Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่  1 ธันวาคม  มีเสวนาทางวิชาการ "ถอดรหัสวัฒนธรรมศึกษา" ณ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรได้พูดถึงประเด็น "จากซ้ายใหม่สู่ซ้ายหลังสมัยใหม่: ประเพณีประดิษฐ์สู่วัฒนธรรมศึกษา"


 


 


ความเป็นอนิจจังของประเพณีในโลก


ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวถึง ถ้าความเป็นอนิจจัง คือสัจธรรม ประเพณีในฐานะมรดกตกทอดอันเป็นสิ่งที่จะต้องรักษาให้ดำรงอยู่ต่อไปไว้นั้น ก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสัจธรรม ครั้นถ้าใดๆในโลกล้วนเป็นอนิจจังการสูญหายไปของประเพณี ที่ไม่มีวันเป็นนิรันดร์ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็ดี ความวิตกกังวลว่าประเพณีจะหมดไปก่อนวัยอันควรก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆในทำนองเดียวกันกับการความตายของของบุคคลก่อนวัยอันควร การเป็นห่วงประเพณีว่าจะมี "อายุ" ได้นานแค่ไหน จึงไม่ใช่เป็นการห่วงอดีต  การดำรงอยู่ของประเพณี จึงไม่ได้เชื่อมอยู่กับอดีต ประเพณี จึงไม่ใช่เรื่องของมรดกตกทอดที่หลงเหลือมาเพียงอย่างเดียว


 


ครั้นถ้าพิจารณาว่าประเพณีเป็นสิ่งที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอดีต แต่เป็นสิ่งทีเชื่อมต่อกับอนาคต ประเพณีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาเสมอไป เพราะไม่มีใครสามารถรักษาอนาคตได้ และอนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่จะต้องทำ คือการสร้างมากกว่าที่จะรักษา การสร้างหรือประดิษฐ์ประเพณีเพื่ออนาคตแสดงให้เห็นได้จากนักประวัติศาสตร์อย่าง Eric Hobsbawn โดยเขาเห็นว่า การอ้างสิทธิ์ที่ดินของคนพื้นเมืองว่าเป็นจารีตมาตั้งแต่โบราณการนั้นก็เป็นที่รู้กันในหมู่คนที่ศึกษาชาวนาว่า ไม่ได้เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องของการประดิษฐ์ และสร้างดุลอำนาจในการต่อสู้กับเจ้าที่ดิน


 


ในขณะที่นักประวัติศาสตร์อย่าง Terence Ranger ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีการบันทึกให้กลายเป็นหลักฐานอย่างเป็นทางการหรือกลายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแล้ว ประเพณีใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะประเพณีเริ่มกลายเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ประเพณีเมื่อถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแล้ว จึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก ประเพณีกลายเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับอนาคต ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งประเพณีเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยทำให้มนุษย์มีชีวิตรอด การรอดชีวิตแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องไปในอนาคตด้วยการปรับเลี่ยน ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ก็ล้วนแล้ว แต่ช่วยทำให้มนุษย์ต่างวัฒนธรรมกัน สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ตัวเองต้องปรับตัวเข้าหา การเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมมาเป็นละครเวที เช่น พิธีกรรม St. Nicolas ของพวก Slovenia  ในสหรัฐอเมริกา ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายมาเป็นอุปรากรเพื่อรักษาประเพณีของพวกตัวเองให้มีความต่อเนื่อง การประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเป็นการสร้างความต่อเนื่องที่ไม่ต่อเนื่อง เพราะประเพณีได้เปลี่ยนรูปไปเพื่อโลกปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะกลายรูปต่อไปสำหรับโลกอนาคต


 


เมื่อเป้าหมายเป็นสิ่งที่ต้องสร้างเพื่ออยู่ในอนาคต ก็แสดงว่า ประเพณีในฐานะสิ่งประดิษฐ์เป็นสิ่งที่สร้างนั้นก็ทำให้ประเพณีเป็นสิ่งที่มีจุดหมายอยู่ แต่ในอนาคต การสร้างประเพณีกลับทำให้ประเพณีไม่ใช่ "ของ" จากอดีต แต่เป็น "ของ" ที่อยู่ในอนาคต สำหรับอนาคตอันใกล้มากๆ ก็คือสภาวะที่กำลังจะมาเป็นปัจจุบัน ประเพณีในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมประเพณี จึงเป็น "กิจกรรมและการปฏิบัติ" ที่ได้รับความนิยม(Popular) หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งประเพณีเป็นสิ่งทันสมัย เมื่อประเพณีเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็ทำให้ประเพณี มีความเป็นปัจจุบันมากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่อดีต


 


ด้วยความหวังที่จะให้ประเพณีมีความเป็นอมตะดังราวกับการถ่ายทอดพันธุกรรม ก็ทำให้ประเพณีอยู่เคียงคู่กับอนาคต เมื่อประเพณีมีความเป็นปัจจุบันที่ยังเชื่อมต่อไปในอนาคต ก็ทำให้สภาวะสมัยใหม่(modernity) ไม่จำเป็นที่จะต้องขัดแย้งหรือทำลายจารีตประเพณี สภาวะสมัยใหม่ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นปฏิปักษ์กับประเพณี แต่การทำให้ประเพณีเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคตเฉกเช่นเดียวกันกับพันธุกรรม ถ้าดำเนินไปตามธรรมชาติแล้ว ก็คงไม่สามารถกำหนดทิศทาง และการจัดคู่ของดีเอ็นเอ(DNA) ได้ฉันใดก็ย่อมทำให้ประเพณีประดิษฐ์กลายเป็นสิ่งที่ไร้ทิศทางฉันนั้น การปล่อยให้วัฒนธรรมดำเนินไปตามกลไกธรรมชาติก็ดูจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมในความหมายของการสร้างจากฝีมือของมนุษย์ การสร้างจากฝีมือของมนุษย์อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางได้มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม


 


เมื่อประเพณีไม่ได้เป็นไปตามยถากรรม ก็หมายความว่า ประเพณีกับมวลสมาชิกในสังคมก็ดำเนินไปในลักษณะของสายสัมพันธ์ที่มีโอกาสจะเลือก(choice) ได้มากกว่าเลือกไม่ได้ แม้ว่าทุกๆคนเกิดมาแล้ว จะมีประเพณีมาก่อนหน้าแล้วก็ตาม การสร้างประเพณีมีผลต่อการสร้างตัวตน(self)ของมวลสมาชิก ตัวตนที่แสดงอัตลักษณ์ที่สำคัญในสภาวะสมัยก็ได้แก่ตัวตนที่เชื่อมโยงกับรัฐประชาชาติ(nation-state) เช่น คนไทย เป็นต้น ตัวตนที่ถูกกำกับโดยประเพณีกลับเป็นตัวตนภายในของรัฐประชาชาติมากกว่าที่จะเป็นแบบอื่นๆ ดังนั้นตัวตนที่เป็นอิสระ เช่น ประเพณีไทย หรือ ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง จึงไม่สามารถที่จะเป็นได้


 


 


เมื่อประเพณีรวมกับรัฐประชาชาติ


ประเพณีถูกนำรวมเข้าไปไว้กับรัฐประชาชาติ การดำรงอยู่ของประเพณีจำนวนมากก็เป็นเพียงอนุกรมของประเพณีชุดใหญ่ที่ผูกติดอยู่กับรัฐประชาชาติ ประเพณีเป็นกลไกของรัฐและกลไกทางการเมือง ในทำนองเดียวกันกับกลไกของประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติ แต่เมื่อรัฐประชาชาติเป็นผลผลิตของสภาวะสมัยใหม่ ก็ทำให้ประเพณีต้องกลายเป็นผลิตผลของสภาวะสมัยใหม่ไปโดยปริยาย หรือ ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ประเพณีเป็น "สิ่งใหม่" อันเป็นที่ต้องการของสภาวะสมัยใหม่ เมื่อเป็นของใหม่ก็ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะบอกว่า อะไรเป็นของแท้ดั้งเดิม อะไรเป็นของเทียมอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่


 


ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ในความเห็นของ Eric Hobsbawm  เป็นกระบวนการผลิตประเพณีในลักษณะแบบตลาดๆ หรือมีลักษณะแบบโหลๆ ทั้งๆที่ผลิตภัณฑ์นั้น อาจจะเป็นของชนชั้นสูง ที่น่าจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะ (exclusiveness) ก็ตาม ประเพณีโหลๆ ตลาดๆ เป็นสิ่งที่มีไว้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสังคมอุตสาหกรรม วัฒนธรรมที่สร้างกัน ขึ้นมาอย่างเป็นโหลๆ ก็สะท้อนให้เห็นเงื่อนไขของการผลิตของสังคมอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมือง และการเกิดขึ้นมาของชนชั้นใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลาง สำหรับในยุโรปประเพณีประดิษฐ์ปรากฏให้เห็นอย่างมากในช่วงปี ค.ศ. 1870-1914 การขยายตัวของประเพณีในยุโรปส่งผลต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่แข่งอย่าง เช่น อาณาจักรออตโตมัน ต้องการแข่งขันกับราชวงศ์โรมานอฟ ก็ทำให้ปริมาณของพิธีกรรมต่างๆ ของราชสำนักของอาณาจักรออตโตมันขยายตัวอย่างมาก


 


ส่วน Terence Ranger เห็นว่า ประเพณีประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการสิ่งแปลกๆใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ประเพณีเป็นตัวจักรสำคัญในการก่อให้เกิดความทันสมัย เมื่อประเพณีประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสมัยใหม่ ก็ทำให้ประเพณีประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในโลกของอาณานิคม ในดินแดนอาณานิคมประเพณีประดิษฐ์ ที่ถูกนำเข้ามาโดยเจ้าอาณานิคมกลับทำให้ประเพณีต่างๆ เหล่านี้ มีความลึกลับและมีเสน่ห์มากขึ้น โดยพิธีกรรมต่างๆเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายแบบเดิม พิธีกรรมของราชสำนักโมกุลที่เคยเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิดเพื่อนพ้องข้าราชบริพารกับกษัตริย์เท่านั้นได้เปลี่ยนมาเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพวกที่อยู่ต่ำกว่า พิธีกรรม จึงมีความหมายเพียงแค่คนที่อยู่ต่ำกว่ากับคนที่อยู่สูงกว่า


 


ในขณะที่ประเพณีประดิษฐ์ในประเทศเจ้าอาณานิคมเอง กลับไม่ได้รุนแรงแบบที่เกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคม ความเข้มข้นของประเพณีปรากฏให้เห็นอยู่ในประเทศอาณานิคม ความเข้มข้นของการแบ่งชั้นวรรณะด้วยประเพณีนั้น หนักแน่นกว่าแผ่นดินแม่ ด้วยความเข้มข้นก็ทำให้เจ้าอาณานิคมในดินแดนของอาณานิคมเพิ่มความเข้มข้นทางวัฒนธรรมมากขึ้นกว่าเดิม เช่น คนอังกฤษในอินเดีย ก็มีความเป็นอังกฤษมากกว่าคนอังกฤษในลอนดอน ความเข้มข้นของประเพณีประดิษฐ์ยังปรากฏในดินแดนที่ไม่ได้เป็นอาณานิคมด้วย เช่น ญี่ปุ่นกับการสร้างสถาบันกษัตริย์ให้ยิ่งใหญ่เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น โดยหาหนทางให้ผู้คน เข้ามามีบทบาทในการสร้างประเทศร่วมกันผ่านพิธีกรรมใหม่ๆ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ผู้ปกครองญี่ปุ่นแยกกับประชาชนเดินดินอย่างเด็ดขาด เช่นการเชื่อมโยงแนวความคิดเรื่องดินแดนอาทิตย์อุทัย ดอกเบญจมาศ เข้ากับความเป็นญี่ปุ่นอันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่สิบเก้า


 


สำหรับในยุโรปตะวันตกเอง ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นทางการเมืองและสังคม เนื่องจากการล่มสลายของกระบวนการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มาจากความคิดทางศาสนาและเทวสิทธิ(divine right) โดยประเพณีประดิษฐ์ใหม่ๆ เหล่านี้จะทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้แทนกับชนชั้นนำทางการเมืองแทน ประเพณีประดิษฐ์เหล่านี้ถึงการได้เห็นหรือการได้อวด เช่น เหรียญตรา ที่ติดอยู่บนอก ตราประจำตระกูล ฯลฯ สิ่งของที่เห็นได้เหล่านี้ได้กลายเป็น "แฟชั่น" ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในศตวรรษที่สิบเก้าทั่วโลก


 


สิ่งที่จะได้เห็นบนหน้าอกหรือบนเสื้อผ้าจะมีแต่ความอลังการยิ่งใหญ่เหรียญตราต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีไว้สำหรับชีวิตในชนบท แต่มีไว้สำหรับชีวิตในเมือง ความเป็นเมือง จึงกลับกลายมาเป็นพื้นที่ของประเพณีที่ส่องแสงประกายแวววาว และอลังการมากกว่าที่จะปรากฏในชนบทประเพณีประดิษฐ์เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องทำให้มีบ่อยๆ และซ้ำๆ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความต่อเนื่องกับอดีตและเป็นความต่อเนื่องที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยประเพณีประดิษฐ์จะทำหน้าที่เพื่อตอบสนองการสร้างความเป็นปึกแผ่นตลอดจน จัดระเบียบสายสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบที่ไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นใหม่ๆ


 


 


ความเป็นสมัยใหม่เหมาะกับประเพณีประดิษฐ์เพื่อรับใช้รัฐประชาชาติ


ในสภาวะสมัยใหม่ประเพณีประดิษฐ์เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะเรื่องง่ายมากกว่าที่จะสร้างประเพณีขึ้นมาใหม่ เพราะง่ายกว่าที่จะสร้างใหม่มากกว่าที่จะดัดแปลงของเก่า ครั้นเมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องทำให้ประเพณีมีความยืดหยุ่น ความยืดหยุ่นทำให้ประเพณีประดิษฐ์สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสมัยใหม่ได้ดี ประเพณีประดิษฐ์ทำให้ผู้คนสำนึกว่าสามารถเชื่อมต่อสภาวะสมัยใหม่ และสภาวะสมัยเก่าเข้าด้วยกันได้ กรอบคิดรัฐประชาชาติในฐานะที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่เองก็ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า เป็นผลิตผลของแท้หรือเทียม สถานะที่ไม่ได้เป็นของแท้ หรือของเทียมอย่างชัดเจนกลับแสดงให้เห็นความยืดหยุ่น


 


รัฐประชาชาติเองก็เป็นโครงสร้างทางความคิดใหญ่ที่กำหนดกรอบคิดแบบอื่นๆ รวมไปถึงสภาวะของสังคมการเมือง เพราะการเมืองและสังคมเป็นแนวคิดที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐประชาชาติ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐประชาชาติความเป็นสังคมเอง ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นรัฐประชาชาติ เช่น รัฐไทย สังคมไทย ประเทศไทย รัฐไทย จึงไม่ได้มีความหมายที่แตกต่างกัน สถานะของรัฐประชาชาติไทย จึงถูกทำให้กลายเป็นสังคม หรือ สังคม=รัฐ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติ ก็ทำให้สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯเชื่อมต่อจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน


 


กระบวนการของการทำให้รัฐ= สังคม เป็นการอ้างอิงกับตัวเอง(self-reference) ทั้งในด้านการเมืองและสังคม การอ้างอิงกับตัวแสดงให้เห็นรากฐานทางปรัชญาที่มุ่งหวังให้เกิดสภาวะความเป็นเอกเทศ(autonomy) สภาวะที่สามารถจะพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร สังคม/รัฐ จึงเป็นสภาวะโดดๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับใคร สภาวะแบบนี้เป็นสภาวะที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับความเป็นปัจเจกชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับใคร ปัจเจกชนเป็นอะตอม(atomistic individual)ที่ไม่เชื่อมโยงอะไรกับใครหรืออะไรทั้งสิ้น แต่การไม่เชื่อมโยงกับใครแสดงให้เห็นถึงสภาวะของการพึ่งตนเองในแง่นี้ภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติที่เป็นเอกราชการ พึ่งตนเองในแง่นี้ภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติ ที่เป็นเอกราชการ พึ่งตนเอง จึงเป็นอุดมการณ์ ที่สูงส่งและพึงปรารถนา ดังจะเห็นได้จากความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย


 


สภาวะสังคม จึงดำเนินไปในแบบ "สังคมเป็นที่พึ่งแห่งสังคมเอง" ในทำนองเดียวกัน กับ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" คือรากฐานสำคัญ ดังนั้น รัฐ/สังคม/เศรษฐกิจ จึงมีความพอเพียงในตัวเอง ในขณะเดียวกัน เมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว กลไกของการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น ผ่านกลไกของรัฐ ในส่วนนี้ก็ทำให้รัฐประชาชาติกลายเป็นกลไกที่ชอบธรรมในการนำการเปลี่ยนแปลง เมื่อรัฐในฐานะกลไกของการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมก็ทำให้ข้าราชการในฐานะกลไกของรัฐมีความชอบธรรมในการเปลี่ยนแปลง


 


แต่การเปลี่ยนแปลงด้วยสิ่งเลวร้าย ทั้งหลายกลับมักจะถูกโยนกลองว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากภายนอก เช่น จักรวรรดินิยม และภัยจากตะวันตก เช่น พม่า อินเดีย คริสเตียน มุสลิม สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากตะวันตก เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดก็โลกกลมทำให้ญี่ปุ่นสามารถอยู่ทางทิศตะวันตกได้ แต่ภัยจากตะวันตกก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอ เพราะอย่างน้อยๆที่สุดความบ้าคลั่งในการสร้างและร้องเพลงชาติก็กระจายตัวไปทั่วโลกด้วยฝีมือของระบบอาณานิคม และสำนึกความเป็นชาติของฝรั่งคริสเตียนผิวขาว การเกิดใต้ธงก็ทำให้ทุกๆคน มีความเหมือนกัน จนไม่สามารถที่จะมีอะไรที่แตกต่างไปได้ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ทั้งหมดตกอยู่ภายใต้กรอบของรัฐประชาชาติ ซึ่งทำให้ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน


 


ภายใต้กรอบคิดที่สังคม=รัฐก็ทำให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมซ้อนทับกับพื้นที่ทางการเมือง การเมือง=วัฒนธรรม ในความคิดของนักมานุษยวิทยา Ernest Gellner นี่เป็นผลผลิตของรัฐประชาชาติ และกระบวนการชาตินิยม ซึ่งทั้งหมดก็คือผลพวงของสภาวะสมัยใหม่ ทั้งนี้ ในความเห็นของ Gellner สังคมกสิกรรมยุโรป หรือสังคมก่อนสมัยใหม่ ไม่ได้ใช้วัฒนธรรมเป็นดัชนีชี้วัด(index) ทางการเมือง ด้วยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมก็ทำให้ชาตินิยม สร้างรัฐประชาชาติมากกว่าที่จะเป็นรัฐประชาชาติสร้างชาตินิยม ครั้นเมื่อวัฒนธรรมเป็นรากฐานของรัฐประชาชาติและสภาวะสมัยใหม่กลายมาเป็นรากฐานของอุตสาหกรรม วัฒนธรรมและอุตสาหกรรม จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญได้ด้วยเงื่อนไขของอุตสาหกรรม


 


ประเพณีที่ทำหน้าที่ให้กับสภาวะสมัยใหม่ จึงเป็น "ประเพณีเพื่อความใหม่" และเป็นประเพณีที่ไม่สามารถจะหลุดออกจากสภาวะสมัยใหม่ได้ ประเพณีจึงมีไว้ เพื่อสิ่งใหม่ๆ และปัจจุบันมากกว่าที่จะเป็นอดีต ประเพณีทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ ประเพณีประดิษฐ์ในฐานะการสร้างของเก่าในสภาวะสมัยใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบสนองภาวะและสิ่งของใหม่ๆ ทำให้การดำรงอยู่และการสูญหายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้พร้อมๆกัน โลกแห่งอดีตกลายเป็นโลกที่อยู่ห่างไกล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้


 


 


ประเพณีประดิษฐ์กับสังคมที่โหยหาอดีต


ประเพณีประดิษฐ์ จึงมีลักษณะที่อยู่ไกล แต่รู้สึกเหมือนอยู่ใกล้ และก็พร้อมที่จะเป็นลักษณะที่อยู่ใกล้ แต่รู้สึกเหมือนอยู่ไกล สภาวะไกล/ใกล้ปรากฏให้เห็นได้ในการโหยหาอดีต เพราะการโหยหาอดีตเป็นเรื่องของการ "ผิดบริบท(context) แต่ถูกต้องสำหรับการดำรงอยู่" บริบทสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกนำไปใช้ในบริบทหรือความต้องการของรัฐประชาชาติ


 


กรอบคิดวัฒนธรรมประดิษฐ์แสดงสถานะของประเพณีในฐานะผลิตผลของสภาวะสมัยใหม่ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งของที่ขาดไปไม่ได้ของคนสมัยใหม่ สำหรับนักประวัติศาสตร์สายประเพณีประดิษฐ์เห็นว่า การประดิษฐ์เพื่อชาติของคนต่างชาติกลายมาเป็นส่วนสำคัญของผู้คนในดินแดนต่างๆ ชาวผิวขาวจำนวนมากได้ประดิษฐ์ เช่น เทพเจ้าให้กับคนพื้นเมืองโดยในที่สุดเทพเจ้าผู้หญิง เทพผู้หญิงในฐานะเจ้าแห่งแผ่นดิน(mother-earth  goddess) ได้กลายมาเป็นเทพเจ้าของชาวอินเดียนระยะหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา อินเดียนแดงก็ได้ใช้เทพเจ้าผู้หญิงที่คนผิวขาวสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องที่ดินกับคนผิวขาว ในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นอินเดียนของเผ่าต่างๆเพื่อสร้างความเป็นอินเดียนแดงร่วมกัน ลักษณะร่วมกันของการเคารพธรรมชาติ ที่มีตั้งแต่อเมริกาเหนือถึงอเมริกาใต้


 


การประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ มากมายเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนรากทางวัฒนธรรม ที่หลากหลายของรัฐประชาชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของรัฐประชาชาติ ในการดูดกลืนหรือผสมผสาน และพร้อมจะให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติ เช่น วัฒนธรรมประจำชาติ การยกระดับจากวัฒนธรรมเฉพาะ(particular) หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้กลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หรือ แม้กระทั่งวัฒนธรรมโลกหรือ "มรดกโลก" ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มีรากเฉพาะอีกต่อไป ทั้งนี้ แต่เดิมการมี "ราก" เป็นการเชื่อมต่อความเป็นตัวตนเข้ากับแผ่นดินหรือชาติ นี่เป็นการประดิษฐ์ให้ความเป็นท้องถิ่น กลายเป็นกรอบของ "จักรวาลบุรีนิยม" (cosmopolitanism) จากท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลกก็ไม่มีอะไรที่ไม่ประดิษฐ์


 


ประเพณีที่ไหนบ้างที่ไม่ได้ประดิษฐ์ เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดประเพณีไม่ใช่ธรรมชาติประเพณีต้องการการประดิษฐ์จากมนุษย์ เพราะแม้กระทั่งรัฐประชาชาติเองก็ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ในปี ค.ศ. 1983 นอกเหนือไปจาก The Invention of Tradition แล้วก็ยังมีหนังสือแนว "ประดิษฐ์" ของ Benedict O" Anderson เรื่องของ Imagined Communities ออกมาด้วย การกล่าวว่า "ชาติ" เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาย่อมบ่อนทำลายรากฐาน และความต่อเนื่องของสิ่งประดิษฐ์นั้นเอง เช่น ศิลาจารึก ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยผู้นำทางการเมือง เป็นต้น ในขณะเดียวกันกับที่ประเพณีประดิษฐ์สามารถทำลายล้างกลไกการครอบงำทางการเมือง ประเพณีประดิษฐ์ก็สามารถทำลายผู้ไร้อำนาจได้ในเวลาเดียวกัน การนำเสนอของนักประวัติศาสตร์แบบประเพณีประดิษฐ์ มีเป้าหมายที่จะทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของการต่อสู้ของคนพื้นเมือง ได้เช่นกัน เช่น วัฒนธรรมชุมชนในฐานะการสร้างทางการเมือง เป็นต้น


 


การทำให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ของสภาวะสมัยใหม่ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็ยังเป็นผลิตผลที่สร้างขึ้นมาจากภายนอก การประดิษฐ์โดยคนนอกย่อมสั่นคลอนสถานะของความเป็นศาสนาแห่งชาติ สำหรับในครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้า ความสนใจของฝรั่งผิวขาวคริสเตียน ที่มีต่อพุทธศาสนานั้น เป็นผลพวงจากวิกฤติในศรัทธา ที่มีต่อคริสต์ศาสนาเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้อิทธิพลของ Darwinism ที่ออกสู่ตลาดในปี 1871 ในขณะเดียวกันความนิยมที่มีต่อวิชาศาสนาเปรียบเทียบก็ได้เกิดขึ้นในช่วง 1880-1890 โดย Friedrich Max Muller แนวทางการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบทำให้เกิดปัญหาในการศึกษาพระคัมภีร์ เพราะทำให้พระคัมภีร์กลายเป็นเพียง "วัตถุทางประวัติศาสตร์" ที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์


 


พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ คือ การสร้างผ่านฝรั่งคริสเตียน ในครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้า พุทธศาสนาในกระบวนการศึกษาที่เป็นวิชาการทำให้พุทธศาสนาถูกนำมาเทียบเคียงกับ "กฎ"โดยมีการแปล "ธรรมะ" ให้เท่ากับ Law  หรือ กฎทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการวิวัฒนาการ หรือไม่ก็เป็นหลักวิทยาศาสตร์ในรูปของ "สาเหตุ" หรือ "เหตุนำไปสู่ผล" ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ก็ทำให้พุทธศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนา แต่ "ลัทธินิยม" หรือ ism กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมพุทธศาสนาในสมัยสังคมวิคตอเรี่ยน จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการปะทะกับคริสต์ศาสนา พระเยซูต่อสู้กับพระพุทธเจ้า เป็นต้น


 


กรอบความคิดแบบความเป็นวิชา(การ) เริ่มทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา ในขณะที่การศึกษาพุทธศาสนาด้วยวิธีการทางวิชาการเป็นไปได้มากกว่าศาสนาอื่นๆ เพราะสำหรับคนในยุโรปพุทธศาสนาเป็นศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ต้องพะวง เรื่องปัญหาการละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบที่เกิดขึ้นในคริสต์ศาสนา ประเพณีประดิษฐ์ ที่สร้างจากคนนอก ก็ยิ่งมั่นคลอนสถาบันต่างๆ ของสังคมมากขึ้นไปอีก การสร้างของคนนอกย่อมเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากเสียยิ่งกว่าคนใน เพราะคนในของรัฐประชาชาติต้องการพลังจากภายนอกเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆ เช่น การต้องความมั่นใจจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อของประเทศ หรือ แม้กระทั่งการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย ตลอดจนรวมไปถึง Guiness Book of Record  เป็นต้น


 


 


ประเพณีประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต


ประเพณีประดิษฐ์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน กับขวานหินในอดีต แต่กรอบคิดแบบประเพณีประดิษฐ์ก็พร้อมที่จะทำลายรากฐานของชุมชนตลอดจนรัฐประชาชาติได้ การให้ประเพณีเป็นเพียง "ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์" เพื่อเป้าหมายในทางการเมืองกลับทำลายความชอบธรรมของการดำรงอยู่ของชุมชน เช่น การทำให้จารึก ที่มีความหมายต่อประเทศเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ย่อมบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพและความจริงใจ และซื่อสัตย์ของผู้ปกครอง อาวุธทางความคิดอย่างประเพณีประดิษฐ์ก็ไม่เข้าใครออกใคร เพราะสามารถที่จะทำลายล้างวัฒนธรรมและสิทธิดั้งเดิม เช่น สิทธิในที่ดินของคนพื้นเมือง ที่ถูกโจมตีว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่


 


ในความเห็นของนักมานุษยวิทยาอย่าง Marshall Sahlins เห็นว่า เมื่อประเพณีประดิษฐ์ มีความเป็นเทพปกรณัม(myth) ที่ปฏิบัติการได้ทั้งในระดับของความคิด และการกระทำ ประเพณีประดิษฐ์ในฐานะสิ่งที่ครอบงำและสร้างความสมานฉันท์อย่างงมงายนั้น ก็สามารถนำไปสู่ขั้นศาสตร์แห่งการปลดปล่อย(science of liberation) ได้ ทั้งนี้ภายใต้ตรรกะของสภาวะสมัยใหม่การตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเทพปกรณัมอันเป็นสิ่งที่กรอบคิดแบบภูมิธรรม(Enlightenment) ยอมรับไม่ได้ ประเพณีประดิษฐ์ดำรงสถานะของ "ทวิตรรกะ" นั่นก็คือ การครอบงำและการปลดปล่อยในเวลาเดียวกัน ในกลไกของสภาวะสมัยใหม่ประเพณีประดิษฐ์เป็นสิ่งจำเป็นและได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นกลไกสำคัญของการจรรโลงสภาวะสมัยใหม่ให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป ภายใต้ "ความเชื่อ" ในเรื่องของการปลดปล่อยให้หลุดพ้นออกจากความเชื่อที่งมงาย


 


เป้าหมายของการโจมตีประเพณีประดิษฐ์นั้น Sahlins ก็เห็นว่าคือ ศีลธรรมทางการเมือง ที่เป็นทั้งจุดเริ่มต้น และเป้าหมายในตัวเอง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ ชนชั้นและการเมือง เป้าหมายของการเมืองประเพณีประดิษฐ์ จึงอยู่ที่การเมืองและการเป็นอิสระจากการครอบงำทางการเมือง เช่น การเมืองของเจ้าอาณานิคม เป็นต้น กรอบคิดประเพณีประดิษฐ์ยืนยันการต่อสู้เพื่อให้ได้มา ซึ่งแนวความคิดแบบการสร้างจิตสำนึกที่แท้จริง(true consciousness) มากกว่าที่จะติดกับดักของจิตสำนึกจอมปลอม ทั้งๆที่ประเพณีประดิษฐ์เองก็ไม่สามารถที่จะตอบได้อย่างชัดเจนว่าของแท้แลของเทียมแตกต่างกันอย่างไร กรอบคิดของประเพณีประดิษฐ์มีนัยของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันกับแนวคิดทางการเมืองเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม(multiculturalism)


 


กรอบคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงไม่ใช่กรอบคิดของวิชามานุษยวิทยา เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรม พุ่งเป้าไปสู่สำนึกและการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เน้นและเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคม กรอบคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมดำเนินตามรอยกรอบคิด Thesis 11 ของ Karl Marx  เพราะเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก ในแง่นี้ประเพณีประดิษฐ์ในฐานะแนวคิดเพื่อการปลดปล่อย ก็มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยเช่นกัน


 


 


ประเพณีประดิษฐ์จึงมีอะไรบางอย่างร่วมกันกับกรอบคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม


กรอบคิดของความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น ถือกำเนิดในหมู่นักวิชาการที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากมานุษยวิทยา หรือสังคมศาสตร์ แต่นักวิชาการสายความหลากหลายทางวัฒนธรรม(Multiculturalists) จำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ก็มาจากสาขาวิชามนุษยศาสตร์ที่ต้องการต่อต้านกรอบการศึกษาวรรณคดีแบบเดิมๆ รากฐานของแนวความคิดเรื่องวัฒนธรรมของมานุษยวิทยาแตกต่างไปจากความเข้าใจวัฒนธรรมในกรอบของมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมในกรอบของ "วัฒนธรรมศึกษา" อันเป็นสาขาวิชาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็น "ภัย" ต่อวิชามานุษยวิทยา


 


 


วัฒนธรรมศึกษากับกรอบความคิดที่ใช้ศึกษา


รากฐานของคำว่า วัฒนธรรมในกรอบของ "วัฒนธรรมศึกษา" เกิดขึ้นมาจากประวัติความคิดมากกว่าจะเป็นเพียงการศึกษาสังคมและวิถีชีวิต ผลงานของ Raymond William เป็นรากฐานที่สำคัญอันหนึ่ง กรอบคิดที่สำคัญประการหนึ่งของมาร์กซิสม์สายวัฒนธรรมก็คือ การปฏิเสธการเมืองเป็นโครงสร้างส่วนบน(Superstructure) อันเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างส่วนล่าง(Base) ความคิดของ Williams และมาร์กซิสม์อังกฤษ ที่ต่อต้านทฤษฎีอย่าง E.P. Thompson ก็ปฏิเสธแนวทางเศรษฐกิจนิยม(Economism) โดยให้ความสำคัญแก่บทบาทของวัฒนธรรมในการผลิตของระบบทุนนิยม จากเศรษฐกิจนิยมก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมนิยม(culturalism)


 


สถานะของความเป็นวัฒนธรรมก็เช่นเดียวกัน กับประเพณีประดิษฐ์ต่างก็เป็นปฏิกิริยา ที่มีต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม วัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของกรอบคิดอนุรักษ์นิยมในอังกฤษไม่ว่าจะเป็น Edmund Burke มาจนถึง Matthew Arnold แต่วัฒนธรรมในกรอบคิดของ Arnold ก็มีลักษณะของความเป็นชนชั้นสูงมากกว่าที่จะเป็นวิถีชีวิตแบบของใครก็ได้ กรอบคิดวัฒนธรรมของ Arnold เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอารยธรรม การมี "วัฒนธรรม" ในฐานะสิ่งที่สูงส่งกว่าเป็นหนทางที่จะแก้ไขความเสื่อมของสังคมอภิสิทธิชน (aristocratic society) ที่กำลังเสื่อมทรามไปพร้อมกับการขยายตัวของสังคมอุตสาหกรรม ที่แสดงอารยธรรมและการขยายตัวของชนชั้นต่ำ หรือกรรมกร ซึ่งเป็นภัยต่อวิถีชีวิตของชนชั้นสูง ชนชั้นต่ำ จึงเป็นพวกที่ไม่มีวัฒนธรรม เมื่อชนชั้นต่ำไม่มีวัฒนธรรมก็ทำให้สภาวะของชาติ = สังคม =วัฒนธรรมไม่สามารถที่จะนำเสนอวัฒนธรรมของชนชั้นต่ำเป็นวัฒนธรรมของรัฐประชาติได้ ในขณะเดียวกันชนชั้นต่ำก็จำเป็นจะต้อง "วัฒน"จากวิถีชีวิตดั้งเดิมไปสู่ "ธรรมะ" ที่มี "วัฒน"


 


กรอบคิดแบบ "วัฒน" ก็แตกต่างไปจากรอบคิดเรื่อง "วัฒนธรรม"ของ E.B. Taylor ที่สร้างขึ้นมาในปี ค.ศ. 1871 แต่กว่าจะเป็นที่ยอมรับกัน ก็คือ ทศวรรษที่ 1920 หลังจากนั้นก็ถูกขยายให้กลายเป็นที่ยอมรับกันโดยผ่านงานมานุษยวิทยาของ Alfred Kroeber และ Clyde Kluckhohn ถึงกระนั้นก็ดีนัยของ "วัฒนธรรม" ก็ชัดเจนแสดง "ความก้าวหน้า"หรือ "วัฒน" ดังนั้นกรอบคิดของคนจากศตวรรษที่สิบเก้ามาถึงศตวรรษที่ยี่สิบเองก็ไม่ได้ มีความแตกต่างกันมากนัก เช่น คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทยเอง สำหรับความก้าวหน้าในที่นี้ก็คงจะต้องเข้าใจผ่านกรอบคิดเรื่องความเสื่อม เพราะในกรอบคิดศาสนาสังคมชนเผ่าแสดงให้เห็นถึงความเสื่อม แต่ในขณะเดียวกันผลงานของ Matthew Arnold นั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏก่อนหน้าผลงานของ E.B.Taylor เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ดังนั้นการยกผลงานเรื่องวัฒนธรรมให้กับความดีของ  E.B.Taylor จึงเป็นเพียงแค่ตำนานของการประดิษฐ์วัฒนธรรมของมานุษยวิทยาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง


 


กรอบคิดวัฒนธรรมของ Raymond Williams แสดงให้เห็นว่า ทุกชนชั้นมีวัฒนธรรมมากกว่าที่จะไม่มีวัฒนธรรม ตามจริงแล้ววัฒนธรรมที่แท้จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ในวิถีชีวิต และความรู้สึกธรรมดาๆของผู้คนมากกกว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นผ่านผลงานของหนังสือพิมพ์อย่างเช่น คอลัมภ์จุดประกายของกรุงเทพธุรกิจ นิตยสาร Sawasdee ประจำเครื่องบินของบริษัทการบินไทย เป็นต้น เมื่อทุกชนชั้นทุกที่มีวัฒนธรรม ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม เช่น ความแข็งแกร่งของการใช้กำลังและการตัดสินปัญหาด้วยกำลังของชนชั้นต่ำ ความจงรักภักดี ที่มีต่อเพื่อน การเผชิญหน้ากับเจ้านาย และผู้ปกครองด้วยกำลัง ฯลฯ ก็ล้วนแล้ว แต่เป็น "วัฒนธรรม"


 


วัฒนธรรมจึงไม่ได้จำกัดอยู่ แต่เพียงแค่วิถีชีวิตของชนชั้นสูง หรือจะมีแต่วัฒนธรรมชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะชนชั้นต่ำก็มีวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษายืนยันการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมในกลุ่มที่หลากหลาย โดยนัยของวัฒนธรรมศึกษายืนยันความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งในแนวนอน(horizontal) และในแนวตั้ง (vertical) วัฒนธรรมเป็นชนชั้นมากพอกับการเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ กรอบคิดทางวัฒนธรรมที่ขยายตัวออกไปครอบคลุมวิถีชีวิตของชนชั้นต่างๆ นั้นเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม และการเมืองของวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน การขยายพื้นที่ของวัฒนธรรมแสดงสภาวะที่ไร้ข้อจำกัด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมได้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของวัฒนธรรมได้ก็ทำให้ "ความเป็นสาขาวิชา(discipline) ของวัฒนธรรมศึกษาไม่สามารถจำกัดอยู่ได้เพียงแค่สาขาใดสาขาหนึ่ง ไม่ว่านั่นจะเป็นสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา และตลอดจนสาขาวิชาอื่นๆ


 


 


คนธรรมดาก็มีวัฒนธรรม


ในการยืนยันกรอบคิดว่า วิถีชีวิตของคนธรรมดาๆ ก็มีวัฒนธรรมของ Raymond Williams แสดงให้นัยของสำนึกชาตินิยมเวลส์(Welsh Nationalism) และสำนึกการต่อสู้เรียกร้องเพื่อพื้นเพครอบครัวกรรมกรของ Raymond William เอง แม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้กล่าวออกมาอย่างชัดจนก็ตาม กรอบคิดที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นที่เชื่อมต่อเข้ากับสำนึกชาตินิยม ทำให้วัฒนธรรรมศึกษามีนัยทางการเมืองสูงและมีความชัดจนในกรอบการเมือง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องปิดบังจุดยืนทางการเมืองแต่อย่างใด วัฒนธรรมศึกษา จึงมีการเมืองแบบโปร่งใส เพราะรู้ว่าเป็นการเมืองแบบใดของใคร เพื่อใคร เป็นต้น การเมืองในวัฒนธรรมศึกษา จึงเป็นสิ่งที่จะต้องมาก่อนอะไรอื่นๆ เช่น ในการศึกษาวรรณคดีกรอบและนัยทางการเมืองย่อมจะต้องเป็นประเด็นสำหรับการศึกษามากกว่าที่จะเป็นสุนทรียะ ในแง่นี้ ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งวัฒนธรรมศึกษาทำให้ผลงานวรรณคดีกลายเป็นตัวบททางการเมือง(political text)


 


สำหรับการที่วัฒนธรรม มีสำนึกในทางการเมืองสูงโอกาสที่วัฒนธรรมศึกษาจะแสดงจุดยืนของความถูกต้องทางการเมือง(political rightcousness) มากกว่าการศึกษาแบบอื่นๆ ด้วยสำนึกที่เชื่อว่า "ถูกต้องกว่า"ก็ทำให้วัฒนธรรมศึกษาที่ในตอนแรกๆ ต้องการหลีกเลี่ยงการครอบงำ และค่านิยมของชนชั้นสูง ผู้ในอดีตมักจะอ้างตนว่าเป็นผู้ถูกต้องกว่าเสมอกลับกลายเป็นผู้บงการหรือผู้ครอบงำใหม่เสียเอง ความถูกต้องทางการเมืองในลักษณะแบบนี้ดำเนินไปพร้อมกับลักษณะโรแมนติคทางการเมือง(Politilcal romanticism) อันเป็นรากฐานสำคัญที่เป็นมรดกตกทอดของการเมืองแบบฝ่ายซ้าย การเมืองฝ่ายซ้ายที่สำนึกแบบลัทธิจาโคแบง(Jacobinism) และการปฏิบัติยังทรงพลัง


 


อย่างไรก็ตาม การเมืองที่วางกรอบให้กับวัฒนธรรมศึกษาไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในกรอบของชาตินิยม เพราะวัฒนธรรมศึกษามักจะไม่ได้มีไว้เพื่อตอบสนองกลไกของรัฐประชาชาติ ที่กำหนดรูปแบบของวัฒนธรรมในรูปแบบที่ตายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบของ "วัฒน" ในทางตรงกันข้ามวัฒนธรรมศึกษา มักจะต่อต้านความ "วัฒน"ของวิถีชีวิตคนธรรมดาๆ เช่น วิถีชีวิตของวัฒนธรรมย่อย(political romanticism) วัฒนธรรมศึกษา จึงเป็นการศึกษาวัฒนธรรม ที่มีรากฐานทางการเมือง และชนชั้นในการวิเคราะห์เพื่อการเปลี่ยนแปลง


 


เมื่อมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมศึกษาเอง จึงหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องปัจจุบันไปไม่พ้น วัฒนธรรมศึกษาให้ความสำคัญกับสิ่งร่วมสมัย อะไรที่ทำให้เวลาของผู้ศึกษาและสิ่งที่ศึกษามีร่วมกัน สภาวะของสิ่งที่พึ่งเกิดสดๆร้อน วัฒนธรรมศึกษา จึงให้ความหมายของสภาวะสมัยใหม่แบบที่เป็นต้นแบบ (prototype) ตามความหมาย Modernus ของภาษาละติน สถานะของวัฒนธรรมศึกษา จึงแสดงความเป็นปัจจุบันหรือปัจจุบันนิยม (presentism) เป็นอย่างมาก ความหมายของปัจจุบันนิยมย่อมขาดมิติทางเวลาของประวัติศาสตร์ การยืดหยัดในความเป็นปัจจุบันนิยมบ่งบอกถึงสภาวะสมัยใหม่อย่างคงที่ วัฒนธรรมศึกษาให้สำนึกทางเวลาที่ทันสมัย วัฒนธรรมศึกษา จึงไม่มีความเป็นประวัติศาสตร์นิยม(historicism)


 


 


อะไรที่ทันสมัย?


ครั้นถ้าเป็นอะไรที่ทันสมัยก็ย่อมหมายถึงอะไรก็ได้ที่มีลักษณะร่วมสมัย (contemporary)มีความเป็นปัจจุบันมากกกว่าที่จะเป็นอดีต แต่ก็ใช่ว่าจะขาดอดีต หรือประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ของวัฒนธรรมศึกษาเสียเลย เช่น กรอบคิดของ Michel Foucault เป็นต้น ทั้งๆที่กรอบคิดจำนวนมากที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ของวัฒนธรรมศึกษาจะไม่มีประวัติศาสตร์ก็ตาม เช่น แนวความคิดแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) สำหรับกรอบคิดของโครงสร้างนิยมเองก็เป็นกรอบคิดที่ไม่ได้มีสำนึกและมิติประวัติศาสตร์ แต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การที่โครงสร้างนิยมไม่เปิดโอกาสให้กับตัวตนของบุคคล และความเป็นอัตวิสัย(subjective) ในการกำหนดสิ่งต่างๆในแง่นี้รากฐานทางความคิดที่วัฒนธรรมศึกษาเติบโตขึ้นมาด้วยกลไกของวัฒนธรรมนิยม ก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับรากฐานทางความคิดของฝ่ายซ้าย ในอังกฤษอย่าง Raymond Williams  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง E.P.Thompson  ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับทฤษฎีจากภาคพื้นทวีปอันเป็นสิ่งที่ Thompson เห็นว่าคือ "สภาวะของการอับปัญญาของทฤษฎี" (the Poverty of  Theory)


 


รากฐานของวัฒนธรรมศึกษาอย่างน้อยๆ ที่มาจากอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ Stuart Hall  และ Birmingham Centre for Contemporary Cultural Studies อันโด่งดัง จึงประกอบไปด้วยรากฐานทางความคิดของอังกฤษ ที่โดยพื้นฐานแล้ว จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วัฒนธรรมศึกษาจะเป็นแบบไหนก็ได้ สายสัมพันธ์ของวัฒนธรรมศึกษา จึงเกี่ยวข้องกับการศึกษาวัฒนธรรมและสิ่งที่ไม่ใช่วัฒนธรรมว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร พื้นที่ของวัฒนธรรมศึกษาจึงไร้เขตแดน หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งวัฒนธรรมศึกษาไม่ได้มีอะไรที่เป็นแกนหลัก ไม่มีความหนึ่งเดียว ไม่มีความเป็นเอกพันธุ์ จนทำให้เกิดคำถามที่ถามกันอยู่เนืองว่าในที่สุดแล้ว


 


 


อะไรคือวัฒนธรรมศึกษา?


ถึงแม้ว่าคำตอบจะยืนยันถึงความเป็นสหวิทยาการ(interdisciplinary) ของวัฒนธรรมศึกษา แต่คำถามที่มึนงงต่อไปก็คือ "อะไรคือสหวิทยาการ?" ถึงแม้ว่าคำๆนี้ จะปรากฏให้เห็นได้ในวงการสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ในช่วงที่เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสื่อมทรามของการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันความวิตกกังวล ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อมีการใช้คำว่า Inter เพราะเป็นคำที่ไม่มีความแน่ชัด คำว่า Inter  แสดงให้เห็นถึงการมีระยะห่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีนัยของการสื่อสารระหว่างกัน 


 


สำหรับในกรณีของวัฒนธรรมศึกษา ที่แสดงคุณลักษณะของสหวิทยาการนั้น จะมีการสื่อสารอะไรกัน? คุณลักษณะของวัฒนธรรมศึกษานั้นไปด้วยกันได้ยากกับกรอบของรัฐประชาชาติ ที่ต้องการเน้นความ "วัฒน" และขอบเขตที่แน่นอน แต่ในขณะที่วัฒนธรรมศึกษาพยายามที่จะตอบโต้กับความเป็นเอกพันธุ์ และสำนึกของความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมของชนชั้น และกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆ (class and cultural superiority) ก็ย่อมทำให้วัฒนธรรมศึกษาพร้อมที่จะขัดแย้งกับรัฐประชาติ ในเวลาเดียวกันนั้นวัฒนธรรมศึกษาก็พัฒนาตัวเองขึ้นมา เป็นส่วนสำคัญของสถาบันการศึกษา แต่เมื่อเป็นสถาบันสายสัมพันธ์เชิงอำนาจก็ยิ่งมีมากขึ้น เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เมื่อนั้นอดีตของวัฒนธรรมศึกษาในฐานะการต่อสู้ทางการเมืองของผู้ด้อยกว่ากำลังจะกลายเป็นกลไกทางอำนาจตัวใหม่ที่วัฒนธรรมศึกษาเอง อาจจะต้องถูกหักล้างวิพากษ์ไปบนเส้นทางของอนาคตที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net