Skip to main content
sharethis






 



ประชาไท - 9 ธ.ค. 49 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. มหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา พร้อมกันตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 - 19.00 น. เพื่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

 


"จุฬาลงกรณ์" ประนาม สนช. ครม.และอธิการ


ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย นิสิตนักศึกษา ทั้งจุฬาฯเองและสถาบันอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ประมาณ 200 คน จัดชุมนุมหน้าตึกอธิการบดี


 


ทั้งนี้ "กลุ่มจุฬาฯ ต้านแปรรูปมหาวิทยาลัย" ออกแถลงการณ์ประณามผู้ผลักดันมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยมีเนื้อหาว่า สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเฉยเมยต่อข้อเรียกร้องให้ระงับ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยประชาคมจุฬาฯ ด้วยการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในวาระแรกในวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา


 


ชาวจุฬาฯ ได้เล็งเห็นแล้วว่า ทั้ง ครม. สนช. ตลอดจนอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มีพฤติกรรมอันเป็นเผด็จการ ไม่ได้ต่างจากระบอบทักษิณ จึงขอประณามกลุ่มบุคคลเหล่านี้


 


คณะรัฐมนตรี ที่ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และผ่านเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่ได้ผ่านการทำประชามติอย่างโปร่งใส และละเลยต่อเสียงประชาคมจุฬาฯ กว่าร้อยละ 82 ซึ่งไม่เห็นด้วย ทั้งยังกระทำการดังกล่าวในฐานะรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่ได้มีความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายใดๆ ทั้งสิ้น


 


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ปฏิเสธจะรับฟังเสียงของประชาชนชาวจุฬาฯ ที่ได้เคลื่อนไหวต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยการเดินขบวนในจุฬาฯ และการไปประท้วงหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา


 


อธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งมีหน้าที่ผูกพันกับตำแหน่งดังกล่าว ก็เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ชาวจุฬาฯ แต่กลับได้กระทำการขัดกับเจตจำนงของชาวจุฬาฯ ด้วยการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พร้อมยังออกหนังสือแก้ต่าง ซึ่งฟังดูไร้สาระ ปราศจากน้ำหนัก และไม่มีรูปธรรมชัดเจน


 


นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้สนช.จะเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้วก็ตาม แต่ก็จะเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะดึงพลังของมวลชนเข้ามาร่วมมากขึ้นเพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงของประชาชน โดยจะขยายการชุมนุมให้กว้างขึ้น ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อของนักศึกษา และคณาจารย์ที่คัดค้านการออกนอกระบบได้แล้วกว่า 1,300 คน และในวันที่ 13 ธ.ค. จะนำไปยื่นให้กับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน สนช. นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อธิการบดีจุฬาฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบมีจำนวนมาก ไม่ใช่เสียงส่วนน้อยอย่างที่รัฐบาลกล่าวหา โดยคาดว่าจนถึงวันดังกล่าวจะสามารถรวบรวมรายชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นรายชื่อ


 


"สนนท." ฝากคำโต้ถึง "วิจิตร ศรีสอ้าน"


นายนล พูลวังกาญจน์ กรรมการบริหาร สนนท. อ่านแถลงการณ์ว่า จากการที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แถลงข่าวโต้ตอบการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ทาง สนนท.จึงขอชี้แจงรายประเด็นดังนี้


 


นายวิจิตรเห็นว่า การจัดการศึกษาในระดบอุดมศึกษาแทบไม่มีประเทศไหนที่รัฐต้องแบกรับหรือจัดการศึกษาให้ฟรี เพราะรัฐบาลคงไม่มีงบประมาณ แต่ สนนท.เห็นว่า ประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย รัฐบาลประเทศนั้นๆ สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแทนประชาชนได้โดยจัดรูปแบบเป็นรัฐสวัสดิการ มีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งเก็บภาษีคนรวยมากกว่าคนจน แต่ในประเทศไทยคนรวยกับคนจนเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น เพียงแต่รัฐบาลไม่เคยปรับเปลี่ยนเพราะกลัวกระทบพวกพ้องและตนเอง


 


ประการต่อมา นายวิจิตร กล่าวว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบเป็นเรื่องที่ค้างมาจากรัฐบาลเก่า ไม่ได้เร่งรัดทำในรัฐบาลชุดนี้ แต่ทาง สนนท.เห็นว่า การที่รัฐบาลชุดนี้มาจากการรัฐประหาร โดยอ้างว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมามีการทจริตคอรัปชั่น กลับนำนโยบายจากรัฐบาลที่แล้วมาดำเนินการต่อซึ่งเป็นนโยบายทีมีความกังขาต่อความโปร่งใสมานานแล้วมาสานต่อจึงเป็นเรื่องที่น่ากังขา


 


นอกจากนี้ การที่นายวิจิตร กล่าวว่า พ.ร.บ.นอกระบบเป็นเรื่องเก่าเคยเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาในรัฐบาลชุดก่อนทำไมไม่คัดค้านตั้งแต่คราวนั้น รัฐบาลชุดนี้แค่เดินเรื่องตามขั้นตอนปกติทำไมเพิ่งมาคัดค้าน สนนท.แย้งว่า หากนายวิจิตร ติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทราบได้ว่า นับแต่นโยบายนี้ได้ถูกเสนอก็มีการเคลื่อนไหวคัดค้านจากหลายภาคส่วนมาตั้งแต่ต้น ถึงกับมีการชุมนุมใหญ่หลายครั้งทำให้ลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบได้ ไม่เข้าใจว่านายวิจิตรไปอยู่ที่ไหนมาถึงไม่รู้ว่าการคัดค้านมีมานานแล้ว


 


ในแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่า ไม่น่าแปลกใจที่การผลักดัน พ.ร.บ.นี้มีลักษณะรวบรัดตัดตอนเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี เพราะนายวิจิตรเป็นผู้ผลักดันมาตั้งแต่ต้นในรัฐบาลชวน หลีกภัย พ.ศ.2541 และผลักดันเรื่อยมาแต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันเมื่อมีอำนาจในวาระที่ดำรงตำแหน่งอาศัยช่วงวิกฤติการเมืองมากลบกระแสโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านใดๆ จากนิสิตนักศึกษา ซึ่ง สนนท.เห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะยิ่งบั่นทอนโอกาสการศึกษาของประชาชนและทำลายปรัชญาการศึกษา สนนท.ยืนยันจะคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลใดก็ตามที่มาบริหารประเทศ


 


ประสบการณ์ของผู้ที่ออกนอกระบบไปแล้ว "ราชภัฏนครปฐม"


นายอดิศักดิ์ สุขเกษม คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ใช้เวทีในการชุมนุมที่จุฬาฯบอกเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯหลังออกนอกระบบไปแล้วว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำหลังจากออกนอกระบบ คือร่างหลักสูตรใหม่และเก็บค่าเทอมที่สูงขึ้น โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องจ่ายค่าเทอมสูงถึงประมาณ 8,000 บาท จากเดิมเพียง 3,400 บาทเท่านั้น


 


นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้ยกเลิกการสอบเข้าเรียน แต่ใช้นโยบายรับหมด เพื่อที่ว่าใครเรียนไม่ไหวค่อยรีไทร์ออกไปตอนชั้นปีที่ 2 คุณภาพการศึกษาก็ต่ำลง อีกทั้งมีการเปิดหลักสูตรพิเศษเพิ่มเติมสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นหรือเปิดคณะใหม่ เช่น คณะนิติสาสตร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีคุณภาพ แต่เพื่อให้นักการเมืองท้องถิ่นมีใบปริญญาไปเล่นการเมือง ส่วนมหาวิทยาลัยก็ได้เงินจากวิธีการเหล่านี้


 


สำหรับอาจารย์ปัจจุบันจะไม่มีการบรรจุ และได้รับเงินเดือนเพียง 8,000 บาท โดยต้องสอนตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.00 น. วันหนึ่งต้องสอน 3-4 วิชา ถ้าอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องสอนเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งเป็นภาคพิเศษอัตราจ้างสูงกว่า ความมั่นคงในชีวิตของอาจารย์จึงไม่มี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนักศึกษาปัจจุบันยังไม่เข้าใจทำให้การเคลื่อนไหวภายในยังมีไม่มากนัก แต่ก็เริ่มมีการพูดถึงกันในหมู่อาจารย์


 


"พระนครเหนือ" พระเดชอาจารย์ที่มีแด่ลูกศิษย์


วันเดียวกัน เวลา 17.00 น. นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กว่า 1 พันคน ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ภายในสถาบันฯเพื่อร่วมกันแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการออกนอกระบบ โดยองค์การนักศึกษาฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และนำมาประชาพิจารณ์ เพื่อลงประชามติ พร้อมทั้งขอให้มีการชี้แจงข้อดี ข้อเสียอย่างโปร่งใสและจริงใจ และให้กำหนดเพดานค่าหน่วยกิตที่ชัดเจน เป็นธรรม


         


นอกจากนั้นยังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ขอความเป็นธรรมนักศึกษาที่ออกมาคัดค้าน เนื่องจากมีการข่มขู่จากผู้บริหารสถาบัน ดังนั้นอยากให้ประชาคมสถาบันเทคโนโลยีฯ ทั้งหมดร่วมกันแสดงพลังเพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย


 


ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ บรรดานักศึกษาจะรวมตัวกันไปคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่หน้ารัฐสภา โดยคาดว่าจะมีนักศึกษาไปร่วมไม่ต่ำกว่า 1,000 คนอย่างแน่นอน


        


"หลังจากที่ผมได้ออกมาเคลื่อนไหว และยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ในวันที่ 7 ธ.ค. ผมได้รับโทรศัพท์จาก ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุญโสภณ อธิการบดีฯ ขอให้หยุดการเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะถูกพักการเรียน 1 ปี เนื่องจากทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง จากนั้นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาได้มาขอให้หยุดการเคลื่อนไหวภายในสถาบัน จึงได้ถามไปว่าที่อธิการบดีพูดเช่นนั้น เป็นการกดดันให้ผมลาออกจากสถาบันใช่หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าการให้ออกจากสถาบันเป็นมาตรการต่อไป แต่ในเบื้องต้นจะต้องถูกพักการเรียนก่อน 1 ปี หากไม่หยุดเคลื่อนไหว" นายภัทรดนัย จงเกื้อ นักศึกษาคณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ปีที่ 2 ในฐานะเลขาธิการองค์การนิสิตนักศึกษา กล่าว


         


ด้าน ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวว่า นายภัทรดนัยเป็นผู้โทรศัพท์มาหาตน โดยแจ้งว่าจะขอใช้สถานที่เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการออกนอกระบบ จึงบอกว่าการจะใช้สถานที่ภายในสถาบันต้องทำหนังสือขออนุญาต เพราะเป็นระเบียบและมีขั้นตอนกำหนดไว้อยู่ อีกทั้งในระเบียบดังกล่าวระบุด้วยว่าหากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษพักการเรียน 1 ปี ได้แจ้งให้นักศึกษาทราบ แต่ไม่ใช่การข่มขู่ ที่สำคัญสถานที่ที่นายภัทรดนัยขอใช้ในการเคลื่อนไหวนั้น อยู่ติดกับอาคารเรียนที่มีการเรียนการสอน เกรงว่าหากมีการใช้เครื่องเสียงจะรบกวนการเรียนการสอนของอาจารย์และนักศึกษาคนอื่นจึงได้ห้ามปรามไว้


 


"ผมไม่ได้ข่มขู่ แต่ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ว่าการเคลื่อนไหว หรือดำเนินการใดๆ ของนักศึกษาจะต้องไม่สร้างความแตกแยก หรือแตกความสามัคคีกัน หากนักศึกษายืนยันว่าจะเคลื่อนไหวก็ต้องออกไปทำข้างนอก และต้องไม่รบกวนการเรียนการสอน หรือหากจะมาเคลื่อนไหวในสถาบันช่วงวันหยุดก็สามารถกระทำได้"


         


ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า สถาบันเทคโนโลยีฯต้องการให้ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เนื่องจากมีพนักงานมหาวิทยาลัย 431 คน มีอัตรากำลังข้าราชการอาจารย์ 40 คน ซึ่งมีพนักงานมหาวิทยาลัยเยอะกว่ามาก แต่บุคลากรเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการรองรับ สิทธิการรักษาพยาบาลต้องใช้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของบุพการีได้


         


นอกจากนี้ที่ผ่านมาทางสถาบันยังประสบปัญหาอาจารย์ลาออกไปงานในองค์กรเอกชน เนื่องจากอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุน เมื่อใช้ทุนหมดก็ลาออกไปเพราะเห็นว่าไม่มีความก้าวหน้า หาก พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ก็จะมีระบบสวัสดิการต่างๆ รองรับ และบุคลากรก็จะมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย


 


สิทธิเสรีภาพหายไปที่ "บูรพา"


สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา ได้งดการชุมนุมเคลื่อนไหวทุกอย่าง แหล่งข่าวกล่าวว่ามีการบล็อกจากอาจารย์ในสถาบัน โดยกล่าวหาพวกที่ออกมาประท้วงว่าโง่เป็นควาย ในคณะวิศวะกรรมการศาสตร์ได้เรียกนิสิตเข้าไปคุยว่าเมื่อเห็นประกาศชุมนุมให้ใช้วิจารณญาณเพราะเป็นพวกก่อกวนและขู่ว่าถ้าไปร่วมจะตัดคะแนนความประพฤติ 40 คะแนน จึงทำให้นิสิตไม่ค่อยกล้าที่จะออกมาชุมนุมโดยเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 1


 


อย่างไรก็ตามทางกลุ่มคัดค้านการออกนอกระบบของ ม.บูรพาจะจัดแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งภายในมหาวิทยาลัยคาดว่าเป็นสัปดาห์หน้าเพื่อประกาศจุดยืนให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่


 


นอกจากนี้ ทางนิสิตที่คัดค้านมีความปรารถนาจะพบนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อบอกให้รู้ว่านิสิตกำลังต้องการความเป็นธรรมในการพูดซึ่งไม่ได้คัดค้านการออกนอกระบบ แต่ขอให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ออกนอกระบบใหม่ โดยผ่านการประชาพิจารณ์ที่มีส่วนร่วมอย่างทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง และอยากะบอกว่า สนช.เองก็เหมือนกำลังโดนหลอกอีกทีเพราะหลายคนไม่ได้รู้เรื่องดีเกี่ยวกับ พ.รบ.มหาวิทยาลัยนอกระบบแต่ก็ให้ผ่านวาระไปในวันที่ 7 ธ.ค. 3 มหาวิทยาลัย จึงอยากให้รู้ความจริงอีกด้านด้วยว่าในมหาวิทยาลัยมีปัญหาอะไรบ้าง


 


ก่อกำเนิดเกิดกระแสที่ "ธรรมศาสตร์"


ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เริ่มมีการจัดกิจกรรมจุดยืนต้าน ม.นอกระบบ เช่นกัน ทางผู้จัดคนหนึ่งระบุว่า แม้ว่าจะออกตัวช้ากว่ามหาวิทยาลัยอื่นและอาจจะดูไม่สำเร็จด้านจำนวนคนคือมีประมาณ 20 คน แต่ก็เชื่อว่าคนกลุ่มเล็กๆที่มาด้วยความยิ่งใหญ่ทางความรู้สึกจะขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งที่ดีๆได้


 


ทั้งนี้ กิจกรรมที่จัดได้คือวงเสวนาเล็กๆ เรื่อง "ม.นอกระบบ และผลดี/ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้น" การเสวนาเริ่มต้นขึ้นในช่วงประมาณ 18.00-19.00 น.จากนั้นจึงเป็นการจุดเทียนเพื่อแสดงพลังก่อนแยกย้ายกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net