Skip to main content
sharethis


 


โดย เพ็ญนภา หงษ์ทอง


 


 


 "ไอทีวีจะเป็นยังไงต่อไป แน่ใจหรือว่า เอาคืนมาเป็นของรัฐแล้วจะดีกว่าที่เป็นอยู่"


 


คำถามถึงอนาคตของไอทีวีในลักษณะนี้ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งในสังคมสื่อและสังคมสาธารณะในวงกว้าง อนาคตของไอทีวีไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของพนักงานกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของรายได้รัฐบาลจากการเก็บค่าสัมปทาน แต่มันคืออนาคตของประเทศไทย อนาคตของประชาชนไทยที่เกือบทุกบ้านมีโทรทัศน์ไว้รับชมเรื่องราวความเป็นไปในโลกนี้และในประเทศนี้ โครงสร้างในอนาคตของไอทีวี หมายถึงทิศทางการคัดสรรข่าวสาร สาระ ความรู้ และความบันเทิงไปสู่จอโทรทัศน์ของคนนับสิบล้าน หมายถึงการปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อให้กับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต หมายถึงส่วนหนึ่งของวันพรุ่งนี้ของชาติ


 


อนาคตของไอทีวีจึงเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าจะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาชี้เป็นชี้ตาย เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะยึดติดอยู่กับความแคบๆ เพียงแค่สองทางจะเอากลับมาเป็นของรัฐบาลหรือจะให้อยู่ในกำมือของเอกชน


 


อำนาจรัฐและอำนาจทุนไม่ควรจะเป็นเงื่อนไขในการกำหนดอนาคตของสื่อโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลมากมายมหาศาลต่อสังคมไทย


 


เพื่อเสนอแนวทางหนึ่งในการร่วมกันหาอนาคตให้กับไอทีวี รวมทั้งสื่ออื่นๆ ในสังคมไทยเพื่อให้เป็นสื่อเสรีที่ปราศจากการครอบงำของกลุ่มอิทธิพลอย่างแท้จริง ผู้เขียนขอแนะนำให้สังคมไทยได้รู้จักกลุ่มสื่อในเกาหลีใต้กลุ่มหนึ่งที่มีประวัติการเกิด โครงสร้างผู้ถือหุ้น และเงื่อนไขการควบคุมในการทำหน้าที่สื่อมวลชนน่าสนใจและควรแก่การศึกษา นั่นคือกลุ่ม "ฮังเกียวเรห์" (Hankyoreh)


 


ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อครั้งเกาหลีใต้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารชุน ดู ฮวาน ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในเดือนธันวาคม 2522 ด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลของชอย กิว ฮา ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการปาร์ก จอง ฮี ที่ปกครองประเทศมาถึง 18 ปีอีกทีหนึ่ง เช่นเดียวกับเผด็จการทางทหารในประเทศอื่นๆ ทำเมื่อก้าวขึ้นมามีอำนาจ ชุน ดู ฮวาน ปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึก แก้รัฐธรรมนูญที่แม้จะมีบทบัญญัติให้การรองรับสิทธิพื้นฐานของประชาชนในด้านต่างๆ รวมทั้งสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประเด็นที่ใหม่มากในตอนนั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สงวนสิทธิให้กับผู้ปกครองประเทศมหาศาล เช่นให้อำนาจสิทธิขาดประธานาธิบดีในการยุบสภาและควบคุม "สถานการณ์ฉุกเฉิน" รวมทั้งไม่ให้สิทธิทางการเมืองใดๆ กับประชาชนเลย


 


การรัฐประหารของชุน ดู ฮวาน ก่อให้เกิดการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน ที่ออกมาคัดค้านเผด็จการ นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดร้ายที่รู้จักการในนามเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2523


 


ภายใต้กฎอัยการศึก นักการเมืองฝ่ายค้าน นักข่าวนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าจำนวนมากถูกจับ สื่อต่างๆ ถูกสั่งปิด เป็นช่วงเวลาที่ทั้งประชาชน นักการเมือง และสื่อมวลชนในเกาหลีใต้ยกเว้นที่สนับสนุนและเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลถูกคุกคามและกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลเผด็จการ องค์กรสื่อหลายองค์กรเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติด้วยการไล่พนักงานหัวก้าวหน้าที่เรียกร้องเสรีภาพออก นักข่าวจำนวนนับพันคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพไม่สามารถปฏิบัติวิชาชีพของตนเองได้


 


การประท้วงรัฐบาลเผด็จการดำเนินไปควบคู่กับการกดขี่ของรัฐบาล วาระสุดท้ายของชุน ดู ฮวาน มาถึงในวันที่ 29 มิถุนายน 2530 เมื่อประชนชนชาวเกาหลีใต้นับสิบล้านคนเดินขบวนประท้วง กดดันรัฐบาลทหารซึ่งสุดท้ายยอมมอบตัวและคืนอำนาจในการปกครองประเทศให้กับรัฐบาลที่กำลังจะมาจากการเลือกตั้งทางตรง (ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาในตอนนั้นคือ ความไม่เข็งแกร่งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้าน ดังนั้นผลของการเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้ชาวเกาหลีใต้ได้ประธานาธิบดีที่ชื่อว่า โร แต วู ซึ่งเป็นคู่หูร่วมปฏิวัติของชุน ดู ฮวาน และเป็นผู้นำทหารที่ออกมาเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู ในปี 2523)


 


ในช่วงระหว่างที่นักศึกษาและประชาชนออกมาลุกขึ้นสู่เพื่อขับไล่ชุน ดู ฮวาน ในเดือนมิถุนายน ปี 2530 นั้น นักหนังสือพิมพ์ชื่อ ซอง กุน โฮ ได้ค่อยๆ รวบรวมเพื่อนพ้องในวงการสื่อมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อรวมตัวกันจัดตั้งสื่อเสรีที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง


 


วันที่ 30 กันยายน 2530 ซอง กุน โฮ และเพื่อนนักข่าวอีก 195 ชีวิตก็ออกมาประกาศกับสังคมเกาหลีใต้ว่าพวกเขาพร้อมแล้วที่จะ "ปกป้องเสรีภาพและเป็นป้อมปราการให้กับประชาธิปไตยของเกาหลีใต้" ด้วยการก่อตั้งสื่อของประชาชน ตลอดระยะเวลา 8 ปี ของการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐบาลเผด็จการทหารชุน ดู ฮวาน ไม่นับย้อนไปอีก 18 ปี ในกำมือ ปาร์ก จอง ฮี ชาวเกาหลีใต้เรียนรู้ร่วมกันประการหนึ่งถึงความสำคัญของการมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง พวกเขาเริ่มพูดคุยกันถึงการมีสื่อที่ปลอดจากการคุกคามของอำนาจทางการเมือง อำนาจทหารและอำนาจทุน ข้อเสนอของซอง กุน โฮ ที่จะจัดตั้งสื่อเสรีที่ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่ได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง


 


หนึ่งเดือนถัดมา ซอง กุน โฮ กับเพื่อนนักข่าวอีก 195 คน และผู้คนจากภาคส่วนอื่นๆ ของเกาหลีใต้อีกรวมจำนวน 3,344 คน ซึ่งมีชื่อของนักการเมืองฝ่ายค้านหัวก้าวหน้าอย่างคิม แด จุง และ คิม ยอง ซัม ซึ่งภายหลังก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ตามลำดับอยู่ด้วย ก็ร่วมกันประกาศโครงการจัดทำสื่อประชาชนให้สังคมเกาหลีใต้รับรู้


 


ผู้คนจำนวน 3,344 คน บริจาค เงินกันภายใต้ข้อกำหนดว่าต้องไม่เกินคนละ 10 ล้านวอน หรือประมาณ 312,500 บาท เทียบอัตราการแลกเปลี่ยนในตอนนั้น และคนทั้ง 3,344 คนนี้มีทั้งผู้นำขบวนการแรงงาน ชาวนา นักวิชาการ นักข่าว ผู้นำศาสนา ศิลปิน หมอ นักศึกษา นักการเมือง ก็มีฐานะเป็นกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัทฮังเกียวเรห์ (ตามกฎหมายของเกาหลีใต้ องค์กรสื่อทุกองค์กรต้องมีฐานะเป็นบริษัท) มีหน้าที่กำหนดบทบาทและวางกรอบเพื่อให้ฮังเกียวเรห์เป็นสื่อที่คงความเป็นอิสระและรับใช้สังคมเกาหลีใต้อย่างแท้จริง   


 


คนทั้ง 3,344 คน รวมทั้งผู้ที่เข้ามาร่วมในภายหลัง ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ถือหุ้น แต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน (sponsors) และเงินที่พวกเขาเอารวมกันก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นการลงทุนหรือการซื้อหุ้น แต่เรียกว่าเป็นการบริจาค (donation) หมายความว่า หากฮังเกียวเรห์ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับเงินปันผลหรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่ให้การสนับสนุนให้ประเทศเกาหลีใต้มีสื่อดีๆ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ และเป็นสื่อที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น สื่อที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น


 


นับจากวันที่กลุ่มผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกลุ่มแรกเปิดตัวสู่สาธารณชนเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกันบริจาค ยอดเงินบริจาคก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันที่ 15 พฤษภาคม 2531 ฮังเกียวเรห์ก็พร้อมที่จะผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเต็มตัว เพราะวันนั้นเป็นวันที่ยอดเงินบริจาคขึ้นสูงถึง 5 พันล้านวอน หรือประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอสำหรับการเป็นสายป่านให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นไม่นานหนังสือพิมพ์ฮังเกียวเรย์รายวันฉบับแรกก็ปรากฎตัวสู่สังคมเกาหลีใต้ด้วยยอดพิมพ์ 5 แสนฉบับ จำหน่ายในราคาฉบับละ 100 วอน


 


ฮังเกียวเรห์ กลายมาเป็นคำตอบของคนเกาหลีใต้ ที่ต้องการให้สื่อมีความเป็นอิสระจากเงื้อมมือของรัฐบาลและทุน ยอดบริจาคของฮังเกียวเรห์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2541 สิบปีนับจากวันเปิดตัวหนังสือพิมพ์ บริษัทฮังเกียวเรย์ก็กลายเป็นบริษัทเอกชนนอกตลาดหุ้นที่มีผู้ร่วมทุนมากที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก คือมีผู้ร่วมทุนถึง 30,000 คน คิดเป็นเงินลงขันรวมประมาณ 11,700 ล้านวอน (ประมาณ 445 ล้านบาท) และล่าสุดในปี 2548 เมื่อฮังเกียวเรห์ระดมเงินบริจาคครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง ผู้บริจาคเงินเพื่อร่วมเป็นเจ้าของฮังกียวเรห์ก็พุ่งขึ้นไปสูงถึงมากกว่า 61,000 คน และมีการแตกแขนงประเภทของสื่อที่ผลิตไปมากมาย เช่น นิตยสารข่าวการเมืองรายสัปดาห์ วารสารข่าวเศรษฐกิจ นิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและภาพยนตร์


 


ในปัจจุบันขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามหาทางกำหนดความเป็นอิสระจากทุนขององค์กรสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นว่าจะไม่ให้มีผู้ใดเป็นเจ้าของสื่อใดสื่อหนึ่งเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมด สื่อนอกตลาดหุ้นอย่างฮังเกียวเรห์ก็ไปไกลกว่า ด้วยหลักเกณฑ์ว่า ห้ามใครบริจาคเงินเกินกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ลงขันอยู่ทั้งหมด มีอยู่หลายครั้งที่กลุ่มทุนพยายามติดต่อเข้ามาขอเป็นผู้บริจาครายใหญ่แต่ก็ถูกผู้บริหารของบริษัทปฏิเสธไป


 


เนื่องจากเจ้าของทั้ง 61,000 คนของฮังเกียวเรห์ ไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทำให้ฮังเกียวเรห์เป็นสื่อที่พิเศษคือไม่เน้นการทำธุรกิจขององค์กรสื่อตัวเอง ยอดจำหน่ายของฮังเกียวเรห์รายวันอาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสื่อฉบับอื่น คือประมาณ 400,000 ฉบับต่อวัน นับเป็นยอดขายอันดับสี่ของหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมดในเกาหลีใต้ แต่ฮังเกียวเรห์ก็เป็นหนังสือพิมพ์มืออาชีพที่มีอิทธิพลสูงในเกาหลีใต้ ทั้งอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนจากการที่ฮังเกียวเรห์ไม่คิดตามกระแสหลัก และทำงานในระดับที่เรียกว่ามืออาชีพ และทั้งอิทธิพลต่อวงการสื่อด้วยกัน แม้จะเป็นสื่อเล็กๆ แต่ในครั้งหนึ่งก็เป็นผู้ลุกขึ้นมาปฏิวัติธรรมเนียมในการจัดหน้าของหนังสือพิมพ์ที่ตัวอักษรจะเรียงจากบนลงล่างมาเป็นการเรียงจากซ้ายไปขวาและแบ่งเป็นคอลัมน์เพื่อให้สะดวกต่อคนอ่าน ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ในเกาหลีใช้วิธีการพิมพ์จากซ้ายไปขวาเหมือนกันหมด


 


ผู้เขียนเคยถามเพื่อนที่เป็นนักข่าวอาวุโสคนหนึ่งของสื่อในเครือฮังเกียวเรห์ว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะเป็นสิ่งที่เจ้าของบริษัททั้ง 61,000 คนต้องการ เพราะไม่เคยมีการเรียกประชุมเจ้าของทุกคน คำตอบที่ได้รับก็คือ "เจ้าของฮังเกียวเรห์คือสังคมเกาหลีใต้ ทุกคนที่เข้ามาทำงานในบริษัทก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลีใต้ ดังนั้นหากเราเห็นว่าดี นั่นแปลว่าสังคมก็เห็นว่าดี"


 


เช่นเดียวกับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสื่ออื่นๆ หลายครั้งที่ฮังเกียวเรห์ต้องประสบปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างกองบรรณาธิการและฝ่ายการตลาดและแผนกโฆษณาที่มุ่งเน้นจะขายโฆษณา กวน แต ซุน บรรณาธิการจัดการของฮังเกียวเรห์ ได้ให้สัมภาษณ์กับเอเซีย มีเดีย ฟอรั่ม เมื่อไม่นานมานี้ ยอมรับว่าหลายครั้งแผนกโฆษณาพยายามจะบอกกองบรรณาธิการให้ลดความเข้มข้นของเนื้อหาลงเพื่อให้ถูกใจกลุ่มทุน และสามารถหาโฆษณาได้ง่ายขึ้น


 


"เมื่อไรที่มีเสียงจากฝ่ายโฆษณามา ดิฉันก็จะเตือนความทรงจำพวกเขาถึงประวัติศาสตร์และหลักการของหนังสือพิมพ์เราเมื่อเริ่มก่อตั้ง แต่ในกรณีที่มันไม่มากมายนักเราก็จะยอมอะลุ้มอะล่วย ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญยิ่ง แต่เพื่อนร่วมงานของเราทุกคนไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน พวกเขาเชื่อว่าศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิคนทำข่าวสำคัญกว่าเงิน"กวน แต ซุน ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้หญิงคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของเกาหลีใต้ บอกกับเอเซีย มีเดีย ฟอรั่ม


 


เพื่อนนักข่าวจากฮังเกียวเรห์คนหนึ่งเคยบอกกับผู้เขียนว่า นักข่าวส่วนหนึ่งของฮังเกียวเรห์ เป็นอดีตนักข่าวจากค่ายอื่น ที่ทิ้งเงินเดือนเดือนละกว่า 2,500 เหรียญสหรัฐ เพื่อมากินเงินเดือนเดือนละ 300 เหรียญที่ฮังเกียวเรห์


 


นับจากวันที่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ฮังเกียวเรห์มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเติบโตในแง่ของสื่อ จากหนังสือพิมพ์รายวันเพียงหัวเดียว ก็มีนิตยสารข่าวการเมืองรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมา มีนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะ และภาพยนตร์ นิตยสารข่าวเศรษฐกิจ ตั้งสำนักพิมพ์ ไปจนถึงการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม และสถาบันวิจัยทางวัฒนธรรมของตัวเองเพื่อให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม จากการที่ไม่ใช่สื่อที่มุ่งสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ยอมหยุดขยายตัวทำให้ฮังเกียวเรห์ กลายเป็นองค์กรสื่อที่ยังไม่สามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง


 


ต้นปี 2549 นี้เอง การเปิดโครงการรับบริจาครอบที่ 3 ก็เกิดตัวขึ้น ท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยของนักข่าวรุ่นอาวุโสหลายคนที่คิดว่าฮังเกียวเรห์ไม่ควรร้องขอจากสังคมอีกแล้ว แต่ควรหาทางยืนอยู่ให้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ทิ้งหลักการเดิมของตนเอง โดยเฉพาะสาเหตุหนึ่งของการเปิดรับบริจาคในรอบที่ 3 ก็คือการหาเงินทุนเพื่อไปสร้างสิ่งที่กวน แต ซุน เรียกว่า "สวนสันติภาพ" ในเวียดนาม เพื่อเป็นการไถ่บาปกับการที่เกาหลีเคยเป็นพันมิตรกับสหรัฐในคราวสงครามเวียดนามที่สร้างความเสียหายให้กับเวียดนามอย่างมาก สำหรับนักข่าวรุ่นใหญ่ที่เคยผ่านช่วงเวลาของการถูกกดขี่ และคุกคามเสรีภาพ การสร้าง "สวนสันติภาพ" ไม่ได้เป็นภาระหน้าที่ของสื่อเพื่อประชาชน และการระดมเงินบริจาคครั้งที่ 3 ก็เป็นสิ่งที่ "น่าละอาย"


 


ดังนั้นในขณะที่นักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงจำนวนมากกำลังเดินเข้าสู่ฮังเกียวเรห์ องค์กรสื่อที่มีความเป็นอิสระเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ปฏิบัติวิชาชีพได้อย่างเต็มที่ต่างจากองค์กรสื่ออื่นๆ ที่มีในเกาหลีใต้ นักข่าวรุ่นอาวุโสจำนวนหนึ่งก็ค่อยๆ เดินออกจากฮังเกียวเรห์


 


อันที่จริงจะว่าไปแล้วตัวผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าใดนักกับอนาคตของฮังเกียวเรห์ เคยคิดกับตัวเองเล่นๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากวันหนึ่งฮังเกียวเรห์เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เติบโตมากับสังคมทุนนิยมของเกาหลีใต้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยลิ้มรสความเจ็บปวดของการมีชีวิตอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร อะไรจะเกิดขึ้นหากนิยามของ "ความไม่มากมายนัก" ของข้อเรียกร้องของแผนกโฆษณาที่ทำให้ผู้บริหารอย่างกวน แต ซุน ต้องยอมอะลุ้มอะล่วย ถูกขยายตัวกว้างขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ฮังเกียวเรห์คงความเป็นสื่อของประชาชน เพื่อประชาชนมาได้ถึง 18 ปี เป็นเพราะทั้งคนทำข่าวและคนบริโภคข่าวต่างก็ยังจดจำความเจ็บปวดของสังคมยุคที่สื่ออยู่ในกำมือรัฐเผด็จการได้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือความยึดมั่นในพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับสังคมที่เป็นผู้บริจาคเงินให้พวกเขาได้เข้ามาเพื่อปฏิบัติวิชาชีพ


 


แม้อนาคตของฮังเกียวเรห์จะยังไม่แน่นอน และแม้ฮังเกียวเรห์จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีภาระผูกพันกับรัฐในเรื่องของการจ่ายค่าสัมปทานคลื่น เหมือนสื่อโทรทัศน์ แต่เรื่องราวของฮังเกียวเรห์ก็เป็นสิ่งที่เราควรศึกษาเพื่อช่วยกันแสวงหาทางออกให้กับไอทีวี สื่อที่เกิดขึ้นมาจากความบอบช้ำของสังคมไทยหลังเหตุการณ์สังหารประชาชนในเดือนพฤษภาคม ปี2535 อย่างน้อยโครงสร้างที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันโดยไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สำหรับผู้เขียนแล้วถือเป็นทางเลือกโครงสร้างสื่อที่น่าสนใจทีเดียว


 


อนาคตของไอทีวีเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอทางเลือก และช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเข้าสู่ประชาชนกลุ่มใหญ่ได้ในเวลาเดียวกัน เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อประชาชนและปราศจากการครอบงำของกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ทั้งอิทธิพลทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางความคิด เรื่องราวของฮังเกียวเรห์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าสื่อของประชาชน ทำเพื่อประชาชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง หากสื่อและทุกคนในสังคมจดจำและเรียนรู้จากบทเรียนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net