รายงานเสวนา แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ประเด็นความท้าทายและข้อเสนอแนะ

วิทยากร บุญเรือง

 

 

ปราณม สมวงศ์ จากMAP Foundation

 

จากการเสวนา "ก้องมาจากสาละวิน" โครงการสัมมนาสร้างความเข้าใจต่อสถานการ

ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์พม่า จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACB) ร่วมกับ สื่ออิสระล้านนา (Lanna

Independent Media) และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ภาคเหนือ ณ ร้านเล่า กาดเชิงดอย จังหวัด

เชียงใหม่

 

โดยในหัวข้อ "สถานการณ์แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์พม่าในไทย" ปราณม สมวงศ์ วิทยากรจาก MAP

Foundation ได้อธิบายถึงสถานการณ์และข้อเสนอแนะดังนี้ ...

 

พื้นที่อำเภอแม่สอดในจังหวัดตากและที่อำเภอมหาชัยจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเขตอุตสาหกรรมที่

พัฒนาขึ้นมาในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา เพราะได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศ

พม่า

 

ในปี พ.ศ. 2548 - 2549 มีแรงงานมาจดทะเบียนทั้งหมด 889,468 คน ซึ่งแยกมาจดทะเบียนในเดือน

มิถุนายน 2548 - 2549 จำนวน 668,576 และเดือนมีนาคม 2549 - 2550 จำนวน 220,892 คน แรงงาน

เหล่านี้มาจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทำงานในโรงงานเสื้อผ้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานประดิษฐ์ของใช้

ต่างๆ รวมถึงแรงงานทำงานตามบ้าน แรงงานที่ทำงานก่อสร้าง ร้านอาหาร ฯลฯ

 

การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์

 

ในพื้นที่อำเภอแม่สอด หรือชายแดนอื่นๆ ที่ดูเหมือนเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ถูกจัดตั้งขึ้นในบาง

จังหวัดและเขตชายแดน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทย โดยการจ้างแรงงานข้ามชาตินับแสนคน ใน

เขตพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เคยเป็นพื้นที่ชนบท และแต่เดิมมามีการจัดสรรการให้การบริการตามความเหมาะสม

ของประชากรในพื้นที่นั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์ในพื้นที่เหล่านี้บ่งบอกถึงความต้องการการบริการ

ใหม่ ที่ต้องมีเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มใหม่ที่พึ่งเข้ามา

 

ประชากรเหล่านี้คือแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งได้รับการเชิญให้เข้ามาทำงาน แก้ไขปัญหา

การขาดแคลนตลาดแรงงานของไทย โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน พื้นที่ในประเทศไทย

ซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในจังหวัด ตาก ระนอง พังงา ภูเก็ต

สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติหญิงนับแสนคนที่ทำงานเป็นผู้ช่วย

ทำงานบ้านในเขตของนายจ้างในกรุงเทพมหานคร แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการต่างๆ ได้

 

ความต้องการด้านสุขภาพ

 

ในหลายๆ พื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง ในแรงงานอุตสาหกรรมตัด

เย็บเสื้อผ้าในอำเภอแม่สอด แรงงานมากกว่าร้อยละ 70 เป็นแรงงานหญิง พวกเธอไม่สามารถเข้าถึง

บริการสุขภาพผู้หญิงที่มีประสิทธิภาพ หรือบริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงเอดส์ , เด็กที่เกิดมาแล้วมีอาการผิดปกติ (โรคเพดานปากแหว่ง) ซึ่งโรคเหล่านี้หลีกเลี่ยงได้ หากขณะที่แม่ตั้งครรภ์มีการส่งเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสม มีการป้องกัน การรักษาและการบริการดูแล

 

แรงงานข้ามชาติหญิงได้รับความทุกข์ทรมานจากโรค อะนีเมีย ภาวะโภชนาการบกพร่อง โรคติดต่อ โรคติดเชื้อจากการทำแท้ง ความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ

 

ข้อเสนอแนะของความต้องการด้านสุขภาพ

 


  • รัฐออกกฎหมายเพื่อจ้างและอบรมแรงงานข้ามชาติทั้งหญิงและชายเพื่อทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สุขภาพเต็มเวลา

  • กระทรวงสาธารณะสุขและกระทรวงแรงงานควรสั่งให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนจ้างแรงงานข้ามชาติ ให้แรงงานข้ามชาติมีวันหยุดและได้รับการจ่ายเงินค่าจ้าง เพื่อใช้เวลานั้นในการเข้าอบรมและให้บริการการให้การปรึกษาด้านสุขภาพ

 

พื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัยในชุมชน

 

ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ แต่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้จัดให้มีพื้นที่สาธารณะหรือที่อยู่อาศัยในชุมชนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ แรงงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ในห้องพักที่นายจ้างจัดให้ อาจจะเป็นโรงพักที่อยู่ในบริเวณโรงงาน กระท่อมที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ในพื้นที่ก่อสร้าง หรือพื้นที่เล็กๆ ภายในบ้านหากแรงงานทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน เมื่อแรงงานหญิงไปหานายจ้างไม่ใช่แค่งานที่ทำอย่างเดียวแต่เป็นที่อยู่อาศัยของเธอด้วย

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเปรียบเทียบได้กับภาวะความรุนแรงในครอบครัว เธอไม่สามารถที่จะหนีจากการละเมิดได้ เนื่องจากสูญเสียความปลอดภัยและกรณีของแรงงานข้ามชาติ เธอจะสูญเสียสถานภาพด้านกฎหมาย

 

ข้อเสนอพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัยในชุมชน

 


  • แต่ละจังหวัด ใช้สถิติตัวเลขของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดทำการพัฒนาที่อยู่อาศัยทางเลือกที่ถูก ปลอดภัย เหมาะสมแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหญิงและชาย

 

สถานภาพการทำงาน

 

สภาพการทำงานของแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในโรงงาน ทำงานตั้งแต่เวลาแปดนาฬิกาถึงสิบเจ็ดนาฬิกา ในช่วงเวลาที่มีการผลิตสูงสุด ต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่สิบแปดนาฬิกาถึงเช้าของอีกวัน แรงงานจะได้รับค่าแรงประมาณ 50-70 (เป็นจำนวนแค่หนึ่งในสามของค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย) และประมาณ 30 บาทต่อการทำงานล่วงเวลาหกชั่วโมง

 

นอกจากนี้นายจ้างยังหักเงินประมาณ 100-300 บาท เป็นค่าที่อยู่อาศัย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พักแคบๆ ที่แออัดในหอพัก) หักค่าทำใบอนุญาตทำงาน ดังนั้นค่าแรงที่แรงงานหญิงเหลืออยู่ประมาณ 1200 - 1500 ต่อเดือน ยังมีการหักค่าอื่นๆ ในที่ทำงาน เช่น กรณีโรงงาน บี บี ทอป โรงงานรีล้ง กฎและระเบียบต่างๆ ในภาษาพม่าได้ถูกปิดอยู่ในบริเวณโรงงาน ซึ่งรวมการหักเงิน 50 บาทหากแรงงานเข้าห้องน้ำนานเกินไป หรือการมาทำงานสาย 5 นาที หากแรงงานขาดงานครึ่งวันจะถูกหักเงิน 200 บาท ซึ่งหมายถึงค่าแรง 4 วันของแรงงาน สภาวะเหล่านี้แรงงานหญิงได้ให้การในชั้นศาลแรงงานจังหวัดแม่สอด ซึ่งรวมถึงนายจ้างได้ยึดเอกสารส่วนตัวเช่นบัตรอนุญาตทำงานของพวกเธอ พวกเธอต้องอยู่โดยไม่มีเอกสารประจำตัว

 

ทำให้ตนเองไม่มีความปลอดภัย หรืออาจจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้าตรวจค้น จับกุมหรือส่งพวกเธอกลับประเทศข้างต้นเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งนี้พวกเธออยู่โดยปราศจากบัตรประกันสุขภาพ พวกเธอไม่สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพ 30 บาท ถึงแม้ว่าพวกเธอจะซื้อประกันสุขภาพ 1900 บาท ระหว่างที่ขอจดทะเบียนอนุญาตทำงาน

 

ข้อเสนอสภาพการทำงาน

 


  • กระทรวงแรงงานควรจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ในการจัดตั้ง การดำเนินการ และการตรวจสอบกลไกสำหรับแรงงานข้ามชาติในกระบวนการการใช้สิทธิและการร้องทุกข์ในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ

  • กระทรวงแรงงานควรจัดจ้างและฝึกอบรมล่ามแปลภาษาเพื่อทำงานในสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและในศาลแรงงาน รวมถึงการพัฒนาพจนานุกรมภาษากฎหมาย ภาษาพม่า ลาว กัมพูชา

  • ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควรสร้างหลักประกันเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องประสบกับการคุกคาม ข่มขู่ จับกุม หรือบังคับส่งคนกลับประเทศต้นทาง ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย

  • คณะกรรมการบริการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กระทรวงแรงงานควรจะขยายโอกาสให้ตัวแทนแรงงานข้ามชาติเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้

 

 

อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน

 

แรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในประเภทงานที่มีหลากหลายในประเทศรวมถึง การฉีดพ่นสารเคมีในสวนส้ม สวนลิ้นจี่ในอำเภอฝาง งานก่อสร้างทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โรงงานผลิตเสื้อผ้า ไหมพรม โรงงานแหอวน อุตสาหกรรมประมง และงานผู้ช่วยแม่บ้าน งานส่วนใหญ่เหล่านี้แรงงานต้องทำกับสารเคมี การยกของที่หนัก การยืนทำงานและการเคลื่อนไหวที่ซ้ำกันต่อเนื่องหลายชั่วโมง ถูกจำกัดการใช้ห้องน้ำ ไม่มีแรงงานข้ามชาติคนไหนเลยที่ให้ข้อมูลว่าพวกเขาได้รับการอบรมเรื่องอาชีวะอนามัย และความปลอดภัยในที่ทำงาน ความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถให้ข้อมูลและเป็นที่ปรึกษาและไม่มีกลไกสำหรับแรงงานหญิงที่จะร้องทุกข์ได้โดยปราศจากผลกระทบที่สะท้อนกลับมา เช่น การถูกไล่ออกทันที การข่มขู่ที่กระทบต่อความปลอดภัยส่วนบุคคล การถูกแทรกแซงพื้นที่ส่วนบุคคล โดยการจ้างกลุ่มอันธพาลเพื่อมาทำร้ายแรงงาน เป็นต้น

 

ข้อเสนอเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน

 


  • นายจ้างทุกคนต้องจัดอบรมเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน ให้แก่แรงงานที่ทำงานกับตน แรงงานข้ามชาติที่เข้ารับการอบรมดังกล่าวควรได้รับการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับเวลาที่พวกเขาได้เข้าการอบรม

  • กระทรวงแรงงานควรจัดการอบรมที่แยกออกมาจากการอบรมข้างต้น เพื่อพัฒนาให้มีแรงงานข้ามชาติที่สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างต้องจัดให้มีเวลาและจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในที่ทำงาน สามารถปฏิบัติงานได้

  • กระทรวงสาธารณะสุขควรจะมีการสำรวจสุขภาพของแรงงานข้ามชาติหญิงที่เกี่ยวเนื่องจากสภาพการทำงานและโรคที่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะให้กับนายจ้าง

  • กระทรวงยุติธรรมควรจะอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการชดเชยค่าเสียหายในกรณีอุบัติเหตุจากการทำงานอุตสาหกรรม และปัญหาสุขภาพที่มีผลจากการทำงานในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย

 

การถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง

 

จนถึงปัจจุบันนี้ แรงงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชาและลาวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารเข้าเมือง ภายใต้นโยบายเรื่องแรงงานในประเทศไทย แรงงานที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานไม่สามารถที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดเขตที่จดทะเบียนได้ แรงงานสามารถที่จะย้ายนายจ้างหรือสถานที่ทำงานได้ ต้องแจ้งกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด แรงงานต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจดทะเบียนขออนุญาตทำงานและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ใหม่ ส่วนนายจ้างที่จดทะเบียนจ้างผู้ช่วยแม่บ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ มีอภิสิทธิ์ที่จะพาผู้ช่วยแม่บ้านคนนั้นไปกับตนที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย

 

การถูกจำกัดการเดินทางก่อให้เกิดความเปราะบางและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นกับแรงงานหญิงข้ามชาติ ถ้าแรงงานต้องการที่จะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นเพื่อความสำเร็จส่วนตัว พวกเธอไม่มีทางเลือกแต่พยายามเคลื่อนย้ายโดยไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย ผู้หญิงหลายคนต้องจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อแลกกับการช่วยเหลือ ให้พวกเธอเคลื่อนย้ายและผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร

 

กระบวนการใช้นายหน้านั้น เริ่มจากหาเงินเพื่อจ่ายนายหน้า , เดินทางโดยการซ่อนตัวหรือปลอมตัว , ไม่มีการทำสัญญาหรือปกป้องใดๆ , ผู้หญิงไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยในการจัดการเดินทาง หรือจุดหมายปลายทางที่จะไปถึง ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงในการที่จะถูกขู่ กรรโชก จากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ความรุนแรง (ทางกาย, ทางเพศ, ทางอารมณ์) , อันตรายจากการขาดอากาศหายใจขณะที่ซ่อนตัวอยู่ในรถ, การดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย , การถูกลักพาตัว และท้ายที่สุด ต้องตกอยู่ในภาวการณ์บังคับใช้แรงงาน

 

แรงงานที่ย้ายพื้นที่ข้ามจังหวัดตามกระบวนการดังกล่าวตามบรรยายขั้นต้นนั้น ต้องตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก หากมีการเอารัดเอาเปรียบครั้งที่สองในสถานที่ทำงาน พวกเธอต้องตกอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง รวมถึงการจ่ายค่าบัตรอนุญาตทำงาน เพื่อย้ายกลับไปที่สถานที่ทำงานเดิม หรือย้ายไปจังหวัดอื่น เจ้าหน้าที่ที่แทบจะทั้งหมดในทุกพื้นที่ไม่มีการอำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวเลย เช่น กรณีแรงงานพม่าที่ทำงานในโรงงานแหอวนเดชาพานิช จังหวัดขอนแก่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง แรงงานมีความหวาดกลัวหลังจากที่มีกรณีพิพาทกับนายจ้างเรื่องสภาพการทำงานและขอให้กลับไปที่อำเภอแม่สอด แรงงานถูกส่งกลับไปที่อำเภอแม่สอด และบังคับส่งกลับประเทศพม่า แรงงานทั้งหมดต้องสูญเสียสถานภาพทางกฎหมายและไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้

 

ในกรณีคล้ายกันที่เกิดขึ้นกับแรงงานที่ได้ย้ายจากอำเภอแม่สอด ซึ่งถูกข่มขู่และใช้กำลังจากนายจ้างพื้นที่หาดใหญ่ แรงงานได้รับอนุญาตให้ใช้กระบวนการในการกลับจังหวัดเดิมที่เคยจดทะเบียน แต่ไม่มีความหมายของการเคลื่อนย้ายทางกายภาพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แรงงานถูกทำให้กลายเป็นคนผิดกฎหมายและภัยคุกคาม ดังนั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่ในที่สาธารณะจะถูกขัดขวางและสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

 

ในกรณีแรงงานจากหาดใหญ่นั้น แรงงานต้องขึ้นอยู่กับการส่งตัวของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งตัวพวกเขาจากอำเภอหาดใหญ่มาที่อำเภอแม่สอด พวกเขาต้องเดินทางในรถบรรทุกที่ไม่มีหลังคาจากอำเภอหาดใหญ่มาที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงในขณะที่มีฝนตกหนัก และหลังจากนั้นแรงงานต้องอยู่ในห้องกักของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอีกหลายวัน

 

ถึงแม้ว่าการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในห้องกัก สมเหตุสมผล แต่แรงงานเหล่านี้ไม่ได้ทำการใดที่เป็นการผิดกฎหมายเลย ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สมควรที่จะต้องทนทุกข์ต่อสภาวะการที่ไร้มนุษยธรรมในการต้องถูกกักตัว ทั้งนี้ก็เพราะว่าไม่มีที่อยู่อาศัยของชุมชน การบริการรถสาธารณะที่พวกเขาจะใช้ได้ ทางเลือกเดียวที่มีอยู่ก็คือการตกในภาวะดังกล่าว

 

ข้อเสนอแนะเรื่องการถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง

 


  • ต้องยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและเดินทางของแรงงานที่จดทะเบียน

  • ควรมีการจัดตั้งที่พักค้างคืน เกตเฮาส์ ที่อยู่ระหว่างทาง ซึ่งอาจจะดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนโดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ในประเทศไทย

 

การถูกจำกัดสิทธิในการรวมตัวเจรจา

 

แรงงานข้ามชาติถูกจำกัดตามกฎหมายไทยไม่ให้มีสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานของตนเอง กฎหมายเฉพาะเจาะจงว่าบอร์ดของแต่ละสหภาพแรงงานต้องเป็นคนไทยมีสัญชาติไทย และเกิดในประเทศไทยเท่านั้น (พรบ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 101) แรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกสหภาพได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่แรงงานข้ามชาติทำงาน (โรงงานการ์เม้นท์ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า) แม่สอด ได้ตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อว่าจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และไม่มีสหภาพแรงงานไทยในพื้นที่นี้สำหรับให้แรงงานเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้

 

นอกจากนั้น มีแรงงานไทยแค่ร้อยละสามที่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน ดังนั้นแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายอย่าง ด้วยตัวแทนอันน้อยนิดในการรณรงค์เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของพวกเขา แรงงานถูกจำกัดด้านกายภาพในการจัดตั้งคณะกรรมการ เนื่องจากพวกเขาไม่มีเวลา ไม่มีพื้นที่ชุมชนในการปกครองตนเอง และมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเพื่อพบปะกับเพื่อนแรงงานในพื้นที่อื่นได้ยาก

 

ข้อเสนอแนะสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง

 


  • กระทรวงแรงงานควรจะบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับชั่วโมงการทำงาน วันหยุดประจำปี และวันหยุดตามประเพณี

  • กระทรวงแรงงานควรสั่งการให้นายจ้างทุกคนที่จ้างผู้ช่วยแม่บ้านให้มีการเซ็นสัญญาการจ้างงาน ซึ่งเฉพาะเจาะจงไปที่ชั่วโมงการทำงานและสภาพการทำงานซึ่งมีหลักประกันว่าต้องมีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ต่อผู้ช่วยแม่บ้าน

  • องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องสร้างพื้นที่ในชุมชนให้เปิดรับและแรงงานข้ามชาติสามารถใช้ได้

 

กรณีผู้ลี้ภัยไทใหญ่

 

ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ มีการประมาณการกันว่าในจำนวนประชากรที่เป็นผู้พลัดถิ่นนั้น มีผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ประมาณ 200,000 คนซึ่งต้องการที่พักที่ปลอดภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 ทหารไทยได้ผลักดันผู้ลี้ภัยไทใหญ่กว่า 400 คน ซึ่งรวมถึงเด็กกำพร้า 280 คน ในบริเวณชายแดนไทย - ไทใหญ่ ดอยไตแลงบริเวณตอนเหนือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยกว่า 1,800 คน ที่หลบภัยในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

 

พื้นที่นี้ได้ถูกจัดให้อยู่ในความปกครองของ UWSA มาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2548 มี 68 ครอบครัวที่ถูกบังคับให้ย้ายกลับไปที่ชายแดนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548

 

ข้อเสนอแนะกรณีผู้ลี้ภัยไทใหญ่

 


  • อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยไทใหญ่ได้เข้าถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรช่วยเหลือต่างๆ ในประเทศไทย

  • รัฐไทยต้องไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ไปสู่น้ำมือรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะผู้หญิง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท