Skip to main content
sharethis

16 ธ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีที่ นายจอบิ (ไม่มีนามสกุล) ยื่นฟ้องอำเภอ และนายอำเภอแก่งกระจาน ว่าไม่ยอมดำเนินการนำคำร้องขอมีชื่อมาพิจารณาให้แล้วเสร็จ จึงถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


จึงขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งไม่รับการขอเพิ่มชื่อของนายอำเภอแก่งกระจาน ที่ให้เหตุผล ว่า นายจอบิ ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.แก่งกระจาน นอกจากนี้ ขอให้ศาลสั่งให้อำเภอและนายอำเภอรับดำเนินการพิจารณาเพิ่มชื่อนายจอบิ เข้าในทะเบียนราษฎร ในบ้านเลขที่ 14 หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ของ นายนิรันดร์ พงษ์เทพ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นญาติของนายจอบิ


 


โดย นายอนุวัฒน์ อ่านคำพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ฟังได้ว่า นายอำเภอแก่งกระจาน ไม่รับคำร้องขอเพิ่มชื่อของนายจอบิเข้าในทะเบียนบ้าน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในแก่งกระจาน จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายอำเภอ แต่ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำสำนักทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่าภูมิลำเนาไว้ จึงต้องอิงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 ที่ระบุว่า ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดาได้แก่ถิ่นที่บุคคลนั้นอยู่เป็นแห่งสำคัญ และมาตรา 38 ระบุว่า หากมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนา ดังนั้น บุคคลอาจมีภูมิลำเนาหลายแห่งได้


 


ซึ่งแม้จากการสอบสวนพยานของนายอำเภอแก่งกระจาน จะพบว่า นายจอบิ มีบ้านอยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี แต่ได้ย้ายมาอยู่กับนายกระทง จีโบ้ง ที่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และได้สร้างบ้านเป็นที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จเมื่อเดือน ม.ค.2548 จึงถือได้ว่า นายจอบิ ย้ายถิ่นที่อยู่ โดยมีเจเขาาเปลี่ยนภูมิลำเนาจาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มายัง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จึงถือว่าข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น นายอำเภอแก่งกระจาน ในฐานะเจ้าหน้าที่จึงควรจะเพิกถอน หรือควรแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งเดิม


 


นอกจากนี้ เมื่อฟังได้ว่า นายจอบิ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.แก่งกระจาน ก่อนที่นายอำเภอแก่งกระจาน ไม่รับคำร้องของเพิ่มชื่อไว้พิจารณา นายจอบิ จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 91 ของระเบียบสำนักงานกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ที่จะยื่นคำร้องของเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎร ต่อสำนักทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน และนายอำเภอแก่งกระจานต้องรับคำร้องของเพิ่มชื่อไว้พิจารณา แล้ววินิจฉัยสั่งการตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลจังหวัดราชบุรี พิพากษาว่า นายจอบิ มีความผิดเป็นคนต่างด้าว เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วก็ตาม แต่การที่นายจอบิยื่นคำร้องขอลงรายการในทะเบียนบ้านตามระเบียบของสำนักทะเบียนกลาง โดยเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังนั้น การที่นายอำเภอแก่งกระจาน ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย


         


"จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งนายอำเภอแก่งกระจาน ที่ปฏิเสธไม่รับคำร้องของเพิ่มชื่อนายจอบิไว้ในทะเบียนบ้าน และให้นายอำเภอ สอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ววินิจฉัยตามข้อ 97 ของสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ไว้ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา คือ ให้นายอำเภอแก่งกระจาน แนะนำนายจอบิ แก้ไขเพิ่มเติมคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎรที่ขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการสอบสวน และในการสอบสวนพยานบุคคลหากผู้ใดไม่สามารถพูดหรือฟังภาษาไทยได้ชัดเจนก็ขอให้จัดให้มีล่ามโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย"


 


ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ และทนายความจากสภาทนายความ เปิดเผยภายหลังรับทราบคำพิพากษาศาลปกครอง ว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยกันให้มีการดำเนินการลงทะเบียนราษฎร์ให้นายจอบิอย่างถูกต้อง เนื่องจากศาลปกครองได้ชี้ชัดว่านายจอบิเป็นกะเหรี่ยงติดแผ่นดินไทย ที่เกิดในแผ่นดินไทยอย่างถูกต้อง รวมทั้งลูกเมียที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยก็จะได้รับสิทธิ์ในการได้รับสัญชาติด้วย


 


สำหรับกรณีของนายจอบิ ที่อาจจะต้องดำเนินขั้นตอนการสอบพยานอีกครั้งนี้ ทางฝ่ายทนายเองก็ได้เคยบันทึกปากคำของพยานไว้แล้ว ถ้าพยานมีการกลับคำก็มีความผิดฐานการให้การเท็จต่อเจ้าหน้าที่ แต่ก็อยากมองในแง่ดีว่าเจ้าหน้าที่น่าจะช่วยดำเนินการให้ตามสิทธิ มากกว่าที่จะข่มขู่พยานให้มีการกลับคำให้การ


 


"นายจอบิเองก็ไม่คิดจะเรียกร้องค่าเสียหาย หรือคิดฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้มีการดำเนินการให้ตามสิทธิโดยเร็วเท่านั้น ซึ่งหลักฐานก็ได้ยื่นไปชัดเจนพอสมควรแล้ว ส่วนทางอำเภอจะอุทธรณ์ในคดีนี้หรือไม่ยังไม่ทราบ เพราะไม่เคยมีการเจรจากัน และที่ผ่านมาฝ่ายอำเภอก็ไม่เคยส่งใครมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองแต่อย่างใด" นายสุรพงษ์ กล่าว


 


"ปี 2550 กรมการปกครองมีนโยบายให้เป็นปีแห่งการมีชื่อในทะเบียนราษฎร ผมว่า กรณีของจอบิจะเป็นกรณีแรกของโครงการนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ระหว่างวันที่ 5 ธ.ค.2549 - 5 ธ.ค.2550 เพื่อให้คนไทยที่ตกหล่น ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล อย่าง นายจอบิ ได้มีทะเบียนราษฎรที่ถูกต้อง โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันประสานงาน ไม่ว่าจะไปแจ้งเกิดหรือแจ้งเพิ่มชื่อที่อำเภอไหน" นายสุรพงษ์ กล่าว


 


รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้มีคนไร้สัญชาติที่เกิดบนแผ่นดินไทยในทำนองเดียวกับนายจอบิทั่วประเทศอยู่ในราวแสนคน ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะให้สัญชาติบุคคลเหล่านี้ตามสิทธิ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะขาดหลักฐาน ขาดความเข้าใจกันในบางเรื่อง เช่น กรณีของ นายจอบิ เจ้าหน้าที่ไปเข้าใจว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ในพื้นที่ของเขา จึงไม่รับเรื่อง เมื่อมีการฟ้องศาลปกครองจนเกิดความชัดเจนขึ้นมา เชื่อว่า จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เกิดความกล้าที่จะดำเนินการมากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าจะทำเกินอำนาจหน้าที่ ขณะที่ชาวบ้านเองก็จะกล้าที่จะยื่นเรื่องถ้ามีหลักฐานพอ และจะยื่นในพื้นที่ไหนก็ได้


 


ด้านนายจอบิ อายุ 39 ปี ชาวกะเหรี่ยงผู้มีสิทธิจะได้รับสัญชาติไทย กล่าวแสดงความยินดีต่อคำพิพากษาของศาล พร้อมๆ กับภรรยา อายุ 34 ปี และลูกอีก 4 คน ที่มาร่วมฟังด้วยกันว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะก่อนหน้านี้ ลำบากมาก จะไปไหนก็ถูกถามหาบัตรประชาชน จะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเวลาป่วยก็ลำบาก ไปทำงาน ไปรับจ้างก็ลำบาก ปวดหัว เวลาไปทำงานนอกพื้นที่ ขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ ปลัดอำเภอก็ออกให้ครั้งละ 1 เดือน หลังๆ มาให้แค่ 15 วัน ทำให้ต้องจ้างรถเดินทางกลับมาขอใบอนุญาตเพิ่มบ่อยๆ ระยะทางไม่ใช่ใกล้ๆ เงินทองแทบจะหมดไปกับค่ารถค่าเดินทาง นายจอบิ แจ้งว่า ขณะนี้เขาทำงานให้รีสอร์ทแห่งหนึ่ง มีรายได้เดือนละ 4,500 บาท


    


ส่วนลูกๆ ของนายจอบิ ซึ่งขณะนี้อาศัยเรียนหนังสือกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบนเขา ที่ อ.บ้านโป่ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยหลักฐานบัตรประชาชนแต่อย่างใด แต่นายจอบิ กล่าวว่า หลังจากที่เขาและครอบครัวได้สัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว เมื่อลูกจบระดับประถม ก็จะส่งลูกไปเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสงเคราะห์ชะอำ


 


และตราบเท่าที่ยังสามารถทำงานไหว ก็อยากจะส่งลูกทั้ง 4 เรียนให้จบในระดับสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้น อยากให้ลูกๆ มีอาชีพ อยากให้เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นพยาบาล เป็นหมอ สุดแต่ที่ลูกอยากจะเป็น แต่หากคนไหนอยากเป็นทหารก็ยิ่งดี เพราะจะได้รับใช้ประเทศชาติอย่างเต็มที่


 


"ถ้าตัวผมสบายดี ทำงานไหวทุกเดือนทุกปี ผมจะให้ลูกเรียนสูงที่สุด ส่งให้เป็นตำรวจได้เป็นทหารได้ เรียนอาจารย์ได้เรียนทนายได้ทั้งสี่คนเลย ผมตั้งใจขนาดนั้นครับ" นายจอบิ กล่าวด้วยสำเนียงซื่อๆ แบบชาวกระเหรี่ยง


         


นายจอบิ กล่าวถึงเพื่อนบ้านชาวบางกลอย ที่ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐไปข่มขู่ว่า หากนายจอบิดำเนินการด้านกฎหมาย จะถ่วงเวลาไม่ให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสรับสัญชาติ จนเพื่อนบ้านพากันไม่พอใจนายจอบิ โดยนายจอบิเปิดเผยว่าขนาดนี้เพื่อนบ้านก็ไม่ค่อยว่าอะไรแล้ว ถือว่าต่างคนต่างอยู่ แต่หลังจากที่เขาได้รับสัญชาติ เขาก็อยากพูดคุยอธิบายกับเพื่อนบ้านทุกคนให้เข้าใจเรื่องทุกอย่าง ขณะที่กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ได้ทยอยดำเนินการให้ได้บัตรประชาชนไปประมาณ 5 - 6 ครอบครัวแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา


 


..........................


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์


 


 


 


 


 


อ่านข่าวย้อนหลัง


ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง "จอบิ" คดียิงรถนักเรียนราชบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net