Skip to main content
sharethis

ในที่สุด สถานการณ์ที่รุมเร้าเข้ามาก็ส่งผลให้ "นายธันยา หาญพล" ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ผู้คนคุ้นเคยในชื่อย่อ "อพท." หน่วยงานที่เกิดขึ้นในยุค "รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ต้องดิ้นรนเข้าพบ "นายสุวิทย์ ยอดมณี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา


 


ดิ้นหลบมรสุมมวลชน


เป็นการดิ้นรนหนีออกจากต้นสังกัดปัจจุบัน "สำนักนายกรัฐมนตรี" ขึ้นตรงกับรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อขอเปลี่ยนสังกัดเข้าอาศัยร่มธง "กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" หลบมรสุมที่กำลังรุมกระหน่ำอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา


 


"นายธันยา หาญพล" บอกกับสื่อมวลชนชนิดตรงไปตรงมาอย่างยิ่งว่า เข้าพบ "นายสุวิทย์ ยอดมณี" เพื่อชี้แจงปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงาน เนื่องจากหน่วยงานแห่งนี้ ประสบปัญหาเผชิญหน้ากับมวลชนในแทบทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินงาน


 


"องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" จึงต้องการเข้ามาเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องเพราะนอกจากจะมีภารกิจด้านการท่องเที่ยวเหมือนกันแล้ว ประเด็นสำคัญ ก็คือ ต้องการองค์กรช่วยประสานมวลชน หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนอย่างเป็นด้านหลัก


 


สิ่งที่ "นายธันยา หาญพล" ได้รับการสนองตอบ ก็คือ "นายสุวิทย์ ยอดมณี" รับปากว่าจะนำข้อเสนอเรื่องขอย้ายต้นสังกัดไปพิจารณา พร้อมกับจะเดินทางไปศึกษาข้อมูลในพื้นที่เกาะช้างด้วยตัวเอง


 


ทำไม "นายธันยา หาญพล" จึงตัดสินใจเข้าซุกปีก "กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" ทั้งที่การขึ้นตรงกับรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลการท่องเที่ยว น่าจะทำให้งานของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" คล่องตัวมากกว่า


 


2 ปมหลักซบ"สุวิทย์"


กลุ่มคนที่ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานแห่งนี้อย่างใกล้ชิดวิเคราะห์ว่า น่าจะมีอยู่ 2 ประการหลักๆ


 


หนึ่งนั้น สืบเนื่องมาจากเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เกิดขึ้นในยุค "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เรืองอำนาจ และถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองบางคน


 


สองนั้น มาจากการเผชิญหน้ากับมวลชน ในทุกพื้นที่ที่หน่วยงานนี้ลงทำงาน


 


ไม่ว่าจะเป็นโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หรือพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดตราด, ภูกระดึง จังหวัดเลย, เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง, เกาะพีพี จังหวัดกระบี่, เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และบ้านน้ำเค็ม - เกาะคอเขา ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงในยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา


 


มวลชนรุกรัฐบาลยุบ"อพท."


ล่าสุด ปฏิกิริยาของมวลชนในพื้นที่ดำเนินการของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" แสดงออกชัดเจน หลังจากรวมตัวกันเสวนานำเสนอข้อมูลผลกระทบจากการดำเนินงานของหน่วยแห่งนี้ ต่อประชาชนและผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ ในงานสมัชชาสังคมไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2549 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต


 


กระทั่งเกิด "เครือข่ายชุมชนยกเลิกองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) - อพท." เตรียมยื่นข้อเสนอให้ "รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ยุบเลิกหน่วยงานนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมการยื่นข้อเสนอ โดยตั้งตัวแทนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากแต่ละพื้นที่เป็นคณะกรรมการยกร่างข้อเสนอ และตรวจสอบการทำงานที่ไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดนักการเมืองใน "รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"


 


ทำไมต้องยุบ


คำถามก็คือว่า ทำไมชาวบ้านในพื้นที่พัฒนาของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" จึงปฏิเสธแนวทางการพัฒนาของหน่วยงานนี้ แถมยังมองว่าเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวงสำหรับคนในพื้นที่ด้วยเล่า


 


หากมองจากมุมของ "ดุจหทัย นาวาพาณิช" แกนนำชาวบ้านแห่งเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จะเห็นภาพชัดเจนถึงอารมณ์ความรู้สึก และเหตุผลในการปฏิเสธการประกาศให้เกาะเสม็ดและพื้นที่เชื่อมโยงเป็น "พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"


 


เนื่องเพราะแนวคิดที่หน่วยงานแห่งนี้รับมาปฏิบัติ ก็คือ การมุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  อันเป็นนโยบายหลักของ "รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร"


 


ด้วยการเปิดให้เอกชนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเข้ามา "ร่วมลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสถานประกอบการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เลิศหรูระดับโลก (world class destination)" รองรับนักท่องเที่ยวระดับสูง หรืออภิมหาเศรษฐี อันจะก่อให้เกิดรายได้อย่างมหาศาลกับภาครัฐ และคุ้มค่ากับการใช้ทรัพยากร


 


อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" เพื่อทำหน้าที่ให้บริการกับนักลงทุนในรูปของ One stop service มีหน้าที่จัดการด้านงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ทันสมัยใน "พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างอย่างยั่งยืน" เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับนักลงทุน


 


หวั่นทุนใหญ่เบียดขับชาวบ้าน


"ดุจหทัย นาวพานิช" มองว่า การมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานประกอบการและการบริการให้ได้มาตรฐานสากล หรือระดับโลก (World class destination) เพื่อรองรับเฉพาะนักท่องเที่ยวระดับมหาเศรษฐี จะส่งผลให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวและสถานประกอบการชนิดเลิศหรู ครบวงจร รองรับคนพิเศษเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคล ที่ต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาลในการลงทุน


 


อันเท่ากับเป็นการเบียดขับ ประชาชน ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ออกไปจากวงจรธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากไม่มีศักยภาพสูงพอ ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสารพัดข้อจำกัด นับตั้งแต่เรื่องทุน เรื่องความรู้ ขีดความสามารถของตัวบุคคล ฯลฯ


 


การที่คนกลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนมหาศาลถูกเบียดขับออกจากวงจรธุรกิจการท่องเที่ยว สิ่งที่จะตามมา คือ ปัญหาสังคมสารพัด จากความยากจน อันมีที่มาจากการว่างงาน


 


ดึงต่างชาติปล้นทรัพยากรของประเทศ


กล่าวได้ว่า การพัฒนาภายใต้แนวคิดนี้ เป็นการส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม ให้เข้ามาแย่งชิงทรัพยากร โดยไม่คิดจะปกป้องวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ของผู้คนที่หากินอยู่ในท้องถิ่น


 


เป็นการใช้อำนาจและกฎหมาย ผ่าน "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (มหาชน)" กีดกันคนจนหรือประชาชนในท้องถิ่น ออกจากพื้นที่สาธารณะไม่ให้เข้าไปร่วมใช้ ร่วมจัดการ ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติ


 


ทว่า กลับใช้วิธีการปล้นประชาชน ยึดเอาทรัพยากรของสาธารณะ ยกให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ และกลุ่มทุนต่างชาติ เข้ามาครอบครองเป็นทรัพย์สินของตน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่


 


"ดุจหทัย นาวาพานิช" เชื่อว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาเบียดขับคนท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ เกือบทั้งหมดมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่กับกลุ่มทุนการเมืองชนิดแนบแน่นอย่างยิ่ง


 


ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม


ถ้านำเอามุมมองของ "ดุจหทัย นาวาพานิช" เป็นตัวตั้ง ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด ที่บรรดาตัวแทนจากชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่พัฒนาของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" จะพบว่า การดำเนินการของหน่วยงานนี้ ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง


 


ในหลายพื้นที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน หรือถ้ามีการสอบถามก็ไม่มีท่าทีรับฟัง แต่เป็นการสอบถามเพื่อให้ยอมรับแผนพัฒนาที่หน่วยงานแห่งนี้ผลิตขึ้นมาเท่านั้น


 


ด้วยเจตนาจะพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระดับ "อภิมหาเศรษฐี" การกำหนดแนวทางและจัดวางผังเพื่อการพัฒนา จึงมีผลทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน หรือที่อยู่อาศัยมากมายเกินความจำเป็น


 


ดังที่เกิดขึ้นในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หรือมีแนวโน้มชาวบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา จะสูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งทำกิน จากการวางผังพัฒนาพื้นที่ของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" นับพันครัวเรือน


 


ตัวแทนจากแต่ละท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาให้เป็น "พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ต่างมองสอดคล้องกันว่า แนวทางการพัฒนาด้วยการดึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มทุนการเมืองเข้าไปลงทุน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระดับบน


 


มีแนวโน้มสูงยิ่งที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ จะเข้าไปเบียดขับกลุ่มทุนท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายย่อยให้สูญเสียอาชีพ และชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน อันเห็นได้จากการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ในพื้นที่เกาะช้าง เกาะกูด จังหวัดตราด


 


กีดกันชาวบ้านออกจากการพัฒนา


ประเด็นท้วงติงที่มาจากคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่น่าจะนำมาพิจารณาอย่างยิ่ง ก็คือ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกหลายแห่ง เช่น เกาะเสม็ด เกาะพีพี ล้วนแล้วแต่บุกเบิกโดยประชาชนและกลุ่มทุนท้องถิ่นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยรัฐเกือบไม่ได้ลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้น่าจะได้รับประโยชน์ต่อไป ไม่ควรถูกกีดกันออกจากแผนพัฒนาของรัฐ


 


ภายใต้แนวคิดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวระดับบน ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ ถือได้ว่าไม่ยุติธรรมในการใช้ทรัพยากร เห็นได้จากบริเวณรีสอร์ตหรูระดับ 5 ดาวขึ้นไป ชาวประมงพื้นบ้านถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปทำประมง ในระยะ 2 - 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง


 


ขณะที่นักลงทุนขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ไม่ร่ำรวย ก็ไม่สามารถเข้าไปท่องเที่ยวในสถานท่องเที่ยวที่สวยงามได้อีกต่อไป ส่วนชาวบ้านในท้องถิ่น ก็จะถูกกีดกันห้ามเข้าไปใช้ชายหาดร่วมกับนักท่องเที่ยวระดับบนเหล่านี้ด้วย


 


เหล่านี้ คือ ข้อสังเกตจากคนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโดยตรง


 


ภายใต้แนวคิดดังกล่าว นอกจากประชาชนในพื้นที่จะไม่ได้ประโยชน์ในแง่การกระจายรายได้แล้ว รัฐเองก็จะได้แต่เศษภาษี เพราะเงินรายได้ทั้งหมด จะถูกนำออกนอกประเทศโดยนักลงทุนข้ามชาติ ประเทศไทยจะได้แต่ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เม็ดเงินจริง


 


นอกจากนี้ ยังก่อปัญหาสังคม อันเนื่องมาจากกลุ่มคนที่ทำมาหากินในพื้นที่ท่องเที่ยวเดิมจำนวนมาก รวมทั้งชาวบ้านดั้งเดิมในชุมชนท้องถิ่น จะถูกกีดกันออกไปจากพื้นที่ ต้องหาที่อยู่หาที่ทำกินใหม่ เนื่องจากไม่มีทักษะพอที่จะทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวระดับบนได้


 


นี่คือ ความหวาดหวั่นของบรรดาชาวบ้าน ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการรายย่อย ในทุกท้องถิ่น


 


ผิดกฎหมายเพียบ


ขณะที่นักกฎหมาย จากสภาทนายความก็มองว่า เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ต้องการจัดตั้งองค์การมหาชนที่เป็นบริการสาธารณะ ให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  โดยมีระบบการบริหารงานแตกต่างไปจากส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ และต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร (มาตรา ๕)


 


ทว่า พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2549 กลับเอื้อให้องค์การมหาชนแห่งนี้ แสวงหากำไร ดังเห็นได้ใน มาตรา 8 ที่เปิดช่องให้หน่วยงานนี้ สามารถเข้าไปร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคล, เป็นตัวแทนหรือนายหน้า หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ประกอบกิจการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ขององค์การได้


 


ทั้งนี้ ยังได้กำหนดไว้ใน มาตรา 11 อีกว่า บรรดารายได้ขององค์การ ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ


 


ยังไม่นับรวมการดำเนินงานของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" ในหลายพื้นที่ที่มีข้อกังขาว่า น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรณีแผ้วถางป่าอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อเตรียมก่อสร้างอาคาร, การใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และอนุสัญญาไซเตส กรณีดำเนินกิจการสวนสัตว์ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นต้น


 


นอกจากนี้ แผนปฏิบัติการของ อพท. ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งนอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เกิดความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวในระยะยาวอีกด้วย


 


นี่คือ เหตุผลทั้งหมดที่ก่อให้เกิด "เครือข่ายชุมชนยกเลิกองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) - อพท."


 


นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่บีบให้ "นายธันยา หาญพล" ต้องเข้าคารวะ "นายสุวิทย์ ยอดมณี" ขอนำ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" เข้าซุกปีก "กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา"


 


อันเป็นการดิ้นเฮือกใหญ่ ในห้วงยามที่ไม่มีเงาร่างของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ยืนเป็นเกราะป้องกันให้หน่วยงานแห่งนี้อยู่รอดปลอดภัย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net