Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ผมสารภาพว่า จนบัดนี้ ผ่านไป 3 เดือน ผมยังไม่สามารถ "ทำใจ" (get over-move on) กับการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ได้ วันดีคืนดี ก็จะอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมาอย่างแรง และด้วยความที่เป็นคน "หมกมุ่นกับอดีต" ผมจึงใช้เวลาที่หงุดหงิด ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร" ผมสารภาพว่า จนบัดนี้ ผ่านไป 3 เดือน ผมยังไม่สามารถ "ทำใจ" (get over-move on) กับการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ได้ วันดีคืนดี ก็จะอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมาอย่างแรง และด้วยความที่เป็นคน "หมกมุ่นกับอดีต" (ผมมักจะงงๆ ที่ใครชอบคิดว่า นี่เป็นเรื่องวิจารณ์ทางการเมืองได้? ปัญหาของวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่ใช่เพราะการไม่ยอมคิดเรื่องอดีตเลยหรอกหรือ จึงทำให้คุณสามารถยกย่องบูชาใครก็ได้ ที่เมื่อวานนี้ หรือไม่กี่ปีนี้ ทำอะไรที่ไม่มีความน่ายกย่องบูชาเลย) ผมจึงใช้เวลาที่หงุดหงิด ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนรัฐประหาร เว็บไซต์ประชาไท ช่วยผมได้มาก ผมกลับไปดูข่าวเก่าๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่กระแสแอนตี้ทักษิณขึ้นสูงอย่างกระทันหัน หลังการขายหุ้นชิน และพบอะไรที่น่าสนใจหลายอย่างมาก (เช่น ท่าทีของกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต่อทักษิณ ที่เปรียบเทียบกับท่าทีต่อรัฐประหารแล้ว ต้องนับว่าเหลือเชื่อ) หนึ่งในข่าวที่ผมเจอ คือ จดหมายเปิดผนึกของผมเอง ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 ที่เสนอให้ สนนท.ถอนตัวจาก "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ขออนุญาต นำข้อความมาเสนออีกครั้ง ดังนี้ (ดูที่ประชาไท http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2752&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai ความจริง จดหมายนี้ เริ่มเผยแพร่ทางอีเมล์ และโพสต์ที่บอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ปิดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549) ถึง สนนท. : ถอนตัวออกจาก "พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย" สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผมขอให้ใครที่สามารถทำได้ กรุณาหาทางถ่ายทอดข้อความต่อไปนี้ ผ่านไปยัง สนนท. ถึง สนนท. ผมขอเสนอให้ สนนท. ถอนตัวออกจาก "พันธมิตรประชาธิปไตย" ทันที ไม่ว่า จังหวะก้าวต่อไปของ "พันธมิตร" จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าการชุมนุมวันที่ 26 จะยังคง "เดินหน้าต่อไป" หรือ ยกเลิก หรือ ชุมนุมเพียงคืนเดียว ฯลฯ เพราะสิ่งที่ "พันธมิตร" ได้กำหนดไป ตั้งแต่ก่อนการประกาศยุบสภา (แสดงออกใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2") เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก การประกาศความคิดชี้นำว่า "ไม่ชนะ ไม่เลิก" เป็นความคิดที่อันตรายและเขลาอย่างยิ่ง การต่อสู้ทางการเมืองไม่เกมส์ที่ "ผู้ชนะ" ได้ถ้วย หรือเงินไป การรณรงค์ที่ไม่สำเร็จในแง่ข้อเสนอ จึงสามารถถือได้ว่า เป็นการรณรงค์ที่มีคุณค่าได้ ("ชนะ" ในความหมายอีกแบบหนึ่ง) "ไม่เลิก จนกว่าจะชนะ" ? "ไม่เลิก" แม้แต่ว่า หากเกิดสถานการณ์ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ร่วมชุมนุม ต่อประชาชนวงกว้าง และต่อประชาธิปไตย? "ไม่เลิก" แม้ว่า จะนำไปสู่สถานการณ์ให้กลุ่มอำนาจอื่นฉวยโอกาสเอาประโยชน์? คนที่ประกาศเช่นนี้แต่ต้น และยึดถือความคิดนี้เป็นตัวชี้นำ นอกจากอันตราย ขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นการแสดงความเขลาในแง่นักยุทธวิธีทางการเมืองด้วย คำขวัญนี้ โดยเฉพาะในการตีความของกลุ่มสนธิ-จำลอง เป็นการคิดที่อันตราย ที่นำไปสู่ความคิด "ชัยชนะไม่ว่าด้วยราคาอะไร" (victory at any price) ผมเชื่อว่า คนเหล่านี้ พร้อมจะทำสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อผู้ร่วมชุมนุม ต่อประชาธิปไตย เพียงเพื่อให้ข้อเรียกร้องของตนเป็นจริง (เหตุผลประการที่สอง ที่กำลังจะกล่าวถึงข้างล่าง ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในการชุมนุมวันที่ 4 ที่สนธิเรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการกับทักษิณ ก็เช่นกัน คือ ขอให้ "ชนะ" วิธีการอย่างไรก็ได้ ไม่เช่นนั้น "ไม่เลิก") (หลังเหตุการณ์ พฤษภา 35 เมื่อมีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจของกลุ่มจำลองที่นำขบวนเคลื่อนออกไปจากสนามหลวงในคืนวันที่ 16 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากนักศึกษาปัญญาชนที่ร่วมนำขบวนขณะนั้น หลังเหตุการณ์ได้มีผู้จัดสัมมนาวงเล็กๆ ครั้งหนึ่ง (ปาจารยสาร เป็นเจ้าภาพ) โดยมี ชัยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม เข้าร่วมด้วย ทั้ง 2 คนนี้ เป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนขบวนของจำลองอย่างเต็มที่ เมื่อถูกตั้งคำถามเชิงวิจารณ์มากๆ ครูประทีปได้พูดประโยคหนึ่ง ซึ่งผมยังจำได้ดี ทำนองนี้ "ดิฉันเป็นคนเกิดในสลัม โตในสลัม ประสบการณ์ชีวิตของดิฉัน ทำให้ดิฉันเป็นคนที่ ถ้าไม่สำเร็จแล้วไม่ทำ ถ้าทำต้องทำให้สำเร็จให้ได้" แม้จะเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่น่านับถือในแง่การดำเนินชีวิต แต่ในแง่การเมือง ผมเห็นว่า เป็นวิธีคิดที่น่ากลัว) ประการที่สอง ใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" กลุ่ม "พันธมิตร" ได้เรียกร้องให้มีการตั้งนายกฯพระราชทานอย่างเปิดเผย (แม้จะยังไม่กล้าใช้คำนี้ตรงๆ) นี่เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก มากพอจะให้ถอนตัวออกมา ก่อนการเข้าร่วมกับกลุ่มสนธิ ตัวแทน สนนท. และ ครป. จะได้ประกาศว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ "คืนพระราชอำนาจ" แต่ข้อเสนอที่ให้ตั้งนายกฯพระราชทานนี้ ในทางเป็นจริง ก็คือการ "คืนพระราชอำนาจ" นั่นเอง คำว่า "นิติประเพณี" ที่ใช้ใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" นั้น เป็น "คำแฝง" ที่กลุ่มสนธิ ใช้มานาน หมายถึง "พระราชอำนาจ" นั่นเอง (ดูหนังสือของประมวล รุจนเสรี) นี่เป็นข้อเรียกร้องที่ผิด และยังเป็นการ "ผิดคำพูด" ที่ สนนท. เคยประกาศไว้เองด้วย มายาเรื่อง "นายกฯพระราชทาน" ผมไม่มีเวลา และคงไม่ใช่โอกาส ที่จะอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้อย่างละเอียด แต่อยากจะยืนยันว่า การตั้ง "นายกฯพระราชทาน" โดยหวังว่า จะให้เป็นผู้ "ปราศจากการครอบงำ แทรกแซง จากอิทธิพลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" ฯลฯ เป็นมายา (illusion) ผมเพียงขอพูดอย่างสั้นๆในที่นี้ว่า "นายกฯพระราชทาน" ในประวัติศาสตร์หาได้เป็นอย่างที่ภาพมายาวาดไว้แต่อย่างใด เช่น สัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตย และช่วยเหลือประชาชน (ตัวอย่างเดียว : ขบวนการชาวนาสมัยใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยการตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศ ก็เก็ดขึ้นเพราะความผิดหวัง ในนโยบายของ "นายกฯพระราชทาน" คนนี้เอง) และ ผมคงไม่จำเป็นต้องเตือนว่า "นายกฯพระราชทาน" อย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้แสดง "ความสามารถ" ในการบริหารงานอย่างไร? หรือมีนโยบายอย่างไรต่อประชาธิปไตย (การจับเหวี่ยงแหผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ภัยสังคม" ทั่วประเทศ ไม่ต้องพูดถึงมาตรการเผด็จอำนาจแบบสุดขั้วอื่นๆ) หรือแม้แต่กรณีเปรม หรือกรณี อานันท์ ปันยารชุน เอง เมื่อเป็นนายกฯ ที่ปัจจุบันมีการพยายามจะโฆษณาให้เชื่อว่า เป็นตัวอย่างของนายกฯพระราชทานที่ดี ซึ่งล้วนเป็นการสร้าง มายา ทั้งสิ้น ที่สำคัญ ความคิดนี้ ขัดแย้งอย่างลึกซึ้งต่อประชาธิปไตย ต่อเจตนารมณ์ 2475, 14 ตุลา 6 ตุลา ซึ่งขบวนการนักศึกษาเป็นผู้รับมรดกสืบทอด ประการสุดท้าย ในกลุ่มผู้ตัดสินใจสูงสุดของการชุมนุมวันที่ 26 (และหลังจากนั้น?) ทำไมไม่มีตัวแทน สนนท.เลย? มองในแง่การมี "ฐานที่แท้จริง" (เป็นตัวแทนของคนอื่นมากกว่าตัวเอง) แม้จะรู้กันว่า สนนท.จะไม่ใช่องค์กรมวลชนจริงๆ แต่อย่างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอย่าง สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ หรือสมศักดิ์ โกศัยสุข หรือ พิภพ ธงไชย ไม่สามารถพูดได้หรือว่า สนนท. ยังมี "ฐาน" ที่เป็นจริง หรือ "ความชอบธรรมในฐานะการเป็นตัวแทน" มากกว่าคนเหล่านั้น? (ไม่น้อยกว่าแน่นอน) เหตุที่ไม่มี ตัวแทน สนนท. เพราะอะไร? ระบบอาวุโส? ในความเป็นจริง "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" ได้แสดงให้เห็นว่า "พันธมิตรประชาธิปไตย" ได้เป็นเพียง "ฉากบังหน้า" ให้กับกลุ่มสนธิ-จำลอง เท่านั้น การเข้าร่วมของ สนนท. เพียงแต่ "สร้างภาพ" ให้กับการเคลื่อนไหวของ สนธิ-จำลอง ซึ่งมีวาระ, เนื้อหา, และจุดมุ่งหมาย ที่แอนตี้ประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งเท่านั้น ได้โปรดถอนตัวออกจาก "พันธมิตรประชาธิปไตย" แต่บัดนี้ หากต้องการเคลื่อนไหวคัดค้านทักษิณ สร้างขบวนการของตัวเอง หรือหากจะร่วมมือ ก็ร่วมมือกับผู้อื่นที่มีความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย ที่มีความห่วงใยและ เคารพต่อประชาชนอย่างแท้จริง ไอเดียผมในตอนนั้น คือทำอย่างไรที่จะ "หยุด" กระแสแอนตี้ทักษิณของกลุ่ม "พันธมิตร" ที่กำลังเริ่มขึ้นสูง ความหวังของผมคือ ถ้า สนนท. ซึ่งการเข้าไปร่วมกับ "พันธมิตร" มีลักษณะ "high profile" ไม่น้อย (ขอให้นึกถึงกระแส "ชู" เลขาหญิง สนนท. ในตอนนั้น) ประกาศถอนตัวออกมา ก็มีโอากาสที่จะทำให้สาธารณะมองเห็นด้านที่มีลักษณะปฏิกิริยาของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสนธิ-จำลอง (ซึ่งขณะนั้นเรียกร้องการรัฐประหารจริงๆ - คำพูดของคนอย่างสุริยใส ในระยะหลังๆ ที่ว่าตัวเองไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เป็นการโกหกแบบโง่ๆ) ตอนนั้น มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เขียนถึงผมว่า ข้อเสนอนี้มัน "เกินไป" (going too far) ขณะที่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากอีกคนหนึ่ง ก็มาเปิดเผยหลังช่วงนั้นไม่นานว่า เขาตั้งเป็นปณิธานในใจว่า จะไม่ทำอะไรที่ทำให้ "พันธมิตร" อ่อนกำลังลง (แม้จะ "ไม่เห็นด้วยหลายอย่าง") ความจริง หลังจดหมายนี้แล้ว ผมยังได้ยืนยันในข้อเขียนอื่นว่า ถ้าคุณผลักการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทางเลือกให้โดยแท้จริง ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" จะเอาใคร? "พวกคุณไม่มี candidate ของตัวเอง") คุณก็มีแต่ซ้ำรอยสมัย 2500 ที่เปิดทางให้ "กลุ่มที่สาม" เข้าครองอำนาจแทนเท่านั้น (ดูตัวอย่างกระทู้ "ถึงผู้ที่กล่าวว่า ต่อต้านทักษิณ และ ต่อต้านนายกฯพระราชทาน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, เว็บไซต์ประชาไท, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย - สนนท. ฯลฯ)" โพสต์เมื่อ 9 มีนาคม 2549 http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2924&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai และกระทู้ "deja vu ทักษิณ v นายกพระราชทาน, พิบูล-เผ่า v สฤษดิ์" โพสต์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549 http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2931&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai แต่ตอนนั้น ทุกคนอยู่ในภาวะที่ "เลือดเข้าตา" อยากเอาทักษิณออกทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อเสนอหรือทางออกอื่น (นอกจากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ) (ขอให้ลองอ่านความเห็นของคุณชูวัส บ.ก.ประชาไท ในกระทู้หลังด้วย น่าสนใจอย่างมากเมื่ออ่านย้อนหลัง ตอนนั้น ชูวัสถึงกับต้องมาขอให้ใครๆ อ่านกระทู้ผมอย่าง "ลองเปิดใจและพิจารณาข้อเขียนของ อ.สมศักดิ์ อย่างปราศจากอคติดูบ้าง ลองดูเถอะครับ" และยังต้องออกตัวว่า "อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ" ในความเห็นของผม นี่เป็นการสะท้อนด้านกลับว่า บรรยากาศในหมู่ผู้อ่าน (หรือคนทำ?) ประชาไท เองมีลักษณะ "เลือดเข้าตา" เพียงใด ถึงกับต้องมาขอร้องกันแบบนี้!) จนบัดนี้ ผมยังเชื่อว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภา คือก่อนรัฐประหารถึง 7 เดือน มีความเป็นไปได้ที่จะหยุดสถานการณ์ที่ภายหลังเปิดทางให้รัฐประหารได้ (แน่นอน ผมใช้คำว่า "มีความเป็นไปได้" เท่านั้น ไม่มีใครประกันได้แท้จริง นี่เป็นเรื่องการปฏิบัติ) ปัญหาคือ บรรดานักวิชาการปัญญาชนสำคัญๆ ของเรา แม้แต่คนที่ตอนนี้ออกมาคัดค้านรัฐประหารอย่างแข็งขัน ไม่มีใครเลยที่คิดจะ "ยอม" หยุดกระแส "แอนตี้ทักษิณ" ในตอนนั้น..... ในความเห็นของผม ขณะที่ตอนนี้ควรต้องตั้งคำถามกับบรรดาผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งแบบตรงๆและแบบแอบๆ อายๆ ต่อการรัฐประหารหลังเกิดรัฐประหารแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างมากเช่นกันก็คือ ตั้งคำถามกับคนที่ขณะนี้กำลังออกมาวิจารณ์รัฐประหารเองด้วยว่า ก่อนรัฐประหารนั้น ท่าทีทางการเมืองของพวกเขาเป็นอย่างไร มีส่วนผิดพลาด ที่ทำให้ง่ายต่อการสร้างสถานการณ์สำหรับการรัฐประหารอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net