Skip to main content
sharethis

26 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ศูนย์สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ซึ่งร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ได้รายงานสถิติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 พฤศจิกายน 2549 พบเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงถึง 2,929 ราย พฤติกรรมที่ถูกกระทำสูงสุด 4 อันดับ คือ 1.ทำร้ายร่างกาย 2.ถูกข่มขืน โดยเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนมากที่สุด 3.ทำอนาจาร และ 4.พรากผู้เยาว์


 


บุคคลที่ทำร้ายเด็กและผู้หญิงเหล่านี้ กลายเป็นคนใกล้ชิดหรือเพื่อนมากที่สุด รองลงมา คือ คนในครอบครัว ขณะที่รายงานของศูนย์พึ่งได้ โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล 82 แห่ง พบเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 พฤศจิกายน 2549 สูงถึง 13,550 ราย ผู้ที่สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจให้เด็กและผู้หญิง คือ คนในครอบครัวมากที่สุด 6,122 ราย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นการกระทำของสามีต่อภรรยา


 


สาเหตุของการกระทำรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ การเมาสุราหรือติดสารเสพติด ตามด้วยหึงหวง ทะเลาะวิวาท และพบเรื่องสื่อลามกเป็นแรงจูงใจด้วย ส่วนมูลค่าการรักษาและช่วยเหลือมีมากถึง 6 พันกว่าล้านบาท แต่ถ้าดูเฉพาะข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ แสดงว่าในปี 2549 มีเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง 37 คนต่อวันเป็นอย่างต่ำ


 



"พม. กำลังแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและผู้หญิง หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ..... ที่ระบุชัดเจนว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครอบครัว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในระหว่างชั้นการสอบสวนสามารถห้ามผู้กระทำความรุนแรง เข้าไปอยู่ในบ้าน หรือเข้าใกล้บุคคลในครอบครัว รวมถึงการห้ามดูแลบุตรได้ ซึ่งต่างจากกฎหมายอาญาที่ต้องรอให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเสียก่อน ถึงจะมีคำสั่งลักษณะนี้ได้ โดยร่างนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการลงโทษอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้กลับตัว รักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว หากกระทำได้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ดีกว่าการหย่าร้าง แล้วให้ฝ่ายชายไปทำความรุนแรงกับครอบครัวใหม่ โดยที่ตัวเขาก็ไม่คิดจะแก้ไข คาดว่าจะนำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่ ครม. ภายใน 2 สัปดาห์นี้"



 


........................


ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net