อสมท แต่งดำต้านบอร์ด ยื่นหนังสือร้องนายกฯ ไม่เอาธีรภัทร์

วันที่ 7 พ.ย. พนักงาน อสมท ร่วมใจใส่เสื้อดำมีข้อความว่า "หยุดทำร้าย อสมท"เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และคณะกรรมการ บมจ.อสมท โดยหนังสือระบุว่า

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล บมจ.อสมท และเลือกคณะกรรมการ บมจ.อสมท เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 โดยคณะกรรมการ บมจ.อสมท มีมติให้นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นรองประธานกรรมการบริหาร และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ปรากฏว่า เพียงช่วงเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรงต่อองค์กรโดยรวม ทั้งจากประชาชน พนักงาน และผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก

 

โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำงานจาก "สังคมอุดมปัญญา" เป็น  "สัมมาปัญญา" และกล่าวหาการทำงานของ บมจ.อสมท ที่ผ่านมา ไม่ก่อประโยชน์ต่อสังคม พร้อมเตรียมปรับผังรายการที่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน จนมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์สอบถามมายัง อสมท กันอย่างมากมาย ซึ่งบั่นทอนขวัญ กำลังใจพนักงาน

 

นอกจากนี้ ช่วงก่อนหน้าที่จะมีคณะกรรมการฯ ปรากฏว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์เป็นผู้จัดรายการร่วมกับ อสมท มาพูดคุยกันถึงห้องทำงาน จนเกิดข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า "อสมท ยุคแบ่งกันกิน" โดยรายการที่จะถูกปรับเปลี่ยนไม่น่าก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

 

ทั้งนี้ พนักงานรู้สึกเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการฯ ที่มีความเคลือบแคลงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนยังคงบริหาร อสมท ต่อไป อาจเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาจากประชาชน รวมถึงพนักงานมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กรที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสาธารณชน ในฐานะบริษัทมหาชนหนึ่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

นอกจากนี้พนักงาน อสมท ยังออกแถลงการณ์ "สัมมาปัญญา"จริงหรือ? ระบุถึงการทำงานของนายพงษ์ศักดิ์ ภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง หลังมอบนโยบาย และให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อฯ ถึงการล้มเลิกแนวคิด  "สังคมอุดมปัญญา" มาเป็น  "สัมมาปัญญา" กล่าวหา อสมท สร้างผลกระทบเสียหายต่อสังคม สั่งการให้ทำข่าวเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทุกวันศุกร์ และสั่งบันทึกเทปรายการมาตัดต่อออกอากาศ ความยาว 30 นาที ในเวลารายการของ Modernine T.V. และจัดรายการพิเศษวิพากษ์นโยบายรัฐบาล ความยาว 3 ชั่วโมง ออกอากาศสดในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549 โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับผังรายการเดิมที่มีการขายโฆษณาไปแล้ว โดยใช้คำพูดว่า "ให้พวกคุณทำราย การเสมือนว่าพวกคุณคิดเอง ไม่ใช่ผมสั่ง"

 

นายพงษ์ศักดิ์ ยังต้องการให้ปรับเปลี่ยนสถานีวิทยุ "MET" F.M. 107 MHz ที่ อสมท ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ 4 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลก ไว้ก่อนหน้านี้ เป็นสถานีเพลงคลาสสิก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา เสี่ยงต่อการถูกบริษัทต่างประเทศฟ้องร้อง จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยที่คู่สัญญาไม่มีโอกาสรับทราบมาก่อน ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจกับต่างประเทศในอนาคต โดยไม่สนใจคำทักท้วง อ้างเป็นเรื่องขององค์กรที่ไปทำสัญญา ตนเป็นผู้ให้นโยบายเท่านั้น

 

ในแถลงการณ์ยังเปิดเผยถึงการเข้าพบนายธีรภัทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ของผู้บริหารระดับสูงของ อสมท ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และพบตัวแทนจากผู้จัดการฝ่ายขายของเนชั่น นักวิชาการ และอดีต ส.ว.ชื่อดัง ไปตกลงจัดสรรเวลา Prime Time ของ Modernine T.V. เรียบร้อยแล้ว จึงน่าตั้งคำถามว่า"พฤติกรรมดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ และเปิดกว้างให้กับผู้จัดราย การคุณภาพที่หลากหลายจริงหรือไม่" พร้อมกันนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างนายธีรภัทร์ กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว อาทิ นายธีรภัทร์ เคยเป็นผู้จัดรายการของวิทยุผู้จัดการ ยุค อสมท ให้สัมปทานบุคคลภายนอกมาดำเนินการคลื่นวิทยุ แนวคิด "สัมมาปัญญา" ของนายพงษ์ศักดิ์ สอดคล้องกับแนวคิดของนายสนธิ ที่กล่าวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

 

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวกับผู้บริหาร อสมท ว่า ตั้งใจมานั่งในตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อย่างน้อย 1 ปี มีการขอห้องทำงานอยู่ภายในสำนักข่าวไทย ทั้งที่บอร์ด อสมท ควรจะรีบเร่งให้มีการสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร และนายพงษ์ศักดิ์ ก็ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารในมติชน ซึ่งทั้งอสมท และมติชน ต่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์เช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พนักงานของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้แต่งชุดดำเข้ามาปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาล โดยส่วนใหญ่จะสวมเสื้อยืดสีดำด้านหน้ามีข้อความ "หยุด...ทำร้าย อสมท" ส่วนด้านหลังมีข้อความ "แดนสนธยา มันกลับมาแล้ว" เพื่อเป็นการประท้วงการทำหน้าที่ของบอร์ด อสมท ชุดใหม่ และนายธีรภัทร์ ในฐานะที่เป็นผู้คัดเลือกบอร์ดชุดปัจจุบันเข้ามาทำงาน

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว สร้างความสนใจให้บรรดาสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ทางตัวแทนพนักงาน อสมท. จำนวน 20 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ก่อนเที่ยงวันนี้

 

นายกฯ รับปากพิจารณาบอร์ด อสมทฯและรมต.ประจำสำนักนายกฯ ใหม่

หลังได้รับหนังสือจากตัวแทนพนักงาน อสมท พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระบุสั้นๆว่า จะรับไปพิจารณา

 

"ธีรภัทร์" ยันไม่คิดแทรกแซง อสมท.

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.00 น. นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากนายพชร สารพิมพา ประธานสหภาพแรงงาน อสมท และแกนนำ เข้าพบ พร้อมชี้แจงกรณีที่ถูกระบุว่า ได้เชิญผู้ผลิตรายการ 3-4 ราย ที่มีการผลิตรายการป้อนสถานีโทรทัศน์เข้าหารือว่า  เป็นการเชิญมาพูดคุยจริง เพื่อให้มีการสะท้อนข้อมูลข่าวสารรอบด้านให้กับประชาชน เพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ประชาชนรับทราบ จึงปรึกษากันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

 

ต้องการสร้างรายการที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนเพื่อพัฒนารายการต่างๆให้ดีขึ้น ไม่ได้เป็นการสั่งการหรือเข้าไปแทรกแซงใดๆ เปิดโอกาส สร้างความเสมอภาคและทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำอะไรที่ไม่โปร่งใส  แต่ทั้งนี้ เมื่อบอร์ด อสมท ชุดใหม่ได้มีการแต่งตั้งขึ้นมา เขาจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องผังรายการเอง

เมื่อมีการถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าเมื่อมีการจัดผังรายการกลุ่มคนที่ทำธุรกิจสื่อที่ได้หารือกันจะไม่เข้ามาดำเนินรายการในช่อง 9 นายธีรภัทร์ กล่าวเลี่ยงว่า ไม่ทราบ เพราะไม่รู้ข้อมูล แต่ยืนยันว่าเรื่องที่คุยกันเป็นเรื่องที่คุยกันอย่างสร้างสรรค์

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าจะการันตีได้หรือไม่ว่าบอร์ด อสมท จะไม่เอื้อผลประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจใดๆ ในการจัดการผังรายการ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์คงไปการันตีใครไม่ได้ แต่ขณะนี้ได้รับข่าวสารจากที่มีผู้ร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเสมอใน อสมท  จะส่งเรื่องดังกล่าวให้บอร์ดพิจารณาต่อไป

 

ส่วนกรณีที่ผู้แทนสหภาพแรงงาน อสมท. เข้าพบนั้นเป็นการมาพูดคุยให้ฟังถึงความไม่สบายใจและความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารระหว่างผู้แทนบอร์ด รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. กับพนักงาน  เช่น เรื่องที่ระบุว่าจะมีการนำรายได้ของช่อง 9 ไปให้ช่อง 11 และการเปลี่ยนผังรายการต่างๆ ซึ่งได้อธิบายไปว่าอยู่ในฐานะที่กำกับดูแล อสมท เท่านั้น ก็คงจะไปลงลึกในรายละเอียดไม่ได้ถือเป็นการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้มีบอร์ด และรักษาการ ผอ.อสมท. คนใหม่แล้ว แต่เมื่อไม่สบายใจเกิดขึ้นก็ได้ฝากให้ประธานสภาพเร่งทำความเข้าใจ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เกิดความไม่มั่นใจในการบริหารงานของบอร์ดชุดปัจจุบัน ทำให้หุ้นของ อสมท ตกอย่างมาก จะเข้าไปดำเนินงานอย่างไร รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า อสมท.เพิ่งมีบอร์ดใหม่และเพิ่งประชุมเพียงครั้งเดียว และในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. จะมีการประชุมอีกครั้งก็ต้องให้เขาทำหน้าที่ก่อน เข้าใจว่าการขึ้นลงของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นเรื่องธรรมดา และต้องไปดูว่ามีสาเหตุอะไรและบอร์ดมีแนวทางแก้ไขอย่างไร คงต้องให้เวลาเขาดำเนินการ แต่เท่าที่ดูบอร์ด และรักษาการ ผอ.อสมท ก็มีความตั้งใจ แต่ก็อยากให้ทุกฝ่ายใน อสมท ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดแนวทางสร้างสรรค์เพราะ อสมท ถือเป็นสถาบันสื่อมวลชน

 

"ผมอยากเห็น อสมท. พัฒนาเป็นสื่อที่แท้จริง และคิดว่า อสมท. ไม่อยากเห็นฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง ผมจึงพยายามไม่เข้าไปก้าวก่ายเกินความจำเป็น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าการเมืองเข้าไปแทรกแซง และรัฐบาลชุดนี้ก็มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อ ดังนั้นผมก็ต้องยืนห่างจากสื่อออกมาระยะหนึ่งพอสมควร และ อสมท.ก็เป็น บมจ. ตามกฎหมายก็มีบอร์ด และผู้บริหารทำหน้าที่อยู่ ผมก็ต้องระวัง และต้องการให้ อสมท เป็นอิสระจากรัฐบาล"นายธีรภัทร์ กล่าว

 

เมื่อถามว่าการที่นายพงษ์ศักดิ์ เป็นบอร์ด และรักษาการ ผอ.ใหญ่ อสมท.และเป็นคณะกรรมการบริหารในเครือมติชน ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สื่อและสิ่งผิดถือว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมหรือไม่ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องให้คนอื่นพูดว่าขัดหรือไม่ขัด หากใครมีคำแนะนำก็ให้เสนอมาแต่ในส่วนของตนก็พยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ต้องมาพิจารณาว่าผู้ที่มาดำรงตำแหน่งใน อสมท. มีอะไรเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง ทั้งนี้ คำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐกับฝ่ายการเมือง จึงไม่รู้ว่าใช้กับวงการอื่นได้หรือไม่ ต้องดูความเหมาะสมและมารยาท  ทาง กลต.น่าจะตอบคำถามนี้ได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางบอร์ด เร่งหาผู้อำนวยการ อสมท. คนใหม่โดยเร็วและคาดว่าสัปดาห์จะเดินทางไปเยี่ยม อสมท คงได้มีโอกาสพบและพูดคุยถึงปัญหาต่างๆด้วย

 

เมื่อถามว่าจะใช้เวลาพิสูจน์ฝีมือการบริหารของบอร์ดฯ เท่าไหร่ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ต้องประเมิน 2 ส่วน คือผลประกอบการและ 2 ..คุณภาพวัดจากความพึงพอใจของผู้บริโภค ส่วนที่ผลประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าลดลงหลังจากที่บอร์ดเข้ามาบริหารนั้น ก็ต้องให้เวลา ถ้าวันนี้ประเมินจากหุ้นที่ตกลง ทุกคนก็ต้องลาออกทั้งหมด แต่ถ้าหุ้นขึ้นก็จะมาแต่งตั้งใหม่กันอีก ก็ต้องให้เวลากับเรื่องเหล่านี้

 

"ณรงค์" พร้อมลาออก ไม่ยอมกลุ่มเสื้อดำ

นายณรงค์ โชควัฒนา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการบอร์ด อสมท. ให้สัมภาษณ์รายการ News Hour สถานีโทรทัศน์ ASTV ว่า การจะให้บอร์ด อสมท ลาออกคนที่พิจารณาคือผู้ถือหุ้นใน อสมท ซึ่งคือกระทรวงการคลังเท่านั้นไม่ใช่ให้คนกลุ่มหนึ่งจำนวนร้อยกว่าคนมาขับไล่ ซึ่งการนำเสนอข่าวตอนนี้ก็เป็นการเสนอข่าวเพียงด้านเดียว ส่วนการทำงานนั้นยืนยันบอร์ดทุกคนจะไม่ยอมให้ใครแม้แต่นักการเมืองเมาแทรกแซงได้ ถ้าในอนาคตการทำงานไม่เป็นอิสระเสรีตัวเองก็คงจะไม่อยู่

"ผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกแล้วที่ให้ อสมท เข้ามาเป็นบริษัทมหาชนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะในตลาดหลักทรัพย์มีแต่การคิดเพียงแค่การทำกำไรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เน้นเรื่องสื่อเสรี ซึ่ง อสมท แม้จะไม่ได้อยู่ในตลาดก็สามารถทำงานได้อยู่แล้ว"กรรมการ อสมท ระบุ

 

"สุริยะใส"แนะเปิดเวทีถก

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า เป็นสิทธิที่พนักงาน และสหภาพใน อสมท. คัดค้านแนวคิดของบอร์ดและผู้บริหาร อสมท ชุดใหม่ ที่จะทำได้ และรัฐบาลสมควรรับไปพิจารณาทบทวน โดยเฉพาะข้อมูลที่ทางสหภาพฯ กังวลในประเด็นธรรมาภิบาลขององค์กรและปัญหาที่อาจมีกรณีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เกิดขึ้นจากผู้บริหารชุดใหม่

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ส่วนตัวแม้จะเห็นด้วยกับแนวคิดของบอร์ดชุดใหม่ ที่จะยึดแนวคิดสัมมาปัญญา ซึ่งแน่นอนว่าการปรับตัวในลักษณะปฏิรูป จะต้องมีบางกลุ่มได้รับผลกระทบ แต่ไม่ควรให้เกิดความรู้สึกว่า มีผู้ได้ร้อยหรือเสียร้อยจากการปฏิรูปครั้งนี้ และผู้บริหาร อสมท ชุดใหม่ ควรมีวิธีการจัดการอย่างระมัดระวัง และแสวงหาความร่วมมือจากพนักงานในองค์กรให้มากที่สุด ซึ่งควรมีเวทีเวิร์กช็อป หรือสัมมนาเพื่อทบทวนและปรับแนวทางขององค์กรร่วมกัน ทั้งผู้บริหารและพนักงาน รวมทั้งภาคประชาชนหรือภาคผู้บริโภค

 

ผู้บริหารมติชนยัน "พงษ์ศักดิ์"รับตำแหน่ง อสมท ไม่เกี่ยวมติชน

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีนายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทมติชน มารับตำแหน่งกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ว่า เป็นการตัดสินใจส่วนตัวของนายพงษ์ศักดิ์ ถือเป็นความปรารถนาดีที่จะทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมและองค์กร อสมท ตามความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนที่มีมาตลอด บริษัทมติชน ไม่เคยมีมติในเรื่องนี้ และขอยืนยันว่า บริษัท มติชน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนี้แม้แต่น้อย โดยมติชนมีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งพิมพ์ ยืนยันจะดำเนินธุรกิจด้านนี้เป็นหลัก และจะดำรงอาชีวะปฏิญาณในการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพื่อสังคมส่วนรวม และยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์กรใด

 

เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์คมชัดลึกและผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท