Skip to main content
sharethis

อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา


 



ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่านสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน


 


เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาบางส่วนของเดือนพฤศจิกายน ในห้วงวันที่ 1 - 15 พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางลงมายังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 2 ครั้ง และได้เข้าพบปะพูดคุยปัญหาในพื้นที่กับหลายๆ ฝ่าย รวมไปถึงการเอ่ยขอโทษประชาชนในพื้นที่กับการแก้ไขปัญหาที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ ฝ่ายมองว่า แนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่จะดีขึ้น


 


แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในห้วง 15 วันของเดือนนี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่แตกต่างจากเดือนอื่นๆ ซ้ำยังรุนแรงขึ้น โดยเริ่มต้นเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ได้มีชาวบ้านบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กว่า 300 คนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและสตรีมุสลิม รวมตัวกันปิดล้อมโรงเรียนบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3202


 


นอกจากนั้นเหตุการณ์ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 8 ตุลาคม มีคนร้ายบุกเข้าไปโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารพรานร้อยทพ.4301 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนธารทิพย์ บ้านบือซู ม.6 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยการเข้าโจมตีครั้งนี้ ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย คือ จ.ส.อ.อุทัย ไฝไทย หัวหน้าชุด สภาพถูกยิงเข้าที่ศีรษะ และบาดเจ็บ 1 นาย

อีกเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่รวมไปถึงผู้ที่รู้ข่าว เมื่อชาวไทยพุทธ ในพื้นที่บ้านสันติ 1 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลาและ บ้านสันติ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา นับร้อยคนอพยพ เข้ามาอาศัยอยู่ภายในวัด นิโรธสังฆาราม(วัดหัวควน)เขตเทศบาลนครยะลา เนื่องจากไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ หลังจากเหตุคนร้ายลอบยิงนายบุญ เอี่ยมนิรันดร์ อายุ 68 ปี และนางอารี เอี่ยมนิรันดร์อายุ 28 ปี 2พ่อลูกและเผาบ้านเลขที่ 16หมู่ 6 บ.สันติ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลาเหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 พย.49 ที่ผ่านมา


 


โดยล่าสุดจำนวนราษฎรผู้อพยพที่มาอาศัยอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม ต.สะเตง องเมืองจ.ยะลา มียอดล่าสุดจำนวน 206 คน จาก 55 ครอบครัว แบ่งเป็น จากพื้นที่ อ.บันนังสตา บ.สันติ จำนวน 21ครัวเรือน 62 คน บ้านกาโสด 1 ครัเรือน 1 คน บ้านกำปงบารู(บ้านใหม่) จำนวน 1 ครัวเรือน 5 คน บ้านบือซู จำนวน 10 ครัวเรือน 26 คน และจาก อ.ธารโต บ้านสันติ 2 จำนวน 21 ครัวเรือน 100 คน(แบ่งเป็นบ้านเย๊าะ 14 ครัวเรือน 58 คนและบ้านจุฬาภรณ์ 7 จำนวน 7 ครัวเรือน 42 คน) และบ้านจุฬาภรณ์ 9 จำนวน 1 ครอบครัว 12 คน ซึ่งหลายฝ่ายได้เข้ามาดูแล


 


และเหตุการณ์ก่อเหตุป่วนในวันเดียวกันหลายจุดของช่วงเดือนนี้ ได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา ในช่วงเที่ยงของวันที่ 9 พฤศจิกายน คนร้ายได้ก่อเหตุป่วนวางระเบิด 8 จุดในเมืองยะลา โดยส่วนใหญ่จุดเกิดเหตุเป็นโชว์รูมรถ ในเขตพื้นที่เทศบาลนครยะลารวม8 แห่งประกอบด้วย โชว์รูม ฮอนด้า , อีซูซุ , นิสสันบนถนนสายเพชรเกษม , มาสด้า ถ.รวมมิตร, ฟอร์ด, เชฟโลเลต และ ร้านแสงเจริญนาปะดู่ ,ร้านหน่ำฮั้วจั่น ถ.สิโรรส ซึ่งจำหน่ายรถจักรยานยนต์


 


โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย แต่ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต และทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหายหนักรวมทุกโชว์รูม 6 คันและเสียหายบางส่วน 6 คัน ส่วนโชว์รูมรถจักรยานยนต์มีรถเสียหายรวมกว่า 10 คัน
 
สำหรับภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-15 พ.ย. มีทั้งหมด 49 เหตุการณ์ เกิดเหตุการณ์มากที่สุดที่จังหวัดยะลา จำนวน 29 เหตุการณ์ รองลงมาเป็นจังหวัดนราธิวาส จำนวน 17 เหตุการณ์ จังหวัดปัตตานี 9 ส่วนสงขลาไม่มีเหตุการณ์


 


ส่วนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มีทั้งหมด 23 ราย เป็น ประชาชนทั้ง 12 ราย เจ้าหน้าที่ของรัฐ 9 ราย คนร้าย 2 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ มีทั้งหมด 43 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 11 ราย ประชาชน 32 ราย


 


เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งดูราวกับว่าจะสวนทางกับดำเนินนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสันติวิธีและการประนีประนอม สร้างความประหลาดใจและคำถามให้กับคนในสังคมไทยว่าเดินมาถูกทางหรือไม่ซ้ำร้ายนโยบายดังกล่าวเป็นการยอมศิโรราบกับฝ่ายก่อการร้ายอย่างน่าตำหนิ?


 


แน่นอนที่สุดว่าคำขอโทษคงจะไม่มีผลต่อจิตใจของคนในกลุ่มที่ต้องการสถาปนารัฐปัตตานีและที่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้รัฐเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลุ่มพวกเขาและเป็นการข่มขู่กลุ่มประชาชนที่เป็นกลางที่พร้อมจะเอนเอียงไปยังฝ่ายรัฐหากรัฐสามารถสถาปนาความยุติธรรมและหลักประกันความเท่าเทียมในการดำเนินชีวิตโดยไม่คำนึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา


 


ความเป็นจริงคำขอโทษของท่านนายกรัฐมนตรีได้ส่งผลในทางจิตวิทยาในการเอาชนะจิตใจของประชาชนในพื้นที่ ที่มีความคิดเป็นกลางและรักสันติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนกลุ่มคนทั้งหมด เพราะการขอโทษของท่านนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับผิดต่อการกระทำของอดีต และพร้อมเริ่มต้นโยบายที่ประนีประนอมเพียงแต่ความมั่นใจของคนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติยังเป็นสิ่งที่รอคำตอบในแง่ของการปฏิบัติ


 


ในขณะเดียวกันผู้นำมุสลิมที่เคยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมนตรีขอโทษต่อคนในพื้นที่ ควรออกมาขอโทษเหยื่อผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตโดยเฉพาะชาวพุทธในพื้นที่ที่กำลังประสพความเดือดร้อนด้วยเช่นกันพร้อมทั้งจะต้องออกมาเรียกร้องกลุ่มที่ยังใช้ความรุนแรงโดยใช้หลักการศาสนาที่บัญญัติเกี่ยวกับการให้อภัย


 


ในฐานะมุสลิมที่เข้าใจหลักการศาสนาที่ถูกต้องโดยเฉพาะหลักการของการขอโทษจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าในหลักการศาสนาเมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดมาขอโทษหน้าที่หลักของผู้ที่ถูกขอโทษคือการให้อภัย


 


"ให้อภัย" ถือเป็นสุดยอดแห่งคำสอนในอิสลาม และถือเป็นคุณลักษณะของมุสลิมอันประเสริฐสุด อิสลามสอนให้มุสลิมรู้จักให้อภัย ถึงแม้แก่เหล่าศัตรูในสมรภูมิสงครามยามที่พวกเขายินยอมการประนีประนอม


 


ด้วยเหตุดังกล่าวสังคมมุสลิมจึงสมควรเป็นธงนำในการจุดประกายวัฒนธรรมแห่ง "การให้อภัย" สมดังเจตนารมณ์แห่งอิสลามที่แท้จริง


 


อัลกุรอานได้สั่งใช้ให้ท่านศาสนดามูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ยึดปฎิบัติซึ่งการให้อภัย โดยที่การสั่งใช้ในเรื่องดังกล่าวถือเป็นการสั่งใช้แก่ประชาชาติมุสลิมเช่นเดียวกันด้วยโองการความว่า "โอ้มูฮัมมัด เจ้าจงยึดถือไว้ซึ่งการอภัยและจงสั่งให้กระทำสิ่งที่ดีงาม และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลา (ผู้ยั่วยุให้กระทำสิ่งที่มิชอบ)ทั้งหลายเถิด" (อัล-อะอฺรอฟ/199)


 


นอกจากนี้อัลลอฮฺได้กำชับให้ศาสดามูฮัมมัด(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)แจ้งแก่บรรดาผู้ศรัทธาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการให้อภัยดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า "โอ้มูฮัมมัด เจ้าจงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาให้พวกเขาอภัยแก่บรรดาผู้ที่ไม่หวังในวันทั้งหลายของอัลลอฮฺเพื่อพระองค์จะทรงตอบแทนแก่หมู่ชนตามที่พวกเขาได้ขวนขวายเอาไว้" (อัลญาชิยะฮฺ/14)


 


ดังนั้นการให้อภัยคือหนทางดับไฟใต้ของอารยชน


 


"โอ้อัลลอฮฺ ขอได้โปรดทรงให้อภัยแก่ฉันและมวลประชาชาติด้วยเทอญ".


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net