เปิดตัว 16 สถาบันต้าน ม.นอกระบบ มีชัยพลิ้ว พรบ.เข้าไปแล้วถอนไม่ได้

แฟ้มภาพ/นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรณรงค์คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเมื่อวันที่ 6 .. ที่ผ่านมา (ที่มา : ประชาไท/ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง)

 

 

"เครือข่ายคัดค้านแปรรูปการศึกษา" 16 สถาบันทั่วประเทศเปิดตัวแล้ว ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เอา ม.นอกระบบ พร้อมเสนอผลักดันการศึกษา สาธารณูปโภคเป็นสวัสดิการ สนช.เมินเสียงต้านผลักดันต่อ ด้าน "มีชัย" ระบุกระบวนการเดินไปแล้ว ถอนร่างออกจากกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้ นักศึกษาสอน "มีชัย" พูดแบบนี้ไม่รับผิดชอบ ระบุพรบ.หวยถอนได้ทำไม ม.นอกระบบถอนไม่ได้

 

เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา ออกแถลงการณ์เปิดตัวที่พระนครเหนือ  

ความคืบหน้าล่าสุดของการที่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเพื่อนำมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น วานนี้ (20 ธ.ค.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ (สจพ.) ได้มีออกแถลงการณ์ "เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา" ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของผู้ปฏิบัติงานนักศึกษากว่า 16 สถาบันทั่วประเทศ

 

โดยในแถลงการณ์ของเครือข่ายมีใจความสำคัญว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา รีบเร่งที่จะนำมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งออกนอกระบบราชการตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลทักษิณที่พยายามผลักดันนโยบายที่เน้นกลไกตลาดเหล่านี้ในช่วงที่อยู่ในอำนาจ แต่การผลักดันนโยบายดังกล่าวก็ถูกยับยั้งเนื่องจากการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยนักศึกษาและประชาชนมาโดยตลอด

 

และหลังจากที่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศว่าจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าพิจารณาในสภาฯ ได้มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยแล้วออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวภายในมหาวิทยาลัยของตัวเอง ตัวแทนนิสิต-นักศึกษากลุ่มต่างๆ จากหลากหลายสถาบันจึงได้มีการรวมตัวกันและตั้ง "เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา"ขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีพลังในการทัดทานอำนาจจากฝ่ายปกครองมากขึ้น ซึ่งเครือข่ายประกอบด้วยตัวแทนนิสิตนักศึกษากลุ่มต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย

 

ประกาศไม่เอา ม.นอกระบบ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพนักศึกษา สนับหนุนรัฐสวัสดิการ

โดยเครือข่ายฯ มีวัตถุประสงค์ได้แก่ 1.คัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆที่เห็นด้วยกับการคัดค้านนโยบายดังกล่าว 2.เรียกร้องและรณรงค์ให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษาบุคลากรในมหาวิทยาลัยและประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

 

3.เพื่อเรียกร้องและปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในการแสดงออกทางความคิดของนิสิต นักศึกษาตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 4.ส่งเสริมและกระตุ้นให้เพื่อนนิสิต นักศึกษา เกิดความตื่นตัวในสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ตระหนักถึงผลกระทบของนโยบายต่างๆ ของรัฐที่มีต่อตนเองและสังคมโดยมองภาพกว้างอย่างเชื่อมโยงและเป็นองค์รวม 5.ผลักดันให้การศึกษาและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่ของรัฐ ในการบริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงในรูปแบบ "รัฐสวัสดิการ"โดยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและสามารถปฏิบัติได้จริง

 

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เปิดเว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่นิสิตนักศึกษาและผู้ที่สนใจที่ www.thaieduwacth.com และเปิดบัญชีธนาคารเพื่อขอรับบริจาคเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือ เลขที่บัญชี 235-2-04850-2 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเกษตรศาสตร์ ชื่อบัญชี น.ส.จารุวรรณ สาทลาลัย น.ส.จิราภรณ์ หิรัญบูรณะ และน.ส.ธารทิพย์ พงศ์จันทรเสถียร

 






แถลงการณ์ "เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา"

 

จากการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา รีบเร่งที่จะนำมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ มหาวิทยาลัยทักษิณเป็น 3 มหาวิทยาลัยแรก และจะตามมาด้วยมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกกว่า 20 แห่งออกนอกระบบราชการตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลทักษิณที่พยายามผลักดันนโยบายที่เน้นกลไกตลาดเหล่านี้ในช่วงที่อยู่ในอำนาจ แต่การผลักดันนโยบายดังกล่าวก็ถูกยับยั้งเนื่องจากการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยนักศึกษาและประชาชนมาโดยตลอด

 

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศว่าจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าพิจารณาในสภาฯ ได้มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยแล้วออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวภายในมหาวิทยาลัยของตัวเอง ตัวแทนนิสิต-นักศึกษากลุ่มต่างๆ จากหลากหลายสถาบันจึงได้มีการรวมตัวกันและตั้ง "เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา"ขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีพลังในการทัดทานอำนาจจากฝ่ายปกครองมากขึ้น ซึ่งเครือข่ายประกอบด้วยตัวแทนนิสิตนักศึกษากลุ่มต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้

 

1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

3.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4.มหาวิทยาลัยรามคำแหง

5.มหาวิทยาลัยขอนแก่น

6.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร

7.มหาวิทยาลัยมหิดล

8.มหาวิทยาลัยบูรพา

9.มหาวิทยาลัยนเรศวร

10.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

11.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

12.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

13.มหาวิทยาลัยทักษิณ

14.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

15.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

16.ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา

 

เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนดังนี้

1.คัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆที่เห็นด้วยกับการคัดค้านนโยบายดังกล่าว

2.เรียกร้องและรณรงค์ให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษาบุคลากรในมหาวิทยาลัยและประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

3.เพื่อเรียกร้องและปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในการแสดงออกทางความคิดของนิสิต นักศึกษาตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

4.ส่งเสริมและกระตุ้นให้เพื่อนนิสิต นักศึกษา เกิดความตื่นตัวในสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ตระหนักถึงผลกระทบของนโยบายต่างๆ ของรัฐที่มีต่อตนเองและสังคมโดยมองภาพกว้างอย่างเชื่อมโยงและเป็นองค์รวม

5.ผลักดันให้การศึกษาและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่ของรัฐ ในการบริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงในรูปแบบ "รัฐสวัสดิการ"โดยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและสามารถปฏิบัติได้จริง

 

กิจกรรมของ "เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา"

1.มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อนนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในทุกมหาวิทยาลัย

2.เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แก่นิสิต นักศึกษา บุคลากรและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

3.จัดเวทีเสวนา โดยสัญจรไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

4.มีการแถลงข่าวและประชาสัมพันธ์กิจกรรมการคัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและนโยบายที่มีผลกระทบต่อระบบการศึกษาและสังคมอย่างเชื่อมโยงและต่อเนื่อง

5.มีการนัดชุมนุมใหญ่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อคัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในเร็วๆ นี้

 

ม.บูรพาแหวก! ยื่นถวายฎีกาแถมยื่นหนังสือร้องทุกข์ นสพ.ผู้จัดการ

มีรายงานว่าในช่วงเช้าก่อนที่นักศึกษา ม.บูรพาจะเข้าร่วมการแถลงข่าวกับเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษาที่ สจพ.นั้น นักศึกษา ม.บูรพาได้ทำหนังสือถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการและยื่นหนังสือร้องทุกข์คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

 

โดย นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.บูรพาและตัวแทนนักศึกษา ม.บูรพาได้ทำหนังสือถวายฎีกาแก่สำนักราชเลขาธิการ เรื่องการนำ ม.บูรพาที่เป็นส่วนราชการออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์โดยความรับผิดชอบของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้พยายามเร่งรัดมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและครอบครัวของนิสิตนักศึกษาโดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน

      

กล่าวคือ ได้มีการเตรียมการขึ้นค่าตอบแทนของผู้บริหารไว้ล่วงหน้า โดยมีหลักฐานระบุไว้ชัดเจน ขณะเดียวกันจะก่อให้เกิดปัญหาความโปร่งใสในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการตรวจสอบการเงินหลังการออกนอกระบบ เนื่องจากมีการรวมศูนย์อำนาจที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย ซึ่งผลกระทบในเชิงลบเป็นอย่างยิ่งต่อนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ รวมทั้งกระบวนการการร่าง พ.ร.บ.ของม.บูรพา เป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง

      

ทั้งนี้ หลังจากการแถลงการณ์เสร็จสิ้นลง นายภาคิไนย์ได้ทำการฉีกร่างพ.ร.บ.ของม.บูรพาเพื่อแสดงถึงความไม่เห็นด้วย และประท้วงการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

 

จากนั้น ตัวแทนม.บูรพาเข้ายื่นหนังสือต่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเพื่อขอให้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลและผลเสียของการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป

 

อาจารย์ ม.บูรพาร้องกรรมาธิการวิสามัญ

นอกจากนี้ นายธวัชชัย เอี่ยมไพโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความเดือดร้อนและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อขอให้ชะลอหรือยับยั้งการพิจารณา พ.ร.บ.ม.บูรพา โดยในธวัชชัยให้เหตุผลว่าเพราะการที่กระทรวงศึกษาธิการส่งร่าง พ.ร.บ.บูรพาฉบับนี้ให้ ครม.พิจารณาเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการที่เป็นรูปแบบที่สำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการจัดทำกฎหมาย เพราะมีลักษณะที่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยการนำร่างกฎหมายในขั้นตอนที่ได้เคยผ่านการพิจารณาว่ามีข้อบกพร่องหลายประการและถูกแก้ไขไปมากแล้ว มาทำการแก้ไขบันทึกหลักการและเหตุผล และใช้เป็นต้นร่างในกระบวนการจัดทำกฎหมายใหม่ และนำเข้าสู่สภาฯ อย่างรวดเร็ว

      

นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า มีเรื่องความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการสรรหาและการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยและนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ประชาคมจำใจต้องนำเสนอให้คนนอกได้รับทราบ ทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าอับอาย โดยเฉพาะเรื่องธรรมมาภิบาลในม.บูรพา อย่างการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนผู้บริหารที่ประชาคมเห็นว่ามากเกินไป และเห็นว่าหากเกิดข้อขัดแย้งและข้อบกพร่องในร่างกฎหมายม.บูรพา พ.ศ. .....มากเกินไปก็สมควรที่จะเริ่มต้นดำเนินการเสียใหม่โดยให้ประชาคมชาวมหาวิทยาลัยบูรพาปัจจุบันและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างแท้จริง

 

รมต.ขิงแก่ยันผลักมอนอกระบบ

ในเรื่องของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น วานนี้ (20 ธ.ค.) นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ก่อนที่จะเสนอกฎหมาย ตนได้สอบถามไปยังมหาวิทยาลัยที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าต้องการออกนอกระบบ ดังนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เร่งรัดให้ออกนอกระบบ แต่เป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ทั้งนี้ หากมีปัญหาไม่เห็นด้วย ต้องการให้คุยกันให้เรียบร้อยก่อนแล้วส่งเรื่องไปยังรัฐบาล อย่างไรก็ตามว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะรับหลักการร่างกฎหมายไปแล้ว แต่ยังสามารถที่จะทำประชาพิจารณ์ควบคู่กันไปได้

      

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยของรัฐกลายเป็นของเอกชน โดยยังคงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับดูแลของรัฐ และที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทั้ง 6 แห่ง ที่ออกนอกระบบไป ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการขึ้นค่าเทอม และยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

 

"มีชัย" พลิ้ว กฎหมายเข้าไปแล้วถอนไม่ได้ ไม่ช้าไม่เร็วก็ต้องออกนอกระบบอยู่ดี      

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปดูว่าการที่นักศึกษาออกมาคัดค้านเป็นเพราะสาเหตุใด ถ้าเป็นเรื่องที่ห่วงว่าค่าเทอมจะขึ้นก็ต้องไปหาทางป้องกันและต้องรับประกันกับเขาว่าจะไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ความจริงแล้วเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นเรื่องที่คุยกันมานานมาก หากนับระยะเวลาก็เกือบ 14 ปีแล้วที่ทุกรัฐบาลพยายามผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

      

 "ไม่ช้าไม่เร็วมหาวิทยาลัยก็ต้องออกนอกระบบอยู่ดี ผมคิดว่าเราหาวิธีที่จะยุติเรื่องนี้ได้ โดยการที่รัฐบาลต้องออกกฎหมาย เพื่อควบคุมการขึ้นค่าเล่าเรียน โดยรัฐอาจจะให้นักศึกษาจ่ายเพียงบางส่วนและรัฐก็ออกให้อยู่ ซึ่งรัฐก็มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนั้น นักศึกษาที่ไม่มีเงินเรียนก็สามารถกู้เงินตรงนี้ได้ เรื่องนี้คงต้องคุยกัน ส่วนการถอนร่างออกจากกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาแล้วนั้นคงไม่สามารถถอดได้ เพราะกระบวนการได้เดินไปแล้ว" นายมีชัย กล่าว     

 

สนช. เมินเสียงต้าน ชูสลอนผลักดันบูรพา-มหิดลออกนอกระบบ

ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน 2 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอคือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาและร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล

 

โดยหลังจากมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาท่วมท้น 129 ต่อ 8 และ และได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเสียง 129 ต่อ 9 เสียง โดยทั้ง 2 พรบ. มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พรบ. ละ 25 คนไปพิจารณาเพื่อแปรญัตติภายใน 7 วัน

 

นักศึกษาสอน "มีชัย" หวยถอนได้ ทำไมม.นอกระบบจะถอนไม่ได้

นายภัทรดนัย จงเกื้อ นายกองค์การนักศึกษา สจพ. หนึ่งในผู้ปฏิบัติงานของเครือข่ายฯ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ที่ว่า "ไม่สามารถถอนร่างออกจากกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาแล้ว เพราะกระบวนการได้เดินไปแล้ว" นั้น นายภัทรดนัยกล่าวว่า ตนว่าเป็นข้ออ้างที่ขาดความรับผิดชอบมาก ขนาด พรบ.หวย ผ่าน 3 วาระรวดยังถอดถอนได้ ขณะที่ พรบ.ของ ม.บูรพาเพิ่งผ่านวาระแรก ของ ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือเพิ่งผ่านวาระ 1 และวาระ 2 อยู่ เรื่องนี้ตนเห็นว่าอยู่ที่ความจริงใจของ สนช. และ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความเคลื่อนไหวของเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปศึกษาต่อจากนี้ นายภัทรดนัยกล่าวว่า ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม จะมีการเปิดเวทีสัญจรที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่แรก เป็นเวทีเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ สัปดาห์ถัดไปจะเป็นที่จุฬาลงกรณ์ และต่อมาเป็นการจัดเวทีเกษตรศาสตร์และมหิดล สำหรับรูปแบบของเวทีเป็นการให้ความรู้ ซึ่งคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยไหนทำหนังสือเชิญผู้บริหารลงมาดีเบตได้ด้วยก็จะดี แต่ตนไม่คิดว่าผู้บริหารจะลงมา สำหรับเนื้อหาการทำกิจกรรมจะเป็นเวทีเผยแพร่ความรู้ที่เป็นกลางพูดเรื่องข้อดีข้อเสีย ไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง

 

หลังจากจัดเวทีสัญจรทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ข้อมูลแล้วจะมีการจัดชุมนุมใหญ่ คืออยากให้แสดงพลังนักศึกษากันเยอะๆ วันนี้ที่เราแถลงข่าวเครือข่ายนั้นต้องการหยุดยั้ง พรบ. และอยากมีการทำงานของขบวนการนักศึกษา แสดงพลังบริสุทธิ์จริงๆ ไม่อยากให้มีองค์กรใดองค์หนึ่งเข้ามาชี้นำ โดยหวังผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้วันที่ 24 ธันวาคมนี้ เครือข่ายคัดค้านการแปรูป โดยเกษตร พระนครเหนือ จุฬา มหิดล จะไปเปิดหมวด ประชาสัมพันธ์ ล่ารายชื่อที่สยามสแควร์ด้วย นายภัทรดนัยกล่าว

 

เครือข่ายฯ ระบุเน้นทำงานกับสังคม ติง สนช.ไม่จริงใจปกป้องผลประโยชน์คนในสังคม

ด้านนายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษากล่าวว่า หลังจากนี้จะใช้รูปแบบการทำกิจกรรมหลากหลายวิธี เน้นการทำงานในภาคสังคมมากกว่า ประเด็นสำคัญก็คือต้องถามตัวเองว่าเรามีมวลชนหรือเปล่า ทั้งนี้มวลชนมีส่วนสำคัญที่จะทำให้สื่อพูดถึงเรา และจะทำให้สังคมหันมาทำความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นการทำงานมวลชนในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนมาสนใจมากขึ้น

 

ต่อกรณีที่ สนช. ผ่านพิจารณารับร่างหลักการ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 2 ฉบับรวด โดยเมินเสียงคัดค้านนั้น นายเก่งกิจกล่าวว่าโดยที่มา สนช. ไม่มีความชอบธรรม 2 ประการคือ ที่มา และ ประเด็นทางการเมือง

 

ในแง่ของที่มานั้น สนช. ไม่มีความชอบธรรมเพราะมาจากการรัฐประหาร การจะมาอ้างว่าเป็นตัวแทนของคนในสังคมนั้นตนเห็นว่าไม่มีความชอบธรรมเลย ไม่มีความชอบประการที่สองคือ ประเด็นทางการเมือง กล่าวคือ ถ้า สนช. จะปกป้องผลประโยชน์ของคนในสังคม เขาจะต้องไม่ผ่านวาระของ พรบ. ดังกล่าวในสภา การที่เขารับหลักการในวันนี้ แสดงว่าเขาจริงใจที่จะไม่ปกป้องผลประโยชน์ของคนในสังคม

 

ดังนั้น ตนเห็นว่าในสภาไม่มีคนไหนเป็นความหวังสภา เราเห็นว่าเราควรมีความหวังกับพลังนักศึกษาที่จะเชื่อมโยงกับภาคประชาชนอื่นๆ ที่มันสามารถเชื่อมโยงประเด็นการต่อสู้ร่วมกันได้หลายประเด็น เช่นฝ่ายแรงงานมาร่วม ที่เรียกร้องรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีข้อเรียกร้องใกล้เคียงกับนักศึกษาทุกอย่าง กลุ่มเกษตรกรที่คัดค้าน FTA ตนเห็นว่าเราต่างมีเสรีนิยมใหม่เป็นศัตรูร่วมกัน ซึ่งเราต้องขยายแนวร่วมตรงนี้ให้เป็นพลัง นายเก่งกิจกล่าวในที่สุด

 

สภาคณาจารย์จุฬาระบุมติเอกฉันท์ชะลอร่าง พ.ร.บ.จุฬา

เวลา 13.30 น. ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดแถลงถึงมติในที่ประชุมสภาคณาจารย์ฯ จุฬาฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่า สมาชิกสภาคณาจารย์ ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างกว้างขวาง ด้วยบรรยากาศที่เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นสมาชิกสภาคณาจารย์ จุฬาฯ เกินกว่ากึ่งหนึ่งได้มีมติขอให้มหาวิทยาลัยชะลอร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ เพื่อทบทวนและทำหลักการ กฏหมายลูก และระเบียบต่าง ๆที่สำคัญ เช่น เรื่องการบริหารบุคคล การแต่งตั้ง การได้มาซึ่งผู้บริหารทุกระดับ การได้มาซึ่งอธิการ ฯลฯ และเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบเข้าใจและยอมรับอีกครั้งโดยทำควบคู่กันไป

 

นอกจากนี้ เวลา 13.30 น.วันที่ 21 ธันวาคม นี้ สภามหาวิทยาลัย จุฬาฯ จะประชุมในเรื่องต่าง ๆจากนั้น คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จะประชุมรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นที่คณะทำงานได้ขอให้ประชาคมชาวจุฬาฯ ส่งความคิดเห็นกลับมาให้ และหลังจากนั้นจะมีการแถลงผลข้อคิดเห็นที่เสนอเข้ามาให้ทราบทั่วกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท