Skip to main content
sharethis

นี่เป็นการจับกุมชาวบ้านปางแดง เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 15 ปี ด้วยข้อหาบุกรุกป่า ในขณะที่พวกเขากำลังนอนอยู่ในบ้าน เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา...ซึ่งในขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล หลังจากที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล และต่อมา ทีมทนายความจากสภาทนายความได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านออกมา และจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดี ทำการสืบพยานกันอีกครั้งในปี 2550 นี้

ภู เชียงดาว: เรื่อง

องอาจ เดชา, อานุภาพ นุ่นสง: ภาพประกอบ

 

 

 

เมื่อชีวิตเหมือนการถูกจองจำไม่มีที่สิ้นสุด…

ใช่หรือไม่ว่า บางครั้งชีวิตคนเรานั้น เมื่อผ่านพ้นความทุกข์มืดดำไปแล้ว ย่อมพบกับแสงสว่าง แต่กับชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หาได้เป็นเช่นนั้นเลย คล้ายกับว่าชีวิตนั้นถูกสาปให้พบกับความมืดมนอยู่ทุกห้วงเวลา เหมือนกับว่าชีวิตนั้นต้องถูกจองจำไม่มีที่สิ้นสุด

           

เมื่อเหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งแรกผ่านไป พวกเขาต้องเผชิญกับเหยื่ออธรรมอีกหน บนความสับสนและไม่เข้าใจ

 

26 มีนาคม 2541 ชาวบ้านปางแดงก็ตกเป็นเหยื่อของรัฐเป็นครั้งที่สอง เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้และ อส.ได้เข้าจับกุมชาวบ้านไปอีก 56 คน และตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

 

จากสถานการณ์การจับกุมชาวปางแดงหลังปี 2541 เป็นต้นมา ได้เกิดกระแสการเรียกร้องต่อสู้ในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวเขา รวมทั้งปัญหาป่าไม้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกันอย่างกว้างขวาง

 

กระทั่ง ส่งผลให้กรมป่าไม้ยอมรับการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าที่บ้านปางแดง ดังจะเห็นได้จากช่วงปี 2542 มีการกำหนดโครงสร้างบริหารและผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว(บ้านปางแดง) ลุ่มน้ำแม่เตาะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ซึ่งในเรื่องนี้ "ประทวน แก้วใจมา" ผู้ใหญ่บ้านปางแดงนอก ก็บอกย้ำว่า หลังจากเหตุการณ์ปี 2541 ปรากฎว่า ป่าไม้เอง ก็เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านทำธนาคารอาหาร (ฟู้ดแบ๊งค์) และป่าชุมชน และศาลก็ยกฟ้องชาวบ้านทั้ง 56 คนแล้วด้วย จนชาวบ้านคิดว่าเรื่องจบไปแล้ว

 

ทว่า การแก้ไขปัญหาตามแนวทางดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำยังไม่เปิดโอกาสให้ชาวปางแดงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางนโยบายและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อชุมชน นั่นจึงเป็นเหตุทำให้ชาวบ้านปางแดงถูกจับในเช้ามืดวันที่ 23 กรกฎาคม 2547อีกครั้งอีกหนหนึ่ง

 

เป็นการจับกุมชาวบ้านปางแดง เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 15 ปี ด้วยข้อหาบุกรุกป่า ในขณะที่พวกเขากำลังนอนอยู่ในบ้าน เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ท่ามกลางความทุกข์ สับสน ไม่เข้าใจ...

 

"ผมคิดว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ หากไม่ต้องการให้ชาวบ้านอยู่ก็ให้กันเขตให้ชัดเจนว่าตรงไหนเป็นป่า ตรงไหนเป็นที่ทำกิน มีพื้นที่ให้ชัดเจน ความจริงชาวบ้านมีที่ทำกินไม่มาก เพียงครอบครัวละ 10 ไร่เท่านั้นเอง"ผู้ใหญ่บ้านปางแดงนอก เอ่ยออกมาด้วยความไม่เข้าใจ

 

เช่นเดียวกันกับการแสดงความคิดเห็นของ "วิวัฒน์ ตามี่" ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) และกองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ ก็บอกว่า กรณีที่เกิดขึ้น ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การบุกรุกป่า แต่เป็นเพราะพื้นที่ตรงนั้นมีความสวยงาม เหมาะแก่การทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ท อีกทั้งกระแสการทำโฮมสเตย์ โดยนายทุนได้กว้านซื้อที่กันมากขึ้น อาจจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มีการจับกุมชาวบ้านเพื่อกดดันชาวบ้านออกจากพื้นที่

 

"รัฐบาลควรยึดหลักความเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ แต่รัฐไม่เคยสนใจ อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชน จึงถือเป็นข้ออ้างของหน่วยงานรัฐจะเข้ามาจัดการง่ายขึ้น ภายใต้ความคิดว่าเป็นคนอื่นไม่ใช่คนไทย ซึ่งถ้ารัฐยังมีความคิดนี้อยู่ การแก้ปัญหาก็จะยากมากขึ้น"

 

 

 

 ตัวแทนชาวบ้านปางแดง เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ

หลังถูกจับดำเนินคดี

 

ครั้นเมื่อผมนั่งฟังชาวบ้านปางแดง หนึ่งผู้ถูกกระทำครั้งนี้ แล้วก็อดที่จะรู้สึกอึดอัดไม่ได้...

 

"ผมว่าเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกต้องเพราะหากจะแจ้งข้อหาว่า ชาวบ้านบุกรุกป่านั้นก็ต้องแจ้งตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเข้ามาอยู่ใหม่ ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านอยู่มา 20 ปีแล้วมาแจ้งข้อหาอย่างนี้" คริสมัน เรืองโลกาวิวัฒน์ ชาวบ้านปางแดง เอ่ยออกมาในวันนั้น

 

และทำให้ผมหวนนึกถึงคำพูดของ "ลุงคำ จองตาล" ผู้อาวุโสชาวปะหล่องปางแดงใน

           

"ตอนที่ชาวบ้านถูกจับ ตอนนั้นมีหลานชายพร้อมกับพ่อและแม่ ได้มาเยี่ยมผมที่บ้าน บังเอิญวันนั้น หลานผมไม่ได้มาที่บ้าน ไปนอนที่ปางแดงนอกกับเพื่อน แต่ต้องโดนจับ โดยไม่มีความผิดอะไร ผมอยากช่วย ก็ช่วยอะไรไม่ได้"

 

 

ลุงคำ จองตาล ผู้อาวุโสชาวปะหล่อง

 

 

"ดูเหมือนลุงคำจะทุกข์ใจมาก..." ผมเอ่ยทำลายความเงียบ

           

"ทุกข์ครับ ทุกข์ใจมากเลย ชาวบ้านโดนจับตั้งแต่ปี 32 ปี 41 ต้องโดนจับอีก" ลุงคำ บอกเล่าด้วยน้ำเสียงเหน็ดหน่าย

           

"ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านไม่ได้ทำลายป่า และได้ข่าวว่ายังได้ร่วมกันปลูกป่ากันอีกด้วย?"

 

"ใช่ เราจะปลูกป่าทุกปี ช่วยกันรักษาป่า เราอยู่ต้นน้ำ เราต้องช่วยกันรักษา ถ้าไม่รักษาข้างล่างก็ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ เรารักษาป่าโดยการทำแนวกันไฟในเขตที่เรารักษา นอกเขตเราก็รักษาด้วยเหมือนกัน"

 

ความรู้สึกของลุงคำ คงไม่แตกต่างกับความรู้สึกของ "ลุงอินพรม จองตาล" ผู้เฒ่าปะหล่องวัย 60 ปี ผู้เป็นน้องชายที่ร่วมเผชิญชะตากรรมเดียวกัน...

 

บ่ายวันนั้น ในหมู่บ้านปางแดงนอน ผมเอ่ยถามลุงอินพรม อีกครั้ง

 

"ลุงรู้สึกอย่างไร ที่ถูกจับซ้ำซากอย่างนี้"

 

"เป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะอยู่ปางแดงนอก ปางแดงใน ต้องโดนจับ แต่หมู่บ้านอื่นไม่เห็นจะไปจับบ้างเลย และบ้านผมไม่มีไม้เลื่อยซักแผ่น มีแต่ไม้ไผ่ เราเพียงขออาศัยอยู่ในเมืองไทย เรารักเมืองไทย" ลุงอินพรม พูดเหมือนรำพึงเบา ๆ

           

"เรื่องคดียังไม่จบใช่มั้ย..." ผมเอ่ยถาม

"ใช่ ยังไม่จบ ยังอยู่ในชั้นศาล"

"เห็นว่ามีคนช่วยประกันตัวออกมา..."

 

"ใช่ครับ เมื่อถูกจับได้ 84 วัน ทางศาลบอกว่า ถ้ารับสารภาพว่าถางป่าทำลายป่า จะให้ออกไป ถ้าไม่รับจะให้ติดคุก ผมเลยบอกเขาว่า ติดคุกไม่เป็นไร จ่างมันเต๊อะ ถ้าลักไก่ ขนไก่ยังไม่มีในกระเป๋าเฮาเลย"

 

" และเขายังบอกอีกว่า ถ้าสูรับผิดทั้งหมด เรื่องที่อยู่อาศัยที่ของป่าไม้ ก็ไม่มีความผิด เราไม่มีความผิด เราไม่ได้ถางป่าบุกรุกป่า เราจึงไม่ยอมรับ หลังจากที่คุยกันเสร็จก็ต้องติดคุกต่ออีก 3 วัน แล้วพอดีมีทนาย อาจารย์ มาประกันตัวให้ออกไป"

 

ถ้าลักไก่ ขนไก่ยังไม่มีในกระเป๋าเฮาเลย...ผมพึมพำ ๆ ถึงถ้อยคำของลุงอินพรม

และแอบจ้องมองสีหน้าผู้เฒ่า ดวงตาดูเศร้า ใบหน้าหมองคล้ำ

 

ก่อนที่ผมจะขอตัวกลับ ผมตั้งคำถามสุดท้ายกับชาวบ้านปางแดงที่นั่งล้อมวงสนทนา เป็นคำถามที่ผมคาในใจมานานแล้ว...

 

"ถ้าเรียกร้องได้ จะเรียกร้องอะไรบ้างจากรัฐ..."

 

"โดยส่วนตัวผม อยากให้รัฐยึดหลักความยุติธรรมให้มาก ให้คำนึงถึงชีวิตความเป็นคนบ้าง อยากให้ตรวจสอบว่าพวกเราตัดไม้ทำลายป่าจริงมั้ย อยากให้มาสำรวจว่าพวกเรามีที่ทำกินกี่ไร่ มารับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่มี ไม่ใช่ใส่ร้ายเราว่า พวกเราทำลายป่า บุกรุกป่า มันไม่มีความยุติธรรม พวกเราถูกจับมาสองสามครั้งแล้ว น่าจะเข้ามาช่วยเหลือเราบ้าง อนาคตลูกหลานจะเป็นอย่างไร ทั้งชีวิตและความเป็นอยู่"

 

เป็นคำพูดที่หลั่งไหลมาจากก้อนทุกข์ที่จุกแน่นอยู่ข้างใน...ที่ทะลักทลายออกมาจากหัวใจ หัวใจของผู้คนที่เต็มไปด้วยปวดร้าวและหมองเศร้า

 

 

เด็กหญิงดาระอั้งหรือปะหล่องบ้านปางแดงนอก ในวันหยุดเรียน

เธอมานั่งขายสินค้าที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว

 

และทำให้นึกไปถึงภาพการแสดงละครสันติวิธี ของกลุ่มละครมะขามป้อม ที่ได้ให้เด็กดาระอั้ง หรือเด็กปะหล่องมาแสดง เพื่อระบายความอัดอั้นในใจออกมาในวันนั้น...

 

"ขอกราบแทบเท้า ขอเรียนเชิญท่านผู้ฟังทุกท่าน

ให้มาฟังความคับแค้นในใจของพวกเรา

วันนั้นพ่อหนูถูกจับ ยังไม่ทันห้านาฬิกา

ไก่ยังไม่ขัน หนูยังแต่งตัวไม่เสร็จ

พวกที่ในอำเภอก็มาจับพ่อและผู้ชายในหมู่บ้านไปเสียแล้ว....."

นั่นคือบทเพลงที่พวกเธอ เด็ก ๆ ชาวปะหล่องปางแดง ที่ร่วมกันแต่งกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และพลอยให้ครุ่นคิดถึงอนาคตของชะตากรรมของพวกเธอ เด็ก ๆ ชาวปะหล่องปางแดง ว่าจะจบลงตรงที่ใด และจะพานพบกับความสุข สงบในชีวิตหรือไม่!?

ไม่รู้...ไม่มีใครล่วงรู้ได้...

หากหัวใจของคนปางแดงทุกดวงนั้น ยังคงรอคอย...เฝ้าหวังและเฝ้าฝัน

ฝันว่าสักวันหนึ่ง- - จะพบกับผืนแผ่นดินอันสงบ และสันติสุข

ชีวิตหลายชีวิตนั้นจะหมดทุกข์หมดโศกเสียที

 

 

 

 " ขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล หลังจากที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล และต่อมา ทางศาลอนุญาตให้ใช้ตำแหน่งทนายความ ประกันตัวชาวบ้านออกมาได้ ซึ่งทางพวกเรา 5 คน จากสภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านออกไป และจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดี ทำการสืบพยานกันอีกครั้งในปี 2550

            ถ้าถามในมุมมองของสภาทนาย เห็นว่า การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมชาวบ้านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างชัดแจ้ง และขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากว่า ไม่ได้มีหมายจับจากศาล ซึ่งเมื่อทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และอ้างว่าได้ใช้กฎอัยการศึก แต่ทว่าทางทหารได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่ได้ใช้กฎอัยการศึก และที่ทางทหารเข้าไปร่วมด้วยนั้น ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ทางชุดปฏิบัติการร่วมร้องขอเท่านั้น ดังนั้นการจับกุมชาวบ้านปางแดง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

สุมิตรชัย หัตถสาร

สภาทนายความแห่งประเทศไทย

 

"การจับกุมของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ มิได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและมิได้ใช้กฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องเพราะรัฐมองไม่เห็นชาวบ้านในฐานะประชาชนที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานและที่สำคัญมองว่าคนเหล่านี้มิได้เป็นสมาชิกในรัฐชาติ แม้กรณีที่เกิดขึ้นมิได้รุนแรงอย่างปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นว่าวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยของรัฐมิได้มองปัญหาอย่างเชื่อมโยงและรอบด้าน…"

ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ

นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ข้อมูลประกอบ

กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า, สกุณี ณัฐพูลวัฒน์ ,2544

 

สำนักข่าวประชาธรรม, สำนักข่าวประชาไท, นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, กลุ่มละครมะขามป้อม

 

.......................................

หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "ผืนดิน สันติภาพ และชาติพันธุ์" รวมงานเขียนสารคดีโศกนาฏกรรมชนเผ่าบนดอยสูง จัดพิมพ์โดย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.),เดือนเมษายน 2549, ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดจำหน่าย.

 

 

อ่านย้อนหลัง

 สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(1)

สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(2)

สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(3)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net