Skip to main content
sharethis

อ.อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)


ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ ๑ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๑ เป็นปีแรก


การจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันเอดส์โลก จะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนได้ให้ความเห็นใจและห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ตลอดจนให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้การขยายตัวของโรคนี้ลดน้อยลงโดยมีวัตถุประสงค์หลักสามารถแบ่งเป็นข้อดังต่อไปนี้ คือ


๑. เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์


๒. เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ


๓. เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง


๔. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ


๕. เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น


โรคเอดส์ AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีบั่นทอนให้อ่อนแอลง จนถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆได้อีก จนเริ่มติดเชื้อ หรือเกิดเป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น     


เอชไอวี HIV ย่อมาจาก human Immunodeficiency Virus โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆที่เข้ามาในร่างกายเวลาที่เราเจ็บป่วย


การที่คนเราจะได้รับเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า "ติดเอดส์"ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะติดกันได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน หากต้องมีช่องทางการติดที่เฉพาะจริงๆ เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตง่ายๆ ว่า


ต้องมีองค์ประกอบ  อย่างครบถ้วน จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเชื้อ คือ
๑.  ต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี เข้าสู่ร่างกาย โดยต้องมาจากแหล่งที่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะทำให้ติด ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด

๒.เชื้อที่จะทำให้ติดต่อได้นอกจากเรื่องปริมาณแล้ว เชื้อต้องมีคุณภาพและแข็งแรง เช่น ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด มีอาหาร มีสภาพที่พอเหมาะที่จะทำให้เชื้อเติบโตได้แต่ถ้าไปอยู่ในน้ำลาย น้ำตาเชื้อไวรัสจะอยู่ในสภาพที่เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้มันไม่แข็งแรง ไม่มีคุณภาพ เติบโตไม่ได้ หมดความสามารถที่จะทำให้ติดต่อได้

๓. ต้องเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัส ส่งต่อเชื้อได้โดยตรงเช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการร่วมเพศ ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรง


ในกรณีการร่วมเพศ ถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออยู่เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด หรือถ้าผู้หญิงมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางปลายเปิดของ องคชาติ


คนส่วนใหญ่จะกังวลกับการติดเอดส์ จากช่องทางที่มีโอกาสเสี่ยงน้อยมากๆ เช่น การช่วยคนประสบอุบัติเหตุ การสัมผัสกับเลือด ตามแต่จะสมมติกัน แต่มักจะไม่คิดถึงช่องทางที่ทำให้ติดเอดส์จากวิถีชีวิต และพฤติกรรมทางเพศที่กระทำอยู่เป็นประจำ


จากสถิติพบว่าโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์ชาติไปมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก เพียงช่วงแรกของการแพร่ระบาดได้มีผู้ติดเชื้อไปถึง 62 ล้านคน


ทั้งๆที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคเอดส์ลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ให้มีการประสานและร่วมมือกันระหว่างองค์การทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน แต่สถานการณ์ของโรคกลับแพร่กระจายมากขึ้น และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ เป็นที่เข้าใจกันว่าโรคนี้เกิดเฉพาะในกลุ่มชายรักร่วมเพศ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาเข้าเส้นร่วมกัน และกลุ่มที่มีความสำส่อนทางเพศ แต่ในปัจจุบันโรคนี้ได้แพร่กระจายเข้าไปในกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ที่ได้รับการบริจาคเลือดหรืออวัยวะที่มีเชื้อโรคเอดส์ ทารกในครรภ์มารดาที่ติดเชื้อเอดส์ และยังกระจายไปยังกลุ่มเยาวชน และผู้หญิงอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ไว้ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๔๖  ทั่วโลกมีผู้เป็นเอดส์ทั้งสิ้น กว่า ๓๘  ล้านคน


โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อโรคเอดส์นี้ เป็นผู้ใหญ่ประมาณ ๓๑ ล้านคน เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี อีก ๗ ล้านคน ในปีเดียวกันทั่วโลก มีผู้ป่วยโรคเอดส์ตายไปกว่า ๓ ล้านคน อีกทั้งข้อมูลของยูเอ็นเอดส์ยังระบุอีกว่า ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิง เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี มากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะผู้หญิงในเอเชียตะวันออก มีอัตราของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕๖ รองลงมาคือ ผู้หญิงในยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ยังไม่ป่วยเป็นโรคเอดส์) สูงถึง ๓๙.๔  ล้านคน เทียบกับเมื่อปี ๒๕๔๕  มีเพียง ๓๖.๖  ล้านคน และปี ๒๕๔๖ มีอยู่แค่ ๓๘ ล้านคน

ปัจจุบันทวีปเอเชีย มีอัตราเพิ่มของผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก โดยในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศต้นๆที่ได้รับเชื้อเพิ่ม เฉพาะรัสเซียประเทศเดียว ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ต่ำกว่า ๘๖๐๐๐๐  คน



ในบรรดาผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก เกือบ ๔๐  ล้านคน ผู้ติดเชื้อประมาณ ๓๗ ล้านคน มีอายุระหว่าง ๑๕-๔๙  ปี ในจำนวนนี้เป็น เพศหญิงเกือบครึ่ง  โดยเฉพาะผู้หญิงทั่วโลกที่อยู่ในวัยตั้งแต่ ๑๕-๒๔ ปี กลายเป็นเหยื่อเอดส์รายใหม่ เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ ๖๐  และเยาวชนหญิง วัยระหว่าง ๑๕-๑๙ ปี เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ  ๕๖  มีรายงานว่า เฉพาะทวีปแอฟริกา แถบทะเลทรายซาฮารา พบการติดเชื้อเอชไอวีในผู้หญิงสูงถึง ๑๓.๓  ล้านคน


จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นสำหรับผู้นำศาสนาอิสลาม พุทธ คริสต์และศาสนาอื่นๆที่อยู่ในประเทศไทย ต้องมีความตระหนักต่อปัญหาโรคเอดส์  ต้องรวมตัวกันโดยใช้จุดแข็งของจิตวิญญานด้านศาสนาและยาใจ(เพราะการกินยาต้านไวรัสเอดส์อย่างเดียวไม่เพียงพอทำให้สบายใจได้)ในการเปิดเวทีโดยอาจใช้ชื่อว่าเครือข่ายองค์ศาสนาด้านเอดส์ในประเทศไทย (Interfait Network on AIDS in Thailand )  เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ จากชุมชนทางศาสนาต่าง ๆ โดยอาศัยสถานการณ์นี้เราจึงรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นชุมชนเดียวกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ร่วมมือกันระหว่างศาสนา เพื่อประโยชน์ของสังคมของเรา ในขณะเดียวกัที่เห็นคุณค่าร่วมกันในด้านศักดิ์ศรีมนุษย์และสิทธิมนุษยชน (เพราะเป็นเพื่อนบ้านกัน)


การจัดจัดตั้งองค์กรดังกล่าว เพื่อยืนยันที่จะอุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะต่อผู้ที่ติดเชื้อฯ ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว แม้ว่าแต่ละศาสนาจะมีความแตกต่างในความเชื่อและวิถีในศาสนกิจ แต่ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือการให้บริการมนุษยชาติ ภายใต้ความเชื่อพื้นฐานและการเคารพต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน

เอชไอวี/เอดส์ มิใช่
เพียงการลงโทษสำหรับผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน หากแต่เป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับความเชื่อและการอุทิศตน สร้างโอกาสให้ศาสนิกรับใช้ผู้ที่กำลังทนทุกข์ทรมานในสถานการณ์นี้ชุมชนทางศาสนาได้รับการท้าทายด้วยความเชื่อและหลักธรรมของศาสนาแห่งตนที่ไม่เห็นด้วยกับการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นจึงควรนำหลักธรรมที่คล้ายคลึงกันในทุกศาสนา นั่นคือ ความรัก ความเมตตา การรับใช้ มาร่วมกันระดมพลังเพื่อความสมบูรณ์ของบรรดาผู้ติดเชื้อฯ ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบ


บนความหลากหลายของชุมชนทางศาสนาทำให้สามารถสร้างเวทีแลกเปลี่ยน หารือ ติดตามสถานการณ์และปัญหาโรคเอดส์ร่วมกันจนเกิดความตกลงร่วมกันว่า จะกลับไปกระทำภารกิจของตนเองบนพื้นฐานความเชื่อของตน ไปสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ เสริมสร้างกำลังใจแก่พี่น้องที่ติดเชื้อและกำลังป่วย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปสู่การเคารพคุณค่าชีวิต และความสัมพันธ์ที่มีความหมายในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ณ วันนี้ ปัญหาเอดส์ในสังคมไทยอาจจะบรรเทาลงด้วยมือของ
ผู้นำศาสนาและศาสนิกต่าง ๆ ที่ยึดมั่นดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอน แต่เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์เอดส์ในโลกและแม้ในสังคมไทยเองยังคงรุนแรงอยู่ กระนั้นก็ดี เรา ศาสนิกชนมีความเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาทุกเรื่องสามารถสำเร็จได้ด้วยการหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความรัก ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสมมันจะเติบโตขึ้นและบังเกิดผลต่อสังคม โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้นำศาสนาและศาสนิกอื่น ๆ จากทุกมุมบนโลกใบนี้อย่างสมานฉันท์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net