวว่า ข้อเสนอเช่นนี้ ก็คงจะมีแต่รัฐบาลแต่งตั้งเท่านั้นที่กล้าทำ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คงไม่มีพรรคการเมืองไหนที่กล้าทำ ด้วยกลัวการประท้วง เสียฐานเสียงในพื้นที่


 


นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า เขาพบว่าคำว่า "การมีส่วนร่วม" เป็นคำที่ถูกใช้กันมากในระบบราชการ แต่สิ่งที่พบก็คือการเรียกคนเข้าไปให้เป็นผู้ฟัง นพ.สุรจิตกล่าวว่าอยากให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) และการสร้างความเข้มแข็ง (Empowerment) และอยากให้เกิดการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างท้องถิ่นกับราชการ


 


ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่ง อ.สุรัสวดี หุ่นพยนต์ รองผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร กล่าวว่า จุดที่ทำให้องค์กรท้องถิ่นไม่เข้มแข็งอยู่ที่ระบบการจัดการ ซึ่งเราจะเห็นว่าเรากำลังทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นราชการ ทั้งที่องค์กรท้องถิ่นแต่ละแห่งไม่ควรจะเหมือนกันเสียด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันกลับต้องถูกควบคุมกำกับเอาไว้ทั้งหมดว่าเขาควรทำงานอย่างไร


 


อ.สุรัสวดีย้ำว่า ถ้าจะทำให้องค์กรนั้นๆ เป็นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำให้เขาเป็นราชการ ไม่ใช่การออกกฎระเบียบว่าเขาควรทำอะไรดี แต่ควรออกกฎหมายว่าเขาทำอะไรไม่ได้มากกว่า


 


ฐิติพร บุญเรืองขาว ปลัดเทศบาลนครสวรรค์ กล่าวว่า การถ่ายโอนอำนาจที่ผ่านมาเป็นเรื่องตลก รัฐส่วนกลางถ่ายโอน ให้ท้องถิ่นสร้างอะไรสักอย่าง แต่ก็กำหนดสเปกมาโดยละเอียด เท่านั้นไม่พอ ยังส่งบริษัทเข้ามาอีกด้วย


 


ด้านเชิงชาญ จงสมชัย นักวิจัยจากคณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ต้องแยกให้ชัด ระหว่าง การปกครองท้องถิ่น (Decentralized) องค์กรปกครองท้องถิ่น และ ท้องถิ่น (Civil Society) เขายังกล่าวถึงปัญหาที่พบในพื้นที่ว่า ที่ตำบลหนองโก จ.มหาสารคาม มีสภาพัฒนาหมู่บ้านหนองโก ที่สุดท้ายก็ต้องล่มไปเพราะขัดแย้งกับอบต.หนองโก ซึ่งที่ต้องถามคือ เราจำกัดกับองค์กรท้องถิ่นในรูปแบบทางการมากเกินไปหรือไม่


 


รศ.ดร. นครินทร์ กล่าวก่อนจบการประชุมว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่โบราณมาก จำเป็นต้องยอมจำกัดตัวเองลง แต่ประชาสังคมไทยเองก็เรียกร้องอยากให้รัฐทำสิ่งต่างๆให้ เช่น การศึกษาและสาธารณสุข ทั้งนี้ เรายังอยู่ในขั้นต้นของการถ่ายโอนงาน และเรื่องที่ใหญ่มากคือการกระจายอำนาจทางการคลัง ซึ่งเรื่องนี้ "ความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ" (Ownership) เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนไม่รู้จักเสียภาษี ก็จะไม่มีการกระจายอำนาจ และอำนาจทางการคลังก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net