Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : "ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ" กับ "ขบวนการผู้หญิงและการปฏิรูปการเมืองไทย"


จุดยืนที่แตกต่างในสถานการณ์รัฐประหาร


 


 



เยาวชนเดินขบวนเรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนรัฐบาลจากการเลือกตั้งและย้ายทหารออกไป


ภาพจาก http://www.fijitimes.com/


 


 






 โดย สุภัตรา ภูมิประภาส*

 


 


 


เหตุการณ์รัฐประหารที่ประเทศฟิจิ หรือสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ (Republic of the Fiji Islands) ในมหาสมุทรแปชิฟิกตอนใต้นั้น เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา สองเดือนเศษหลังรัฐประหารในประเทศไทยที่อยู่ห่างไกลกันหลายร้อยพันไมล์


 


จริงๆ แล้วรัฐประหารทั้งสองประเทศไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกัน แต่มีความเหมือนและความต่างที่น่าสนใจที่อยากเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบของการรัฐประหารที่เกี่ยวกับกลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีของทั้ง 2 ประเทศ           


 


 



อิมรานา จาลาล


 


 


หลังเหตุการณ์รัฐประหาร อิมรานา จาลาล (Imrana Jalal) สมาชิกของกลุ่มสิทธิสตรีฟิจิ ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งข่มขู่ว่าจะข่มขืนเธอ และจะทำให้เธอหยุดส่งเสียงอีกต่อไป


 


จาลาลเป็นกรรมการบริหารของ "ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ" (Fiji Women"s Rights Movement- FWRM) และเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนที่ออกมาส่งเสียงคัดค้านการทำรัฐประหารทั้งผ่านแถลงการณ์ขององค์กร และผ่านข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในสื่อ


 


ขณะเดียวกัน ฟริซิลา บัวโดรโม (Virisila Buadromo) ผู้ประสานงานของ "ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ" ก็ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นทหาร ข่มขู่ให้เธอ "หุบปาก" และหยุดการกระทำใดๆ ที่ทำอยู่ นั่นก็คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารนั่นเอง


 


 





บัวโดรโม


 


 


บัวโดรโม กล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มของเธอกำลังทำนั้น คือ "การเรียกร้องให้มีการเคารพหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ และหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งในแถลงการณ์ของกลุ่มฯไม่ได้เรียกร้องแค่ให้นักรัฐประหารเคารพกติกา แต่ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ ยังได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมยึดหลักนิติรัฐโดยไม่เข้าไปมีตำแหน่งหรือร่วมกิจกรรมใดกับคณะรัฐประหารที่ละเมิดกฎหมาย


 


ขบวนการสิทธิสตรีของฟิจิ เป็นองค์กรพัฒนาสังคมภาคเอกชนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 (1986) เป็นองค์กรที่ผู้หญิงจากต่างชาติพันธุ์และจากหลากหลายวัฒนธรรมในฟิจิมาร่วมกันทำงานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ผ่านการปฏิรูปองค์กรและการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่างๆ ในสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเช่นเดียวกับขวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วโลกที่ต้องการเห็นผู้หญิงได้โอกาสที่เท่าเทียมในสังคม


 


แต่ขบวนการผู้หญิงฟิจิบอกว่า พวกเธอไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อโอกาสและความเท่าเทียมของผู้หญิงเท่านั้น แต่พวกเธอต้องการอยู่ร่วมกับคนทุกเพศในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีธรรมาภิบาล เคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน


 


บัวโดรโมได้เรียกร้องต่อภาคประชาสังคมไว้ในแถลงการณ์ของกลุ่มของเธอด้วยว่า "โปรดรำลึกไว้ว่า การยอมรับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลชั่วคราวของคณะรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย"


 


ฉะนั้น เมื่อการรัฐประหารได้ทำลายหลักการทั้งปวงที่พวกเธอเคารพและเรียกร้อง พวกเธอจึงต้องออกมาพูดและเขียน จนถูกข่มขู่ว่าจะถูกข่มขืน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ก็มีผลกระทบทำให้การต่อสู้รณรงค์ของกลุ่มผู้หญิงฟิจิยากลำบากและสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการต่อสู้กับทัศนคติว่าด้วย "การข่มขืน" และ "การถูกข่มขืน" ที่ในหลายสังคมยังเชื่อว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ผู้หญิงจะถูกทำลายไปเมื่อเธอถูก "ข่มขืน"


 


ทั้งชายลึกลับและชายผู้อ้างตัวเป็นทหารที่โทรมาข่มขู่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของฟิจิ ก็คงจะใช้ทัศนคติแบบนี้


 


คราวนี้ลองย้อนมาดูผลกระทบของการรัฐประหารในประเทศไทยกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีของไทยกันบ้าง อันนี้ต้องขอทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ว่า ไม่ได้หมายรวมทุกกลุ่ม


 


กลุ่มที่จะกล่าวถึงคือ กลุ่ม WeMove หรือ "ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง" ซึ่งโชคดีกว่าขบวนการผู้หญิงฟิจิเยอะเลย คือนอกจากไม่ถูกข่มขู่ใดๆ แล้ว ยังดูว่าน่าจะมีสัมพันธภาพที่ดีกับคณะรัฐประหาร อันนี้ตีความได้จากภาพที่ทางกลุ่มเอามาตีพิมพ์โชว์อยู่ในแผ่นพับของกลุ่มฯ คือ ภาพที่ตัวแทนกลุ่มเข้าพบพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน ที่ตอนนี้แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)


 


นอกจากนี้กลุ่ม WeMove ยังได้รับงบประมาณ 38 ล้าน จากงบรวม 200 ล้านบาทที่รัฐบาลภายใต้กำกับของคณะรัฐประหารจัดสรรมาให้สำหรับ "การปฏิรูปการเมือง" ภาคประชาชนทั่วประเทศ


 


นอกจากเป็นความโชคดีของขบวนการผู้หญิงไทยแล้ว ยังเป็นความโชคดีของคณะรัฐประหารของไทยด้วยที่กลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีของไทยไม่รังเกียจเดียจฉันท์ว่า พวกเขาทำลายหลักการประชาธิปไตย เหมือนกับที่ขบวนการผู้หญิงฟิจิประนามคณะรัฐประหารในประเทศของพวกเธอ


 


เรื่องที่น่าสนใจและสะดุดตาสะดุดใจจนอยากเล่าต่อ คือตัวแทนของกลุ่ม WeMove ที่ไปนั่งเจรจาสันถวไมตรีในห้องรับรองหรูหราอยู่กับหัวหน้าคณะรัฐประหารนั้น เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ว. ถึง 3 คน คือ สองคนเป็นอดีต สส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัคร สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ อีกหนึ่งคนเป็นอดีตว่าที่ ส.ว. ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งมา แต่ถูกคณะรัฐประหารตัดสิทธิ์ไป


 


น่าสนใจที่ "ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง" เป็นองค์กรที่เพิ่งเปลี่ยนรูปมาจาก "เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ที่เพิ่งถูกคณะรัฐประหารชุดนี้ฉีกทิ้งไป


 


น่าสนใจเพราะ สตรีทั้งสามท่านนี้ เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและนักการเมืองที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพราะทั้งสามท่านลงสมัครแข่งขันเพื่อเข้าสู่เส้นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ทั้งๆ ที่ถูกคณะรัฐประหารตัดสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไป พวกเธอก็ยังสามารถปรับตัวมา "ปฏิรูปการเมือง"ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหารได้


 


นี่ถ้าขบวนการผู้หญิงฟิจิใส่ใจแต่ประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเข้าถึงโอกาสของผู้หญิงประการเดียว


 


พวกเธออาจไม่ต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ !!!


 


  





แถลงการณ์ของขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ


วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2549


 


 


ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิขอประนามอย่างรุนแรงต่อผู้ที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่ได้กระทำการละเมิดกฎหมายของประเทศ จากคำประกาศของ ผู้บัญชาการแฟรงค์ ไบนิมาราม (Commander Frank Bainimarama) เมื่อคืนที่ผ่านมาที่เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจที่จะเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงค์


 


"โปรดรำลึกไว้ว่า การยอมรับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลชั่วคราวของคณะรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย"


 


ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2543 (2000) ซึ่ง George Speight [หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2543] แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี มือของกฎหมายได้ลงโทษบุคคลเหล่านั้นด้วยความผิดที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่ได้มาโดยมิชอบ และพวกเขาถูกพิพากษาจำคุก เราขอเตือนว่าภาคประชาสังคมกำลังจับตาตรวจสอบและบันทึกวิกฤตการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆจะร่วมกันบันทึกการแต่งตั้งที่ผิดกฎหมาย และจะทำให้แน่ใจว่าบุคคลใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ละเมิดกฎหมายนี้จะต้องได้รับการลงโทษทางกฎหมาย


 


สมาชิกของภาคประชาสังคมไม่ควรที่จะร่วมในข้อผิดพลาดนี้ โดยคิดว่าพวกเขากำลังช่วยให้ฟิจิก้าวผ่านภาวะวิกฤติและคืนสู่สภาพปกติ พวกเขาอาจคิดว่าการกระทำที่ผิดกฎหมายนี้สามารถช่วยแก้วิกฤตของประเทศในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวพวกเขากำลังช่วยรับรองวงจรอุบาทว์ของการทำรัฐประหารและสมมติฐานว่าการใช้กำลังอาวุธแก้ปัญหาประเทศชาตินั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่อนุโลมให้ทำได้


 


ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิขอเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพและภาคส่วนต่างๆได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่งที่ผิดกฎหมายนี้ และเรียกร้องให้สมาชิกของกลุ่มใดๆที่เข้าไปรับตำแหน่งลาออก


 


 




*เรื่องข้างล่างต่อไปนี้ไม่กี่ยวกับขบวนการผู้หญิงไทยหรือขบวนการผู้หญิงฟิจิ เป็นข้อมูลแถมเกี่ยวกับรัฐประหารในประเทศฟิจิที่ "บังเอิญเหมือน" รัฐประหารในราชอาณาจักรไทยอยู่หลายประการ รวมทั้งเป็นการทำรัฐประหารแบบไม่มีฝ่ายใดต้องสูญเสียเลือดเนื้อเหมือนกันด้วย

 



 



 


 


สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ ประกอบด้วยเกาะ 323 แห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 110 แห่ง โดยประมาณร้อยละ 87 ของประชากรอาศัยอยู่บนสองเกาะหลักคือ เกาะฟิติ (Viti Levu) และเกาะเฟนัว (Venua Levu) ประชากรกลุ่มแรกที่มาอาศัยบนเกาะเหล่านี้อพยพมาจากภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้





 


อังกฤษยึดฟิจิเป็นอาณานิคมในปี พ.ศ.2417 (1874) และได้นำประชากรเชื้อชาติอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานน้ำตาลบนเกาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2422 (1879) - พ.ศ.2459 (1916) เมื่ออังกฤษให้อิสรภาพกับฟิจิในปี พ.ศ.2513 (1970) ความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาระหว่างพลเมืองฟิจิเชื้อสายอินเดีย (Indo-Fijian) และชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฟิจิ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฟิจิเป็นโปรแตสแตน์นิกาย "เมโทดิส" (Methodist) ส่วนพลเมืองเชื้อสายอินเดียนับถือฮินดู ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญของประเทศฟิจิ จำกัดจำนวนนักการเมืองฟิจิเชื้อสายอินเดียในสภาให้มีได้น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และระบุห้ามไม่ให้พลเมืองเชื้อสายอินเดียดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 

ภายหลังได้รับเอกราช ประเทศฟิจิเผชิญกับการรัฐประหารมา 4 ครั้ง คือรัฐประหาร 2 ครั้งในปี พ.ศ.2530 (1987) รัฐประหารปี พ.ศ.2543 (2000) และครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา


 


การรัฐประหารในฟิจิเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นำโดยนายพล Josaia Voreqe (Frank) Bainimarama ผู้นำทหารที่ไม่พอใจต่อนายกรัฐมนตรีไลเซเนีย คาเรส(Laisenia Qarase) และรัฐสภาฟิจิที่มีแนวโน้มจะผ่านร่างกฎหมาย "เพื่อความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพ"ที่เสนอให้นิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งนายพลแฟรงค์กล่าวหาว่าการรัฐประหารครั้งนั้นทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเขาได้อ้างถึง การข่มขืน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทำลายวัดฮินดู นอกจากนี้นายพลแฟรงค์ยังเรียกร้องให้รัฐสภาถอนร่างกฎหมายที่ให้สิทธิครอบครองทรัพยากรทะเลเป็นของพลเมืองเชื้อชาติฟิจิเท่านั้น


 


นายกรัฐมนตรีคาเรสตอบโต้ว่าคำพูดของนายพลแฟรงค์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขู่ว่าจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดของฟิจิ และขอให้ศาลมีคำพิพากษากำหนดบทบาทที่ถูกต้องของทหารด้วย


 


ครั้งนี้ โฆษกของกองทัพออกมาตอบโต้นายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าฝ่ายทหารมีความเป็นเอกภาพในการคัดค้านการนิรโทษกรรมบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2543 และตอกย้ำเรื่องที่กองทัพปัจจุบันไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในร่างกฎหมายที่ให้สิทธิครอบครองทรัพยากรทางทะเลกับชนพื้นเมืองฟิจิเท่านั้น


 


หลังการตอบโต้กันไปมาระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้นำทหารเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน ในวันที่ 31 ตุลาคม ทางกองทัพก็ได้จัดการสวนสนามในเมืองหลวงซูวา [Suva] เพื่อแสดงพลังให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทางนายกรัฐมนตรีคาเรสและประธานาธิบดีโจเซฟา อิโลอิโล ( Ratu Josefa Iloilo) พยายามที่จะปลดนายพลแฟรงค์ในช่วงที่นายพลแฟรงค์เดินทางไปเยี่ยมทหารฟิจิที่ถูกส่งไปเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพในอิรัก โดยนายกรัฐมนตรีและประธานบดีได้แต่งตั้งนายพันตรี Neumi Leweni ขึ้นมาแทน แต่ Leweni ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่าทหารในกองทัพยังคงซื่อสัตย์ต่อนายพลแฟรงค์


 


วันที่ 4 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีคาเรสประกาศแขวนการพิจารณา "ร่างกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพ" ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2543 ไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าต้องการทบทวนรายละเอียดว่ามีข้อใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญบ้าง


 


ด้านนายพลแฟรงค์ได้เรียกตัวทหารนอกประจำการจำนวน 1,000 นายมารายงานตัวต่อกองทัพหลังได้รับแจ้งข่าวว่ากำลังจะถูกดำเนินการในข้อหายุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร


 


หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีคาเรสพยายามที่จะเปิดการเจรจากับนายพลแฟรงค์ ในระหว่างที่นายพลแฟรงค์เดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งนายพลแฟรงค์ยื่นคำขาดว่าให้นายกรัฐมนตรีเตรียมคำว่า "YES" หรือ "NO" มาแค่สองคำเท่านั้นพอสำหรับข้อเรียกร้อง 9 ข้อของทางกองทัพ ซึ่ง 2 ในจำนวน 9 ข้อคือ ข้อเรียกร้องให้ถอนการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร 2543 และกฎหมายให้สิทธิครอบครองทรัพยากรทางทะเลกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม


 


ผู้นำฝ่ายพลเรือนและผู้นำทหารของฟิจิใช้เวลาเจรจากัน 2 ชั่วโมงที่นิวซีแลนด์ ทั้งสองบินกลับฟิจิโดยไร้ข้อสรุป


 


วันที่ 3 ธันวาคม นายพลแฟรงค์ประกาศว่าได้ยึดอำนาจการปกครองสาธารณรัฐฟิจิไว้หมดแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีคาเรส ประกาศว่าเขายังมีอำนาจบริหารประเทศอยู่ และได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 ธันวาคมเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของทางกองทัพ แต่ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาปรากฏตัวเมื่อถึงวันนัดหมาย มีแต่ประธานาธิบดีอิโลอิโล ที่ลงนามในคำประกาศยุบสภาโดยให้เหตุผลว่า "เป็นความจำเป็น"


 




นายกรัฐมนตรีคาเรส(ซ้าย) นายพลแฟรงค์ (ขวา)


 


 



ทหารล้อมบ้านของนายกรัฐมนตรีคาเรส


 


 


วันที่ 6 ธันวาคม นายพลแฟรงค์ประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า ทหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศฟิจิไว้ได้โดยเบ็ดเสร็จแล้ว และได้ทำการควบคุมตัวคณะรัฐมนตรี และได้ประกาศปลดบรรดาข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีอิโลอิโล ผู้บัญชาการตำรวจ และประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง


 


 


……………………………………………………………


*บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เดือนธันวาคม 2549


  ผู้เขียนเป็นนักข่าวที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันทำงานที่หนังสือพิมพ์ The Nation


 


 


 


           


                       


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net