Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

   
 


Middle East Uncensored 






 โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย

 


 


 


"นี่คือ ทะเลแห่งผู้ประท้วง (sea of demonstrators) ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์เลบานอน" โฆษกกองทัพเลบานอนให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี


 


10 ธันวาคม ไม่เพียงแต่ย่านใจกลางเมืองเท่านั้น ถนนทุกสายที่มุ่งเข้าสู่ใจกลางเบรุตได้กลายเป็น "ทะเล" ไปหมดแล้ว ประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงพร้อมใจกันออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ผิดกฎหมายและไม่มีความชอบธรรมเหลืออยู่ (ก่อนหน้าการชุมนุม รัฐมนตรีได้ลาออกไปแล้ว 6 ตำแหน่ง รัฐบาลหมดสภาพไปแล้ว แต่ยังดื้อที่จะอยู่ต่อ) บางคนโบกธงสีแดง-ขาว บางคนโบกธงสีอื่นๆ บางคนใส่หมวกสีส้ม บางคนใส่เสื้อสีเหลือง บางคนตะโกนไล่ซินยอรา บางคนตะโกนหา "อิสรภาพ" ท่ามกลางเสียงเพลงปลุกใจที่ดังคึกคักเป็นจังหวะ


 


สถานีโทรทัศน์ อัล-มานาร์ (Al-Manar) ของเฮซบอลเลาะห์ได้ทำการแพร่ภาพคลื่นมหาชนตามท้องถนนและจุดต่างๆ ให้เห็นกันจะๆ ไปทั่วประเทศ พร้อมอ้างตัวเลขที่ 2 ล้าน (ประมาณครึ่งเลบานอน) รอเบิร์ต ฟิสก์ นักข่าวประจำหนังสือพิมพ์อินดิเพนเดนท์ อังกฤษ ซึ่งอาศัยอยู่ในเบรุตมาหลายสิบปี (ค่อนข้างใกล้ชิดกับทางซีกฮาริรี-ไม่ใช่แฟนเฮซบอลเลาะห์) ให้ตัวเลขที่ 2 ล้านเช่นกัน แต่ถ้าเราจะเอาไม้บรรทัดในอดีตมาวัด ตามที่กองทัพว่าไว้ สามารถพูดแบบอนุรักษ์นิยมสุดๆ ได้ว่า การชุมนุมครั้งนี้หมายถึงประชาชนจำนวนมากกว่า 1 ล้านขึ้นไป


 


ภายใต้การดูแลของหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ฝ่ายเฮซบอลเลาะห์จัดตั้งขึ้นมาเองประมาณ 15,000-20,000 คน การชุมนุมผ่านไปด้วยดี ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น ซัยยิด ฮัสซัน นัสราลลาห์ ยังคงยืนยันว่าจะยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี มีการพูดถึงมาตรการ "อารยะขัดขืน" ในขั้นต่อไปที่ไม่ใช่แค่การชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้...หลังฉากยังคงมีความพยายามที่จะเจรจาต่อรองกันอยู่ โดยมีตัวแทนจากสันนิบาตอาหรับทำหน้าที่เป็นคนกลาง


 


"การเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง"  นี่คือคำขวัญที่ดังกระหึ่มอยู่ในใจของคลื่นประชาชนบนท้องถนน พวกเขาทุกคนกำลังเฝ้ารอวันนั้น


 


แต่บางที...ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ บางอย่างก็อาจจะไม่ต้องรอนาน


 


ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์สั้นๆ ของเลบานอน ท่ามกลางเส้นแบ่งทางนิกาย-ศาสนา-อุดมการณ์-ความเชื่อที่ก่อสงครามและสร้างบาดแผลในใจให้กับผู้คนมากมาย หลังอิสราเอลทำสงครามกับเลบานอนกลางปีนี้ พ้นไปจากซากปรักหักพังและความเลวร้ายทุกอย่างที่เหลือทิ้งไว้ ไม่น่าเชื่อว่า...บางสิ่งที่งดงามจะสามารถผลิใบงอกขึ้นมาจากความเจ็บปวดนั้นได้ จนถึงวันนี้ ในบางซีกและบางมุมของเลบานอน เส้นแบ่งที่เคยชัดเจนแข็งแรงกำลังจะได้รับการท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ต้นปีนี้ นัสราลลาห์อาจจะเป็นแค่ "ผู้นำของชีอะต์" แต่หลังจากกลางปีนี้เป็นต้นมา นัสราลลาห์...ไม่ได้เป็นอะไรแค่นั้นอีกแล้ว ทั้งในและนอกเลบานอนออกไป นัสราลลาห์กำลังทำให้ชาวอาหรับในท้องถนนจำนวนมากเริ่มเชื่อว่า เขาเป็น "ความหวังของประชาชน" มากกว่า...จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


 


"ทะเลในเบรุต" ครั้งนี้ จึงไม่ได้มีแค่ชาวมุสลิมชีอะต์ แต่เป็นความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่เอาไว้สำหรับ "ความหลากหลาย" ไม่ว่าจะเป็นจากคริสต์ ซุนนี ดรูซ และกลุ่มนิกายต่างๆ


 


"ทะเลในเบรุต" ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่หนุ่มสาวจำนวนมากมารวมตัวกัน กิน นอน ปาร์ตี้ ร้องรำทำเพลง อ่านหนังสือพิมพ์ พูดคุยเรื่องการเมืองด้วยกันแล้ว ในเต๊นท์ค้างแรมนับพัน เด็กหนุ่มชาวคริสต์กับเด็กหนุ่มชาวชีอะต์ที่ผ่านมาแชร์ช่วงเวลาสั้นๆ อาจไม่ได้รู้สึกไกลกัน...อย่างที่เคยคิด


 


ตลอดการชุมนุมกว่า10 วัน ยังมีบางด้านของการชุมนุมนี้ที่สื่ออเมริกาส่วนใหญ่จงใจจะละเลยไปไม่อยากพูดถึง แต่ถ้าเราอยากรู้จักผู้ชุมนุมมากขึ้น มองเห็นกระแส "ความเคลื่อนไหว" ในสังคมเลบานอนให้ชัดขึ้น มีภาพเล็กๆ ภาพหนึ่งที่ไม่น่าจะถูกมองข้าม


 


ที่จะอ่านต่อไปนี้ แปลมาจากรายงาน 5 ธันวาคม 2006 ในบล็อกของ โซฟี แมคนีล (Sophie McNeill) ผู้สื่อข่าว SBS Dateline จากค่าย SBS สื่อทีวี/วิทยุ/ออนไลน์ของออสเตรเลีย o


 


 


 


 


0 0 0


 


 


 


 


ในเสี้ยวเล็กๆ ของความเปลี่ยนแปลง  


เมื่อชาวคริสต์ตกหลุมรักเฮซบอลเลาะห์


 


by


 


โซฟี แมคนีล


5 ธันวาคม 2006


 


 


เช้าวันอาทิตย์ (3 ธค.) รถบรรทุกติดธงเหลืองของเฮซบอลเลาะห์คันหนึ่งแล่นผ่านย่านคริสเตียน จามายเซห์ (Gemayzeh) กลางเมืองเบรุต ถึงแม้กระจกหน้ารถจะติดรูป ฮัสซัน นัสราลลาห์ แต่กลับไม่ใช่ชื่อของเขาที่เด็กหนุ่มบนรถร้องตะโกนออกมา "นายพล นายพล" เด็กหนุ่มชีอะต์บนรถตะโกนซ้ำ


 


พวกเขาร้องเรียกชื่อพันธมิตรฝ่ายคริสต์กลุ่มใหญ่สุดของเฮซบอลเลาะห์ พลเอก มิเชล อาอูน (General Michel Aoun) อดีตนายทหารเกษียณแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็สะท้อนถึงความเคลื่อนไหวหรือพลวัตสำคัญบางอย่างได้อย่างดี...เรื่องที่สื่อส่วนใหญ่ต่างละเลยไม่พูดถึงในช่วงไม่กี่วันมานี้ - - - นั่นก็คือ เกือบหนึ่งในสี่ของผู้ชุมนุมคือชาวเลบานอนคริสต์


 


การเข้าร่วมชุมนุมของชาวคริสต์ ทั้งเรื่องขนาดและความมุ่งมั่นตั้งใจ เริ่มให้ภาพที่ชัดเจนในวันอาทิตย์นี้ ขณะที่ชาวคริสต์จำนวนหลายๆ พัน (แปลว่า : อาจอยู่ในหลักพันหรือหมื่น) ที่สนับสนุนพรรค Free Patriotic Movement  (FPM) ของอาอูน เดินขบวนจากเบรุตตะวันออกไปร่วมกับพันธมิตรชีอะต์ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก


 


"เราทั้งหมดเป็นชาวคริสต์และเราต่อต้านรัฐบาล" โจเซฟ อายุ 45 จากเบรุตตะวันออกบอกฉัน ขณะที่เขาเดินผ่านมาพร้อมกับลูกชาย "เราต้องการรัฐบาลเลบานอนที่เป็นของเราเอง ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลซีเรีย ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอเมริกา รวมทั้งอิทธิพลของอาหรับชาติอื่น"


 


แต่เอ๊ะ...ใครๆ ก็บอกเราว่าเฮซบอลเลาะห์เป็นเอเจนต์ของซีเรียไม่ใช่หรือ? ทำไมชาวคริสต์ชาตินิยมที่ต่อต้านซีเรียถึงอยากจะเป็นพวกเดียวกับเฮซบอลเลาะห์ขึ้นมา?


 


"ไม่ ผมไม่วิตกเลยว่าเฮซบอลเลาะห์จะทำงานให้ซีเรีย" โจเซฟรีบปฏิเสธเสียงดัง "บางทีเฮซบอลเลาะห์อาจจะชอบเวลาที่ซีเรียออกมาพูดต่อต้านอิสราเอล และเขาก็สนับสนุนซีเรียในเรื่องนั้น - - แต่ในเลบานอน พวกเขาเป็นเลบานิส!"


 


สำหรับโจเซฟ ความจริงที่ว่า พันธมิตรชีอะต์ของเขาไม่เคยเข้าร่วมกับสงครามกลางเมืองที่ผ่านมาหลายครั้ง คือบทพิสูจน์ที่เพียงพอแล้วว่า เฮซบอลเลาะห์ยึดมั่นในความเป็นชาตินิยมเลบานอน


 


"เฮซบอลเลาะห์ไม่เคยใช้อาวุธในเลบานอน กับคนเลบานอน" เขาอธิบาย "ไม่เหมือนอีกฝ่ายหนึ่ง พวกนั้นฆ่ากันเอง และก็มีกลุ่มติดอาวุธของตัวเองกันทั้งนั้น"


 


ขณะที่ขบวนประท้วงเดินหน้าไปเรื่อยๆ พวกเขาเดินผ่านทีมงานจากสถานีโทรทัศน์ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของพรรค Lebanese Forces (LF) พรรคคริสเตียนโปรรัฐบาลและต่อต้านเฮซบอลลาะห์และซีเรีย


 


"ชาวคริสต์ในเลบานอนไม่ได้เหมือนไอ้ที่พวกแกเอามาโชว์ในทีวีเลย!" เด็กหนุ่มคนหนึ่งตะโกนใส่ช่างภาพ ขณะที่คนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย "เลิกโกหกได้แล้ว!"



"เราโวยวายใส่พวกนั้น เพราะพวกเขาไม่ยอมพูดความจริง"  โมนา อายุ 30 อธิบายให้ฉันฟัง หลังจากเจ้าหน้าที่พรรคได้เข้ามาไกล่เกลี่ยให้เหล่านักประท้วงเดินหน้าต่อ "พวกนั้นบอกว่ามีแต่คนมุสลิมเท่านั้นที่เข้าร่วมประท้วง เขาบอกว่าคนคริสเตียนทั้งหมดเป็นพวก Lebanese Forces  แต่ดูสิ เรากำลังเดินขบวนประท้วงอยู่ที่นี่ และเราก็ไม่ใช่ชีอะต์" เธอพูดอย่างโกรธๆ


 


ชาเดน อายุ 28 เชื่อว่าสื่อต่างๆ จงใจจะละเลยพวกเขา "เรารู้ว่าสื่อทั่วโลก โดยเฉพาะสื่ออเมริกัน พยายามจะวาดภาพว่าผู้ประท้วงมีแต่ชีอะต์ พวกเขาไม่ต้องการให้เห็นภาพว่า ชาวเลบานอนได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อต่อต้านรัฐบาล" เขาบอกฉันอย่างนี้


 


มันยากที่จะบอกได้ชัดๆ ว่าชาวคริสต์ในเลบานอนที่อยู่ข้างเฮซบอลเลาะห์หรือที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนเท่าไหร่ พวกเขาต่างก็บอกว่า สัดส่วนของพวกเขาเป็น 70% ของชาวคริสต์เลบานอนทั้งหมด - และมันยังเป็นตัวเลขที่ถกเถียงกันอยู่ ดูเหมือนจะไม่มีใครในประเทศนี้รู้คำตอบด้วย


 


"พวกนั้นไม่ใช่เสียงข้างมากของชาวคริสต์" ฮัมหมัด อายุ 26 ทำเสียงดูถูก ขณะที่เขายืนดูขบวนประท้วงผ่านไป "พวกคริสต์เคยอยู่ข้างดียวกับอาอูน แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะอาอูนไปอยู่กับเฮซบอลเลาะห์แล้ว" ฮัมหมัด ผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล พูดถึงการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างพรรค Free Patriotic Movement ของอาอูน กับเฮซบอลเลาะห์ว่า...เป็นการจับคู่กันเพราะผลประโยชน์ไปกันได้มากกว่า


 


"อาอูนก็แค่อยากเป็นประธานาธิบดี เฮซบอลเลาะห์สัญญาว่าจะให้เขาเป็น ตอนนี้เขาก็เลยทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็น" เขากล่าวหา "เขายอมร่วมมือกับฝ่ายปีศาจร้าย เพื่อจะได้เป็นประธานาธิบดี!" เพื่อนของฮัมหมัดที่ชื่อ ไซอัด กล่าวแทรก


 


สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล "ปีศาจร้าย" หรือ "devil" จะหมายถึงซีเรีย และมันถือเป็นการหักมุมแบบแปลกๆ ในแวดวงการเมืองของเลบานอน เมื่อมิเชล อาอูน ผู้ซึ่งลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสหลายปี มีบทบาทในการล็อบบี้ต่อต้านซีเรียและเรียกร้องการถอนทหารของซีเรีย - ได้ผันตัวเองมาเป็นพันธมิตรของเฮซบอลเลาะห์ที่มีซีเรียให้การสนับสนุนอยู่ ทำให้ชาวเลบานอนจำนวนมากมองว่า ความเป็นพันธมิตรที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา "ผมเชื่อว่าเขากลายเป็นพวกโปรซีเรียไปแล้ว" ฮัมหมัดตั้งข้อหา "ผมเชื่อแม้กระทั่งว่า เขากำลังทำงานให้พวกนั้น...พวกซีเรีย"


 


ความตั้งใจของเฮซบอลเลาะห์ที่เน้นย้ำความสำคัญของพันธมิตรฝ่ายคริสต์เป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก ในการชุมนุมใหญ่วันแรก (ศุกร์ 1 ธค.) มิเชล อาอูนได้รับการวางตัวให้เป็นผู้ปราศรัยหลักบนเวที แทนที่จะเป็นฮัสซัน นัสราลลาห์ขวัญใจมวลชนที่มาชุมนุม ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมองเกมการเคลื่อนไหวที่ว่านี้ในแง่ร้าย "ที่เขาให้อาอูนพูด เพราะเขาอยากจะโชว์ให้เห็นว่าฝ่ายต่อต้านมาจากคนหลายกลุ่ม เฮซบอลเลาะห์ไม่ได้แคร์อาอูนเลย พวกเขาแค่ต้องการใช้อาอูนเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะพูดว่า...คริสเตียนอยู่กับเรานะ...ก็แค่นั้น" ฮัมหมัดกล่าวหา


 


ไม่ว่าอะไรก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการเป็นพันธมิตรแบบแปลกๆ ของชีอะต์ฮาร์ดไลน์และฝ่ายคริสต์ครั้งนี้ มันได้ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะพิเศษเข้าให้แล้ว ขณะที่ขบวนประท้วงเดินไปถึง โบสถ์เซ็นต์จอร์จส์ (St. Georges Cathedral) ใจกลางเมืองเบรุต รถแวนของสถานีโทรทัศน์ของเฮซบอลเลาะห์ อัล มานาร์ ซึ่งจอดอยู่ข้างหน้า กำลังถ่ายทอดสด พิธีมิสซา ที่โบสถ์วันอาทิตย์ "ปกติ เราไม่มีถ่ายทอดพิธีนี้ในวันอาทิตย์ ที่ช่องอัล-มานาร์" บาทหลวงคนหนึ่งข้างในโบสถ์บอกฉัน "แต่มันก็เป็นกิจกรรมที่โบสถ์ตามปกติ ไม่มีใครพูดอะไรที่เป็นการเมืองที่นี่"


 


ขณะที่ฉันพยายามแหวกตัวออกมาจากกลุ่มคนที่อัดแน่นอยู่ในโบสถ์ ก็บังเอิญสวนกับเด็กหนุ่มท่าทางไม่ค่อยจะธรรมดาคนหนึ่งตรงบันได เขาใส่เสื้อยืดและริสท์แบนสีส้ม-ซึ่งเป็นสีพรรคของอาอูน แต่ใส่หมวกเฮซบอลเลาะห์สีเหลือง และมีรูปฮัสซัน นัสราลลาห์แขวนอยู่ที่คอ


 


"โอ เยส ใช่ครับ ผมเป็นคริสเตียน ผมเพิ่งร่วมพิธีมิสซามา" โจเซฟ อายุ 19 ปีอธิบาย แต่...อือม์...ทำไมคุณถึงมีรูปคนที่ตะวันตกบอกว่าเป็นผู้นำของผู้ก่อการร้ายแขวนไว้ที่คอล่ะ?


 


"ก็เพราะผมรักเขาน่ะสิ" โจเซฟตอบง่ายๆ "เขาเป็นคนดี เขาไม่ได้เลวเหมือนคนอื่นๆ"


 


บ่ายแก่ๆ วันนั้น ตัวแทนของพันธมิตรทั้งหมดของเฮซบอลเลาะห์ต่างก็พร้อมหน้ากันอยู่บนเวที แต่ผู้จัดบอกฝูงชนว่า จะยังไม่มีการปราศรัยจนกว่าทุกคนจะเอาธงของเฮซบอลเลาะห์ (ธงเหลือง) วางลงก่อน หลังจากเสียเวลาไปสิบห้านาที ธงชาติของเลบานอน (ธงแดง-เขียว-ขาว ต้นซีดาร์) ก็ดูโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางฝูงชน ทีวีช่องของเฮซบอลเลาะห์จึงเริ่มแพร่ภาพ


 


เสียงเรียกร้องให้ซินยอราลาออกทันทีคือความต้องการร่วมกันของทุกฝ่าย แต่ถ้าเราฟังคำปราศรัยของผู้พูดทั้งหมดวันนั้น จะพบว่า เบื้องหลังความต้องการนี้...มีธีมที่ชัดเจนแน่นอน...ที่ทำให้ฝักฝ่ายอันไม่ค่อยจะเข้ากันเท่าไหร่มารวมตัวกันได้


 


พันธมิตรคริสเตียนและดรูซต่างก็ยืนอยู่บนเวทีอย่างภาคภูมิเคียงข้างกองทัพชีอะต์ของเฮซบอลเลาะห์ พวกเขาเห็นร่วมกับเฮซบอลเลาะห์ในข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลล้มเหลวหรือไม่ได้ให้ความสนับสนุนเฮซบอลเลาะห์มากพอ ระหว่างการทำสงครามกับอิสราเอลช่วงเดือนกรกฎาคม


 


"ระหว่างที่อิสราเอลบุกโจมตี รัฐบาลเอาแต่ยืนหลบอยู่ข้างทาง ถ้าม่ใช่...ขัดขวางนักรบฝ่ายต่อต้าน!" ทาลาล เออร์สลาน (Talal Erslan) หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านดรูซกล่าว  "แม้ว่าการรบเพื่อต่อต้านอิสราเอลจะแสดงให้เห็นโดยชีอะต์ แต่ผม...ทาลาล เออร์สลาน...ผมเป็นหนึ่งในพวกคุณ"


 


เวลาผ่านไปยาวนาน และอากาศก็เริ่มหนาวขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ชุมนุมยังคงมีท่าทีตอบสนองต่อการปราศรัยบนเวทีอย่างคึกคัก


 


"เราพร้อมที่จะอุทิศเลือดเนื้อให้กับกองทัพกู้ชาตินี้" เขาประกาศก้องท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของฝูงชน "และเราภูมิใจที่จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นพวกเดียวกับอิสราเอล รัฐบาลนี้ดีแต่เชื่อฟังคำสั่งของอเมริกาและไซออนนิสต์!"


 


การปราศรัยบนเวทีจบลง ผู้ชุมนุมค่อยๆ ทะยอยแยกย้ายกันไป ส่วนคนที่ค้างแรมที่นั่นก็นอนต่อไปอีกหนึ่งคืน


 


"เฮซบอลเลาะห์ คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเลบานอน" มอริส อายุ 24 คริสเตียน กล่าวกับฉัน "พวกเขาเป็นเลบานิสของแท้ อิสราเอลคือศัตรูของเราด้วย เราจะร่วมกับเฮซบอลเลาะห์ต้านอิสราเอล" o


 


           



 


 


-----------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม


 


1. ไผเป็นไผ...ในเลบานอน


 


สภาผู้แทนราษฎรเลบานอนมีทั้งหมด 128 ที่นั่ง ประกอบด้วยพรรคและกลุ่มก้อนต่างๆ มากมาย แต่ตัวละครหลักๆ พอจะแบ่งได้ดังนี้


 


แกนนำฝ่ายรัฐบาล (เป็นแกนนำช่วง "ปฏิวัติซีดาร์" บางครั้งเลยเรียกว่ากลุ่ม 14 มีนาคม)


Future Movement กลุ่มการเมืองใหญ่สุด เป็นกลุ่มของซุนนี ผู้นำได้แก่ ซาอัด ฮาริรี (Sa"ad Hariri) ลูกชายราฟิก ฮาริรี มีทั้งหมด 36 ที่นั่ง (ฟูอัด ซินยอรา อยู่กลุ่มนี้)


Progressive Socialist Party (PSP) พรรคที่ชื่อพรรคชวนให้สับสนอย่างแรง นำโดย วาลิด จัมบลัต (Walid Jumblatt) ผู้นำชาวดรูซ 16 ที่นั่ง


Lebanese Forces (LF) - พรรคของคริสต์ ผู้นำคือ ซามีร์ จาจา (Samir Geagea) 5 ที่นั่ง


 


แกนนำฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง


Party of God หรือเฮซบอลเลาะห์ (สีเหลือง) ผู้นำชีอะต์ ซัยยิด ฮัสซัน นัสราลลาห์ 14 ที่นั่ง


Amal Movement หรือพรรคอามัล (สีเขียว) ผู้นำชีอะต์ นาบีห์ เบอรี (Nabih Berri) ประธานสภาฯ คนปัจจุบัน 15 ที่นั่ง แต่ถ้านับกลุ่มที่เป็นเครือข่ายของเฮซบอลเลาะห์กับอามัลทั้งหมดในสภาจะได้ 35 ที่นั่ง (ก่อนหน้านี้ ซีกชีอะต์มี 5 เก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี และได้ลาออกหมดแล้ว)


Free Patriotic Movement (FPM) (สีส้ม) ผู้นำคริสต์-มารอนไนท์  พลเอก มิเชล อาอูน (General Michel Aoun) พรรคของเขาเป็นฝ่ายค้านมี 14 ที่นั่ง-ถ้ารวมพรรคเล็กในเครือข่ายเป็น 21 ที่นั่ง ว่ากันว่าฐานเสียงที่เป็นชาวคริสต์ของเขามีมากกว่า 2 แสน


 


2. ใครแบ็คใคร


ในส่วนของ "ประชาคมโลก" ผู้สนับสนุนและส่งกำลังใจมาให้ฝ่ายรัฐบาล "ฟูอัด ซินยอรา" กันอย่างอึกทึกคับคั่ง ได้แก่ ผู้นำอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยรมัน ซาอุดิอาระเบีย และรัฐอาหรับ-ซุนนี ฯลฯ ขณะที่ผู้สนับสนุนและแอบเชียร์ "นัสราลลาห์" อยู่ มีไม่มากนัก ก็แค่ผู้นำอิหร่าน ซีเรีย และอาจจะรวมไปถึงเวเนซูเอลาโน่น (อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สนใจการนับศีรษะ "ผู้นำ" แต่หันไปนับศรีษะ "ประชาชน" ชาวอาหรับแทนแล้วล่ะก็ เข้าใจว่ากำลังใจของฝ่ายนัสราสลาห์จะถล่มทลาย-สอบได้ที่หนึ่งแน่ๆ)


 


3. ตัวเลขผู้ชุมนุม (ตัวเลขเจ้าปัญหา)


จากพฤติกรรมในอดีต สื่อหลักๆ ของอเมริกามักจะมีปัญหาในการนับตัวเลขผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมาตลอด อย่างเช่นพวก "แอนตี้วอร์" ชุมนุมกันทีไร ถ้าไม่เจอประเมินตัวเลขต่ำ ก็จะเจอการรายงานสั้นๆ ถ่ายภาพแบบเลือกมุมกล้อง (มุมเยอะๆ ไม่ค่อยชอบถ่าย) หรือไม่ก็ไม่พูดถึงเลย - กรณีเช่นนี้เป็นมาช้านาน แวดวงแอคทิวิสต์ทั่วไป รู้อยู่แก่ใจดี


 


เพราะฉะนั้น เมื่อมองในกรณีของเฮซบอลเลาะห์...ซึ่งไม่ใช่แค่อยู่ใน "ลิสต์ผู้ก่อการร้าย" ของอเมริกา แต่ยังมารวมตัวชุมนุมเพื่อต่อต้านฝ่ายอเมริกาและอิสราเอลด้วยแล้วล่ะก็ - งานนี้เรียกง่ายๆ ว่า 2 เด้ง


 


อย่างปีที่แล้ว ตอนที่เฮซบอลเลาะห์จัดชุมนุมประท้วงใหญ่ในวันที่ 8 มีนาคม ซีเอ็นเอ็นให้ตัวเลข 2 แสน เอพีบอกมากกว่า 5 แสน ขณะที่อัลจาซีราบอกว่า 1.5 ล้าน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า...ความคลาดเคลื่อนเบี่ยงเบนในการรายงานตัวเลขผู้ชุมนุมในกรณีนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติและมีมานานแล้ว


 


แต่ก็ไม่ใช่สื่อทั้งหมดจะมีอคติเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้น การตัดสินใจว่าจะใช้ตัวเลขตัวไหน ถ้ามีเวลามากพอ...สามารถควานหามาพิจารณาจากหลายๆ แหล่งประกอบกัน ก็อาจจะได้ตัวเลขที่พอจะ "เข้าเค้า" บ้าง หรือ "ไม่อคติจนน่าเกลียด" เกินไป


 


ต่อไปนี้เป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนใช้นับตัวเลขประท้วงใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง


 


1 ธันวาคม : 8 แสน - กว่า 1 ล้าน


 


· อัล-มานาร์ ทีวีเฮซบอลเลาะห์ - 1.5 ล้าน


 


· วอชิงตันโพสต์ (Anthony Shadid/Dec2), แอลเอไทมส์ (Sophie McNeill/Dec2 : คนที่เขียนชิ้นข้างบน), Globe and Mail แคนาดา (Dec2), Daily Star เลบานอน (Dec2), Middle East Online (Dec2), IRIN ของยูเอ็น (Dina Debbas/Dec2) - "hundreds of thousands" หรือ "หลายๆ แสน" 


อนึ่ง คำว่า "หลายๆ แสน" ซึ่งเป็นพหูพจน์ของฝรั่งนี้ ตัวเลขจริง ไม่จำเป็น ต้องอยู่ในหลักแสน อาจหมายถึง 5 แสน 15 แสน หรือพูดง่ายๆ อยู่ใน "หลักล้าน" ก็ได้ เหมือนคำว่า "หลายๆ พัน" ก็อาจจะเป็นหลักหมื่นหรือกว่านั้นก็ได้ - มันเป็นวิธีพูดของฝรั่ง ในกรณีที่อยากพูดแบบ "กว้างๆ คลุมๆ" เอาไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย ไม่ต้องการลงรายละเอียด เพราะฉะนั้น บางทีจะไปแปลเอาตรงๆ อาจจะไม่เก๋เท่าไหร่


 


· ไทมส์ ลอนดอน (Nicholas Blanford/Dec2) - บอกตัวเลขชุมนุมครั้งนี้สะท้อน "ปฏิวัติซีดาร์" ปีที่แล้ว


แล้ว "ปฏิวัติซีดาร์" ตัวเลขเท่าไหร่? ก็ยังเถียงกันได้อีก แต่ถ้าจะเอาง่ายๆ ทันใจจากวิกกีพีเดีย เขาให้ไว้ประมาณ 8 แสน - กว่า 1 ล้าน


 


· Democracy Now (Mohamad Bazzi, Newsday's Middle East Bureau Chief, Dec4) - ให้สัมภาษณ์ว่า "แน่นอนว่า วันแรกมีผู้ชุมนุมจำนวนหลายๆ แสน จากการประเมินของบางฝ่าย มีจำนวนถึง 800,000"


 


· NBC ทีวีอเมริกา (Richard Engel/Dec1) - ระหว่าง 800,000 กับ 1 ล้าน


 


· Electronic Lebanon (Samia A. Halaby/Dec3) - ประมาณ 2 ล้าน


 


· Stratfor ธุรกิจบริการ "ข่าวกรอง" อเมริกาที่เน้นประเด็นความมั่นคง - ให้รายละเอียดว่า (ขอยกมาแบบเต็มๆ)


 


Lebanon: Large Protest In Beirut
December 01, 2006 20 59  GMT


 


ผู้ประท้วงมากกว่า 1 ล้าน - ส่วนใหญ่เป็นชีอะต์ แต่ก็มีคริสเตียนและซุนนีจำนวนมากจากทางตอนใต้และจากบีกา (Bekaa) ด้วยเช่นกัน - ทั้งหมดได้เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงที่จัดโดยเฮซบอลเลาะห์ในวันที่ 1 ธค. ในเมืองหลวงของเลบานอน ตามปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ การชุมนุมครั้งนี้ดำเนินไปอย่างสงบสันติล้วนๆ และยังมีการบริหารจัดการอย่างดี ผู้จัดงานได้นำเอาทีมดูแลด้านสุขอนามัยและพนักงานทำสะอาดถนนของตนเองมาด้วย


 


หลังจากเช็คข้อมูลไปประมาณ 3 ร้อยล้านแหล่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึง (ขออนุญาต) ตัดสินใจใช้ตัวเลข 8 แสน - กว่า 1 ล้าน ดังที่กล่าวมาในรายงานชิ้นที่แล้ว หวังว่า...คุณผู้อ่านคงไม่คิดว่าดิฉันมีอคติจนน่าเกลียดนะคะ


 


10 ธันวาคม : กว่า 1 ล้าน - 2 ล้าน


 


· อัล-มานาร์ ทีวีเฮซบอลเลาะห์ - 2 ล้าน


· กองทัพ เลบานอน (AFP/Dec10) - "hundreds of thousands" และ "ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของเลบานอน"


· รอยเตอร์ (Crispian Balmer/Dec10), "hundreds of thousands" และ "เป็นไปได้ว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเลบานอน" และ "ไม่มีการประเมินตัวเลขอย่างเป็นทางการสำหรับขนาดผู้ชุมนุมในวันอาทิตย์ แต่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงคนหนึ่งบอกว่า มันเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดที่เขาเคยเห็นมาในเลบานอน"


· Democracy Now (Amy Goodman/Dec11) - 2 ล้าน


· The Independent ลอนดอน (Robert Fisk/Dec11) - 2 ล้าน


· บีบีซี (Dec10), นิวยอร์ค ไทมส์ (Michael Slackman/Dec10), Yedioth Internet อิสราเอล (Roee Nahmias/Dec10) + อีกมาก  -  "Hundreds of thousands"


 


เอาคร่าวๆ นะคะ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอสรุปกว้างๆ ตามตัวเลขข้างบน (สำหรับวันธรรมดา มีข้อมูลพาดพิงว่าผู้ชุมนุมอยู่ในหลักหมื่น)


 


 
 



 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net