Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานการให้ความคิดเห็นของ "คณิน บุญสุวรรณ" อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่กล่าวถึงคดียุบพรรคการเมือง 5 พรรคที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งยุบ 5 พรรคการเมือง เพราะคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นพันธะความรับผิดชอบในทางการเมืองต้องสิ้นสุดลง รวมทั้งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการที่นำไปสู่การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง 5 พรรค ก็ควรจะยุติลงไปด้วย ดังนั้น ข้อกล่าวหาสำคัญที่นำไปสู่การเสนอให้ยุบพรรค ซึ่งได้แก่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 รวมทั้งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งยุบพรรคการเมืองก็จะต้องสิ้นสุดลงไปด้วย


 



"กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การจัดตั้งและการยุบพรรคการเมือง ความยึดโยงระหว่างพรรคการเมืองกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งยุบพรรคการเมือง อำนาจของอัยการสูงสุดในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง หรือแม้แต่องค์กรศาลรัฐธรรมนูญล้วนมีที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ยึดโยงและมีที่มาจากรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ต้องสิ้นสุดลงไปด้วยโดยปริยาย ถึงแม้จะมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและรัฐธรรมนูญชั่วคราวสั่งให้ดำเนินการต่อก็ต่อไม่ติด เหมือนพระภิกษุสงฆ์ที่สึกไปแล้ว ถ้าบวชใหม่พรรษาก็ต่อไม่ติด เพราะขาดไปแล้ว" นายคณิน กล่าว


 



นายคณิน กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนกฎหมายแม่ ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองเป็นกฎหมายลูก ดังนั้น เมื่อกฎหมายแม่ตายไปแล้ว กฎหมายลูกจะมีผลใช้บังคับต่อไปได้อย่างไร อย่าลืมว่าการสั่งยุบพรรคการเมืองหมายถึงการตัดสิทธิ "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" จากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าเป็นการ "ตัดสิทธิ" โดยไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่รองรับ จึงไม่สามารถทำได้


 



"คณะปฏิรูปได้ออกคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไปด้วยในคราวเดียวกัน ต่อมาเกิดนึกขึ้นมาได้ก็ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้มาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางกฎหมายมันแทนกันไม่ได้ เพราะองค์กรศาลรัฐธรรมนูญตายไปแล้ว พร้อมๆ กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยคำสั่งของคณะปฏิรูป ดังนั้น ถึงแม้จะตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจที่จะไปพิจารณาคดี ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงสรุปว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไร้ซึ่งอำนาจในการพิจารณาหรือมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นข้อหาใด" นายคณิน กล่าว


 


ด้านนายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคได้อย่างแน่นอน เพราะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติว่า บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา ตุลาการรัฐธรรมนูญ ยังไม่เคยประชุมหารือกันในประเด็นที่ว่า มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคหรือไม่ เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เนื่องจากมั่นใจว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีอำนาจที่จะพิจารณาคดียุบพรรคได้อย่างแน่นอน


 


 


............................................................


เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์คมชัดลึก / สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net