ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : 'จินตนาการสู่อนาคต' บทเรียนของชุมชน จากวิกฤติเศรษฐกิจ

ประชาไท - ในการสัมมนาประจำปีของทีดีอาร์ไอเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนท้องถิ่นได้เรียนรู้ 7 ประการคือ การเรียนรู้ที่จะต้องทุกข์สุขอย่างเฉียบพลัน การเรียนรู้ที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันวิกฤติ การเรียนรู้ที่จะร่วมสร้างเครือข่ายคุ้มครองทางสังคม เรียนรู้ผลดีผลเสียที่มาจากนโยบายประชานิยม เรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง เรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญด้านมนุษยนิยม และที่สำคัญที่สุดคือ เรียนรู้ที่จะจินตนาการอนาคต

 

หนึ่ง การเรียนรู้ความทุกข์สุขแบบเฉียบพลัน เป็นประสบการณ์ที่ชุมชนต้องประสบภาวะวิกฤติแบบเฉียบพลัน ซึ่งผลกระทบอาจไม่ใช่ทางลบไปเสียทั้งหมด เช่น ขณะที่ราคาอุปกรณ์ภาคเกษตรแพงขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรบางอย่างก็เพิ่มขึ้นด้วย

 

สอง บางชุมชนมีการป้องกันที่ดี มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ประมาทและได้เตรียมการป้องกันวิกฤติเอาไว้ เช่น ที่แม่เรียง อำเภอฉวาก จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

สาม เกิดการเรียนรู้เรื่องตาข่ายคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า ชุมชนมีตาข่ายทางสังคมอยู่แล้ว ทำให้สามารถรองรับลูกหลานที่คืนถิ่นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจได้ บางแห่งสร้างวิสาหกิจชุมชน บางอย่างก็เป็นโครงการจากภาครัฐ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมิยาซาวา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIP) ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนที่ยากลำบากได้ดูแลกันเอง

 

สี่ คือ ในเวลาต่อมา ชุมชนท้องถิ่นก็ได้เรียนรู้ยาขนานใหญ่ที่ชื่อ 'ประชานิยม' ที่มาในรูปแบบโครงการต่างๆ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน โครงการพักหนี้เกษตรกร หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 30 บาทรักษาทุกโรค เหล่านี้เป็นโครงการที่ใช้เงินทุ่ม สร้างสินค้าและบริการในรูปแบบวัตถุนิยม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและแฝงเรื่องอำนาจทางการเมือง อันทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ทั้งผลบวกและผลลบ ชุมชนที่สามารถเรียนรู้ ก็สร้างความเจริญจากเงินและวัตถุที่ถาโถมเข้ามา แต่บางชุมชนก็ไม่สามารถเรียนรู้จากกระแสประชานิยม

 

ห้า คือ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมาย ชุมชนก็ได้เรียนรู้ที่จะต้องพึ่งตนเอง อาจเริ่มจากประเด็นเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร วัฒนธรรม และอื่นๆ การจัดการชุมชนได้ขยายวงออกไปมากและมากขึ้นในช่วงการเรียนรู้เรื่องตาข่ายคุ้มครองทางสังคม จนถึงประชานิยม การเรียนรู้นี้ได้ขยายวงไปพัฒนาแบบแผนชุมชน เกษตรชุมชน จนถึงการจัดการการสมานฉันท์ทางการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเมื่อการเมืองระดับประเทศแตกแยก ก็สร้างบทเรียนให้ชุมชนเลือกหันหน้าคุยกัน เป็นการสมานฉันท์ทางการเมืองท้องถิ่น เป็นการเรียนรู้เรื่องการจัดการชุมชน เช่น การจัดทำแผนชุมชน

 

หก การเรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับแบบแผนชุมชน คือ การเรียนรู้ด้านจิต มนุษยนิยม พอเพียงนิยม เน้นคนเป็นศูนย์กลาง แนวคิดนี้เริ่มตั้งแต่คราวแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ที่แม้รัฐบาลไม่ได้นำเอาแผนฯ 8 และแผนฯ 9 มาใช้ แต่ปรัชญาวิธีคิดนี้ก็ได้เข้าไปถึงชุมชน

 

เจ็ด การเรียนรู้ที่สำคัญมาก คือ การเรียนรู้ที่จะจินตนาการอนาคต คือการเรียนรู้ที่จะพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ ถือเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ค่อยๆ พัฒนาก่อรูปและน่าจะนำไปพัฒนาอย่างกว้างขวาง

 

ทั้งนี้ นายไพบูลย์กล่าวว่า จะต้องมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งเน้นระดับปฐมภูมิคือตำบลและเทศบาล การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้มีบทบาทในการคิดและทำ และการให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ประสานความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็น อบต. ภูมิภาค วัด โรงเรียน ฯลฯ หลักทั้ง 3 ประการถือเป็นหลักสำคัญที่จะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต อันจะนำไปสู่สังคมท้องถิ่นที่ดีงาม เพื่ออยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

มากไปกว่านั้นคือ จะต้องมี 3 ยุทธศาสตร์ นั่นคือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมที่เข้มแข็ง และสังคมที่มีคุณธรรม ซึ่งหากทำได้ก็เชื่อว่าการจัดการท้องถิ่นจะให้ผลที่น่าพอใจ

 

นายไพบูลย์ทิ้งท้ายว่า ปัจจัยอีกประการที่เป็นการจินตนาการสู่อนาคต คือ การจัดให้มีสภาที่ปรึกษาของประชาชนในระดับท้องถิ่น มีองค์ประกอบมาจากหายฝ่ายในท้องถิ่น ทำหน้าที่ให้ความคิดความเห็น และจะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่สร้างความเข้มแข็งทั้งการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท