Skip to main content
sharethis


นายกรัฐมนตรีเนปาล นายกิริยา ปราสาท กัวราลา (ซ้าย)


และผู้นำกบฏลัทธิเหมาสหายประจันดา (Prachanda)


ร่วมกันลงนามในสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา


(ที่มาของภาพ REUTERS/Gopal Chitrakar)


 


ประชาไท - 22 พ.ย.2549 ประเทศย่านหิมาลัยที่แร้นแค้นอย่างเนปาลก้าวเข้าสู่ "ยุคใหม่" หลังจากที่กบฏลัทธิเหมาและรัฐบาลกลางลงนามสนธิสัญญาสันติภาพในวันนี้ เพื่อยุติสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 12,500 ศพ


 


บรรดานักการเมือง นักการทูต สื่อมวลชนต่างปรบมือแสดงความยินดี หลังจากที่ผู้นำกบฎคือสหายประจันดา (Prachanda) และนายกรัฐมนตรีกิริยา ปราสาท กัวราลา (Girija Prasad Koirala) การลงนามสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติพิเรนทรา กรุงกาฏมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล ซึ่งหลังจากนี้สันติภาพจะคืนสู่เนปาลและกบฏลัทธิเหมาจะคืนจากป่าเข้าสู่เมืองเพื่อต่อสู้ภายใต้กติกาการเมืองกระแสหลัก


 


"สัญญาแห่งความทรงจำนี้ จะหยุดยั้งระบอบศักดินาเก่าที่ดำเนินมากว่า 238 ปี ยุติซึ่ง 11 ปีแห่งสงครามกลางเมือง" สหายประจันดา อดีตครูประถมผู้ผันตัวไปเป็นผู้นำการปฏิวัติกล่าว


 


"พรรคของเราจะทำงานภายใต้ภารกิจใหม่ ภายใต้ความกระตือรือร้นใหม่ เพื่อสร้างเนปาลใหม่" สหายประจันดา ชื่อจัดตั้งซึ่งหมายถึง "ผู้ดุร้าย" ผู้นำกบฏซึ่งยึดครองเขตปลดปล่อยในเนปาลผู้นี้ให้คำมั่นสัญญา


 


นายกรัฐมนตรีกัวราลาแห่งเนปาลกล่าวว่า ประเทศซึ่งคั่นกลางระหว่างประเทศจีนและอินเดีย มีที่ราบเป็นทุ่งนาทางใต้และมีภูเขาที่สูงที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก "กำลังเข้าสู่ยุคใหม่"


 


"ข้อตกลงนี้ จะยุติซึ่งการเมืองแห่งการประหัตประหาร ยุติความรุนแรง ยุติการก่อการร้าย และจะเริ่มต้นใหม่ซึ่งการเมืองแห่งการประสานประโยชน์" นายกรัฐมนตรีกล่าว


 


"ผมอยากขอบคุณประจันดา ซึ่งหาทางออกแห่งวิกฤตด้วยสันติวิธี เนปาลจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่มุ่งสู่สันติภาพ บัดนี้เราร่วมมือซึ่งกันและกัน ตลอดจนทำความเข้าใจต่อกันเพื่อทำให้สัญญาสันติภาพนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติรูปธรรมอย่างเต็มที่" นายกรัฐมนตรีวัย 85 ปีกล่าว


 


ภายใต้สัญญานี้ ฝ่ายกบฏจะยุติการทำ "สงครามประชาชน" และจะเข้าร่วมในรัฐสภาและร่วมตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล


 


ฝ่ายกบฏจะต้องยินยอมให้อาวุธอยู่ในความควบคุมขององค์การสหประชาชาติ และถูกกดดันให้ยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งการเกณฑ์ทหาร รวมถึงการเกณฑ์ทหารเด็ก การบังคับข่มขู่ ตลอดจนการลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม


 


กว่าที่จะเกิดสัญญาสันติภาพนี้ พรรคการเมืองในรัฐสภาทั้ง 7 และกบฏลัทธิเหมามีการหารือกันกว่า 6 เดือน หลังจากที่พวกเขาร่วมมือกันชุมนุมกดดันให้กษัตริย์คเยนทราต้องคืนอำนาจให้กับรัฐสภาและลงจากอำนาจเผด็จการของพระองค์


 


โดยมีการลงนามในข้อตกลงหลักการสันติภาพเบื้องต้นมาแล้วระหว่างรัฐบาลกับกบฏลัทธิเหมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันนี้


 


สัญญาสันติภาพนี้ทำให้อนาคตของสถาบันกษัตริย์เนปาลเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในขณะที่กลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์จะทำการรณรงค์ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ต่อไปอย่างสันติวิธี จนกว่าราชวงศ์ชาห์ซึ่งครองอำนาจมากว่า 238 ปีจะปรากฏเพียงในตำราประวัติศาสตร์


 


อย่างไรก็ตาม บางพรรคการเมืองก็สนับสนุนให้กษัตริย์ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้า ให้ยังคงมีบทบาทในทางพิธีกรรม


 


ฝ่ายกบฏกล่าวว่าพวกเขาละทิ้งซึ่งการใช้ความรุนแรง และเข้าสู่การเป็นพรรคการเมืองที่เล่นการเมืองในที่แจ้ง แต่พวกเขาก็ถูกกดดันให้ยุติปฏิบัติการทางทหารอย่างการเกณฑ์ทหาร ที่มักมีผู้หยิบยกขึ้นมาโจมตีด้วย


 


สัญญาสันติภาพดังกล่าว ลงนามในศูนย์ประชุมนานาชาติพิเรนทรา (the Birenrda International Convention Centre) ซึ่งศูนย์ประชุมนี้เป็นพระนามของกษัตริย์พระองค์ก่อน ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือของเจ้าชายดิเพนทราพระโอรสของพระองค์ที่กำลังมึนเมาด้วยสุราและยาเสพย์ติด ในเหตุฆาตกรรมพระราชวงศ์หมู่ในปี 2001


 


หลังจากการฆาตกรรมแล้ว เจ้าชายดิเพนทราได้กระทำอัตนิวิบาตกรรม ทำให้กษัตริย์คเยนทราพระอนุชาของกษัตริย์พิเรนทราขึ้นมามีอำนาจ แต่เมื่อพระองค์ขึ้นสู่อำนาจกลับรวบอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารไว้ที่พระองค์เอง ก่อนที่จะประกาศปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2005.


 


ที่มาของข่าว แปลและเรียบเรียงจาก


Nepal's civil war ends as Maoists, government ink peace deal, by Deepesh Shrestha, AFP, Nov 21, 2006.


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


ผลสอบสวนกษัตริย์เนปาลมีความผิดจริงฐานใช้กำลังปราบผู้ประท้วง 21 พ.ย. 2549


 


กษัตริย์เนปาล อาจถูกดำเนินคดีจากการปะทะในเหตุประท้วง 15 พ.ย. 2549


 


สถานการณ์การเมืองเนปาลล่าสุดหลังข้อตกลงสันติภาพ 13 พ.ย. 2549


 


รายงาน : ฤาเนปาลจะสิ้นเสียงปืน (ตอนที่ 2) ชะตากรรมของกษัตริย์สมมติเทพ 13 พ.ย. 2549


 


รายงาน : ฤาจะสิ้นเสียงปืน หลังเนปาลใหม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพ 11 พ.ย. 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net