Skip to main content
sharethis

16 ธ.ค. 2549 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 15 ธ.ค นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง "คอร์รัปชั่นยุคทุนนิยมกับกลยุทธิ์ในการปราบปราม" ร่วมกับ รศ. ประสิทธิ โฆวิไลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอุดม เฟื่องฟุ้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และ นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ว่า การประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลก ถึงขนาดที่สหประชาชาติต้องร่วมกันสร้างอนุสัญญา เพื่อให้ทุกประเทศแก้ไขปัญหานี้ บางประเทศถูกปัญหาคอร์รัปชั่นจนสิ้นชาติและยังกระทบถึงผลประโยชน์ของทุกๆ คน หากแต่ละคนคิดว่าไม่ใช่เรื่องตนเองถือว่าเป็นความคิดที่มิจฉาทิฐิและเป็นต้นเหตุใหญ่ที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นบานปลาย


 


นายจรัญ กล่าวอีกว่า การประชุมหารือยังชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของการคอร์รัปชั่น ซึ่งสาเหตุเกิดจากความไม่พอเพียงอยากได้วัตถุนิยมและขาดแคลนทางด้านคุณธรรม จริยธรรมรวมถึงค่านิยมที่ผิดๆ ขณะที่ระบบการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการที่ให้อำนาจเข้าไปตรวจสอบการคอร์รัปชั่นน้อยเกินไป รวมทั้งกฎหมายยังมีช่องโหว่ที่ทำให้ระบบการตรวจสอบและการปราบปรามคอร์รัปชั่นไม่ได้ผล ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็มีส่วนสนับสนุนและทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นในหมู่ข้าราชการ ซึ่งจะต้องมีการลงโทษเอกชนที่ติดสินบนข้าราชการด้วย


 


"เนื่องจากที่ผ่านมาการจะเอาผิดผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น จะต้องมีผู้เสียหายมายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษกับปปช.เสียก่อน แต่ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะเป็นหน่วยราชการที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น จึงทำให้ไม่กล้ากล่าวโทษนักการเมืองเหล่านั้น ขณะเดียวกันได้เสนอให้มีการร่างกฎหมายเอาผิดกับนักการเมืองเช่นเดียวกับข้าราชการ ในฐานะเป็นผู้ให้นโยบายหรือมีมติให้ข้าราชการประจำกระทำผิด


 


ฉะนั้น จะต้องรีบแก้ไขเสียกฎหมายที่ขัดขวางการทำงานเหล่านี้ รวมทั้งในร่างกฎหมาย จะต้องระบุขอบเขตอำนาจการสืบสวนสอบสวนให้ชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นของปปช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และจะขยายผลการเอาผิดครอบคลุมไปถึงบุตร บิดามารดาของนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยหรือไม่" ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว


 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอให้กระทรวงยุติธรรมยุบสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือป.ป.ช.น้อย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อแบ่งเบางานจาก ป.ป.ช.โดยให้แยกคดีทุจริตของข้าราชการระดับเล็ก ซี 1-8 ไปให้ ป.ป.ช.น้อยดำเนินการ เพราะจะเป็นช่องทางให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งกรณีดังกล่าวปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเห็นชอบด้วยในที่ประชุมวันนี้ว่าจะดำเนินการยุบ ป.ป.ช.น้อย โดยงานที่ล้นมือของ ป.ป.ช.ขอให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะตัดสินใจว่าจะโอนคดีในลักษณะใดไปให้หน่วยงานอื่นทำแทน


 



 


......................


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net