Skip to main content
sharethis


 


กว่า 10 ปีมาแล้ว ที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมใจกันจัดพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำขึ้นทุกๆ ปี และในปีนี้เป็นวาระอันเป็นมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ชาวบ้านตำบลสะเอียบจึงร่วมใจกันจัดพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในปีมหามงคล


 


ณ บริเวณริมแม่น้ำยม ที่ชาวบ้านเรียกว่าผาอิง ชาวบ้านกว่า 300 คน ได้เดินทางมารวมกันแต่เช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 โดยพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา การสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านได้ปรับมาใช้จากการสืบชะตาของคน โดยเชื่อว่าการสืบชะตาแม่น้ำนอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพต่อแม่น้ำ ซึ่งมีบุญคุณต่อชาวบ้านและชุมชนตลอดเสมอมา ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในการปกป้อง พิทักษ์ รักษาแม่น้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงลูกหลานและชุมชนตลอดไปชั่วกาลนาน


 


 


 



 



นายสอนชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบเล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น และบ้านดอนชัยสักทอง ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มราษฎรรักป่าขึ้นมา เนื่องจากตระหนักในคุณค่าของป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ "ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำมากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องป่า แม่น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด ทั้งผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร จนชาวบ้านถือว่าเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน ต้องช่วยกันรักษา เราร่วมใจกันปฏิบัติสืบมาจนกลายเป็นประเพณีของชุมชนไปแล้ว"


           


เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านแต่ละคนก็ได้นำผ้าเหลืองที่เตรียมมา ไปมัดยังต้นไม้ ที่ชาวบ้านเรียกว่าดงสักงาม ซึ่งมีต้นสักขนาดใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ต้นไม้ต้นนี้ ป่าแห่งนี้ ได้บวชแล้ว เปรียบเสมือนผู้ชายเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็จะบวชเป็นพระสงฆ์เพื่อสนองพระคุณพ่อแม่ และสานต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นกุศโลบายที่บอกถึงการปกป้องรักษาต้นไม้ รักษาป่าสักทองแห่งสุดท้ายของประเทศนี้ไว้ ใครจะมาตัดทำลายมิได้ เพราะเปรียบเสมือนทำลายพระสงฆ์ และทำลายพุทธศาสนา


 



 


 




 


นายมูล ศรีคำภา ผู้อาวุโสของชาวบ้านดอนชัยสักทอง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ในปีมหามงคลที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ชาวบ้านต่างมีความภูมิใจในการร่วมกันจัดพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในปีมหามงคลนี้"


 



 


นายวาด เทือกฉิมพลี กล่าวถึงการสืบเนื่องในพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำของชาวบ้านสะเอียบว่า "เราต้องการที่จะแสดงให้สังคมได้รับรู้ว่าที่ป่าสักทองแห่งนี้ เป็นป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย คนไทยทั้งชาติควรเห็นคุณค่า ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ และให้การสนับสนุนการรักษาป่า รักษาแม่น้ำร่วมกับชุมชนสะเอียบให้ถึงที่สุด"


 


ต่อคำถามที่ว่า หากรัฐบาลผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อป้องกันน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลต่อป่าสักทองแห่งนี้ นายวาดได้ชี้ให้เห็นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะรองรับน้ำจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมเพียง 11 สาขาเท่านั้น ขณะที่อีกกว่า 60 ลำน้ำสาขาด้านล่างลงไปก็ก่อให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือตอนล่างได้เหมือนกัน และได้มีการทำการศึกษาจากนักวิชาการมาแล้วว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วมในเขตจังหวัดแพร่ ถึง เด่นชัยได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าหากน้ำท่วม 1 เมตร เขื่อนแก่งเสือเต้นจะบรรเทาให้น้ำลดลงได้เพียง 8 เซนติเมตรเท่านั้น กับงบประมาณที่ต้องลงทุนถึง 12,000 ล้านบาทถือว่าไม่คุ้มค่า อีกทั้งชาวบ้านยังได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง อย่างเป็นระบบเครือข่ายมาหลายครั้งแล้วแต่รัฐบาลหลายรัฐบาลกลับไม่สนใจ


 


"รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาดเสียที ในเมื่อมีทางเลือก ทางออกอื่นๆ อยู่แล้ว ทำไมต้องมารื้อฟื้นเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นอีก หรือมีใครในรัฐบาลต้องการไม้สักทอง ป่าสักทองแห่งนี้ ซึ่งเราจะไม่ยอมให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายนี้อย่างเด็ดขาด" นายวาดกล่าวในที่สุด


 


การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ในปีนี้ได้เสร็จสิ้นลง แต่ภารกิจในการปกป้องป่า ปกป้องแม่น้ำ ของชาวตำบลสะเอียบ ยังคงสืบต่อเนื่องไป เพราะนี่คือประเพณีของชุมชน นี่คือภารกิจของชาวบ้านและชุมชนที่ต้องสานต่อ ตลอดรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป



 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net