Skip to main content
sharethis


นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"

 


 


 


การสร้างความตระหนักให้คนปายหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวได้มองเห็นคุณค่าของเมืองนี้มากไปกว่าเมืองโรแมนติดอินเทรนด์ถือเป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง


 


และอันที่จริงก็มีผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองนี้ไว้ในหลายแง่มุม เช่น ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอเรื่อง "คุณค่าโบราณคดีปายมองจากปางมะผ้า" ว่า เมื่อพูดถึงปาย จำเป็นต้องมองผ่านปางมะผ้า เพราะมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันทั้งในเชิงพื้นที่ ลักษณะทางกายภาพและความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่คล้ายกัน


"จากการค้นคว้าวิจัยทางด้านโบราณคดีในที่พื้นที่อย่างต่อเนื่อง พบว่า ปาย เป็นส่วนหนึ่งของ เส้นทางจราจรโบราณในขุนเขาที่เกี่ยวโยงกับแม่น้ำสาละวิน โดยดูจากแม่น้ำปาย ซึ่งไหลผ่านลงไปสู่แม่น้ำสาละวิน นอกจากนั้น เมื่อมีการศึกษาเรื่องราวของคน วัฒนธรรมและจัดลำดับพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม ศึกษาสภาพแวดล้อมโบราณ ศึกษาการปรับตัวของคนกับสิ่งแวดล้อมในอดีต รวมทั้งศึกษาการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยได้มีการสำรวจ ขุดค้น วิเคราะห์ เพื่อนำไปเผยแพร่ความรู้ให้สาธารณชนได้รับรู้ในทุกระดับ


 


จากการสำรวจในพื้นที่บริเวณถ้ำลอด ได้มีการขุดค้นพบ โครงกระดูกอายุประมาณ 13, 000 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีการขุดค้นพบ เครื่องมือหินกะเทาะ ที่ถ้ำลอดมีกระดูกสัตว์ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ตระกูลวัว/ควาย กวาง โดยเฉพาะส่วนขา/เขา เม่น และหอยน้ำจืด พบวัฒนธรรมโลงไม้ ซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในแถบนี้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ในเขตพื้นที่อ.ปางมะผ้า-ปาย ยังทำให้มองเห็นพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ตั้งแต่ทวารวดี โทราจา อินโดนีเซีย โดยดูได้จากการมีวัฒนธรรมโลงไม้คล้ายๆ กัน ปายจึงถือเป็นกุญแจที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย


 


คนปางมะผ้า และคนปายควรจะได้เกิดความภาคภูมิใจของคนในอำเภอปางมะผ้าว่ามี "ของดี" ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยและโลก สามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องคนโบราณก่อนที่จะเป็นคนไทยปัจจุบัน และปลี่ยนภาพลักษณ์ของปางมะผ้า และสร้างยกระดับคุณค่าให้กับพื้นที่ในเชิงวิชาการและสังคม


 


ผศ.ดร.รัศมี เสนอว่าควรจะได้มีการศึกษาวิจัยในพื้นที่อื่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการติดต่อไปมาของผู้คนในอดีต ปาย-ปางมะผ้า และมีเนื้อหาที่ทำให้เรื่องราวในอดีตมีชีวิต สำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนที่จะไม่หลงเหลืออะไร จากการทำลายของธรรมชาติและการขยายตัวของเมือง/ชุมชน กำหนดขอบเขตและอนุรักษ์สำหรับการจัดการเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net