ภาคประชาชนรวมกลุ่มประกาศจุดยืนต้านเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบ

โดย ชลัญฎา วสุเมธาวศิน

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ถือเป็นปรากฏการณ์เฉพาะสำหรับ "สื่ออินเตอร์เน็ต" (New Media) ที่ถูกผลักให้ออกมาทำหน้าที่ "พื้นที่สาธารณะ" ในห้วงสถานการณ์หลังรัฐประหาร ทดแทน "สื่อเก่า" (Old Media) ไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความอยากรู้ อยากเห็น ตลอดจนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวไซเบอร์ครบทุกด้านทุกมุม

 

สภาพการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมและเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง เว็บไซด์ข่าวและทีวีออนไลน์ที่เกาะติด รายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมอย่างถล่มทลาย และกลายเป็นกระแสหนุนเนื่องและสร้างความชอบธรรมให้เกิดการกระทำรัฐประหารโดยคณะทหาร

 

ไม่แปลกใจที่คณะมนตรีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะจับจ้องและดูแลควบคุม "พื้นที่สื่อสารสาธารณะ" ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และนำมาซึ่งกระแสข่าวการปิดกั้นเว็บไซด์อย่างต่อเนื่อง

 

ชะตากรรมของเสรีชนแห่งโลกไซเบอร์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากวงกว้างถึงความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน  และด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคประชาชนส่วนหนึ่งมีการรวมตัวกันภายใต้ชื่อว่า "กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย" (Freedom Against Censorship Thailand: FACT)

 

C.J. Hinke (ซี.เจ. ฮินเก้) นักวิชาการด้านวรรณกรรมเยาวชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ริเริ่มตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ฯ กล่าวถึงแนวคิดการก่อตั้งกลุ่มฯ ว่า ตัวเขามีประสบการณ์ตรงกับการเซ็นเซอร์เว็บไซด์ โดยเฉพาะกรณีของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีการเซ็นเซอร์แหล่งข้อมูลความรู้โดยเฉพาะหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ฉบับแปลนั้นกลับไม่มีการเซ็นเซอร์แต่อย่างใด และเมื่อได้อ่านหนังสือที่มีการเซ็นเซอร์แล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่สร้างปัญหาหรือความเสียหายต่อสถาบัน

 

"จากการทำวิจัยพบว่า หนังสือที่ถูกเซ็นเซอร์เป็นหนังสือเกี่ยวกับ อ.ปรีดี พนมยงค์ ทั้งสิ้น และเมื่อเข้าไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ปรากฏว่า มีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์เกี่ยวกับ อ.ปรีดี จำนวนมาก โดยขึ้นเป็นหน้าจอสีเขียว แจ้งว่า ไอซีที ต้องปิดเว็บ เพราะมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม" 

 

การเซ็นเซอร์เว็บไซต์ถือเป็นการรบกวนการทำวิจัยวิชาการเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม และ อ.ปรีดี พนมยงค์ ของตนเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงได้ติดต่อไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ เช่น ฝ่ายกฎหมายของ True เพื่อขอรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกเซ็นเซอร์ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่า หน่วยงานราชการห้ามไม่ให้แจกลิสต์ 

 

และเมื่อทำการติดต่อไปยังกระทรวงฯ เพื่อขอดูรายการเว็บไซต์ที่ถูกเซ็นเซอร์ ทางไอซีที ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลใดๆ ถึงแม้จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปแล้วก็ตาม

 

เขาบอกว่า ที่กระทรวงไอซีทีทำการปิดเว็บไซต์ต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย และเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 37 ที่ว่ามนุษย์ต้องมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร และสามารถที่จะทำอะไรก็ได้อันไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

ในฐานะที่เป็นประชาชนที่ประสบกับปัญหา และโดนปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร จึงได้พยายามที่จะหาผู้ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อให้เข้ามารวมกลุ่มกัน โดยหลังจากวันรัฐประหาร มีเว็บไชต์ถูกปิดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมลงชื่อกับทางกลุ่มฯ เพื่อแสดงการคัดค้านการเซ็นเซอร์เว็บไซต์อย่างไม่เป็นธรรม

 

"จำนวนคนที่มาร่วมกับทางกลุ่มตอนนี้ถึงแม้จะยังมีไม่มาก แต่ก็อยากจะผลักดันให้มีการเดินหน้าต่อไป เพราะตอนนี้มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมาก บางเว็บไซต์ไม่ได้อยู่ในลิช และไม่ควรจะถูกสั่งปิด ก็ยังถูกปิดไป" 

 

ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ฯ กล่าวด้วยว่า การถูกปิดเว็บไซต์เสมือนเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่หลากหลาย อีกทั้งเป็นที่น่ากังวัลมากที่รัฐบาลเห็นว่าสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นภัยต่อรัฐบาล ทั้งที่ในความเป็นจริงสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารและสามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้

 

"ต่อจากนี้จะทำเว็บไซต์เพื่อรณรงค์เผยแพร่ข่าวสาร ส่วนถ้ากระทรวงไอซีทีจะสั่งปิดนั้น ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่จะต้องตอบมาให้ได้ถึงการกระทำนั้น อีกทั้งจะทำซีดีรายละเอียดเกี่ยวกับบล็อกลิชต่างๆ ด้วย อีกอย่างที่อยากทำคือ การฟ้องร้องต่อศาล แต่กรณีนี้ต้องดูว่าจะมีใครร่วมด้วยหรือไม่" ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มฯ กล่าว

 

สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม FACT กล่าวว่า ตอนนี้ทางกลุ่มฯ เป็นเพียงเครือข่ายหลวมๆ โดยมีผู้ที่ร่วมลงชื่อประมาณ 30 คน เพื่อออกแถลงการณ์ต้านการเซ็นเซอร์ฯ ส่วนใครจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายต่อไปนั้น ต้องคุยรายละเอียดกันอีกที

 

สุภิญญา กล่าวต่อว่า เรื่องการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เท่าที่ศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศ พบว่า ในอเมริกาจะไม่มีการเซ็นเซอร์ หรือบล็อกเว็บไซต์อย่างในประเทศไทย แต่จะมีมาตรการอย่างอื่น เช่น ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ก็จะควบคุมโดยขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่จะไม่ให้มีการใช้บัตรเครดิตผ่านเว็บที่ให้บริการเว็บไซต์ลามกและการพนัน

 

"ในต่างประเทศจะใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบล็อก การเซ็นเซอร์ เสรีภาพของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ถ้ามีการกระทำในเชิงอาชญากรรมและใช้อินเตอร์เนตเป็นเครื่องมือ ก็ต้องมีกฎหมายอีกอันหนึ่งมาดูแล เพื่อไม่ให้มีการก่ออาชญากรรม หรือว่าการพนันเกิดขึ้น แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับการมาบล็อกเว็บเพื่อไม่ให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ" 

 

เธอเห็นว่า ปัจจุบันรัฐฯ ขาดความโปร่งใสในการกำกับดูแลสื่ออินเตอร์เน็ต โดยทำการควบคุมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม หรือการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร โดยอ้างว่าจะป้องกันศีลธรรมอันดีงาม ทั้งที่จริงๆ แล้วมีเป้าหมายในการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองเท่านั้น

 

"ในประเทศเผด็จการอาจจะควบคุมทั้งหมดได้ แต่สำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ก็ควรจะมีมาตราการทางสังคมอื่น มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ หรือมาตรการกำกับดูแลกันเองออกมาช่วยเสริม เหมือนอย่างวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ส่วนมาตรการ หรือกติกาในสื่ออินเตอร์เน็ตจะเป็นอย่างไร ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ใช้เนตฯได้มีส่วนร่วมร่างกติกาด้วย"

 

ส่วนในเรื่องความเคลื่อนไหวทางกลุ่มนั้น อาจจะแบ่งเป็นสองส่วน อย่างเช่นในส่วนของผู้บริโภคที่เสียหายในการไม่มีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ก็อาจจะดำเนินการฟ้องร้องให้มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยถ้ามีผู้ใดอยากจะฟ้องร้องทางกลุ่มฯ ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

 

และอีกส่วนหนึ่งก็จะพยายามขยายเครือข่ายของกลุ่มให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการรณรงค์ กระตุ้นการรับรู้ และทำให้ประชาชนตื่นตัวเกี่ยวกับสื่ออินเตอร์เน็ต และเรื่องสิทธิเสรีภาพให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นงานระยะยาวที่จะต้องปฏิบัติต่อไป

 

ส่วนในเรื่องจุดยืนของกลุ่มฯ เลขาฯ คปส.ยืนยันว่า กลุ่มฯ ต่อต้านการเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุชุมชน ไม่เฉพาะแต่สื่ออินเตอร์เน็ต เราคิดว่าถ้าเชิงเนื้อหาสาระเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการพูด การเขียน ก็ไม่ควรถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐฯ ควรเปิดให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างเต็มที่

 

"เราต้านการเซ็นเซอร์ แต่เราไม่ได้ต่อต้านการมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน เราต้านการที่รัฐใช้อำนาจควบคุม แต่เราไม่ได้ต้านการที่สังคมจะมีกติการ่วมกันในการกำกับดูแล และเราเห็นว่ารัฐไม่ควรจะเซ็นเซอร์โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ใช้อินเตอร์เนตทุกคนควรจะมีโอกาสแสวงหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี" สุภิญญา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท