Skip to main content
sharethis

 






หมายเหตุ - เพลงที่ได้ยินประกอบข่าวนี้คือเพลง "พรุ่งนี้ต้องดีกว่า" เป็นบทเพลงที่ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ หนึ่งในวิทยากรในที่ประชุมใช้นำเสนอบทเวทีประกอบการอภิปรายของเขา เพลงนี้ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์ และนันทิดา แก้วบัวสาย คำร้องโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ทำนองโดย อภิไชย เย็นพูนสุข

 


ประชาไท - เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2549 ในการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 3จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการอภิปรายเชิงวิชาการ เรื่อง "คนไทยยอมรับความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจริงหรือ?" โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เดชา ตั้งสีฟ้า


อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าใจในวัฒนธรรมอื่นๆ หากต้องเป็นความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจด้วย


"สำหรับคนไทย เราจะยอมรับความหลากหลาย ก็ต่อเมื่อเขากลายมาเป็นไทย และยอมรับอำนาจของเรา อยู่ภายใต้โครงสร้างทางอำนาจที่เราเอาเปรียบได้"


อานันท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อยากให้มองความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เป็นปฏิบัติการจริง ไม่ใช่แค่จินตนาการ ต้องแปรความเข้าใจทางนามธรรมสู่ปฏิบัติการจริง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ ทำอย่างไรให้สังคมมีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์ของคนต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น การจัดการป่าชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการเชิงซ้อน เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมคิดและแสดงออกในสิ่งที่เขาเป็นและต้องการ


 


ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นมโนทัศน์ที่ถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นคู่ตรงข้ามกับมโนทัศน์อีกชุดหนึ่งคือ ความเป็นหนึ่งเดียว เป็นแนวคิดที่ตอบโต้โลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ทุนผูกขาดข้ามชาติทั่วโลกและวัฒนธรรมเดียวครอบงำทั้งโลก โดยการมุ่งเน้นเรื่องท้องถิ่นนิยม นอกจากนี้ในขอบเขตของแต่ละประเทศกก็ยังเกิดการต่อสู้เรื่องความหลากหลายกับศูนย์กลางอำนาจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นชาติพันธุ์ เพศสถานะ ชนชั้นฯ


 


ชูศักดิ์ กล่าวว่า ในสังคมสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่นั้น แนวคิดเกี่ยวกับความหลากหลายมีอยู่ราว 3 ลักษณะ คือ 1. หลอมรวมความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว 2. ประนีประนอมปรองดองกับความหลากหลายที่มีอยู่ 3. ผสมผสาน พันทาง 


 


ส่วนสังคมไทยมองความหลากหลายอย่างไร ชูศักดิ์หยิบยกบทกวี "โลก" ของอังคาร กัลยาณพงศ์ (2507) (โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา  ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง  ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ  ภาคจะพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ  ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย  กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย  เมาสมมติจองหอง หินชาติ  น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้น สุขศานต์ฯ) ซึ่งดูจะสะท้อนความหลากหลายได้ก้าวหน้ากว่าเพลง "พรุ่งนี้ที่ดีกว่า" ของแกรมมี่ ซึ่งแต่งตามการมอบหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (*พรุ่งนี้ต้องดีกว่า  ถ้าเรารวมใจกัน ร่องรอยเรื่องจากเมื่อวาน เลิกแล้วลืมมันไป ให้รู้รักสามัคคี พี่น้องเราคนไทย ต่างกัน ไม่เป็นไร หากใจคิดดี)


 


"เพลงนี้เป็นการบ่งบอกความเบาบางของสติปัญญาของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี การบอกว่าต่างกันไม่เป็นไรหากใจคิดดี ทำให้เราร้องไปก็นึกชมเชยในความใจกว้างของตนเองไป และเพลงนี้ยังผลิตซ้ำวาทกรรมทางอำนาจความเป็นไทยจนล้นเกิน ไม่ว่า การรู้รักสามัคคี เลิกแล้วลืมมันไป ความหลากหลายที่พูดในสังคมอยู่ภายใต้อำนาจนำของความสามัคคีและความเป็นไทย แล้วทำให้วัฒนธรรมอื่นเป็นลูกเมียน้อย" ชูศักดิ์กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ มีบางกรณีที่ความหลากหลายปะทะกันเอง ซึ่งในท้ายที่สุดเราจะมีท่าทีกับความหลากหลายอย่างไรนั้น ชูศักดิ์เสนอว่า หากไม่มีการนิยามความเป็นไทยใหม่ให้สะท้อนความจริงของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย ก็อาจจะต้องปฏิเสธมันไปเลย เพราะมันเป็นเพียงการแย่งกันช่วงชิงความหมาย


 


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. เกริ่นนำว่า หลังเกิดรัฐประหารทำให้เขาต้องเซ็นเซอร์สิ่งที่จะมาพูดวันนี้อยู่หลายรอบ และในเวทีนี้เขาจะขอทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์โดยที่ไม่ได้ตัดสินในเชิงคุณค่าว่าดีหรือเลว ถูกหรือผิด


 


สมศักดิ์กล่าวว่า คำถามคนไทยยอมรับความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจริงหรือนั้น ตอบให้แน่นอน ชัดเจนไม่ได้ จึงควรตั้งคำถามใหม่เป็นว่า อะไรคือเงื่อนไขความเป็นไปได้ที่จะเกิดการยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง


 


เขาขยายความรูปแบบของรัฐที่จะทำให้การยอมรับความแตกต่างหลากหลายเป็นไปได้อย่างแท้จริงว่า ต้องให้ความสำคัญกับปัจเจกภาพ เพราะเป็นรากฐานของความหลากหลาย ต้องมีการยืนยันว่าหากเด็กมุสลิมอยากรับวัฒนธรรมร็อคแอนด์โรลจะทำได้อย่างไร ชาวบ้านปากมูล ถ้าอยากสร้างเขื่อนจะทำอย่างไร


นอกจากนี้ต้องมีรูปแบบของรัฐที่เหมาะสมว่า ความหลากหลายทั้งมวลจะดำรงอยู่ได้จริง


 


"ระบบปัจจุบันควรเรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีรัฐบาลบริหารราชการ สถานะของกษัตริย์เข้มแข็งกว่า 2475 มาก และที่คุณประมวล รุจนเสรีพูดนั้นก็จริงที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย รัฐธรรมนูญสองฉบับทั้งปี 34 และปี 40 นั้นยกอำนาจให้สถาบันกษัตริยล้วนๆ"


 


"นี่เป็นรูปแบบที่จงใจจำกัดความหลากหลาย ไม่ใช่ระดับสังคมวัฒนธรรมอย่างที่เข้าใจ แต่มันถึงในระดับความเป็นตัวตนของมนุษย์ หัวใจของมนุษย์คือเสรีภาพ ถ้ามนุษย์คิด พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำไม่ได้ อย่างที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้ นี่ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว" สมศักดิ์กล่าว


 


สมศักดิ์ขยายความถึงระบบที่ควรจะเป็นเพื่อให้ความหลากหลายดำรงอยู่ได้จริงว่า ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1.ต้องไม่มีศาสนา (secular) 2.เป็นประชาธิปไตย (democratic) 3.เป็นสาธารณรัฐ (republic) ทั้งสามองค์ประกอบนี้เป็นเรื่องเดียวกัน และขาดอันไหนไม่ได้


 


เดชา ตั้งสีฟ้า อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มธ.กล่าวว่า การยอมรับความหลากหลายนั้นประกอบด้วยการรับรู้ และการเข้าใจความเป็นอื่นที่ดำรงอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการตื่นตัว และไม่ปล่อยให้มีม่านกั้นความรับรู้ ทั้งที่ปรากฏในรูปการจิตสำนึกที่เราเข้าใจผู้อื่น ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ห่อหุ้มเราไว้ ตลอดจนเขตแดนของรัฐชาติ


 


"ถึงตอนนี้คนกรุงก็ยังไม่รู้ว่าเราเป็นหนี้โดยที่ไม่ได้กู้ยืม เพราะไฟฟ้าที่ใช้ในกรุงเทพฯ เกือบครึ่งมาจากโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งใช้ก๊าซที่มาจากแหล่งยาดานาในพม่า การก่อสร้างท่อก๊าซมีการเกณฑ์แรงงานชาวพม่าทั้งหญิงชาย มีการข่มขืน ฆ่า และพวกเขาก็ตายไปอย่างเงียบๆ" ตัวอย่างหนึ่งที่เดชายกประกอบ


 


เดชา กล่าวต่อว่าดังนั้นเพียงแค่การเข้าใจก็เป็นเรื่องยากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงกับยอมรับ ที่มันเป็นเรื่องยากเพราะแม้แต่ปัจเจกเองก็ยังปกปิดสิ่งที่ไม่ปรารถนา ไม่ใส่ใจว่ามีลักษณาการดังกล่าวอยู่ในตัวตน ดังนั้นอย่าหวังไปถึงการยอมรับความเป็นอื่น จึงอยากเรียกร้องให้ยอมรับว่ามันมีความเป็นอื่นที่เป็นปริศนา ความเป็นอื่นที่ยอมรับไม่ได้ดำรงอยู่


 


เขายกตัวอย่างถึงขบวนการธงเขียวที่เกิดขึ้นก่อนปี 2540 ด้วยว่า "ความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนเมือง ไม่เคยช่วยให้ชีวิตของคนชายขอบดีขึ้นเลย เพราะหลายครั้งเราก็ไม่เคยแม้แต่จะรู้ว่าเขาดำรงอยู่"


 


"เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนกับความไม่รู้ของเรา เพราะมันจะทำให้เราระวังไหวกับความเป็นอื่นทั้งที่อยู่ในตัวเราและคนอื่น"


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net