Skip to main content
sharethis

แรงงานนอกระบบในประเทศไทย ต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานหลายประการ ได้แก่ งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรอง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก...

ประชาไท - 24 ธ.ค. 2549 เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) ยื่นหนังสือต่อประธานอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

โดยระบุว่า ขณะที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นด้วยการผลิตจากผู้ใช้แรงงาน แต่แรงงานนอกระบบในประเทศกลับถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ อาทิ งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรอง โดยเห็นว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้คุ้มครองครอบคลุมแรงงานนอกระบบ และในขณะเดียวกันก็มิได้มีกฎหมายเฉพาะๆ ที่จะคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างสมเหตุสมผลและเพียงพอ

 

ดังนั้น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จึงเรียกร้องให้พัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในงานรับไปทำที่บ้าน การคุ้มครองแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา การขยายการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ กับการบริการด้านสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานนอกระบบ

และนโยบายท้องถิ่นกับการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

 

00000000

 

ที่ มรอ. 013/2549

 

                                                                         22 ธันวาคม 2549

 

เรื่อง ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ

เรียน ประธานอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

เป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความเติบโตของระบบเศรษฐกิจในทุกวันนี้เป็นผลมาจากการสร้างสรรค์ การผลิตของผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ในประเทศไทยแรงงานนอกระบบซึ่งประกอบด้วย แรงงานในภาคเกษตร ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ใช้แรงงานในภาคบริการต่าง ๆ หาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ มีจำนวนรวมถึง 22.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศจำนวน 36.3 ล้านคน

                       

แรงงานนอกระบบในประเทศไทย ต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานในหลายประการ อันได้แก่ งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรอง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้คุ้มครองครอบคลุมแรงงานนอกระบบ และในขณะเดียวกันก็มิได้มีกฎหมายเฉพาะๆ ที่จะคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างสมเหตุสมผลและเพียงพอ

                       

ในช่วงสถานการณ์ที่สำคัญของการปฏิรูปทางการเมืองเช่นในขณะนี้ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) ใคร่ขอเรียกร้องในเรื่องการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ ดังนี้

 

1.      กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในงานรับไปทำที่บ้าน

เนื่องจากกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานรับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ 1) การไม่คุ้มครองค่าแรงขั้นต่ำของผู้รับงานไปทำที่บ้าน 2) การไม่คุ้มครองต้นทุนการผลิตในส่วนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เช่น สถานที่ เครื่องจักร/เครื่องมือ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ฯลฯ 3) การไม่สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายต่อผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของงานที่แท้จริงได้ และ 4) การที่กระทรวงแรงงานไม่บังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษามานานกว่า 2 ปีแล้ว

 

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน .ศ.... เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวก็ยังไม่มีหลักประกันสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่สำคัญอีกหลายประการ เช่น ค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม สิทธิในการรวมตัวต่อรอง และการส่งเสริมพัฒนาตลอดจนบริการอื่นๆ ของรัฐ

 

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน ดังนี้

1)     ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้รับงานไปทำที่บ้าน นักกฎหมายแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และนำเอาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานในงานรับไปทำที่บ้าน .ศ... ซึ่งเป็นร่างที่มูลนิธิฯและเครือข่ายแรงงานนอกระบบจัดทำขึ้นมาบูรณาการกับร่างกฎหมายฉบับกระทรวงแรงงาน

 

2) ให้กระทรวงแรงงานต้องจัดกระบวนการประชาพิจารณ์ เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

 

2. การคุ้มครองแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา

แรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา เป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ที่ขาดการคุ้มครองในฐานะที่เป็นแรงงาน บริษัทผู้จ้างงานได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พศ. 2541 และกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานฉบับอื่นๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในรูปของการซื้อขาย หรือการจ้างทำของหรือสัญญาอื่นๆ แทน ทำให้แรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญาถูกละเมิดและเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานใดๆ เลย

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน ดังนี้

1)     ให้กระทรวงแรงงานจัดทำการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา และทำการศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา

 

2)     ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งมีองค์ประกอบของ แรงงานเกษตร นักกฎหมายแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ยกร่างกฎหมายเพื่อการคุ้ม ครองแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา

 

 

3. การขยายการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สำนักงานประกันสังคมมีการเตรียมการที่จะขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมเดิม และได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาแล้ว 2 ชุด คือ 1) คณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ และ 2) คณะอนุกรรมการยกร่างการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ตามลำดับ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ได้ดำเนินงานมาถึงขั้นยกร่างชุดสิทธิประโยชน์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบของแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่กองทุน โดยรับฟังความคิดเห็นบางส่วนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ

 

แต่เนื่องจากอิทธิพลของฝ่ายการเมืองต่อการกำหนดนโยบาย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตลอดจนความกังวลของสำนักงานประกันสังคมและกระทรวงการคลังในเรื่อง อัตราส่วนการร่วมจ่ายเงินสมทบของรัฐบาล ความมั่นคงของกองทุน และความสะดวกในการบริหารจัดการกองทุน จนมีแนวโน้มว่าสำนักงานประกันสังคมจะเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงาน

 

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพจึงขอยืนยันข้อเรียกร้องเดิมที่ต้องการจะเห็นกองทุนประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ คือ

 

1) มีหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ ทุกคนเข้าสู่กองทุน จ่ายเงินสมทบตามฐานของรายได้ และได้รับการดูแลเมื่อประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

 

2) รัฐและผู้ว่าจ้าง/เจ้าของงานร่วมรับผิดชอบจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุน

 

3) อยู่บนหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงาน นั่นคือ แรงงานนอกระบบจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองที่เท่าทียมกับประกันสังคมของแรงงานในระบบ คือ 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ตาย ชราภาพ และ ว่างงาน (รวมทั้งกรณีของอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานซึ่งแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ) และการเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้

                       

4) สำนักงานประกันสังคมต้องออกแบบการบริหารกองทุน ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้โดยเน้นการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบในฐานะที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของกองทุน

                       

5) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนการจัดระบบสวัสดิการของชุมชนในฐานะที่เป็นหลักประกันทางสังคมอีกประการหนึ่งของแรงงานนอกระบบและประชาชน

 

4. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ กับการบริการด้านสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานนอกระบบ

เนื่องจากแรงงานนอกระบบถูกระบุเป็น 1 ใน 8 ของเครือข่ายภาคประชาชนที่มีฐานะเป็นทั้งกลุ่มเป้าหมายและภาคีการมีส่วนร่วมของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แม้ในปัจจุบัน สปสช. จะมีการดำเนินการและความพยายามในบางส่วนเพื่อการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานนอกระบบบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของโครงการนำร่อง โครงการทดลอง

 

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1) ให้สถานีอนามัย และหน่วยบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ (PCU) มีการทำงานด้านอาชีวอนามัย : ระบบฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพ /ความเจ็บป่วยจากการทำงาน และการให้บริการกลุ่มแรงานนอกระบบ

 

2) ให้ สปสช. เพิ่มงานอาชีวอนามัยในเกณฑ์มาตรฐานของ PCU เพื่อที่งานด้านอาชีวอนามัยและการให้บริการแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบจะมีฐานะที่เป็นงานปกติของ PCU

 

3)     ให้ สปสช. จัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงแก่แรงงานนอกระบบประจำปี สมุดบันทึกสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ให้กองทุนส่งเสริมสุขภาพของ อบต. ที่ สปสช.ให้การสนับสนุนมีการทำงานด้านอาชีวอนามัยของกลุ่มแรงงานนอกระบบ

 

4)     ให้ สปสช. สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานภาคประชาชน

ประเด็นแรงงานนอกระบบ

 

 

5. นโยบายท้องถิ่นกับการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

เนื่องจากองค์กรปกครองท้องถิ่น อันได้แก่ เทศบาล อบต. นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และนับวันจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพมีข้อเสนอแนะต่อกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

1)     ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นบูรณาการงานส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบเข้าในแผนงาน แผนงบประมาณ และการข้อบัญญัติท้องถิ่น

 

2)     ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีบทบาทแทนหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีสำนักงานในระดับท้องถิ่น เช่น ทำหน้าที่เป็นพนักงานตรวจแรงงานแทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทำหน้าที่เก็บเงินสมทบและจ่ายเงินตามสิทธิประโยชน์คุ้มครองแก่แรงงานอกระบบแทนสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น

 

จึงเรียนมายังท่านเพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำนโยบาย กฎหมาย และมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานนอกระบบตามแนวทางที่ได้นำเสนอนี้

 

 

 ขอแสดงความนับถือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net