Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 พ.ย.2549  ในการแถลงข่าวรายงาน "ตามติดเศรษฐกิจไทย" ของธนาคารโลก ดร.กิริฎา  เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2550 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ซึ่งขยายตัวจากปี 2549 ที่มีจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 4.5


 


รายงานของธนาคารโลกเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอตัว และการฟื้นตัวของภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะปีหน้าน้ำมันยังคงมีราคาแพงอยู่แม้ว่าราคาจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ราคาน้ำมันในประเทศก็จะไม่ลดลงเท่ากับที่ลดลงในราคาตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยยังมีภาระต้องจ่ายคืนกองทุนน้ำมันอยู่


 


เมื่อราคาน้ำมันยังแพงก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงตาม แต่ผู้ผลิตก็มีความยากลำบากในการปรับราคา ภาคธุรกิจจึงยังไม่เชื่อมั่นและไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนมากนัก


 


อัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย (nominal interrest) ลดลง ทำให้การบริโภคในภาคครัวเรือนขยายตัว ทว่า อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้น, ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น, และความไม่แน่นอนของนโยบาย ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่สนับสนุนให้ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัว ดังนั้น การลงทุนภาคเอกชนในปี 2550 คาดว่าจะไม่ขยายตัวมากไปกว่าปีที่ผ่านมา


 


ดร.กิริฎากล่าวว่า แม้เงินเฟ้อลดลง ดอกเบี้ยลดลง แต่ราคาสินค้าเกษตรไม่ดีขึ้น ทำให้การบริโภคในครัวเรือนน้อยลงตามไปด้วย แม้ค่าเงินบาทแข็งตัว แต่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้ง GSP หรือสิทธิพิเศษทางภาษีที่สหรัฐอเมริกาให้กับประเทศไทยจะหมดอายุลงในปีหน้านี้ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น


 


ในภาวะที่ราคาน้ำมันแพง การแข่งขันด้านการส่งออกก็รุนแรง โดยเฉพาะเมื่อมีคู่แข่งอย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งด้านแรงงานและเทคโนโลยีด้วยนั้น ดร.กิริฎา กล่าวว่า "ทางออกไม่ใช่การลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ"


 


นอกจากนี้ ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านการลงทุน 3 ประการที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ (Regulatory Burden) การขาดแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Labour Shortage) และการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน (Infrastructure Support Services)


 


ดังนั้น ธนาคารโลกจึงคาดการณ์ว่า ปีหน้านี้การส่งออกจะชะลอตัวลง การนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและการสะสมของสินค้าคงคลัง ดุลบัญชีการค้าจะขาดดุลเพิ่มขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงจนเกือบเป็นร้อยละ 0


 


"ในปีหน้า ดุลการค้าของไทยจะขาดดุลประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ในปีนี้ ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" ดร.กิริฎากล่าว


 


ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการผลิตส่วนเกินที่พยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้อยู่ แต่แนวโน้มปีหน้า อัตราการผลิตเป็นร้อยละ 0 ซึ่งหากยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม เราก็จะไม่มีกำลังการผลิต และการเติบโตจะต้องชะลอตัวอย่างแน่นอน


 


ดร.กิริฎากล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำเพื่อสนับสนุนการลงทุน คือ ต้องผ่อนคลายข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ทักษะ ฝีมือแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ผ่อนปรนการควบคุมราคาสินค้า, ส่งเสริมนวัตกรรมและความรู้, และเพิ่มประสิทธิภาพในภาคบริการ ซึ่งถือเป็นร้อยละ 45 ของ GDP เช่น ออกพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ (Secure Transaction Act) และสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม


 


ในรายงานของธนาคารโลกยังระบุว่า การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และรัฐบาลยังต้องต่อสู้กับปัญหาความยากจน เมื่อพิจารณาอัตราการบริโภคของกลุ่มที่รวยที่สุด กับกลุ่มที่จนที่สุด จะพบว่ามีการบริโภคต่างกันถึง 8 เท่า โดยสภาพความจนของประเทศไทย มีลักษณะเป็นความจนแบบกระจุกตัว เช่น บางจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งการแก้ไขปัญหาควรกำหนดเป้าหมายระบุแผนที่ความยากจนให้ตรงจุด


 


ในด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงภายในปีนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ แต่จะเบิกจ่ายสะดวกขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2550 รัฐบาลมีแนวโน้มจะใช้จ่ายไปกับเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นร้อยละ 4.6


 


ต่อคำถามที่ว่า ผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางการเมือง อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยหรือไม่นั้น ดร.มิลาน  บรัมบัต นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาค ซึ่งร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ตอบว่า โดยทั่วไป ความไม่มั่นคงทางการเมืองย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เห็นตัวอย่างได้จากประเทศติมอร์ตะวันออก แต่กรณีของประเทศไทยนั้น ขอให้ดร.กิริฎา ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทยเป็นผู้ตอบแทน โดย ดร.กิริฎากล่าวว่า ความไม่มั่นคงทางการเมือง ย่อมมีผลให้การลงทุนจากภาครัฐก็จะชะลอตัว และยังเกิดความไม่มั่นใจของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ นักลงทุนด้วย


 


นอกจากนี้ ดร.กิริฎาได้ขยายความต่อว่า ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นที่งุนงงสงสัยในความหมายที่ยังกำกวมอยู่นั้น น่าจะหมายถึงการขยายตัวอย่างมั่นคงและสมดุล (Sustainable & Balance Growth) ซึ่งก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยงด้วย


 


ทั้งนี้ สิ่งที่จะชี้วัดการเติบโตในเศรษฐกิจปีหน้า ขึ้นอยู่กับ ราคาน้ำมัน กระแสการค้าโลก และนโยบายในประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net